HomeBig Featuredทศวรรษที่ 4 The Mall Group จากอะไรๆ ก็ “คุณแอ๊ว” สู่ Multinational Company และเป้าหมายบริษัท “แสนล้าน”​

ทศวรรษที่ 4 The Mall Group จากอะไรๆ ก็ “คุณแอ๊ว” สู่ Multinational Company และเป้าหมายบริษัท “แสนล้าน”​

แชร์ :

ถือเป็นการขยับครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 38 ปี สำหรับเดอะมอลล์กรุ๊ป หนึ่งใน Big 3 ธุรกิจ Retail ของไทย กับการเปลี่ยนภาพธุรกิจให้ Beyond Local Experience ไปสู่ Multinational Company ด้วยการเติมเหล่าขุนพลผู้บริหารชุดใหม่ ที่ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจรีเทลด้านต่างๆ จากทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ซึ่งงานนี้แม่ทัพหญิงคนเก่งอย่าง “คุณแอ๊ว”​ ศุภลักษณ์​ อัมพุช ​ประกาศว่า ​การขับเคลื่อนครั้งนี้ เดิมพันมากกว่าแค่การสร้างความแข็งแกร่งหรือเติบโตให้กับองค์กร แต่เป็นการสร้าง Game Changing หรือสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย ผ่านการยกระดับธุรกิจรีเทลของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโกลบอล พร้อมผลักดันให้ “มหานครกรุงเทพฯ” ผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในเมืองชั้นนำของโลก​​​ และสามารถเทียบชั้นกับเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ​ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ​ไม่ว่าจะเป็น มหานครลอนดอน​ มหานครปารีส หรือแม้แต่ในเอเชียอย่าง สิงคโปร์ เชี่ยงไฮ้ ​ฮ่องกง ปักกิ่ง เป็นต้น

โดย Big Move ในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ ของเดอะมอลล์กรุ๊ป​ครั้งนี้ ​ขับเคลื่อนผ่านการวางยุทธศาสตร์​ 5 ปี (2562 – 2565) เพื่อผลักดันเดอะมอลล์กรุ๊ปสู่ World Class Shopping Destination​ พร้อมประกาศเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ และโครงการอื่นๆ ที่อยู่ใน Pipeline ภายใต้งบลงทุนตลอด 5​ ปีข้างหน้านี้ เป็นเงินหลักแสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินลงทุนที่สูงที่สุดตั้งแต่การก่อตั้งธุรกิจมาของกลุ่มเดอะมอลล์เลยทีเดียว

โดยรายละเอียดในการขับเคลื่อนธุรกิจในครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนภาพจำจาก “ธุรกิจครอบครัว”​ มาสู่การเป็นธุรกิจที่บริหารอย่าง “มืออาชีพ”​ ภายใต้​แนวคิด M Transformation ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเดอะมอลล์กรุ๊ป ไปสู่ The Mall 4.0 เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในทศวรรษที่ 4 ​มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. สำหรับเม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท ที่จะถูกใส่ลงไปในโปรเจ็กต์ต่างๆ ตลอด 5-6 ปี​ ข้างหน้า ประกอบไปด้วย

– แบงค็อก มอลล์ (BANGKOK MALL) โครงการ Mega Mixed Used Complex ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท อีกหนึ่งแฟลกชิพโปรเจ็กต์เนื้อที่กว่า 100 ไร่ พื้นที่โครงการกว่า 1.2 ล้านตารางเมตร บนสุดยอด Prime Location ในฐานะศูนย์กลางคมนาคมในอนาคต​ เพราะอยู่บนจุดตัดถนนบางนา-ตราดกับสุขุมวิท เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอุดมสุขและบางนา และในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าไลท์เรลจากสี่แยกบางนาถึงสุวรรณภูมิ โดยคาดว่าจะเป็นอาณาจักรศูนย์การค้าและที่อยู่อาศัย รวมถึงออฟฟิศแบบครบวงจรที่ยิ่งใหญ่ ทันสมัยและสมบูรณ์แบบที่สุดในเอเซีย ภายใต้คอนเซ็ปต์ City Within The City​ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดโครงการได้ในปี 2565

