HomeBig Featured“สาระ+ความสนุก” รหัสความสำเร็จของ “Point of View” YouTuber ผู้มีคนติดตามทะลุ 6 แสน

“สาระ+ความสนุก” รหัสความสำเร็จของ “Point of View” YouTuber ผู้มีคนติดตามทะลุ 6 แสน

แชร์ :

ว่ากันว่า ปี 2019 เป็นยุคที่ใครๆ ก็ก้าวเข้ามาเป็น Influencer ได้ไม่ยาก ขอให้มีเรื่องจะเล่าหรืออยากจะเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ประสบการณ์ไปพบเจอ หรือไปค้นคว้าหามาเล่าก็ทำได้ทั้งนั้น ยิ่งเดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องมีคนคอยติดตามเป็นหลักแสนหลักล้าน  คุณก็ถือเป็น Influencer ถ้ามีคนคอยติดตามเพียงหลักพันหรือหลักหมื่นก็นับแล้ว  เพราะระดับชั้นของการเป็น Influencer แยกย่อยลงไปถึงขั้นระดับ micro influencer กันแล้ว ทุกวันนี้เราจึงเห็นการเกิดขึ้นของ Influencer โดยเฉพาะเหล่า Youtuber กันเต็มไปหมด ชนิดใช้นิ้วมือนับกันไม่ถ้วนเลยทีเดียว

แต่หากย้อนกลับไปในอดีตสัก 10 กว่าปีที่แล้ว จำนวน Influencer ที่เล่าเรื่องผ่านช่องทาง Youtube มีจำนวนไม่มาก และส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องบันเทิง หรือไลฟ์สไตล์ ประเภทกิน เที่ยว แฟชั่น ส่วนเรื่องราวแบบมีสาระ และความรู้ ก็มีพอประมาณ แต่ผู้ติดตามอาจจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับเรื่องอื่นๆ เพราะคนไทยนิยมเสพความบันเทิงมากกว่า  แต่หากใครได้มีโอกาสเข้าไปดู Youtube ในช่อง Point of view จะพบว่า เรื่องราวสาระและความรู้ก็ถูกหยิบมาเล่าได้สนุกไม่แพ้กัน  ยืนยันได้จากความสำเร็จของช่องที่มีผู้ติดตามปัจจุบันมากกว่า 600,000 คนแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“วิว-ชนัญญา เตชจักรเสมา” เจ้าของช่อง Point of view เล่าว่า เริ่มต้นไม่เคยคิดแม้แต่นิดเดียวว่าตัวเลขจะมาถึงหลักแสน ตอนเริ่มต้นของการทำช่อง Youtube ขณะนั้น ในเมืองไทยมีคนทำช่องน้อยมาก และตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีตัวเลข subscribe เพราะไม่ได้เข้าไปยุ่งในวงการ Youtube เลย ไม่คิดว่ามี รู้สึกแค่ว่า Youtube เป็นที่ฝากลิงค์ และทำให้มีคนตาม Twitter เยอะขึ้น แล้วคลิกมาดูก็ดีเหมือนกัน คิดว่าหลักพันก็ตื่นเต้นแล้วนะ

เริ่มต้นคลิปแรกคนดูแค่หลักร้อย

ก่อนก้าวเข้ามาทำช่อง Point of view อย่างจริงจัง คุณวิว ก็เอาตัวเองไปอยู่ในโลกออนไลน์มาตั้งแต่เด็ก ท่องโลกอินเตอร์เน็ตมาโดยตลอด​ ตั้งแต่ ThaiMail Chat, msn, blog, xteen, dairy online  เรียกได้ว่าเป็นคนอยู่กับโลกออนไลน์มาทุกยุคทุกสมัย เป็นเพราะในโลกออนไลน์เหล่านั้นมีเพื่อนอยู่ในนั้น เพื่อนทุกคนเล่นกันหมด  ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการติดต่อกับเพื่อนได้

“ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังเข้าไปสู่โลกออนไลน์  แต่คิดว่ามันคือ tool ชนิดหนึ่ง เป็นสื่ออะไรสักอย่าง ที่เราไปเจอเพื่อน หรือมีการเขียนไดอารีออนไลน์ ให้คนอื่นอ่านได้ด้วย  ส่วนการเข้าไปในโลกของ Youtube เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2008 จากการติดตามบรรดา Youtuber ในต่างประเทศ หลังจากนั้นในช่วงปี 2009 ก็ใช้เป็นพื้นที่ฝากเว็บ ฝากลิงค์วิดีโอที่อัดเรื่องต่างๆ ที่อยากให้เพื่อนได้ดู เช่น อยากให้เพื่อนเห็นว่าเล่นเปียโนได้ ก็อัดวิดีโอส่งให้เพื่อนไป หรือบางทีไปเที่ยวกับเพื่อน อัดโน่นอัดนี่ส่งไปให้เพื่อน เป็นที่ฝากลิงค์ เหมือนฟังก์ชั่นการคอมเมนต์ในเฟสบุ๊คทุกวันนี้เลย ใช้แค่นี้จริงๆ แต่ทุกวันนี้ก็มีการใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ ด้วยคือ Facebook, IG  และ Twitter”

