HomeBrand Move !!‘สารัช’ ต้นตำรับ ‘มะขามจี๊ดจ๊าด’ กับเส้นทางการสร้างแบรนด์ที่จี๊ดจ๊าดไม่แพ้กัน และวิธีสร้างความต่างในสินค้าที่หาความต่างได้ยาก ​

‘สารัช’ ต้นตำรับ ‘มะขามจี๊ดจ๊าด’ กับเส้นทางการสร้างแบรนด์ที่จี๊ดจ๊าดไม่แพ้กัน และวิธีสร้างความต่างในสินค้าที่หาความต่างได้ยาก ​

แชร์ :

การพยายามสร้างความแตกต่างและไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพยายามมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจอยู่เสมอ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากตลาด เช่นเดียวกับ “มะขามสารัช”​ ที่ชื่อนี้อาจฟังดูอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่านี่คือ ต้นตำรับของผู้ค้นคิด “มะขามจี๊ดจ๊าด” อีกหนึ่งสินค้าที่หลายๆ คนชื่นชอบและเชื่อว่าต้องเคยลิ้มลองกันมาแล้วบ้างอย่างแน่นอน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เริ่มธุรกิจด้วยความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง

จุดเริ่มต้นของมะขามสารัช จากผู้ให้ข้อมูลชื่อเดียวกับแบรนด์ และเชื่อว่าเป็นแรงบันดาลใจของผู้ก่อตั้งที่นำชื่อลูกชายมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์อย่าง “คุณสารัช กมลธรไท” ทายาทคนเดียวของ “คุณจินดา และคุณสุภาลักษณ์ กมลธรไท” อดีตข้าราชการครู ในอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ตัดสินใจลาออกจากงานที่ถือได้ว่ามั่นคงและมีเกียรติเมื่อยุค 40 ปีก่อน เพื่อออกมาทำธุรกิจส่วนตัว แต่ยุคนั้น ยุคที่บริบททางสังคมต่างจากปัจจุบัน ไม่ได้มีคนที่อยากเป็นเถ้าแก่ หรือมีฟรีแลนซ์ สตาร์ทอัพเป็นว่าเล่นเหมือนในปัจจุบัน การที่ทั้งสองท่านตัดสินใจลาออกจาการเป็นข้าราชการครูที่มีคนนับหน้าถือตา ออกมาค้าขาย หรือมาเป็นพ่อค้า แม่ค้า นั้น แน่นอนว่า ได้รับการคัดค้านและไม่เข้าใจจากผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญาติๆ ที่ใกล้ชิด หรือคนรู้จักทั่วไป พร้อมกับคำสบประมาทที่ว่า “จะไปได้สักกี่น้ำ?”

คุณสารัช เล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า คุณพ่อ และคุณแม่ เคยเป็นข้าราชการครูทั้งคู่ ขณะที่คุณแม่ก็จะหารายได้เสริมให้ครอบครัว ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มากในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ อย่างมะขามมาแปรรูป จากสูตรที่ทางคุณยายมีอยู่ แล้วนำไปขายทั้งในโรงเรียน หรือไปฝากขายตามร้านค้า หรือตามท่ารถในตัวอำเภอเมือง ​เพื่อให้มีรายได้เข้ามาในครอบครัวเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินเดือนครูที่ทั้งสองท่านทำอยู่

“เมื่อเห็นว่าพอมีรายได้เข้ามา​ คุณพ่อก็ต้องการขยายธุรกิจและเพิ่มช่องทางในการขายให้มากขึ้น จึงตัดสินใจลาออกจากข้าราชการครูก่อนเป็นคนแรก เพื่อมาวิ่งรถส่งมะขามอย่างจริงจัง ซึ่งในยุคแรกจะมีแค่มะขามคลุกธรรมดา และมะขามคลุกบ๊วย​ แต่ก็สามารถขายได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่คุณแม่เองก็ชอบที่จะคิดค้นสูตรใหม่ๆ ให้กับสินค้า เพราะการมีแค่มะขามคลุก ไม่สามารถทำให้สินค้าแตกต่างได้ เพราะใครๆ ก็ทำกัน ​จนเริ่มมีหลากหลายรสชาติและมีคนซื้อมากขึ้น จนสุดท้ายคุณแม่ก็ตัดสินใจลาออกจากราชการครูตามคุณพ่อ”​