– ดิ เอ็มสเฟียร์  (THE EMSPHERE) ภายใต้งบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท สำหรบจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะมาเติมเต็มให้ THE EM DISTRIC เป็นย่านการค้าที่ดีที่สุดบนถนสุขุมวิทอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (The Epicenter of Sukhumvit) ​ด้วยพื้นที่โครงการกว่า 2 แสนตารางเมตร​ ​และเมื่อรวมกับ​ ดิ เอ็มโพเรียม​ และดิ เอ็มควอเทียร์ แล้ว จะมีพื้นที่รวมกันทั้งหมดกว่า 6.5 แสนตารางเมตร

โดยหลังจากดิ เอ็มสเฟียร์ เปิดให้บริการตามกำหนดในปี 2565 ย่านการค้าสำคัญแห่งนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ทั่วโลกจะต้องจับตามอง เพราะจะเป็นโครงการที่เพียบพร้อมไปด้วยย่านธุรกิจ การค้า ศูนย์รวมแฟชั่น ลักซ์ชัวรี่ เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ ลิฟวิ่ง และ ไดนิ่งจากแบรนด์เนมชั้นนำระดับโลกและชั้นนำของไทยกว่า 1,000 แบรนด์

– เดอะมอลล์ รามคำแหง (THE MALL RAMKHAMHAENG)  กับการใช้งบกว่า 1 หมื่นล้านบาท พลิกโฉมครั้งใหญ่ ก่อสร้างโครงการอาคารสรรพสินค้าเดอะมอลล์ รามคำแหง 2 ในรูปแบบ Mixed use Complex” บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 2.3 แสนตารางเมตร​ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564

-ส่วนงบอีก​ 1หมื่นล้านบาท จะใช้ในการ Renovate เพื่อพลิกโฉม​ทั้งในส่วนของห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา ได้แก่ เดอะมอลล์ ท่าพระ, งามวงศ์วาน, บางแค และบางกะปิ ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Mall Lifestore, A Happy Place to Live Life เพื่อรองรับการแข่งขันและการเติบโตในอนาคต​ โดยคาดว่าเดอะมอลล์ งามวงศ์วานจะเป็นสาขาแรกที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ และพร้อมสำหรับการเผยโฉมใหม่ในปี 2563  

นอกจากนี้ กลุ่มเดอะมอลล์ยังมีโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนอยู่ใน Pipeline อีกราว 1-2 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการ Blu Pearl ในจังหวัดภูเก็ต ที่เคยให้รายละเอียดโครงการมาก่อนหน้านี้  ซึ่งทางคุณแอ๊วมองว่า อาจจะยังเร็วเกินไปสำหรับการลงทุน เนื่องจาก ตลาดยังไม่พร้อมมากนัก รวมทั้งสถานการณ์เงินบาทที่ค่อนข้างแข็งตัว ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวชะลอตัวลง​ จึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งการลงทุนในตอนนี้ แต่คาดว่าจะสามารถเดินหน้าโครงการได้ในช่วง 5-6 ปีข้างหน้านี้

“นอกจากโปรเจ็กต์ใหม่ๆ แล้ว กลุ่มเดอะมอลล์ยังร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อเพิ่ม Attractionใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ และเป็นการเพิ่ม Magnet ในการดึงให้กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Entertainment ที่มีศักยภาพในการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง และเป็นการเริ่มต้น Repositioning ภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะ Destination ของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งหากรวมการลงทุนทั้งหมดในช่วง 5-6 ปีนี้ คาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนทั้งหมดไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท”​

2. ไม่ใช่แค่เพียงเม็ดเงินในการลงทุนเท่านั้น ​แต่ในส่วนการเติบโตของรายได้ กลุ่มเดอะมอลล์ก็ตั้งเป้าสร้าง Double Growth ภายใน 5 ปี ​หรือมีรายได้แตะหลักแสนล้านบาทได้เช่นกัน จากปัจจุบันมีรายได้ต่อปีราว 5-6  หมื่นล้านบาท โดยแต่ละปีมีลูกค้าทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เข้ามาใช้บริการศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป มากถึงปีละ 500 ล้านคน

