HomeBrand Move !!จับตา 5 Consumer Trends ประจำปี 2020 ยุคผู้บริโภครักษ์โลก – ขอหนีจากอาการ Burnout

จับตา 5 Consumer Trends ประจำปี 2020 ยุคผู้บริโภครักษ์โลก – ขอหนีจากอาการ Burnout

แชร์ :

ปี 2020 ใกล้เข้ามาทุกที และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งเทรนด์ใหม่ และการเริ่มต้นความท้าทายใหม่ ๆ ไปจนถึงโอกาสใหม่ที่ยิ่งใหญ่สำหรับแบรนด์ วันนี้เราเลยขอพูดถึง 5 เทรนด์ผู้บริโภคซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนการตลาดในปีหน้า แต่ละข้อล้วนเป็นโอกาสที่เรามองว่าสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์, บริการ หรือแคมเปญของแบรนด์ได้ดีเลยทีเดียว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. GREEN PRESSURE ผู้บริโภครักษ์โลก

 

ข้อแรกที่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องของ Sustainable Consumption หรือการบริโภคอย่างยั่งยืน ที่ในปี 2020  แบรนด์ไม่สามารถเลือกได้แล้วว่าจะทำหรือไม่ทำ หรือทำแค่สร้างภาพลักษณ์เฉย ๆ (Eco-Status) เพราะในปีหน้า มันจะกลายเป็นความรู้สึกละอายใจหากไม่รักษาสิ่งแวดล้อม (Eco-Shame) นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในปี 2020 ผู้บริโภคหลายล้านคนจะค้นหาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือประสบการณ์ที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมให้กับโลกกันมากขึ้น

ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่แบรนด์น้อยใหญ่ทั่วโลกทำในช่วงทศวรรษที่ผ่านมายังอยู่แค่ระดับ Eco-Status ตัวอย่างเช่น ซูเปอร์คาร์ Roadster จากค่าย Tesla (เปิดตัวในปี 2008) ที่มีราคาถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือรองเท้าผ้าใบรุ่นลิมิเต็ดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลจากมหาสมุทรของ Adidas ร่วมกับ Parley for the Oceans ก็สามารถผลิตได้เพียง 50 คู่ ส่วน Impossible Burger ก็ได้รับการตอบรับจากร้านอาหารเพียงไม่กี่ร้าน

แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2019 รถ Model 3 ของ Tesla กลายเป็นขวัญใจนักขับทั้งหลาย และตอนนี้ก็กลายเป็นรถยนต์ที่ขายดีอันดับสามในสหราชอาณาจักร ขณะที่ Adidas ก็สามารถผลิตรองเท้าผ้าใบจากพลาสติกในทะเลได้มากขึ้นเป็น 11 ล้านคู่ ด้าน Impossible Burger ก็ได้รับการยอมรับและมีวางจำหน่ายที่ร้าน Burger King มากกว่า 7,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา

นี่จึงเป็นเส้นทางที่น่าสนใจของเทรนด์ Eco-Consumption ที่มันได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากการเป็นสินค้าระดับบน มาสู่สินค้าที่ราคาไม่แพง และสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เทรนด์รักษ์โลกต่อจากนี้จึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่และน่าตื่นเต้นอีกต่อไปแล้ว และเมื่อทางเลือกในการบริโภคแบบรักษ์โลกมีราคาเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าตัวเลือกแบบดั้งเดิมก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้บริโภคจะไม่เลือก Eco-Consumption แต่มันจะกลายเป็นเรื่องน่าอายถ้าคุณเลือกได้ แต่ไม่เลือก

เจ้าความรู้สึกละอายใจนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เห็นได้จากหลายแบรนด์ใหญ่ทั่วโลกที่ทำแคมเปญดีๆ กันในช่วงปีที่ผ่านมาเช่น สายการบิน KML ที่ตั้งคำถามกับผู้บริโภคว่าจะเลือกเดินทางด้วยเครื่องบินแน่หรือ เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินปล่อย CO2 มากกว่าการเดินทางแบบอื่นนะ