การตัดสินใจออกจากการเป็นครู ซึ่งในต่างจังหวัดและในยุคหลายสิบปีก่อน ถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและเป็นอาชีพที่มีคนนับหน้าถือตา แต่พอมาเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งช่วงแรกทั้งสองคนต้องช่วยกันทำงานอย่างหนัก โดยคุณสุภาลักษณ์จะรับผิดชอบในส่วนของการผลิตมะขามแปรรูปและคิดค้นสูตรใหม่ๆ มาขายอยู่เสมอ ขณะที่คุณจินดาจะเป็นคนขับรถเพื่อนำมะขามไปวางขายตามจุดต่างๆ โดยมีคุณสารัช ลูกชายคนเดียวคอยช่วยพ่อและแม่ในการแพ็กใส่ถุง ด้วยวิธีการบ้านๆ แบบเอาปากถุงมาลนไฟกับเทียนไข เพื่อให้ปากถุงปิดสนิท รวมทั้งการนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ของพ่อ โดยต้องลากรถซาเล้งที่บรรทุกมะขามไปส่งตามร้านค้าต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นภาพที่ไม่ค่อยน่าดู และคนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจมากนักว่าทำไมสามีภรรยาคู่นี้เลือกที่จะออกมาลำบากแทนที่จะทำงานดีๆ แบบเดิม

“คุณพ่อคุณแม่เลือกที่จะตั้งใจทำธุรกิจเพื่อพิสูจน์ นำคำดูถูกและนินทาต่างๆ มาเป็นแรงฮึด เพื่อลบคำสบประมาทต่างๆ ​ซึ่งใช้เวลาในการพิสูจน์ระยะหนึ่ง ตั้งแต่ผมจำความได้ราวๆ 6-7 ขวบ ที่ต้องมาช่วยแม่แพ็กมะขาม และนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์พ่อโดยนั่งทับที่ลากรถซาเล้งเพื่อลากมะขามไปส่งด้วย ทำอยู่อย่างนั้นมาระยะหนึ่ง จนถึงอายุ 13-14 ปี ที่พ่อกับแม่ซื้อเตียงนอนหลังแรกให้กับผม ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ธุรกิจเริ่มขายดีขึ้น ซึ่งถือว่าต้องใช้เวลาในการพิสูจน์นานในระยะหนึ่งทีเดียว”​

3 จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจ

ภาพของพ่อและแม่ที่ต้องทำงานหนัก เพราะ​ไม่ใช่เพียงการขายแค่ในพื้นที่บ้านเกิดเล็กๆ น้อยๆ แต่การวางแบรนด์ให้เติบโตและเป็นที่รู้จัก ทำให้มะขามสารัชพยายามนำสินค้าไปออกงานต่างๆ โดยเฉพาะงานประจำปีใหญ่ๆ ใน กทม. อย่างงานกาชาดที่สวนอัมพร หรือเกษตรแฟร์ เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และนำมะขามรสชาติใหม่ๆ ไปแนะนำ เพื่อฟังฟีดแบคจากลูกค้าในการนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าต่อไป ​

การไปออกงานที่กรุงเทพฯ ในแต่ละครั้ง คุณสารัชมองเห็นภาพความลำบากของพ่อกับแม่มาโดยตลอด ทั้งการไปออกบูธกลางแดดร้อนๆ ต้องกินนอนอยู่ตรงบูธเพื่อเฝ้าร้าน จึงตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบจะมาช่วยพ่อและแม่ทำธุรกิจต่อไป โดยเฉพาะการต่อยอดสินค้าที่สามารถขายได้ดี ให้มี Value เพิ่มมากย่ิงขึ้นให้ได้

