HomeBrand Move !!เมื่อวันนี้ ทุกที่คือธนาคาร​ แถมยังทำธุรกรรมฟรี ทำไมต้องมีแบ้งก์กิ้งเอเย่นต์ กับดีลล่าสุด “เซเว่นฯ- เอสซีบี” เป็นได้ทุกอย่างจริงๆ ​

เมื่อวันนี้ ทุกที่คือธนาคาร​ แถมยังทำธุรกรรมฟรี ทำไมต้องมีแบ้งก์กิ้งเอเย่นต์ กับดีลล่าสุด “เซเว่นฯ- เอสซีบี” เป็นได้ทุกอย่างจริงๆ ​

แชร์ :

หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์​เรื่องช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ในเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทั้งในมิติของการให้บริการในแต่ละสาขา ที่ครอบคลุมไปถึงช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ Mobile Banking   

รวมไปถึงขยายขอบเขตในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนธนาคาร หรือ Banking Agent ไปยังนิติบุคคลอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมเพิ่มเติมได้ นอกเหนือจากกลุ่มเดิมที่ได้รับสิทธิเป็นตัวแทนอยู่แล้ว ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเอง สถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างๆ รวมทั้งที่ทำการไปรษณีย์ โดยบริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ที่ Banking Agent สามารถให้บริการสำหรับลูกค้ารายย่อยได้ อาทิ การรับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน และชำระเงินให้กับลูกค้ารายย่อยได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ธปท. ไฟเขียว​ สร้างพาร์ทเนอร์ในสนาม FinTech  

เมื่อได้รับไฟเขียวจากเรกกูเลเตอร์อย่าง​ ธปท. ก็เท่ากับเป็นการทลายกำแพง และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพหลายๆ รายที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม FinTech ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ให้บริการ​ E- Wallet หรือ E- Payment ต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะเคยอยู่ในจุดที่สามารถมองได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญที่จะเข้ามา Disrupted ธุรกิจธนาคาร​ ให้ขยับตำแหน่งมาสู่การเป็นพาร์ทเนอร์ ในฐานะเครือข่าย Banking Agent เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์​ต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

เป้าประสงค์ในการมีตัวแทนหรือ Banking Agent ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ​ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อเพิ่มช่อง​ทางในการให้บริการทางการเงินที่นอกเหนือจากการให้บริการในสาขา หรือผ่านเครื่องกดเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้ง ATM  หรือ CDM ที่สามารถรับฝากเงินได้ด้วย เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อยู่ในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลออกไป

โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีความพร้อม มากกว่าแค่การมีระบบให้บริการทางการเงินที่น่าเชื่อถือได้เท่านั้น แต่หากรวมไปถึงการมี Physical Store ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศก็จะเป็นอีกหนึ่งแต้มต่อที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายอยากได้มาเป็นเครือข่ายในฐานะตัวแทนของแบงก์ตัวเอง เพราะเท่ากับมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นมาโดยที่ลดต้นทุนในการขยายสาขาลงไปได้อย่างมหาศาล

ดังนั้น หลังการเปิดกว้างของ ธปท.​แม้จะเห็นชื่อของผู้ให้บริการในกลุ่ม FinTech รายใหม่ๆ ที่ก้าวเข้ามาเป็น Banking Agent ​แต่ชื่อที่โดดเด่นและเนื้อหอม ถูกรุมจีบจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มากที่สุด รวมทั้งอยู่ในความสนใจของผู้คนมากที่สุดด้วยคงหนีไม่พ้น ธุรกิจสะดวกซื้อรายใหญ่อย่างซีพี ออลล์​ ผู้บริหารร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น เพราะมาเต็มทั้ง Trust ในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ในฐานะเครือข่ายธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างทรู คอร์ปอเรชั่น และยังอยู่ในเครือข่ายผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Wallet รายใหญ่ อย่างทรูมันนี่ ที่พ่วงมาด้วยการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแอนท์ ไฟแนนเชียล ในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่จากจีนอีกด้วย