อีกตัวอย่างมาจาก Doconomy บริษัท Fintech จากสวีเดนที่ร่วมกับ Mastercard ออกบัตรเครดิตที่ให้ผู้ถือสามารถตามรอยการสร้าง CO2 จากการช้อปของพวกเขาในแต่ละครั้งได้ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าในทุกครั้งที่พวกเขาซื้อของผ่านบัตร ได้มีการทำร้ายโลกไปมากแค่ไหน และบัตรจะบล็อกการใช้จ่ายเมื่อระดับการสร้าง CO2 จากการช้อปถึงขีดจำกัด

อีกตัวอย่างจากแบรนด์ใหญ่ที่รักษ์โลกแบบคง Concept ความเป็นตัวเองได้ดีคือ Burger King ที่รับบริจาคของเล่นที่มากับชุดอาหาร ทั้งของแบรนด์ตัวเองและของคู่แข่งแล้วนำมารีไซเคิลสร้างเป็นสนามเด็กเล่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า

อย่างไรก็ดี เราไม่ได้บอกว่าพฤติกรรมนี้จะซึมซาบเข้าไปในใจของทุกคน หรือผู้บริโภคส่วนใหญ่จะปรับตัวให้หมุนรอบเทรนด์นี้ในปีหน้า โดยเราอาจแบ่งการตอบสนองจากผู้บริโภคได้เป็น 2 แบบ นั่นคือ

  1. Shame therapy หรือการช่วยให้ผู้บริโภคลดความรู้สึกผิดที่เราได้ทำต่อระบบนิเวศน์ (eco-guilt) และช่วยผู้บริโภคในการหลีกเลี่ยงมัน ยกตัวอย่างเช่น การที่ Burger King พยายามชดเชยเวลาหลายทศวรรษที่พวกเขาผลิตของเล่นพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งด้วยการนำมารีไซเคลิเป็นอย่างอื่น หรือสายการบิน KLM ที่กล้าขอให้ผู้บริโภคเดินทางด้วยเครื่องบินให้น้อยลง คำถามก็คือ ถ้าเป็นแบรนด์ของคุณ คุณจะทำอะไร?
  2. Shame avoidance หรือการช่วยผู้บริโภคหลีกเลี่ยงความรู้สึกละอายไปด้วยกัน เช่นการคิดค้นเครื่องมือใหม่ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถติดตามและควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเขาเองได้ เช่น บัตรเครดิต Doconomy ที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงการมีส่วนร่วมปล่อยก๊าญ CO2 จากพฤติกรรมการช้อปของตัวเอง

แบรนด์อย่างเราเอาไงต่อดี? – การสร้างประสบการณ์รักษ์โลกนี้อาจไม่ได้ถูกคาดหวังว่ามันจะต้องสมบูรณ์แบบ แต่ว่าผู้บริโภคจะมองหาสัญญาณว่าแบรนด์เข้าใจโลกของความเป็น GREEN PRESSURE หรือยัง และนั่นคือจุดเปลี่ยนของการเดินทางรอบใหม่ที่แบรนด์ต้องแบกรับต่อไป

2. BRAND AVATARS สื่อสารผ่านตัวแทนเสมือนมนุษย์

Lil Miquela

แบรนด์ที่มีความมนุษย์กำลังจะกลายมาเครื่องมือที่ทรงพลัง ตัวอย่างที่พบได้ง่ายอาจเป็นการสร้าง Virtual Influencers ขึ้นมาเพื่อใช้ในงานต่าง ๆ เช่น Lil Miquela ที่กำลังโด่งดังในโลกแฟชั่นของ Instagram จนมีผู้ติดตามกว่า 1.8 ล้านคน หรือกรณีสำนักข่าวซินหัวของจีนที่เปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI จนเป็นข่าวเกรียวกราวว่าเหมือนจริงชนิดแทบแยกไม่ออกว่าเป็นภาพที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น