“หากจะบอกว่าผมเป็น Gen 2 คงไม่ถูกนัก น่าจะเป็น Gen 1.5 มากกว่า เพราะในฐานะเป็นทายาท แต่ก็รับรู้และเห็นความลำบากของพ่อแม่มาตั้งแต่ต้น จนเรียนจบก็เข้ามาดูแลงานด้านการตลาดให้กับแบรนด์ โดยเฉพาะการพัฒนาแบรนด์และพัฒนาสินค้าให้ตลาดยอมรับ ​ทั้งจากรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่าง การออกแบบแพกเกจจิ้ง​ รวมท้ังการต่อยอดเพื่อให้มะขามกลายเป็นสินค้าที่กินได้ง่าย และทุกคนสามารถกินได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่อยากให้คนทั่วโลกสามารถกินได้ด้วย ทำให้มีสินค้าที่สร้างความต่างจากตลาดและเพิ่มแวลู่ให้แบรนด์ได้ โดยเฉพาะมะขามจี๊ดจ๊าด ที่มีรสเปรี้ยว เค็ม จี๊ดจ๊าด สมชื่อที่กินแล้วตื่น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดเป็นอย่างมาก จนกลายมาเป็นสินค้าหลักของบริษัทในปัจจุบันนี้”​

ตลอดเส้นทางกว่า 40 ปี นับจากยุคเริ่มต้นช่วงปี 2520 -2521 จนเร่ิมใช้ชื่อแบรนด์เป็น “มะขามสารัช” ราวปี 2525 เส้นทางธุรกิจต้องพบหลายจุดเปลี่ยนสำคัญ แต่ทุกครั้งก็ต่างเป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นไปได้ในอีกหนึ่งระดับ โดยคุณสารัชมองว่ามี 3 เหตุการณ์ ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยจุดแรกก็คือ การที่พ่อและแม่ตัดสินใจลาออกจากข้าราชการครูเพื่อมาโฟกัสการทำธุรกิจอย่างจริงจัง ทำให้สามารถขายสินค้าและผลิตสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะการนำไปวางขายที่ท่ารถทำให้คนที่เดินทางมาเพชรบูรณ์​นิยมซื้อกลับไปเป็นของฝาก ​กลายเป็นการบอกต่อแบบปากต่อปากจนทำให้สินค้ากลายเป็นที่นิยมได้อีกทางหนึ่ง

จุดที่สองคือ การตัดสินใจลงทุนเพื่อสร้างห้องเย็นในการเก็บมะขาม เพื่อให้สามารถมีมะขามเพื่อใช้ในการผลิตได้ตลอดทั้งปี เพราะว่ามะขามจะออกเป็นฤดูในช่วงต้นปี หรือราวๆ เดือนมกราคมเท่านั้น การมีห้องเย็นที่สามารถเก็บมะขามไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี ทำให้มีสินค้ามาทำตลาดได้เพิ่มมากขึ้น

และสุดท้ายซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่และทำให้ธุรกิจมะขามสารัช กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างในปัจจุบันนี้ก็คือ การนำสินค้าเข้าไปวางขายในเซเว่น อีเลฟเว่น ได้สำเร็จ แต่จุดเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นทั้งโอกาสและทั้งความท้าทายที่สร้างความหนักใจให้แก่คุณสารัช ซึ่งในขณะนั้นเข้ามาช่วยพ่อและแม่ดูแลธุรกิจอย่างเต็มตัวแล้ว