ช่วงเริ่มต้นการทำช่อง Youtube เป็นช่วงที่คุณวิวยังเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ใช้ Twitter  เป็นช่องทางในการเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องวรรณคดี  มีคนติดตามขณะนั้นประมาณ 5,000-6,000 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ซึ่งเขียนได้เพียง 140 ตัวอักษร  จึงได้หันมาใช้ช่องทาง Youtube เป็นการเล่าเรื่องแทน โดยเริ่มต้นอัดคลิปแรกเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ลิลิตพระลอ ในช่วงปี 2011 ซึ่งผลตอบรับจากคลิปแรกที่ลงไป ถือว่าดีกว่าที่คิดเอาไว้ เพราะคนที่เข้ามาดูชื่นชอบ สนุกกว่าการอ่านอย่างเดียว ได้ยินทั้งเสียง ได้เห็นสีหน้า แม้จำนวนคนดูเริ่มต้นเป็นเพียงหลักร้อยก็ตาม

ทำไมต้องเล่าเรื่อง “วรรณคดี”

จริงๆ แล้วช่อง Point of view ไม่ได้เป็นช่องเล่าเรื่องวรรณคดีเป็นหลัก แต่เล่าทุกเรื่องที่เป็นสาระ เรื่องวิทยาศาสตร์ก็มี ประวัติศาสตร์ ภาษา และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แต่ภาพจำของคนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าเป็นช่องเล่าเรื่องวรรณคดีเป็นหลัก ซึ่งคุณวิว เล่าว่า ช่วงเริ่มทำช่องใหม่ๆ เป็นช่วงที่เรียนภาษาและวรรณคดีไทย เลยมีเรื่องเล่าเป็นวรรณคดีเยอะเป็นพิเศษ  แต่หากกลับไปย้อนดูคลิปช่วงแรก จะเห็นว่ามีการเล่าเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องวรรณคดี เช่น นิทานกริมม์ ประวัติศาสตร์จีน เป็นต้น

“ช่วงนั้นวรรณคดีอาจจะแปลกและไม่มีคนเล่า และนี่เป็นสาเหตุของการตั้งชื่อช่องว่า point of view แปลว่า Point ที่วิวนำเสนอ หลายคนถามว่าทำไมไม่ตั้งชื่อช่องให้ชัดๆ ไปเลย เช่น วิววรรณคดี วิวเล่าวรรณคดี ก็บอกว่าไม่ได้คิดจะเล่าแต่วรรณคดี และที่ผ่านมาก็ไม่ได้เล่าแต่เรื่องวรรณคดี  แต่วรรณคดีเด่นสุด คนเลยจำได้”

การที่คุณวิวชื่นชอบวรรณดคีนั้น ไม่ได้เป็นเพราะวรรณคดีมีเสน่ห์หรือความพิเศษแตกต่างจากหนังสือประเภทอื่น แต่เป็นเพราะได้เริ่มต้นอ่านหนังสือวรรณคดีเป็นประเภทแรก  มาในรูปแบบหนังสือเกร็ดวรรณคดี หรือนิทานเล่มเล็กซึ่งเป็นหนังสือที่สนุก มันมีเรื่องราว ไม่ได้แตกต่างจากการอ่านนิยายแฟนตาซี  จากความสนุกในช่วงวัยเด็ก  เมื่อเติบโตขึ้นมายังได้เห็นว่าเรื่องของวรรณคดี ยังเชื่อมโยงกับอะไรหลายรอบตัวในชีวิตเรา เช่น ไปตามวัดก็เห็นภาพฝาหนังเป็นเรื่องวรรณคดี ทำให้เข้าใจเรื่องรอบตัวมากขึ้น ถือว่าเป็นหนังสือที่สนุก และเป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่ชื่นชอบ ไม่ได้แตกต่างจากหนังสือประเภทอื่น