แต่ “ความเป็นมนุษย์” ที่จะกลายเป็นเครื่องมือทรงพลังของนักการตลาดไม่ได้มีแค่เรื่องผิวเผินเท่านี้ เพราะมีแบรนด์อีกจำนวนหนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจผู้บริโภคให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เช่น กรณีของ Amazon ที่แต่เดิมอาจเคยใช้ผู้ช่วยดิจิทัล Alexa มารับคำสั่งจากมนุษย์ และตอนนี้ Amazon ก็กำลังพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการผลิตอุปกรณ์ Wearable สำหรับทำความเข้าใจและสามารถตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้สวมได้อย่างเหมาะสม

การพัฒนาในลักษณะดังกล่าวจะทำให้แบรนด์ของ Amazon ก้าวไปสู่ Virtual Companions ซึ่งเป็นจุดที่ผู้บริโภคยอมให้แบรนด์สามารถเข้าถึงโลกส่วนตัวของพวกเขาได้ในอีกระดับหนึ่งเลยทีเดียว

นอกจาก Amazon แบรนด์สกินแคร์ชื่อดังอย่าง SK-ll ก็พัฒนา Virtual Avatars ของตนเองเช่นกัน ในชื่อ Yumi ซึ่ง Yumi ควบคุมโดย AI และสามารถพัฒนาตัวตนของตนเองเพิ่มเติมได้โดยที่มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง ปัจจุบัน Yumi รับหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโปรดักส์ของ SK-II และวิธีการดูแลผิวพรรณให้กับผู้บริโภคได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสื่อสารได้ถึง 3 ภาษา ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ และจีน (ยังไม่มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ)

ด้าน Food Chain อย่าง Wendy ก็เคยสร้างอวตาร์ที่ทำร่วมกับวิดีโอเกมส์ Fortnite จนได้รับความสนใจจากผู้เล่นเกมจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งเสิร์ชเอนจิน Sogou ก็กำลังพัฒนา AI สำหรับอ่านนิยายที่สามารถอ่านออกมาได้เป็นเสียงของผู้แต่งนิยายเรื่องนั้น ๆ ได้ และตัวอย่างสุดท้ายมาจาก BBC ที่กำลังพัฒนา Beeb ผู้ช่วยรับคำสั่งเสียงที่ BBC อ้างว่าสามารถเข้าใจการสั่งงานด้วยสำเนียงอังกฤษทุกรูปแบบ โดยคาดว่าจะทำให้ประสบการณ์การสั่งงานด้วยเสียงของผู้บริโภคนั้นดีขึ้น

แบรนด์อย่างเราเอาไงต่อดี? – การจะประยุกต์ความเปลี่ยนแปลงข้อนี้ของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ แบรนด์อาจต้องเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางดิจิทัล และหาให้เจอว่าอะไรคือ Pain Point ของพวกเขา จากนั้นก็เข้าไปแก้ปัญหาให้ หรือให้ข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง จึงจะจับใจพวกเขาได้อยู่หมัด

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ Beeb จาก BBC ที่พบว่าผู้ใช้งานในอังกฤษไม่ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากบรรดาลำโพงอัจฉริยะของสหรัฐอเมริกา จึงมีการพัฒนาเพิ่มเติมโดยใช้พนักงานของ BBC ในภูมิภาคต่าง ๆ ช่วยกันอัดเสียงมาให้ AI วิเคราะห์และเรียนรู้ จะได้ทำความเข้าใจในสำเนียงที่แตกต่างกันของคนอังกฤษได้

หรือหากมองว่าการสร้าง Avatar เป็นสิ่งจำเป็น ก็ต้องมั่นใจว่า Avatar นั้นจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง นั่นคือมีตัวตนของแบรนด์อยู่ในนั้น รวมถึงสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติตามที่ผู้บริโภคคาดหวัง ซึ่งบางที การจะทำเช่นนั้นได้ อาจต้องเกิดการระดมสมองครั้งใหญ่ของทีมงานเลยทีเดียว

3. METAMORPHIC DESIGN ยุคแห่งสินค้าแสนฉลาด

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังทำให้ความคาดหวังของผู้บริโภคที่จะได้รับบริการ หรือสินค้าแบบเฉพาะตัวนั้นสูงขึ้น นั่นจึงไม่แปลกหากลูกค้าจะบอกว่า อยากได้รับข้อเสนอแบบที่ตัวเองต้องการเท่านั้น