“เราเข้าเซเว่นฯ ได้ประมาณปี 2547 และถือเป็นแบรนด์แรกๆ ของมะขามที่เริ่มเข้าไปวางขายในโมเดิร์นเทรด โดยเฉพาะในร้านเซเว่น ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้แบบก้าวกระโดด แต่หลังจากตกลงจะนำสินค้าไปวางขาย เราจำเป็นต้องขยายกำลังผลิตให้พร้อมสำหรับการกระจายให้ได้ครบทุกสาขา ซึ่งขณะนั้นแม้จะยังมีสาขาไม่ถึงพัน แต่กำลังผลิตเราก็ไม่พออยู่ดี ทำให้เราต้องขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า นำมาซึ่งหนี้สินก้อนโตจากการเข้าไปขอกู้ธนาคาร และความเครียดเพราะกลัวว่าถ้าทำไม่สำเร็จจะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน มีหนี้สิน และสุดท้ายแบรนด์ที่พ่อแม่ส้รางมาก็จะพลอยเสียชื่อไปด้วย

แต่สุดท้าย เมื่อคิดว่าต้องพยายามทั้งเพื่อครอบครัวรวมทั้งพนักงานที่ต้องดูแล ประกอบกับมั่นใจในคุณภาพของสินค้าว่ามีคุณภาพและรสชาติที่ดี เชื่อว่าจะเป็นที่ถูกใจของลูกค้าได้ไม่ยากนัก จนสุดท้ายก็สามารถเข้าไปวางขายในเซเว่นฯ ได้สำเร็จ ซึ่งผลตอบแทนก็ถือได้ว่าคุ้มกับค่าเหนื่อย เพราะตัวเลขในการวางบิลให้กับเซเว่นฯ ในช่วงเริ่มต้นนั้น ก็มากขึ้นสอดคล้องกับจำนวนเม็ดเงินในการลงทุนเช่นกัน เพราะจากที่เคยขายสินค้าเอง วางบิลครั้งละ 3-4 พันบาท แต่ยอดขายที่นำไปวางบิลกับทางเซเว่นฯ นั้น มีตัวเลขเพิ่มขึ้นมาเป็น 3 แสนกว่าบาทเลยทีเดียว รวมท้ังยังนำมาซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสารัชทำให้สร้างยอดขายได้กว่า 150 ล้านบาท และยังสร้างชื่ิอให้ “มะขามจี๊ดจ๊าด”​ เป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกวา้งมากยิ่งขึ้น

มะขามจี๊ดจ๊าด ขายได้เดือนละ 2 ล้านกระปุก

ปัจจุบันผ่านมากว่า 15 ปีแล้ว หลังจาก ‘สารัช’ เริ่มขายในเซเว่นฯ และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายตลาดได้ทั้งในไทยและในอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะความนิยมในย่าน Thai Town หรือในกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย จีน รวมทั้งในอีกหลายๆ ประเทศในเอเชีย โดยยอดขายมาจากในประเทศ​ 70% และต่างประเทศ 30% รวมทั้งการขยายช่องทางขายในโมเดิร์นเทรดเพิ่มเติม อย่างเทสโก้ โลตัส รวมทั้งช่องทางใหม่อย่างในเครือเดอะมออล์ หรือวิลล่ามาร์เก็ตเพิ่มเติม ขณะที่ช่องทางหลักยังคงเป็นร้านเซเว่นฯ อีเลฟเว่น ที่ขายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละหมื่นลังเลยทีเดียว 

“สินค้าไฮไลท์ และถือเป็นฮีโร่โปรดักต์ของมะขามสารัช คือ มะขามจี๊ดจ๊าด ที่ทำยอดขายมากกว่า 40% ของยอดขายในแต่ละปี และขายดีทั้งแบบกระปุกใหญ่ และกระปุกเล็ก ขณะที่รสชาติอื่นๆ ก็จะได้รับความนิยมใกล้เคียงกัน แต่มะขามจี๊ดจ๊าด เป็นสินค้ายอดนิยมที่ขายดีโดดเด่นมากกว่าสูตรอื่นๆ โดยขายได้กว่า 2 ล้านกระปุกในแต่ละเดือน หรือทำยอดขายได้กว่า 80 ล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งเป็นธรรมดาที่เมื่อสินค้าขายดีย่อมต้องมีคู่แข่งมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นมะขาม​ที่หาความแตกต่างได้ยาก ทำให้มีคู่แข่งทำสินค้าที่เหมือนหรือใกล้เคียงกันมาทำตลาด ซึ่งปัจจุบันจะเห็นหลายๆ แบรนด์ที่เริ่มเข้ามาขายในช่องทางโมเดิร์นเทรดเช่นกัน และหากจะนับแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยทั่วไป ที่ขายกันในชุมชนในท้องถิ่น อาจจะมีนับร้อยนับพันแบรนด์เลยทีเดียว โดยเฉพาะบางแบรนด์ที่นำคำว่า “จี๊ดจ๊าด”​ ซึ่งเป็นหนึ่งในสูตรของมะขามสารัชไปตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้​