ขณะที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ของเซเว่นฯ เป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากมีไว้คิดค่าบริการสินค้าแล้ว ยังเป็นจุดบริการเคาน์เตอร์ เซอร์วิส ​ผู้บุกเบิกธุรกิจ Bill Payment ​จนสามารถสร้าง Norm ใหม่ ทำให้เคาน์เตอร์คิดเงินแคชเชียร์ในธุรกิจ Retail ต่างๆ กลายเป็นจุดชำระค่าบริการต่างๆ ​มาจนถึงปัจจุบัน

รวมไปถึงการมีจำนวนสาขามหาศาล โดยตัวเลขจำนวนสาขาในปัจจุบันมีกว่า 11,000 สาขา กระจายไปทั่วในทุกๆ ภูมิภาคทั้งประเทศ และยังมีแผนเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่องต่อปีไม่ต่ำกว่า 700 แห่ง โดยวางเป้าหมายจะมีสาขามากถึง 13,000 สาขา ภายในปี 2564

เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือนที่ผ่านมา เซเว่น อีเลฟเว่น ถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Banking Agent จากธนาคารพาณิชย์ถึง 3 ราย เริ่มด้วยธนาคารออมสิน เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ในปีที่ผ่านมา ตามมาด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมื่อช่วงต้นปี  และดีลล่าสุดที่ลงตัวเรีบร้อยกับทางธนาคารไทยพาณิชย์

การพบกันของ 2 บิ๊ก งานนี้ “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว” จริงๆ

สำหรับธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็น Banking Agent โดยตรงให้กับธนาคารต่างๆ คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด กลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น​ ​โดยจุดให้บริการที่สามารถรับฝาก -ถอนเงิน ได้เหมือนธนาคารก็คือ  เคาน์เตอร์คิดเงินของแคชเชียร์ในร้านเซเว่นฯ นั่นเอง ดังนั้น จากนี้ไปเมื่อเราก้าวเข้าไปในทุกๆ สาขาของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ก็เท่ากับเราเดินเข้าไปในธนาคารนั่นเอง และเป็นธนาคารที่เปิดให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีวันหยุด

ความร่วมมือระหว่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” (SCB) และ “บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด” ในเครือซีพี ออลล์ ภายใต้บริการที่ชื่อว่าSCB Service”  และแม้ครั้งนี้จะเป็นการเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์รายที่ 3 แล้ว แต่มาพร้อมบริการที่แตกต่างจากบริการของสองธนาคารก่อนหน้านี้ เนื่องจากเดิมจะให้บริการแค่การรับฝากเงินสดเท่านั้น แต่ความร่วมมือกับ SCB ในครั้งนี้​ จะเป็นครั้งแรกสำหรับการมีบริการถอนเงินสดผ่าน Banking Agent ในประเทศไทย และเพื่อไม่ให้เสียชื่อผู้นำธุรกิจ Digital Banking จึงได้เพิ่มบริการฝาก – ถอนเงินสดผ่านบริการ SCB Service ผ่านระบบดิจิทัลด้วย QR Code ในแอปพลิเคชัน SCB EASY เพื่อช่วยให้ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมเงินสด สามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ในเวลานอกเวลาทำการของธนาคาร โดยปูพรมพร้อมกันทีเดียวทั้ง 11,000 สาขาของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่กระจายไปทั้งประเทศ

จุดเด่นของความร่วมมือในครั้งนี้ ต้องถือว่าน่าสนใจเพราะเป็นความร่วมมือที่แต่ละฝ่ายต่างเป็น Big Player ​ทำให้เอฟเฟ็กต์ที่เกิดขึ้นเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในตลาดอย่างชัดเจน เนื่องจากจำนวนฐานลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์มีอยู่กว่า 16 ล้านบัญชี ​​ หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของคนทั่วทั้งประเทศที่มีเกือบ 70 ล้านคน ขณะที่จำนวนสาขาของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นก็กระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ เรียกได้ว่าลงลึกถึงระดับตำบล ขณะที่ในบางพื้นที่อย่างในเขตเมือง สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ หมู่บ้าน หลายๆ ชุมชนได้เรียบร้อยแล้ว

