HomeAutomobileมีอะไรในดีล “Toyota x Suzuki” สู้ศึกรถอัตโนมัติยุคนี้ต้องจับมือไว้แล้วไปด้วยกันจริงหรือ?

มีอะไรในดีล “Toyota x Suzuki” สู้ศึกรถอัตโนมัติยุคนี้ต้องจับมือไว้แล้วไปด้วยกันจริงหรือ?

แชร์ :

เป็นดีลที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับการได้เห็น Toyota ตัดสินใจควักเงินมูลค่า 96,000 ล้านเยนไปซื้อหุ้นของ Suzuki และ Suzuki ก็ควักเงิน 48,000 ล้านเยน มาซื้อหุ้นของ Toyota ไขว้กันเอาไว้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนารถอัจฉริยะ “ร่วมกัน” โดยสิ่งที่พบจากดีลนี้น่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับตลาดรถอัจฉริยะไร้คนขับ โดยเฉพาะสำหรับ Toyota ที่มีเส้นตายคือมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 มาค้ำคอ

โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Toyota บอกว่า การลงทุนครั้งนี้มีแผนการมาตั้งแต่ปี 2016 และตัดสินใจซื้อหุ้นกันในที่สุดเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของ 2 บริษัทให้แนบแน่นขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี Autonomous Driving พร้อมยืนยันด้วยภาพของความช่วยเหลือระหว่างสองบริษัทที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อช่วงต้นปี 2019 ทาง Toyota ก็มีการแชร์เทคโนโลยีไฮบริดให้กับ Suzuki เพื่อนำไปต่อยอดในตลาดโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอินเดีย) หรือในปี 2018 ทาง Toyota ก็ช่วย Suzuki พัฒนาเครื่องยนต์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม และนำเครื่องยนต์นั้นไปสู่การทำตลาดในทวีปต่าง ๆ รวมถึงแอฟริกาด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับเม็ดเงิน 96,000 ล้านเยนที่ Toyota ซื้อหุ้น Suzuki ไปนั้นคิดเป็นสัดส่วน 4.94% ซึ่งทาง Livemint ได้อ้างคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าว Suzuki ในประเทศอินเดียว่า

อาจนำไปสู่การควบรวมกิจการระหว่างสองบริษัทในอนาคตก็เป็นได้

Suzuki เคยขายหุ้นให้ Volkswagen AG มาก่อน

สำหรับ Suzuki ก่อนหน้านี้เคยถูก Volkswagen AG เข้าซื้อหุ้นจำนวน 19.9% เมื่อปี 2009 หรือคิดเป็นมูลค่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐมาแล้ว แต่ในภายหลังทาง Suzuki มีการกล่าวหาว่าบริษัท Volkswagen AG พยายามจะเข้าครอบงำกิจการและยื่นขอให้อนุญาโตตุลาการตัดสินชี้ขาด ซึ่งคำตัดสินมีออกมาว่าให้ Volkswagen AG ขายหุ้นคืนให้กับ Suzuki

ตัดกลับมาที่ดีลของ Suzuki – Toyota ทาง Puneet Gupta แห่ง IHS Markit วิเคราะห์ว่า การซื้อหุ้นระหว่างกันของสองบริษัท Suzuki และ Toyota ในครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิมแน่นอน เพราะทั้งสองบริษัทมีการทำงานร่วมกันมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่า ทั้งสองบริษัททำงานร่วมกันได้ จึงนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนในกิจการของกันและกันในที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้น Gupta ยังมองว่า การที่ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทญี่ปุ่นเหมือนกัน ทำให้ช่องว่างด้านความเข้าใจ – วัฒนธรรมต่าง ๆ ผสานเข้าหากันได้โดยง่าย

อย่างไรก็ดี หลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป หุ้นของบริษัท Maruti Suzuki ในอินเดียก็มีการปรับตัวลดลง 3% ด้วย

ทั้งนี้ Toyota ตั้งเป้าว่าบริษัทจะสามารถส่งรถอัตโนมัติไร้คนขับลงวิ่งบนท้องถนนได้ภายในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นจัดมหกรรมโอลิมปิกเกมส์ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ กรุงโตเกียว เนื่องจากเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทจะได้โชว์ความก้าวหน้าให้ชาวโลกได้สัมผัส ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น อีกไม่ถึง 1 ปีเราก็จะได้ทราบกันแล้ว

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like