การแก้เกมของมะขามสารัชคือ การให้ความสำคัญกับการสร้าง Brand Value เพื่อให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ และรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของมะขามสารัชกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาด โดยหนึ่งในความโดดเด่นของมะขามสารัชคือ การใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากท้องถิ่น​ซึ่งถือเป็นดินแดนแห่ง​เมืองมะขามอย่างจังหวัดเพชรบูรณ์ทั้งหมด ที่จะมีรสชาติที่ดีและเป็นเอกลักษณ์ ต่างจากมะขามในพื้นที่อื่น ประกอบกับการพัฒนารสชาติใหม่ๆ มาทำตลาดอยู่เสมอ ทำให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ไม่ต่ำกว่า 50 รายการ

และเพื่อทำให้สารัช เป็นแบรนด์ที่มีความแตกต่างจากมะขามทั่วไป จะมีการต่อยอดไปในตลาดที่พรีเมี่ยมมากขึ้น ด้วยการออกแบรนด์ใหม่ “สารัชโกลด์​” ที่จะคัดเลือกมะขามที่มีความสมบูรณ์ของฝัก และมีขนาดยาวกว่าฝักทั่วๆ ไป ซึ่งจะหาได้ยากกว่าและมีราคาแพงกว่า เพื่อวางในซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมี่ยม เช่น กรูเมต์ มาร์เก็ต หรือวิลล่ามาร์เก็ต เป็นอีกหนึ่งการสร้างความแตกต่าง รวมทั้งยังทำการศึกษาโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะโอกาสในการเจาะตลาดนิชของมะขามเพื่อทำตลาดในระดับที่สูงขึ้นไปอีก ด้วยการเลือกพันธุ์ที่ดีและหายาก พร้อมทั้งการชูจุดขายด้วย Story ทั้งของมะขามหรือแบรนด์สารัช ซึ่งเป็นการบ้านที่ท้าทายมากยิ่งขึ้นไปอีก

ต่อยอดสู่ Skin Care สร้างตลาดใหม่

โจทย์สำคัญของสารัชในขณะนี้ คือ การสร้างแวลู่ของแบรนด์ให้มากขึ้น เพื่อให้สารัช มีความต่างจากมะขามทั่วๆ ไป ให้ได้ รวมทั้งการทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณประโยชน์ของมะขามทั้งประโยชน์จากสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้ง การต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ในหลากหลายโปรดักต์​ที่มากกว่าสิ่งที่เคยเห็นแบบเดิมๆ

คำถามที่เรามักต้องตอบเสมอคือ สารัชต่างจากมะขามทั่วๆ ไปอย่างไร เพราะความคิดของคนส่วนใหญ่มะขามก็เหมือนกันหมด เราต้องทำให้คนเรียกหาแบรนด์เรา และมี Perception ว่า สารัช = มะขาม รวมทั้งการเพิ่ม Brand Touchpoint ไปยังฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ด้วยโปรดักต์ที่ต่างไปจากเดิม เพราะบางคนอาจไม่ชอบทานมะขาม แต่ก็สมารถรู้จักและเข้าถึงแบรนด์สารัชได้ ด้วยผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญ”