ในวันประกาศความร่วมมือ ผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสององค์ก็มาเป็นสักขีพยานและสร้างความมั่นใจว่า SCB Service จะเป็นอีกหนึ่งบริการที่เป็นประโยชน์กับคนไทยโดยรวม เนื่องจาก Core Value ในการทำธุรกิจที่ตรงกันในการสร้างประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า รวมทั้งความมั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัยและเทคโนโลยีทางการเงินในเครือซีพี ออลล์ ที่ทาง คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)​ พูดถึงฟีดแบ็คในการเป็น Banking Agent มา 6 เดือน ยังไม่เคยมีความผิดพลาดที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการนำเงินมาฝากที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ​แม้แต่เรื่องของความปลอดภัยภายในร้าน ถึงจะให้บริการตลอดทั้งคืน ในหลายๆ โลเคชัน แต่ทุกร้านก็มีความปลอดภัยระดับสูงสุด โดยเฉพาะปัญหาการโจรกรรมต่างๆ

ด้านคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงการบริหารงานของ SCB ที่เปลี่ยนมาสู่การใช้ลูกค้าเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนวิธีคิดที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง มาเป็นการมองข้อจำกัดที่ตัวเองมี และพยายามหาพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ที่ธนาคารทำไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างในปัจจุบัน แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับช่องทางเดิมที่คนส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาอยู่ เพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงเงินสดได้อย่างสะดวกที่สุด

“ความน่าเชื่อถือของพาร์ทเนอร์มีความสำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็นตัวแทนของธนาคาร หากได้พาร์ทเนอร์ที่ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ก็จะกระทบสู่ความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อธนาคาร ​รวมทั้งการก้าวไปสู่จุดที่จะทำให้ธนาคารกลายเป็นแพลตฟอร์มอย่างแท้จริง เราก็ไม่สามารถที่จะทำด้วยตัวคนเดียวได้ทั้งหมด จากข้อจำกัดบางอย่างที่เรามี เราจึงเลือกที่จะพาร์ทเนอร์กับผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างซีพี ออลล์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการเงินสดแก่ลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะอยู่นอกเวลาทำการของสาขา หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีตู้ ATM ของธนาคารก็ตาม ที่สำคัญที่สุด นอกจากเรื่องความเชื่อมั่นและศักยภาพในการบริหารจัดการต่างๆ ทางธุรกิจแล้ว ทั้งเอสซีบีและซีพี ออลล์ ​ยังมี Core Value ที่ตรงกันในการยกระดับความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า​ ซึ่งตอบโจทย์การก้าวไปสู่เป้าหมายใหญ่ในการเป็น​ Most Admired Bank อีกด้วย”

