HomeDigitalอยาก ‘โตแบบ 10X’ ต้องเรียนรู้​ แนวคิด Agile ​ยุทธวิธีสลายขั้วอำนาจ ‘ฮิปโป’ ในองค์กรใหญ่​

อยาก ‘โตแบบ 10X’ ต้องเรียนรู้​ แนวคิด Agile ​ยุทธวิธีสลายขั้วอำนาจ ‘ฮิปโป’ ในองค์กรใหญ่​

แชร์ :

ตลอดหลายปีมานี้ เราได้ยินองค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่พูดถึงการ Transformation หรือการปฎิวัติองค์กร​กันบ่อยครั้ง โดยจุดประสงค์หลักส่วนใหญ่จะทำเพื่อให้รอดพ้นจาก​ Technology Disruption หลายๆ องค์กรจึงเลือกที่จะ Disrupt ตัวเอง ก่อนที่จะถูกคู่แข่งหรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง มาคอยบีบให้ต้องปรับตัวโดยที่ยังไม่ทันได้ตระเตรียมความพร้อมใดๆ ไว้รองรับ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

รวมไปถึงประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจมักจะมองคู่กันไป​คือ การเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจที่อยู่มานานและมักเผชิญปัญหาธุรกิจเริ่มทรงตัว ไม่ค่อยเห็นการเติบโตเหมือนกับช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ การทรานส์ฟอร์มองค์กร จึงเป็นหนึ่งโซลูชั่นส์ที่องค์กรต่างๆ นำไปใช้เพื่อทำให้ธุรกิจกลับไปสร้างการเติบโตได้แบบก้าวกระโดดเหมือนช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ได้อีกครั้ง

หมดยุคโตเท่าตัว อย่างน้อยต้อง 10 เท่า

ปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งบางองค์กรอาจมีอายุเป็นร้อยปี มี Legacy มี Culture หยั่งรากลึก การขยับหรือปรับเปลี่ยนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนคนในองค์กร เพื่อให้มีความพร้อมและมีศักยภาพในการแข่งขัน เพราะองค์กรใหญ่ส่วนใหญ่จะมีสายบังคับบัญชา​ที่ค่อนข้างซับซ้อน และหลายลำดับชั้น ทำให้การขับเคลื่อนหรือสั่งการแต่ละครั้งกว่าจะเกิด Action ได้จริง ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเลยทีเดียว

ต่างจากโมเดลการเติบโตของบรรดาสตาร์ทอัพ ​ที่มีจุดเด่นในเรื่อง​ Speed หรือความรวดเร็วในการทำธุรกิจ การตัดสินใจต่างๆ อย่างรวดเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว จึงประสบความสำเร็จได้เร็ว หรือแม้ว่าบางครั้งอาจจะล้มเหลว​ ก็ล้มเร็ว ลุกเร็ว เรียนรู้ได้เร็ว และพร้อมสำหรับการทดลองสิ่งใหม่ต่อไปโดยเร็วเช่นกัน แต่สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดสำคัญขององค์กรธุรกิจในยุคก่อนหน้า โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ที่มักจะเต็มไปด้วยขั้นตอนและกระบวนการในการตัดสินใจหลายชั้น อาจจะด้วยเหตุผลเพื่อความรอบคอบเพื่อให้แต่ละก้าวเดินขององค์กรเป็นไปอย่างมั่นคงและปลอดภัย

นอกจากเรื่องของ Speed แล้ว ศักยภาพในการสร้างความเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพก็เป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ด้วยความสามารถในการขยายสเกลธุรกิจอย่างรวดเร็ว จากอัตราการเติบโตได้ครั้งละหลายๆ เท่าตัว ​​ทำให้ปัจจุบัน ภาคธุรกิจมองข้ามความสามารถในการเติบโตแบบ 1-2 Digit หรือแม้แต่การเติบโตเป็นเท่าตัว มาสู่การหาโซลูชั่นส์เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้แบบ S Curve หรือการเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 10 เท่า หรือ 10X ​Solutions ซึ่งเป็นลักษณะการเติบโตในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ นั่นเอง