ส่วนรายได้ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวนั้น คุณแอ๊วอธิบายให้ฟังว่า มาจากการเริ่มทยอยหมดสัญญาของร้านค้าเช่าภายในศูนย์ต่างๆ ​ในเครือเดอะมอลล์ ซึ่งก่อนหน้านี้เดอะมอลล์ใช้วิธีการ “เซ้ง” หรือการให้เช่าในระยะยาว 30 ปี ทำให้ที่ผ่านมา ทางเดอะมอลล์กรุ๊ป ไม่มีรายได้จากการให้ร้านค้าเช่าพื้นที่ แต่ในปีนี้รูปแบบสัญญาเช่าระยะยาว​เริ่มทยอยหมดลงแล้ว ทำให้จากนี้ทางเดอะมอลล์จะมีรายได้จากการให้ร้านค้าต่างๆ เช่าพื้นที่​ภายในศูนย์การค้าเข้ามาเติมในพอร์ต และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางกลุ่มเดอะมอลล์จะมีรายได้เพิ่มเข้ามามากขึ้​น ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นนั่นเอง

3. ในส่วนแผนสร้างการเติบโตในอนาคตของกลุ่มเดอะมอลล์ เมื่อต้องการทุนจำนวนมากขึ้น แนวทางเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นอีกหนึ่ง Option ที่ทางคุณแอ๊วให้ความสนใจ​เช่นกัน

“ถ้ามีโอกาสเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ เราก็สนใจ​ ตอนนี้ก็เริ่มดู เริ่มศึกษาบ้าง ดูไปแต่งตัวไป เพราะเราก็ทำธุรกิจบนพื้นฐานของ Good Governance อยู่แล้ว เราก็มีความเป็นสถา​บัน ทำให้โอกาสที่จะเข้าไประดมทุนได้ไม่ยากนัก รวมทั้งเราก็จำเป็นต้องวางแผนสำหรับอนาคตไว้ด้วย เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ แต่ในอนาคตอาจต้องมองหาทุนมาสำรองไว้เหมือนกัน ดังนั้น Option ในการเข้าไประดมทุนในตลาดจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าเราจะเข้าไปหรือไม่ แต่ก็ต้องศึกษาไว้สำหรับอนาคตด้วยเหมือนกัน”​​

4. การเติบโตในทศวรรษท่ี 4 ของ​กลุ่มเดอะมอลล์ สู่การเป็น The mall 4.0 นั้น ภาพที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือ การเปลี่ยนนโยบายจาก Centralize มาเป็น Decentralize หรือการกระจายอำนาจการบริหารและตัดสินใจไปให้แต่ละ BU มากขึ้น จากที่ผ่านมา​การขับเคลื่อนของเดอะมอลล์ จะรวมศูนย์อยู่ที่คุณแอ๊ว แต่ด้วยความเร็วในเรื่องของเทคโนโลยี การมีสายบริหารแบบ Centralize อาจจะทำให้ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทั้งของตลาดและคู่แข่ง รวมทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ความรู้ ความสามารถที่เป็น Specialist มีความจำเป็น เพราะคุณแอ๊วเองก็ยอมรับว่า ตนเองไม่ได้มีความสามารถที่จะรู้ หรือเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง อาทิ เรื่องเทคโนโลยีด้าน FinTech, Cashless, Payment หรือการนำประโยชน์จาก Data ต่างๆ มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ หรือการเพิ่ม Online Service ต่างๆ ​ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดูแล

เราพยายามกระจายงานให้แต่ละส่วนดูแลกันเองมากขึ้น เพื่อไม่ให้ทุกอย่างมากองที่เรา เราให้สิทธิ์แต่ละ BU รับผิดชอบและดูแลงานกันเอง เพื่อให้แต่ละส่วนรู้สึกถึงความเป็น Ownership ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเอง นามสกุล ณ ​เดอะมอลล์​ และแต่ละคนแต่ละฝ่ายกำลังดูแลบ้านของตัวเอง แม้อาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้นบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะแก้ไขและเริ่มต้นใหม่ได้ แม้แต่เราเองก็เริ่มมาจากความผิดพลาดเหมือนกัน เราก็ทำเดอะมอลล์สาขาแรก (สาขาราชดำริ) ไม่ประสบความสำเร็จ​ แต่ก็เรียนรู้และเริ่มต้นใหม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับผู้บริหารทุกคนต่างก็มีประสบการณ์กับสายงานที่แต่ละคนเข้ามาดูแลรับผิดชอบกันดีอยู่แล้ว”