การเปิดตัวพาร์ทเนอร์อย่างซีพี ออลล์ ในฐานะผู้ให้บริการ Banking Agent อย่าง SCB Service ถือเป็นการผนึกกันของสองธุรกิจในฐานะ Digital Financial Partnership เพื่อยกระดับความสามารถในการมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้อย่าง Seamless แบบไร้รอยต่อ​ โดยเฉพาะเป้าหมายของทั้งสององค์กร ในการพยายามเข้าไปตอบโจทย์ทุกๆ ความต้องการของลูกค้าได้ปัจจุบันได้อย่างครอบ​คลุม ซึ่งในฟากของเอสซีบีจะมี SCB EASY เป็นแกนสำคัญในการเข้าไปตอบโจทย์ Digital Lifestyle ในทุกๆ โมเมนต์ ผ่านสโลแกนคุ้นหูว่า “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว” ซึ่งเอสซีบีใช้ในการ Remind กับผู้บริโภคมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ขณะที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น แม้จะสื่อสารแมสเสจสำคัญ เพื่อตอกย้ำฐานะของร้านอิ่มสะดวกว่า “หิวเมื่อไหร่ ก็แวะมา”​ แต่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า เข้าไปในร้านเซเว่นฯ ก็สามารถหาได้เกือบทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ ในชีวิตประจำวัน ที่จะซื้อในร้าน สั่งผ่านแคตตลาล็อก หรือแม้แต่บริการอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการให้บริการทางการเงินต่างๆ  ทั้งการจ่ายค่าสาธรณูปโภคต่างๆ ซื้อประกัน จองตั๋วคอนเสิร์ต หรือช่องทางสำหรับการจองและสั่งซื้อสินค้าพิเศษต่างๆ โดยในบางสาขาต้นแบบยังมีบริการพิเศษต่างๆ เช่น จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จุดจอดจักรยานที่ให้บริการ Ride Sharing ด้วยบทบาทของการใช้ร้านในการเป็นศูนย์กลางของชุมชน​ รวมทั้งบทบาทใหม่ล่าสุดที่ทำมา 6 เดือนแล้วอย่าง Banking Agent ที่ไม่ต่างกับการยกธนาคารมาไว้ที่เซเว่นฯ นั่นเอง

มี Digital Banking แล้ว ทำไมยังต้องมี Banking Agent

หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อธนาคารพัฒนาแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ต่างๆ ขึ้นมาแล้ว อย่าง SCB ก็มี SCB EASY ที่ทำธุรกรรมได้ครบถ้วนแทบจะทุกอย่างแล้ว แถมยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แล้วทำไมยังต้องมีการตั้ง Baking Agent ขึ้นมาอีก

คำตอบคือ  1. แม้ Digital Banking Platform จะอำนวยความสะดวกในเชิงของการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ ​แต่ด้วยสังคมไทย ที่ยังไม่ได้ไปถึงจุดที่เป็น Cashless Society อย่างสมบูรณ์​ การบริหารจัดการเงินสดยังคงเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ในการบริหารจัดการทางด้านการเงิน ทั้งในการดำเนินธุรกิจของธนาคารเอง หรือในชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้คนทั่วไปยังคงมีความต้องการใช้เงินสดอยู่ แต่การทำธุรกรรมต่างๆ บนดิจิทัลแพลตฟอร์มก็ยังไม่สามารถทำให้ลูกค้าได้รับเงินสดในทันที แม้จะมีฟังก์ชั่นกดเงินไม่ใช่บัตรแต่ก็ต้องไปหาตู้เอทีเอ็มเพื่อกดเงินออกมาอยู่ดี แต่การใช้บริการผ่าน Banking Agent จะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเงินสดได้ตลอดเวลาที่ต้องการ แม้ไม่มีสาขาธนาคารหรือตู้เอทีเอ็มในบริเวณนั้นก็ตาม

2. ด้วยข้อจำกัดในการขยายธุรกิจผ่านการขยายสาขาของธนาคารให้ครอบคลุม​ในแต่ละพื้นที่ ที่ต้องคำนึงถึงการเลือกโลเกชั่นให้เหมาะสมและต้องมีความปลอดภัย ​รวมไปถึงเรื่องของต้นทุนที่ต้องใช้ โดยเฉพาะในยุคที่ธนาคารจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรอด การขยายสาขาที่เป็น Physical Branch ก็ยิ่งเป็นไปอย่างมีข้อจำกัดมากขึ้น รวมทั้งบทบาทของสาขาที่เน้นการเป็นทัชพ้อยท์เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ในเรื่องของการสร้าง Engagement มากกว่าการให้บริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ แบบที่ผ่านมา