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม่ที่ผ่านมากลุ่มสตาร์ทอัพทั้งหลาย จึงสามารถแย่งซีน และแย่งชิงลูกค้าจากแบรนด์ดัง หรือบรรดายักษ์ใหญ่ในธุรกิจไปได้ รวมทั้งความน่ากลัวของโลกธุรกิจในปัจจุบัน​ซึ่งไม่รู้ว่าคู่แข่งที่กำลังเผชิญอยู่คือใครบ้าง ต่างจากยุคก่อนหน้าที่มักเป็นคนทำธุรกิจประเภทเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็อยู่ในวง Supply Chain เดียวกัน แต่ปัจจุบันธุรกิจต้องเผชิญกับคู่แข่งมากหน้าหลายตา เส้นแบ่งการแข่งขันจากกลุ่มธุรกิจหายไป หลายธุรกิจที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องมาเกี่ยวข้องกัน ก็เข้ามาอยู่ใน Ecosystem กลายมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ New Landscape ที่เปลี่ยนไปจากเดิม 

ทำให้องค์กรใหญ่ต่างรีบ​ออกจาก Comfort Zone​ และเร่งปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมกับการแข่งขัน โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ที่เป็นเบอร์หนึ่ง เป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรม สะสมบุญบารมีมายาวนาน ทำให้มีเงินทุน มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ มีเครือข่ายธุรกิจจำนวนมาก และอาจจะเข้าใจว่ามีความเข้าใจทั้งตลาดและลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งองค์กรเหล่านี้กว่าจะขยับแต่ละครั้งต้องผ่านขั้นตอน ผ่านกระบวนการต่างๆ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลามาก สำหรับการขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ใหม่ๆ หรือกว่าจะทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในแต่ละครั้งได้

ที่สำคัญคือ สภาพแวดล้อมของตลาด ​รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภคทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น มีข้อมูล​ และไม่ได้ยึดติดขนบเดิมๆ เพราะมีอำนาจเป็นผู้เลือกได้เอง และกล้าที่จะลองของใหม่ วิธีบริโภคใหม่ๆ วิธีสื่อสารใหม่ๆ ดังนั้น ​ไม่ว่าใครหรืออะไรก็ตามที่สามารถตอบสนองให้ตัวเองได้ดีที่สุดก็จะเป็นสิ่งที่ถูกเลือกจากผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแบรนด์ที่คุ้นเคย หรือต้องเป็นผู้ให้บริการในกลุ่มเดิมๆ ​แบบที่เคยเป็นมาในอดีต

วามเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้จึงเอื้อให้เหล่าสตาร์ทอัพ สามารถมีโอกาสแทรกตัวเข้ามาเป็นช้อยส์ให้กับผู้บริโภค ซึ่งเมื่อผู้บริโภคได้ทดลองใช้แล้วได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สารถตอบโจทย์ความต้องการได้ไม่ต่างจากสิ่งที่แบรนด์ใหญ่เคยทำได้ ทำให้หลายคนเลือกที่จะมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ วิธีใหม่ๆ ที่ได้รับความสะดวกกว่า รวดเร็วกว่า ง่ายกว่า หรืออาจจะถูกกว่าในบางครั้ง และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกลับมาเป็นลูกค้าหรือมาใช้บริการกลุ่มผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ทั้งหลายอีกต่อไป

วิถี Agile เพิ่ม Speed สลายขั้วอำนาจในองค์กร    

เมื่อต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ รอบด้าน ระบบบริหารงานที่หลายองค์กรใหญ่เลือกที่จะใช้เพื่อรับมือต่อธุรกิจยุคดิจิทัล ​คือ การปรับโครงสร้างมาเป็นแบบ Agile Organization ด้วยการตัดสายบังคับบัญชาการทำงานให้สั้นลงและเป็นอิสระต่อกัน เพื่อความคล่องตัวและสามารถขับเคลื่อนกลยุทธ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที หรือ เลือกใช้รูปแบบการทำงานแบบ กระจาย”​ ทำให้งานต่างๆ ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น เพราะสามารถสั่งการและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตามระบบ​โครงสร้างแบบเดิมๆ ที่ไม่สอดคล้องกับการแข่งขันในปัจจุบัน​ เพราะอาจใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนานและทำให้พลาดโอกาสสำคัญทางธุรกิจ