คำถามแรก ต้องตอบถ้าอยากเป็น Youtuber

แม้ตัวเลขของจำนวนผู้ติดตามช่อง Point of view จะมากกว่า 600,000 คนไปแล้ว และคุณวิวไม่ได้มองตัวเลขหรือความสำเร็จจากรายได้ที่เข้ามาเป็นโจทย์ตั้งต้น แต่ก็ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้หลายคน อยากจะลุกขึ้นมาเพื่อเป็น “นักเล่าเรื่อง” แบบนี้เหมือนกัน แต่การจะมายืนในจุดนี้ได้ เริ่มต้นคงต้องตอบคำถามแรกให้ได้เสียก่อน คือ เราจะพูดเรื่องอะไรและทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร? ส่วนวิธีการเล่าสามารถเรียนรู้ สามารถสร้างกันได้ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

“แก่นแรกที่ทุกคนชอบลืม คือ คุณมาเป็น Youtuber ทำไม ทุกคนชอบคิดว่า ต้องซื้อกล้องอะไร ต้องตัดต่อยังไง ทำยังไงจะมีคนติดตามเยอะขึ้น ทำไงจะดัง ทำยังไงจะตัดสนุก แต่คุณยังไม่รู้ว่าคุณมาเป็นทำไม คุณทรงกลด บางยี่ขัน เคยพูดกับวิวไว้หลายปีแล้วว่า ถ้าไม่มีเรื่องจะเล่า ก็ไม่ต้องเล่า ถ้าไม่มีอะไรจะพูด ก็ไม่ต้องพูด ไม่ใช่แค่คิดว่าอยากพูด โดยที่ตัวเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะพูดอะไร”

เชื่อว่าความสำเร็จของ Point of view คงทำให้เด็กรุ่นใหม่ มองเห็นเป็นต้นแบบ และอยากจะเดินเส้นทางเดียวกัน  คุณวิว บอกว่า อยากเป็นวิวคุณรู้หรือยัง? วิวคือใคร?  วิวคืออะไร? แก่นของวิวคืออะไร? วิวทำไมถึงมาอยู่ตรงนี้ ถ้าคุณไม่มี Why เดียวกัน เป็นวิวไม่ได้หรอก และไม่อยากให้ทุกคนมาเป็นวิว และไม่ใช่ทุกคนควรจะมาเป็นวิวด้วย ทุกคนควรรู้อะไรของตัวเอง เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ถ้าหาจุดนั้นได้ เขาจะรู้ว่าตำแหน่งของตัวเองคืออะไร แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเกิดขึ้นของคนบนโลกออนไลน์จำนวนมาก เพราะแต่ละวันจะมีคนพูดเรื่องตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะยุคไหน หรือในยุคหนังสือ แต่สุดท้ายคนดูจะเลือกเองว่าเขาอยากฟังใคร อยากฟังอะไร

เวลาเปลี่ยนไป แต่หัวใจหลัก ยังคงเดิม

เมื่อย้อนดูเส้นทางการก้าวเดินของช่อง Point of view ก็ถือว่าไม่น้อยเลยนะ นับตัวเลขก็เกือบ 10 ปีของการบอกเล่าเรื่องราวบนโลก Youtube จากยอดวิวหลักร้อย ผ่านหลักพัน สู่หลักหมื่น และทะยานมาถึงหลักหลายแสนเช่นนี้ วิธีคิดและการทำงานของช่อง Point of view มีทั้งที่ “เปลี่ยนไป” และยัง “คงเดิม”

สิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย คือ Core หลักในการเล่าเรื่อง ที่ทำตั้งแต่วันแรก จากตัวตนของ “คนชอบเล่าเรื่อง” ยังคงเหมือนเดิม  แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม คือ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” เมื่อก่อนพูดผิดไปก็ตามแก้ทีหลัง หรือแค่โทรศัพท์ไปบอกเพื่อน เพราะการสื่อสารยังเป็นในแวดวงเพื่อนฝูง คนในวัยเดียวกัน แต่เมื่อคนติดตามทะลุหลักหมื่นทะยานสู่หลักแสน การทำแบบนั้นคงไม่ดีแน่ ทุกคำพูดทุกข้อมูลจึงต้อง “ชัวร์” ก่อน “แชร์” บวกกับความรับผิดชอบต้องมีมากขึ้นตามมา

“พอมีคนตามเยอะ หลักหมื่น หลักแสน เริ่มคิดว่าต้องมีความรับผิดชอบกับสังคม เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นสื่อ ไม่ใช่แค่คนธรรมดาคนหนึ่งละ แต่เป็นฐานะสื่อ ต้องใช้หลักสื่อสารมวลชน ต้องมีจรรยาบรรณแล้ว ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองพูดออกไปมากขึ้น ต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนแนวคิดแกนหลักว่าต้องเปลี่ยนไปเพื่ออะไรไม่มี”