3. ในส่วนของตู้กดเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หรือ ATM ที่แม้จะมีจำนวนมากขึ้นแต่ก็อาจจะยังเข้าถึงแค่ในบางพื้นที่ เช่น ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่แม้จะมีจำนวนตู้เอทีเอ็มไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นตู้ทั่วทั้งประเทศ แต่ก็อาจจะกระจายได้แค่ในระดับจังหวัดและในระดับอำเภอ ซึ่งอาจจะมีส่วนน้อยในบางพื้นที่เท่านั้นที่จะลงลึกไปถึงในระดับตำบล โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นตู้ฝากเงินสดอัตโนมัติหรือ CDM ที่มีแค่หลัก 2-3 พันตู้เท่านั้น และการกระจายยิ่งไปได้น้อยกว่าตู้เอทีเอ็ม รวมทั้งความสามารถของเครื่องในด้านความพร้อมในการให้บริการได้อย่างต่อเนื่องที่น้อยกว่าตู้ ATM เพราะมักจะมีปัญหาผู้ฝากลืมเอาหนังยาง แม็กซ์ หรือคลิปหนีบกระดาษออกทำให้เครื่อง Error อยู่บ่อยๆ และต้องรอให้ช่างเข้าไปดำเนินการแก้ไขเป็นเวลานานเช่นกัน รวมทั้งต้นทุนในการมีทีมคอยดูแลการนำเงินเข้า- ออก จากเครื่อง หรือฝ่ายดูแลบำรุงรักษาเครื่อง ที่เป็นต้นทุนค่อนข้างสูง การมีตัวแทนเข้ามาจึงช่วยลดภาระเหล่านี้ของธนาคารลงได้

4. มีเพียงประชากรบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึง Digital Platform แม้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ​ แต่ก็ยังคงมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สมารถเข้าถึงได้ และขณะเดียวกันก็ไม่สะดวกในการเข้าไปในสาขาของธนาคารด้วย ขณะที่ร้านเซเว่นฯ กระจายอยู่แล้วในทุกที่ทั่วประเทศแม้จะไม่ครบแต่ก็เกือบครบทุกตำบลทั่วประเทศ โดยในบางพื้นที่สามารถเข้าถึงในระดับหมู่บ้านด้วย และส่วนใหญ่ยังอยู่ในโลเกชั่นที่เป็นจุดสังเกตุได้ง่าย ทำให้ง่ายต่อการที่คนทั่วๆ ไป สามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งบริการ SCB Easy ที่สามารถให้บริการได้ทั้งแบบดิจิทัลผ่าน SCB Easy และ Non-Digital ด้วยการคีย์ข้อมูลและเลขที่บัญชีต่างๆ ด้วยตัวเอง ทำให้เพิ่มความมั่นใจได้มากยิ่งขึ้นกว่าการให้พนักงานเป็นคนทำรายการให้

5. แม้แต่ในส่วนของลูกค้า SCB Easy เอง ที่ปัจจุบันมีโดยรวมกว่า 16 ล้านบัญชี​ แต่มีคนเข้าถึง SCB Easy ที่ราวๆ 9 ล้านราย ยังมีลูกค้าอีกหลายล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ ทำให้ลูกค้าเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดในการทำธุรกรรมได้แบบทุกที่ ทุกเวลา การมีร้านเซเว่นฯ มาเป็นตัวแทนธนาคาร จึงเป็นการช่วยลดช่องว่างในการดูแลอำนวยความสะดวกระหว่างลูกค้าที่อยู่ในดิจิทัลแพลตฟอร์มและคนที่ยังอยู่ในฟากของออฟไลน์ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถให้บริการได้ทั้งแบบดิจิทัลและนอนดิจิทัล

6. กลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่จะได้ประโยชน์จากการที่ธนาคารตั้ง Banking Agent โดยเฉพาะการใช้ร้านเซเว่นฯ เป็นตัวแทนคือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ที่ต้องการฝากเงินหลังขายของเสร็จทันที แต่เลยเวลาทำการหรือไม่มีตู้เงินฝาก ก็สามารถเข้าไปฝาก​​ที่แคชเชียร์ในร้านเซเว่นฯ​ ได้เลย ทำให้สะดวกสบาย ​และลดความเสี่ยงในการเก็บเงินสดไว้กับตัว ทั้งเรื่องของการสูญหาย หรือความปลอดภัยจากการถูกโจรกรรม เป็นต้น