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ก็คือ ข้อเสนอต่าง ๆ ที่จะส่งตรงถึงผู้บริโภคจะยิ่งฉลาดมากขึ้น และลงลึกไปถึงความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีอย่าง Facial Recognition, เซนเซอร์ หรืออุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ในการเก็บข้อมูล เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าหรือบริการแบบเฉพาะบุคคล

แบรนด์ที่พัฒนาสินค้าไปในทิศทางนี้เช่น Optune ของ Shiseido กับการให้ลูกค้าถ่ายภาพเซลฟี่ตัวเองทุกวันผ่านแอปพลิเคชัน จากนั้นก็ให้อัลกอริธึมวิเคราะห์สภาพผิว ร่วมกับข้อมูลสภาพแวดล้อมที่ลูกค้าคนนั้นอาศัยอยู่ว่าอุณหภูมิเป็นอย่างไร ความชื้นมากน้อยแค่ไหน การนอนหลับเป็นอย่างไร จากนั้นก็มาพัฒนาครีมที่เหมาะกับสภาพผิวของลูกค้าคนนั้น ๆ ออกมา

หรือกรณีของ BAZE ที่นำข้อมูลจากเลือดของลูกค้าไปวิเคราะห์ และผลิตเป็นวิตามินที่เหมาะกับสภาพร่างกายของลูกค้าคนนั้น ๆ ออกมาให้โดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน โดยลูกค้าจะต้องตรวจเลือดทุก ๆ 3 เดือนเพื่อมาวิเคราะห์ว่าต้องปรับเปลี่ยนวิตามินตัวใดหรือไม่ด้วย

สุดท้ายคือค่าย KIA ที่จับมือกับ MIT Media Lab พัฒนา Concept Car แนวใหม่ สามารถปรับแต่งบรรยากาศภายในห้องโดยสารได้ตามสภาพอารมณ์ของคนขับ โดยระบบจะวิเคราะห์อารมณ์ของคนขับจากใบหน้า และอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น หากพบว่ากำลังเครียด ก็อาจปรับแสง สี เสียง อุณหภูมิในห้องโดยสารให้ผ่อนคลายมากขึ้น

แบรนด์อย่างเราเอาไงต่อดี? – แน่นอนว่า การทำตามค่ายที่มีนวัตกรรมอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่มีแบรนด์พัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ออกมา ทำให้ผู้บริโภคเพิ่มความคาดหวังกับสินค้าตัวอื่น ๆ มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในโลกแห่ง METAMORPHIC ผู้บริโภคจะคาดหวังถึงการรวมกันของ 2 สิ่ง นั่นคือ ตัวสินค้าหรือบริการ และการทราบว่า สินค้าหรือบริการนั้นเกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร

ดังนั้นคำถามสำคัญสำหรับทีมของคุณก็คือ อะไรคือความสะดวกสบายชนิดพิเศษที่ลูกค้าจะคาดหวังได้จากแบรนด์ของคุณ

4. THE BURNOUT เครื่องมือสลายเครียด

ไม่เฉพาะสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าต้องการการตอบสนองแบบ On Demand แต่วัฒนธรรมการทำงานของคนยุคนี้ก็กลายเป็นวัฒนธรรมแบบ On Demand ไปแล้วเช่นกัน นั่นทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกหมดไฟในการทำงานเอาดื้อ ๆ โดยเราจะพบว่ามีผลวิจัยมากมายเกี่ยวกับอาการหมดไฟของคนในประเทศต่าง ๆ เช่น ผลสำรวจของ Microsoft ที่พบว่าคนอังกฤษราว 86% เกิดความท้อแท้ในการทำงาน และ 87% รู้สึกว่าแยกงานออกจากชีวิตไม่ได้

ขณะที่ผลสำรวจของ National Working Families Report ของออสเตรเลียพบว่า 2 ใน 3 ของคนทำงานในประเทศไม่สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างที่ควรจะเป็นเนื่องจากติดงาน และ 1 ใน 4 ของพนักงานคิดว่าตนเองควรจะลาออก