ทุกวันนี้ช่อง Point of view ปล่อยคลิปวิดีโอออกมาสัปดาห์ละประมาณ ​3 คลิป ขนาดความยามสุดก็เกือบครึ่งชั่วโมง แต่สั้นหน่อยก็ประมาณ 1-2 นาที โดยถ้าจะนับจำนวนรวมๆ ทั้งหมดที่ได้ปล่อยออกไป ก็คงได้จำนวน  500-600 คลิปเข้าไปแล้ว ซึ่งเรื่องราวที่จะถูกเล่าออกมา ยังคงมีอยู่อย่างมากมาย หลากหลายแง่มุม ไม่มีวันตัน แม้แต่เรื่องวรรณคดีก็มีมุมเล่าได้ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะคอนเซ็ปต์ของช่อง คือ การเล่าเรื่องหลากหลายที่มีสาระ แต่ก็สนุกได้อะไรที่มีสาระและสนุก ก็เล่าได้หมด ทุกวันนี้ก็เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ก็มี ระยะหลังนอกจากวรรณคดีแล้ว คนเริ่มจำว่ามีการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์มากขึ้น

เรียนรู้-พัฒนา จากความผิดพลาด

แม้จะเริ่มต้นทำช่อง Youtube ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่ขณะนั้นยังไม่ได้ทำจริงจังแบบเป็นอาชีพหลัก  ซึ่งเอาเข้าจริงเพิ่งจะทำแบบจริงจังก็ไม่กี่ปีให้หลังมานี้เอง  ก่อนจะมาได้ดีกับเส้นทาง Youtuber  หลังเรียนจบ คุณวิวได้เข้าไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสายวิชาชีพอื่นมาแล้วถึง 3 บริษัท ที่แรกเป็น Content editor ของไมโครซอฟท์ รับผิดชอบแอปพลิเคชั่นข่าว Bing News ก่อนจะเปลี่ยนมาทำตำแหน่ง Social Media Executive ที่ดีแทค และมานั่งเก้าอี้พนักงานประจำสุดท้าย ที่เว็บไซต์เดอะคลาวด์กับตำแหน่ง Social Media Editor ทำหน้าที่เป็นของบรรณาธิการโซเชียลมีเดีย

หากย้อนกลับไกลกว่าประสบการณ์หลังการเรียนจบจากมหาวิทยาลัย คุณวิวเองสั่งสมประสบการณ์การทำงานหลากหลายนับตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะรับจ๊อบพิเศษ การออกแบบเสื้อให้กับโรงเรียนกวดวิชา พิสูจน์อักษรให้สำนักพิมพ์ หรือแม้แต่เขียนบทความต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทุกประสบการณ์ที่ผ่านมาล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อการนำเอามาใช้ และหล่อหลอมให้เป็น Point of view ในทุกวันนี้

“ทุกประสบการณ์มันทำให้ออกมาเป็นตัวเราทุกวันนี้ แม้แต่เราเจออะไรเล็กๆ เช่น วันหนึ่งเราเดินสะดุดหิน วันต่อมาเมื่อเจอหินหน้าตาแบบนี้ เราก็จะระวังแล้ว เราเคยเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง แบบหนึ่งต่อหนึ่ง เล่าแบบนี้แล้วเขาไม่เข้าใจ ต่อไปเราก็เล่าแบบอื่นแทน”

ไม่เพียงแต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างคอนเทนต์ในช่อง Point of view เท่านั้น แต่ข้อผิดพลาดจากการทำงานและการเป็น Youtuber ก็ส่งผลดีให้เกิดการพัฒนาตัวเอง และการสร้างคอนเทนต์ให้มีทั้งความสนุก ความลึก และถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น  เพราะคนเราเมื่อเห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง เราจะพัฒนาตัวเองขึ้น

“เวลาเราทำอะไรซ้ำๆๆๆ เราจะเห็นข้อผิดพลาดของตัวเราเองเสมอ ในช่วง 5-6 ปีแรกเป็นคนตัดต่อวิดีโอเอง มันจะเห็นเองว่าตรงนี้เราพูดผิด ตรงนี้ถ้าจะสนุกขึ้นถ้ามีภาพประกอบ ตรงนี้เล่าได้ไม่เข้าใจ คราวหน้าเล่าให้ละเอียดขึ้นไหม ไม่ว่าจะเป็นวิธีการอ่านหนังสือ หรือไปเข้าคอร์สเรียน  สุดท้ายแล้วจุดประสงค์เดียวกัน คือ การมองให้เห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง แล้วกลับไปแก้ข้อผิดพลาดตรงนั้น มันอาจจะต่างวิธีการกัน แต่วัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อให้พัฒนาดีขึ้น”