7. นอกจากความร่วมมือในเฟสแรกผ่านการฝาก-ถอนเงินสดแล้ว SCB Service จะขยายการให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาในอนาคตอันใกล้ เช่น การโอนเงินทั้งในและต่างประเทศ การบริการด้านสินเชื่อ หรือเป็นจุดในการเปิดบัญชีใหม่ หลังจาก ธปท. อนุญาตและยืนยันความมั่นใจในการนำระบบ E KYC ต่างๆ มาใข้ รวมทั้งการต่อยอดในการนำคะแนนสะสมต่างๆ มาใช้ร่วมกันได้

8. นอกจากประโยชน์ต่อลูกค้าแล้ว ยังเป็นการเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้ผู้บริการทั้งสองฝ่าย ทั้งในส่วนของ SCB ที่เมื่อลูกค้าเข้าถึงง่ายขึ้น โอกาสที่จะมีกระแสเงินสดเข้ามาในระบบก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน รวมทั้งในอนาคตหากตัวแทนสามารถให้บริการเปิดบัญชีใหม่ได้ ก็จะมีโอกาสเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งการมอบความสะดวก​​ต่างๆ ให้แก่ลูกค้าทั้งในฟากของดิจิทัลและแม้แต่ฟากของออฟไลน์ โอกาสที่ลูกค้าจะเลือก SCB เป็น Main Bank ก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน

9. ในส่วนของซีพี ออลล์​ ยังเป็นการเพิ่มความสามารถ​ในการทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งได้มากขึ้น จากค่าให้บริการการทำธุรกรรม Banking Agent ในอัตราที่ 15 บาทต่อ 1 Transaction โดยประเมินโอกาสในการเข้ามาใช้บริการของลูกค้าที่ประมาณ 1 แสน Transaction ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอีก 2 ธนาคารที่ให้บริการไปก่อนหน้า ทำให้ในส่วนธุรกิจ Banking Agent จะเป็นอีกหนึ่งพอร์ตที่แข็งแรงของเคาน์เตอร์ เซอร์วิส เพราะตั้งเป้าหมายบริการนี้จะสามารถเติบโตต่อเดือนได้ราว 20%​ จากท้ัง 3 ธนาคารที่มี Transaction รวมกันกว่า 3 แสนรายการ  รวมทั้งศักยภาพของธุรกิจที่ยังมีโอกาสเป็นตัวแทนให้กับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ได้อีกในอนาคต โดยปัจจุบันเคาน์เตอร์ เซอร์วิส มีบริการหลากหลายอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น Bill Payment ธุรกิจประกัน และช่องทางในการจองตั๋วคอนเสิร์ต และงานแสดงโชว์ต่างๆ หรือโครงการสั่งจองสินค้าพิเศษต่างๆ โดยมีจำนวน Transaction รวมๆ ในแต่ละปีอยู่ที่กว่า 10 ล้าน Transaction และเติบโตในแต่ละปีที่ราว 15%

ส่วนบทบาทใหม่ของร้านเซเว่น​ฯ ในการเป็น Banking Agent นั้น ทางผู้บริหารให้ข้อมูลว่าตลอด 6 เดือนที่ให้บริการมา ยังไม่พบปัญหาใหญ่ๆ อะไรในการให้บริการ มีเพียงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องการฝึกให้พนักงานทำความเข้าใจและเรียนรู้ให้มีความคุ้นเคยกับระบบต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งไม่น่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อการนำเงินมาฝากผ่านช่องทางร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในทุกๆ สาขาที่อยู่ใกล้บ้านได้อย่างมั่นใจ  


แชร์ :

You may also like