HomeDigitalส่องธุรกิจใหม่ “ป้อม-ภาวุธ” เปิดตัวระบบ COD Gateway ตั้งเป้าเป็นยูนิคอร์นโลจิสติกส์

ส่องธุรกิจใหม่ “ป้อม-ภาวุธ” เปิดตัวระบบ COD Gateway ตั้งเป้าเป็นยูนิคอร์นโลจิสติกส์

แชร์ :

หากเอ่ยถึง “อีคอมเมิร์ซ” ธุรกิจซึ่งถูกปักธงไว้ว่าจะเป็นรูปแบบการค้าแห่งอนาคตที่ผู้เล่นทุกรายไม่อาจละสายตาไปได้นั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ แต่ละภูมิภาค แต่ละตลาด แต่ละประเทศ ต่างมีคาแรคเตอร์ในการนำอีคอมเมิร์ซไปใช้แตกต่างกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก ETDA ระบุว่ามีคนไทยมากถึง 11 ล้านคน และธุรกิจเอสเอ็มอี 15,000 รายที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในจำนวนนี้ มากกว่าครึ่ง (65%) นิยมเลือกวิธีขนส่งด้วยการจ่ายเงินปลายทาง (Cash on Delivery : COD) หรืออาจกล่าวได้ว่า COD เป็นเอกลักษณ์ของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยไปแล้วก็ว่าได้

แต่รูปแบบการขนส่งในลักษณะดังกล่าวก็แสดงถึง Pain Point ที่ซ่อนอยู่ข้างหลังหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ซื้อ ที่เป็นการสะท้อนถึงความไม่มั่นใจในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จนต้องขอดูสินค้าให้แน่ใจก่อนจึงจะยอมจ่ายเงิน ส่วนในฝั่งบริษัทผู้ขนส่งก็ต้องเสี่ยงกับการบริหารจัดการเงินสดที่ตัวพนักงานขับรถอาจหอบเงินหนี ไม่ยอมส่งคืนให้กับบริษัท หรือในฝั่งผู้ขายที่ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินจริงหรือไม่

ความท้าทายเหล่านี้ถูก “Shippop” สตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์สัญชาติไทย ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งอย่างคุณสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ และคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ มองเห็นเป็นโอกาสเข้าอย่างจัง และนำไปสู่การหาวิธีแก้ Pain Point ให้กับระบบโลจิสติกส์ไทยด้วยการพัฒนาระบบ COD Gateway ขึ้นมาให้บริการเสียเลย

คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ (ซ้าย) และคุณสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ สองผู้ก่อตั้ง Shippop

โดย COD Gateway จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมบริการเก็บเงินปลายทางของธุรกิจขนส่งเข้าไว้ด้วยกันเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ที่ผู้ใช้งานสามารถเปรียบเทียบราคาและพื้นที่การให้บริการได้ สามารถเข้าไปรับพัสดุถึงที่บ้าน หรือส่งพัสดุ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ได้โดยไม่ต้องต่อแถว ติดตามสถานะการจัดส่งได้

“สิ่งที่เราเห็นคือธุรกิจโลจิสติกส์บ้านเราล้วนมีระบบ COD ของตนเองอยู่แล้ว แต่เป็นแบบของใครของมัน ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ Pain Point ที่ตามมาจึงมีทั้งปัญหาที่ผู้ใช้บริการไม่รู้เจ้าไหนถูกที่สุด ไม่ทราบพื้นที่การให้บริการ ไม่ทราบจุดรับส่งสินค้า รูปแบบการติดตามสถานะจัดส่งที่แตกต่างกันของแต่ละเจ้า ฯลฯ Shippop จึงเข้ามาสร้างระบบกลาง ดึงทุกแพลตฟอร์มเข้ามาอยู่ด้วยกัน ให้ลูกค้าเป็นคนเลือกว่าจะใช้บริการของใคร โดยเราจะมีบริการเปรียบเทียบราคาให้” คุณสุทธิเกียรติกล่าว

คุณสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์

ส่วนรายได้ของ COD Gateway มาจากค่าธรรมเนียมที่พ่อค้าแม่ขายออนไลน์เข้ามาใช้บริการ โดยจะถูกคิด 3% ต่อการส่งสินค้าหนึ่งครั้ง

ปัจจุบัน COD Gateway มีพันธมิตรด้านโลจิสติกส์แล้ว 4 ราย ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย แฟลช เอ็กซ์เพรส SCG Express และซีเจ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) และมีลูกค้าทั่วไปใช้บริการแล้ว 25,000 ราย ส่วนลูกค้าองค์กรมีอยู่ราว 500 ราย ซึ่งผลประกอบการในปีที่ผ่านมาพบว่ามีรายได้ 105 ล้านบาท ส่วนในปีนี้คาดว่าจะเติบโตอีกหนึ่งเท่าตัว โดยสองผู้ก่อตั้งเผยว่า มีแผนจะก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์นด้านโลจิสติกส์ด้วยอีกหนึ่งราย

ปฏิวัติขั้นสุด ปลดล็อควงการ COD ทุกอย่าง

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าการสร้างแพลตฟอร์มกลางอย่าง COD Gateway ขึ้นมานั้น ก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงของการขนส่งแบบ COD หายไปเสียทีเดียว ในจุดนี้ คุณสุทธิเกียรติเผยว่า Shippop ยังมีแผนอีกขั้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างสถาบันการเงินด้วย ซึ่งหากทำได้จะสามารถปลดล็อก Pain Point ทุกอย่างในวงการ COD ออกไปเลย

“จาก Pain Point ของ COD ที่เราอาจเกรงกันว่าคนส่งสินค้าอาจจะลาออกแล้วหอบเงินหนีไป หรือรอบการโอนเงินที่ยังต้องรอเป็นสัปดาห์ถึงจะได้รับเงิน เครื่องมือที่กำลังพัฒนาอยู่นี้จะทำให้มันเรียลไทม์กว่านั้น แต่จะทำได้อย่างไรขออุบไว้ก่อน” ผู้บริหาร Shippop กล่าวปิดท้าย

 

 


แชร์ :

You may also like