เพราะอีกหนึ่งประโยชน์ของมะขามที่คนรับรู้คือ การมีสารที่ช่วยบำรุงและดูแลผิวพรรณ ทำให้มักจะเห็นการนำมะขามมาต่อยอดเป็น Skin Care อย่างโลชั่นหรือสบู่อยู่บ้าง แต่ในตลาดจะเป็นการใช้เนื้อมะขามเป็นส่วนใหญ่ แต่การเข้ามาในตลาด Skin Care ของสารัช จะเป็นการนำเม็ดมะขามไปสกัดด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้ได้สารสกัดจากเม็ดมะขามที่มีสรรพคุณในการดูแลผิวพรรณอย่างล้ำลึกมากขึ้น ภายใต้การศึกษามากว่าหนึ่งปี เพื่อให้สามารถสร้าง​ Differentiate  จากตลาด ที่ยังไม่เคยมีใครในตลาดทำมาก่อน พร้อมท้ังตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบ Zero Waste ​รวมทั้งทำให้ ภาพของสารัชในฐานะ Expertise หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการแปรรูปมะขามมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เรามีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Skin Care รวม 2 แบรนด์ โดยแบรนด์แรกจะเน้นทำตลาดแบบ Local Marketing ในพื้นที่เพชรบูรณ์และผ่านออนไลน์ โดยวางจำหน่ายผ่าน Flagship Store ของสารัช ที่เป็นทั้งร้านขายของฝากและร้านอาหารเล็กๆ สำหรับรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเพชรบูรณ์ ภายใต้ชื่อว่า แทมมี่ ออร่า​ ขณะที่อีกหนึ่งแบรนด์จะทำตลาดในวงกว้างแบบ Mass Product เพื่อจำหน่ายผ่านร้านความงามต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น อีฟแอนด์บอย วัตสัน หรือบิวตี้สโตร์ต่างๆ ซึ่งจะวางตำแหน่งที่สูงกว่าแทมมี่ ออร่า เล็กน้อย เพื่อขยับไปทำตลาดในกลุ่ม Premium Mass โดยคาดว่าจะเริ่มทำตลาดจริงจังได้ในราวไตรมาสสาม”

คุณสารัช มองการตอบรับจากการเข้าไปในตลาด Skin Care ในเชิงของการสร้างแบรนด์เป็นหลัก ทั้งการขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มใหม่ๆ ให้รู้จักแบรนด์สารัชได้ในวงกว้างมากขึ้น และเป็นมากกว่าแค่การใช้รับประทาน ทำให้ไม่กังวลต่อการแข่งขันในระดับสูงของตลาดบิวตี้ แต่เชื่อว่าจะมีกลุ่มลูกค้าบางคนที่ให้ความสนใจและตอบรับแบรนด์ ซึ่งนอกจากในตลาดบิวตี้แล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวก็จะเป็นอีกหนึ่งประตูที่จะทำให้สารัชเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น ทั้งจากแพลนในการขยาย Flagship Store เพิ่มเติมอีกหนึ่งแห่งที่เขาค้อ ภายในปีนี้ จากปัจจุบันมีอยู่แล้วหนึ่งแห่งคือ สารัชเรือนหล่ม ที่บริเวณถนนหล่มสัก -เลย ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเพชรบูรณ์ สามารถรู้จักสารัชได้ในอีกหนึ่งมิติ

ที่สำคัญ คุณสารัช มองแผนในระยะยาว ด้วยการสร้างรีสอร์ทในเชิงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งจะมีแปลงสาธิตอยู่ภายใน รวมทั้งเป็นการต่ออีกหนึ่งจิ๊กซอว์เพื่อทำให้ Brand Story ของสารัชให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับโมเดลที่ฟาร์มโชคชัยสามารถทำได้สำเร็จ ​ขณะที่ความสำเร็จของแบรนด์มะขามสารัช รวมทั้งในกลุ่มธุรกิจต่างๆ หากสามารถทำให้คนทั่วไปรู้จักได้ในวงกว้างมากขึ้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนอยากมาเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งได้ด้วย

Photo Credit : Sarach Tamarind – มะขามสารัช


แชร์ :

You may also like