ดีใจทุกๆ วันที่มันเกิดขึ้น

แม้ว่าจะไม่ได้คาดคิดหรือวางเป้าหมายเส้นทาง Youtuber ว่าจะมาไกลถึงขนาดนี้ เพราะจุดมุ่งหมายในการทำช่อง Point of view ไม่ได้เป็นเรื่องของตัวเลข หรือการตั้ง Milestone ไว้ว่าจะต้องถึง 100,000 subscribe 1 ล้าน subscribe หรือ 10 ล้าน subscribe แต่มองแค่ว่าต้องการสื่อสารแนวความคิดไปถึงคนดู และแม้ว่ากระแสของโลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว อนาคตไม่มีใครทำนายได้ว่าช่องทาง ​Youtube จะยังคงได้รับความนิยมหรือสนใจต่อไปอีกหรือไม่ อาจจะมีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายมันเป็นเรื่องความคิดอะไรบางอย่างที่ต้องการจะสื่อ สื่อผ่านช่องทางไหนก็ได้  ไม่จำเป็นต้องผ่าน Youtube ตราบใดที่ข้อความ ข้อมูล แนวคิดนี้ยังอยู่ จะสื่อออกไปช่องทางไหนก็เหมือนกัน

“วิวรู้ว่าวิวประสบความสำเร็จขึ้นทุกวัน เพราะว่าจุดมุ่งหมายของวิว ไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นตัวเลข แค่มีแนวความคิดที่ยังอยากเผยแพร่อยู่ และแนวคิดนี้ไปถึงคนดู วิวก็โอเคแล้ว แม้สื่อออนไลน์จะมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่วิวก็ปรับไปตามสถานการณ์”

ทุกวันนี้สิ่งที่คุณวิว พยายามทำคือการพัฒนาคุณภาพคอนเทนต์ นำเสอนผ่านช่อง Point of view  ให้ดีที่สุด แม้ว่าจะยังมีอีกงานหนึ่งที่รักและชื่นชอบอย่างงานเขียน แต่ด้วยเวลาจำกัดจึงยังไม่สามารถผลิตงานเขียนในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊คออกมาได้ จากก่อนหน้านี้ได้มีผลงานออกมาแล้ว 1 เล่ม กับหนังสือชื่อ “วรรณคดีไทยไดเจสต์” แต่เมื่อเวลาเหมาะสมเชื่อว่าจะมีงานเขียนดีๆ ของคุณวิวออกมาแน่นอน

“ภายในปีนี้พยายามจะเขียน เพราะเป็นคนชอบเล่าเรื่อง ถ้าวันนี้มีเรื่องอยากเล่าก็พร้อมจะเล่าออกมา ขึ้นอยู่กับว่า เวลานั้นมันเหมาะที่เล่าเรื่องแบบไหน ทุกวันนี้เรื่องที่เล่ามันลึกขึ้น หลากหลายขึ้น จึงใช้เวลากับมันนานขึ้น จึงไม่มีเวลาพัฒนาไปอย่างอื่น เพราะหากทำหลายอย่างสุดท้ายอาจจะไม่ดีสักอย่าง  ทุกวันนี้ รายได้หลักมาจากการทำคอนเทนต์ออนไลน์  หนังสือ และรับเป็นวิทยากรต่างๆ การเป็น Youtuber ถือว่าเป็นอาชีพ แต่ไม่ได้มั่นคงเท่ากับพนักงานบริษัท ขึ้นอยู่กับว่าเป็นใคร หลายคนมองว่าทำออนไลน์แล้วรวย แต่เขามองยอดปิรามิดอยู่ เหมือนดารา ที่เรามองยอดปิรามิด ไม่ได้มองดาราที่กำลังตะเกียกตะกายไต่ขึ้นไปอยู่บนยอดปิรามิดตรงนั้น แต่คงไม่กลับไปทำงานประจำ เพราะเป็นคนที่ไม่เหมาะทำงานออฟฟิศ เป็นคนที่ชอบพูดด้วยนำเสียงของตนเอง มากกว่าพูดผ่านน้ำเสียงของคนอื่น”

ขอขอบคุณร้านบ้านการ์ตูนสำหรับสถานที่

 


แชร์ :

You may also like