รวมไปถึงจุดเด่นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นในองค์กรจากการ Cross Function​ เพราะทุกคนในทีมจะไม่มีการแบ่งแยกงานกันอย่างชัดเจน เปลี่ยนระบบการรับผิดชอบเฉพาะในสายงานตัวเองมาเป็นการรับผิดชอบทุกอย่างภายในทีมร่วมกัน ​ซึ่งศักยภาพของการทำงานแบบ Agile นั้น น่าจะพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี จากการประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพหรือ Tech Company ที่มีอยู่จำนวนมาก ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีวิธีการทำงานแบบ Agile Organization เป็นหลัก

คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการทรานสฟอร์มองค์กร และเลือกใช้ระบบการบริหารงาน​แบบ Agile​ Organization ด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณโจ้ เคยให้ข้อมูลในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของ SCB มาเป็นแบบ Agile ​​เพราะในฐานะที่ SCB เป็นธุรกิจธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย จึงเป็นทั้งองค์กรใหญ่และเก่าแก่ ลำดับชั้นที่เคยมีในสายงานอย่างน้อยน่าจะไม่ต่ำกว่า 10-15 ขั้น ประกอบกับยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เสี่ยงต่อการถูก Disrupt จากการเติบโตของกลุ่ม FinTech ทำให้ต้องเผชิญกับคู่แข่งใหม่ๆ ทั้งกลุ่มที่ให้บริการทางการเงินด้วยกันเองทั้งกลุ่ม​ Bank และ Non-bank รวมไปถึงการเติบโตของ Digital Platform ต่างๆ  ​

ซึ่งในระยะเวลาก่อนหน้าของการปรับโครงสร้างนั้น ทาง  SCB นำร่องด้วยการซุ่มทดลองตั้งกลุ่มการทำงานที่เรียกว่า Agile Team มาก่อนแล้ว​ ภายใต้โปรเจ็กต์ 10X ​โดยเป็นกลุ่มการทำงานที่ตั้งขึ้นใหม่และทำงานอย่างเป็นอิสระ​ ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างการเติบโตใหม่ให้กับองค์กร หรือการเติบโตได้แบบคูณสิบ เพื่อสร้าง New S-curve เพื่อทำให้ธนาคารสามารถกลับไปเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดได้อีกครั้ง ทำให้ระยะที่ผ่านมา จะเห็น Movement ต่างๆ ของ SCB ที่เน้นการทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะการหาน่านน้ำใหม่ๆ ในการเติบโต รวมทั้งฉีกวิธีคิดจากกรอบเดิมๆ ที่ธุรกิจธนาคารเคยยึดถือมา

Agile Team จะตั้งขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญหรือเพื่อ Purpose บางอย่าง​ ทุกคนในทีมไม่ว่าจะถนัดอะไร หรือก่อนหน้านั้นดูแลอะไรอยู่ จากที่เคยดูเฉพาะงานของตัวเอง หรือทำงานเป็นแท่งๆ ของแต่ละคน หรือแบบเป็นไซโล แต่เมื่อมาอยู่ในทีมนี้ทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งผลงานของทีม 10X ถือว่าบรรลุได้ตามเป้าหมาย เพราะเพียงแค่ 3 เดือนหลังตั้งทีม ก็สามารถลอนช์โปรดักต์ใหม่เพื่อออกมาทดลองตลาดได้ และได้รับผลการตอบรับที่ค่อนข้างดี จากที่ก่อนหน้านี้ การที่ธนาคารจะลอนช์โปรดักต์ใหม่ๆ อะไรออกมาได้แต่ละครั้ง จะใช้เวลาในการ R&D เฉลี่ยเป็นปีๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม Strategic Product ที่ส่งผลต่อการเติบโตของค์กร ​เช่น กลุ่มสินเชื่อ ซึ่งทางทีมจะยังมีการพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้สินเชื่อ เช่น ทำอย่างไรให้ยอด Reject สินเชื่อลดลงหรือเป็นศูนย์ให้ได้ในอนาคต จากความแม่นยำและความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ทำให้นำมาซึ่งการเติบโตที่มากขึ้นขององค์กรนั่นเอง”​