5. นอกจากการ Decentralize ไปให้แต่ละ BU มากขึ้นแล้ว เดอะมอลล์กรุ๊ปยังวางเป้าหมายสู่การเป็นบริษัท Multinational Company ด้วยการเพิ่มผู้บริหารระดับสูงในระดับ Chief  Level ท่ีมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีกทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ​จากหลากหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรป อเมริกา ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์ในสายงานมาไม่ต่ำกว่า 20​ ปี และยังมาจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นจากวอลมาร์ท แกลเลอรี ลาฟาแย ลาซาด้า ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง หรือ แมคคินซีย์ เป็นต้น โดยเริ่มขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านมาได้แล้ว 1-2 ปี

ส่วนทีมผู้บริหารชุดใหม่ที่เป็นขุนพลหลักในการขับเคลื่อนเดอะมอลล์กรุ๊ป อาทิ คุณเกรียงศักดิ์​ ตันติพิภพ ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด,​ มร.โรเบิร์ต เจมส์​ซิสเซล CEO, Retail Group of The Mall Group, คุณวรลักษณ์​ ตุลาภรณ์​ Chief Marketing officer at The Mall Group, คุณกัญญารัตน์​ โชคอุ่นกิจ Chief of Business Development Officer at The Mall Group, ดร.​โอลิเวอร์ ก็อตซัลล์​ Chief Strategy Officer at The Mall Group และ มร. สก็อต คาเมรอน Chief Officer at The Mall Group เป็นต้น

“ข้อได้เปรียบของการเป็น Multinational Company คือ การมีองค์ความรู้ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีที่หลากหลายและแตกต่าง​กันไปในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการได้ผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กร ส่วนความท้าทายคือ การหาจุดสมดุลย์ของคัลเจอร์ที่แตกต่างและหลากหลายภายในองค์กร โดยเชื่อว่าภายใน1 ปี การทำงานทุกอย่างจะเริ่มเข้าที่ ทุกฝ่ายจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้และพร้อมในการก้าวไปข้างหน้าภายใต้จุดหมายเดียวกัน”​

6. ส่วนแนวทางในการผสมผสานกลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร​ โดยเฉพาะกลุ่ม​ Middle Management จะพยายามผสมผสานทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ให้เหมาะสม และเลือกให้เหมาะสมกับสายงาน เช่น งานในกลุ่ม Front Row เช่น Marketing, Business Development, Project Development, Merchandise หรือ Leasing จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของเทรนด์ หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ รู้ว่าแบรนด์ใดมาแรง แบรนด์ใดมีศักยภาพสูง ก็จำเป็นต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนจากพลังของคนรุ่นใหม่

​ส่วนงาน Back Office อย่าง​ Operation, HR หรือบัญชีการเงิน คนเก่าๆ อาจจะมีความชำนาญ คุ้นเคย และคล่องตัวมากกว่า ก็อาจจะให้น้ำหนักกับคนรุ่นเก่าก่อน หรือแม้แต่งานไอทีก็จำเป็นต้องมีทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นเก่าก็ยังมีองค์ความรู้เรื่องของระบบ Backbone Engineering ต่างๆ รวมทั้งคนรุ่นเก่าจะมีความอดทนสูงมากกว่าคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราจำเป็นต้องผสมผสานให้มีความลงตัว ไม่ใช่จะให้ความสำคัญแค่กับคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว เพราะคนรุ่นเก่าก็จะมีจุดเด่นเรื่องประสบการณ์ หรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในบางเรื่องมากกว่าคนรุ่นใหม่ แต่อาจจะช้าไปบ้าง ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อาจจะมีความสามารถในเรื่องของความรวดเร็ว คล่องแคล่ว และความสามารถในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ เป็นต้น

คุณแอ๊ว ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “เชื่อว่ายุทธศาสตร์ที่วางไว้และการมีทีมงานที่แข็งแกร่ง จะมีศักยภาพมากพอที่จะสร้าง Game Changing ให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นในวงการค้าปลีก ช่วยสร้างความสำเร็จให้กับประเทศไทย​​บนเวทีการค้าระดับโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างความแข็งแรงในแต่ละบียู ซึ่งเหมือนอิฐแต่ละก้อนที่นำมาต่อกันและต่างมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน​ เดอะมอลล์กรุ๊ป จึงให้ความสำคัญกับการสร้างทีม พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถเพื่อเติบโตไปพร้อมองค์กร ด้วยความเชื่อว่าทีมที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพจะเป็นรากฐานสำคัญของทุกๆ ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้” 


แชร์ :

You may also like