หรือผลสำรวจของสิงคโปร์จาก Cigna เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็พบว่า 71% ของผู้หญิงสิงคโปร์ และ 66% ของผู้ชายสิงคโปร์รู้สึกว่าตนเองต้องทำงานตลอดเวลา ผ่านการเครื่องมือต่าง ๆ เช่น อีเมล หรือการรับโทรศัพท์ที่ต้องทำให้ได้ทันใจ

จะเห็นว่าโลกการทำงานในปัจจุบันเป็นภาวะที่ผู้บริโภคต้องการชีวิตที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น หากแบรนด์ใดสามารถเข้ามาช่วยพวกเขาต่อกรกับภาวะหมดไฟนี้ได้ ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์นั้น ๆ ได้เลยทีเดียว

(ซ้าย) ตัวอย่างจากแอป Thriva (ขวา) BioBeats จาก WPP

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ก็คือสตาร์ทอัพชื่อ Thriva ในอังกฤษที่ใช้การทดสอบน้ำลายเพื่อหาระดับคอร์ติซอล โดยจะให้ลูกค้าเคี้ยววัสดุที่บริษัทออกแบบมาเป็นจำนวน 4 ครั้งต่อวัน เพื่อวิเคราะห์ว่า เวลาใดบ้างที่ระดับคอร์ติซอลในร่างกายพุ่งสูง (หมายความว่าเครียด) ลูกค้าจะได้รู้ตัวและหาทางจัดการ

หรือกรณีของ WPP ที่นำเอาอุปกรณ์ BioBeats มาให้พนักงานบางส่วนลองสวมเพื่อวัดจังหวะการเต้นของหัวใจ การเดินและการนอนหลับ จากนั้นก็จะให้ AI ช่วยแนะนำว่าต้องปรับไลฟ์สไตล์อย่างไร ซึ่งในตอนจบโครงการ ทาง BioBeats ได้แชร์ข้อมูลเหล่านั้นกลับมาให้ WPP ทราบเพื่อให้ทาง WPP พิจารณาว่าจะลงทุนด้าน Mental Health อย่างไรจึงจะเหมาะสมกับพนักงานได้ด้วย

แบรนด์อย่างเราเอาไงต่อดี? – หากคุณเป็นแบรนด์สุขภาพอยู่แล้ว เส้นทางข้างหน้านั้นก็ชัดเจน คือโฟกัสไปที่ภาวะหมดไฟในปี 2020 แต่หากว่าสินค้าหรือบริการคุณไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการหมดไฟเท่าไร ลองมองหาวิธีพูดใหม่ ๆ เช่น การใช้ประโยคที่ว่า “เราเข้าใจว่าชีวิตคุณมีเรื่องยุ่งยากมากพออยู่แล้ว นั่นเป็นสาเหตุที่เราทำสิ่งต่าง ๆ ในระบบของเราให้ง่ายขึ้น” ฯลฯ

แต่สิ่งที่มีพลังที่สุดของเทรนด์นี้ และเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็มองหา อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในของคุณอย่างจริงจัง ที่จะช่วยลดความเครียดและอาการหมดไฟที่อาจเกิดขึ้นในทีมงานของคุณ

ประการแรกเลยมันคือสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ ประการที่สองเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและส่งผลดีกับธุรกิจ (เห็นได้จาก Microsoft เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้นแม้จะทำงานเพียงแค่ 4 วันต่อสัปดาห์) ประการที่สาม เมื่อพูดถึงโลกที่โปร่งใส และข่าวสารที่รวดเร็ว วัฒนธรรมภายในองค์กรของคุณเป็นส่วนสำคัญของแบรนด์มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน มันจะส่งสัญญาณที่ทรงพลังไปทั่วโลก และอาจส่งผลต่อผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของคุณในอนาคตอย่างมากด้วยก็ได้