คุณโจ้ ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อดีของการนำระบบ Agile Organization มาใช้ว่าจะช่วยเพิ่ม Productivity และ Efficiency ให้องค์กรได้ จากการทลายกำแพงบางอย่าง ที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไปในองค์กรขนาดใหญ่และเก่าแก่

“พูดถึงองค์กรใหญ่ทั่วๆ ไป ทั่วโลก ที่มักจะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “ฮิปโป”​ หรือ HiPPO (Highest Paid Person’s Opinion) หรือคนที่อยู่ในองค์กรมานาน​ ซึ่งพอนานวันไปเงินเดือนและตำแหน่งก็จะสูงขึ้น ​ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ในองค์กรเกรงใจและไม่กล้าขัดเมื่อคนกลุ่มนี้เสนอความคิดเห็นบางอย่าง แม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ถูกซะทั้งหมด  เหมือนอย่างผมเองก็เป็นหนึ่งในฮิปโปเหมือนกัน เวลาพูดอะไรน้องๆ ก็เกรงใจ ซึ่งบางครั้ง บางเรื่องเราอาจจะรู้ไม่เท่าน้องๆ ก็มี ดังนั้น การมีโครงสร้างแบบ Agile ที่ไม่ได้มีลำดับขั้นมาก ไม่ต้องมีนายหลายชั้น ​ทำให้คนที่ทำงานจริงมี Empowering ในการทำงานและตัดสินใจมากขึ้น จึงทำให้ขับเคลื่อนงานต่างๆ ได้รวดเร็วและได้ทำงานในแบบที่ต้องการมากขึ้น”

Photo Credit: http://www.enricdurany.com/

ที่สำคัญในยุคนี้ เป็นยุคที่คนรุ่นใหม่ใจร้อน ไม่ชอบรออะไรนานๆ การเข้ามาในองค์กรใหญ่ที่สายงานบริหารมีเป็นสิบขั้น กว่าจะโตขึ้นเป็นระดับผู้บริหารได้ก็ต้องใช้เวลา ทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือเป็น Freelancer กันมาก แต่หากองค์กรที่วางโครงสร้างแบบ Agile Organization ที่มีสายงานเฉลี่ยไม่เกิน 2-3 ชั้น โอกาสจะเติบโตก็เร็วกว่าการเดินตาม Career Path แบบเดิมๆ รวมทั้งยังทำให้องค์กรมีโอกาสได้คนที่เป็นกลุ่ม Talent และ Technologist มาร่วมงานได้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นอย่างมากในการเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแรงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรให้สูงมากยิ่งขึ้นในยุคดิจิทัลเช่นนี้

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมหลายองค์กรใหญ่ทั้งของไทยหรือในต่างประเทศ พยายามทรานส์ฟอร์มเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างการทำงานแบบเดิมๆ มาอยู่ในวิถีของ Agile Organization ​เพิ่มขึ้น​ เพราะความสำเร็จหรือความยิ่งใหญ่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา​​ ไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันใดๆ ได้เลยว่าในอนาคตธุรกิจจะยืนหยัดต่อความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเข้ามาได้อยู่หรือไม่ จึงต้องตรียมความพร้อมด้วยการรีบขับเคลื่อน​ออกจาก Comfort Zone​ และเร่งปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมกับทุกการแข่งขัน​ในอนาคต ​ซึ่งไม่ใช่แค่เรือเล็กเท่านั้นที่ต้องออกจากฝั่ง เพราะยุคนี้ “เรือใหญ่”​ เอง ก็ต้องรีบขับเคลื่อนและเร่งออกจากฝั่งเพื่อไปหาดินแดนใหม่ และโอกาสใหม่สำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคตเช่นกัน

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like