5. CIVIL MEDIA สื่อใหม่ในโลกที่เคารพกันมากขึ้น

ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ก่อนหน้านี้มีหลักฐานมากมายชี้ว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกวันนี้มีการกลั่นแกล้งรังแกกันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น การศึกษาของ Cornell University ที่พบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ Influencers หญิงบน Instagram หนักเกินไป บ้างก็พบว่า สื่อโซเชียลมีความเกี่ยวข้องกับอัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น

แต่ความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ สื่อโซเชียลทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป และสิ่งเดียวที่แพลตฟอร์มโซเชียลเหล่านั้นใส่ใจก็คือการทำอย่างไรก็ได้ให้เราเสพติด และวนกลับมาใช้งานมันบ่อย ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่เรากลับเข้ามาแล้วรู้สึกดี เพราะข้อมูลที่อยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านั้นก็ไม่ได้จรรโลงใจนัก ความเป็นไปได้ที่จะเกิดในปี 2020 ก็คือ ผู้บริโภคจะมองหาชุมชน หรือพื้นที่ที่ผู้คนเคารพกัน อยู่ร่วมกันด้วยความสันติมากขึ้น หรืออาจเป็นพื้นที่ของคนที่สนิทชิดเชื้อกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็เป็นได้

ตัวอย่างที่เริ่มเห็นกันก็คือ สตาร์ทอัพชื่อ Quilt จากสหรัฐอเมริกาที่ชวนผู้หญิงวัยทำงานออกมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนอกบ้าน โดยโฮสต์อาจเป็นหญิงเก่ง ๆ ในสายงานต่าง ๆ ส่วนหัวข้อที่พูดคุยอาจเป็นเรื่องงาน ความรัก ฯลฯ ก็ได้ และจะมีการขายบัตรเพื่อเข้าร่วมฟังด้วย

หรือแบรนด์เครื่องดื่มที่เราคุ้นเคยอย่างสไปรท์ ก็ทำแคมเปญ You are not alone ร่วมกับ Google ค้นหาหัวข้อที่เป็นความกังวลใจของวัยรุ่นและเปิดประเด็นพูดคุยขึ้นบน Reddit ให้วัยรุ่นได้มาแชร์เรื่องราวกับเพื่อนวัยเดียวกันที่มีประสบการณ์คล้ายกัน โดยพบว่าเรื่องที่อยู่ในความสนใจว่าเป็นความกังวลใจของวัยรุ่นมีตั้งแต่ความกังวลที่ตัวเองยังเวอร์จิ้น ไปจนถึงการสงสัยว่าตัวเองจะเป็น LGBT ฯลฯ เลยทีเดียว

แบรนด์อย่างเราเอาไงต่อดี? – ข้อหนึ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ก็คือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และได้แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตัวเอง แต่ผู้บริโภคในปี 2020 จะมองหาความต้องการเหล่านี้บนโลกออนไลน์ด้วย ดังนั้น การสร้างแพลตฟอร์ม Civil Media ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ย่อมหมายถึงการที่คุณสามารถทำสิ่งที่สื่อโซเชียลมีเดียเดิมไม่สามารถทำได้ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการทำใจเกี่ยวกับผลประกอบการในระยะสั้นว่ามันคงไม่ได้ดีนัก และโฟกัสไปที่บางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า (และแน่นอนว่าอาจจะใช้เงินมากกว่า)

ทางออกอาจเป็นการลองหากลุ่มที่มีความสนใจร่วมกันที่คุณอาจเข้าไปจับได้ และหาทางทำให้พวกเขามองว่าแพลตฟอร์มหรือสังคมที่คุณสร้างขึ้นมานั้นเป็นสถานที่พบปะที่น่าเชื่อถือ

และเช่นเคยเราสรุป Trend Briefing ประจำปีเหล่านี้ด้วย

Call to action…

เพราะถึงแม้จะมีบทสรุปเรื่องเทรนด์ออกมามากมาย แต่วิธีการที่คำแนะนำต่างๆ เหล่านั้นจะเกิดผลก็คือการลงมือทำ และหาวิธีการนำเทรนด์เหล่านี้ไปใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมที่น่าสนใจที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าของคุณ ดังนั้นอย่ารอช้า ถ้าพร้อมแล้วก็ลุยเลย

Source


แชร์ :

You may also like