HomeDigitalเพราะ “กรุงเทพฯ รถติดม้าก ๆ” ซีอีโอ Dtac ขอบุกตลาด EV เจอกันแน่ มิ.ย.นี้

เพราะ “กรุงเทพฯ รถติดม้าก ๆ” ซีอีโอ Dtac ขอบุกตลาด EV เจอกันแน่ มิ.ย.นี้

แชร์ :

ต้องเป็นมากกว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคม ดีแทควันนี้จึงขอ “Go Beyond Mobile Connectivity” ด้วยการเปิดตัวแพลตฟอร์มรถ EV (Electric Vehicle) ชี้เป็นเทรนด์ที่ทุกประเทศชั้นนำทั่วโลกใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยแพลตฟอร์ม EV ที่ดีแทคพัฒนาขึ้นนั้น จะมาพร้อมซิมขนาดเล็กสำหรับติดตั้งในตัวรถมอเตอร์ไซค์ EV และซิมอีกชิ้นสำหรับใส่ในโทรศัพท์มือถือที่สามารถโทรเข้าออก – ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ตามปกติ ส่วนศูนย์กลางคือแอปพลิเคชันที่ดีแทคพัฒนาขึ้นสำหรับเชื่อมต่อเข้ากับบริการต่าง ๆ เช่น เช็คสถานะแบตเตอรี่ เปลี่ยนแบตเตอรี่ แจ้งระยะทาง ค้นหาเส้นทาง ติดต่อขอความช่วยเหลือ จ่ายบิล ตามหารถหาย ติดต่อประกันและซื้อประกัน ฯลฯ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ในเบื้องหลัง ดีแทคมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์จากหลายอุตสาหกรรม ทั้งบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าจากจีน – ยุโรป – ไทย บริษัทประกัน ธุรกิจเช่าซื้อ สถาบันการเงิน บริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ ฯลฯ ให้มาอยู่รวมกันบนแพลตฟอร์มเดียว

นอกจากนั้น บนหน้าปัดของตัวรถ EV จะมีโทรศัพท์แอนดรอยด์ฝังอยู่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้

“นี่คือก้าวของการสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างแท้จริง” คุณอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวบนเวที

โดยงานแถลงข่าวเปิดตัว ดีแทคระบุว่ารถ EV กลุ่มแรกที่พร้อมขายนั้นมีทั้งสิ้น 5 รุ่น พร้อมชี้ว่า ด้วยแพลตฟอร์ม EV ดังกล่าวจะช่วยประหยัดค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ได้มากกว่ารถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันราว 50%

ตั้งราคาไม่แตกต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ใช้น้ำมัน

เพื่อดึงดูดตลาดให้หันมาสนใจรถ EV ดีแทคระบุว่า ราคาเริ่มต้นของรถ EV ที่ดีแทคจะวางจำหน่ายนั้นอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท ไปจนถึงรุ่นใหญ่ที่มีราคาหลักแสนบาท

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น ดีแทคเผยว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ของไทยอยู่ รวมถึงอาจนำรถ EV มาจัดแสดงในดีแทคช้อปบางสาขาด้วยเช่นกัน

130,000 ตู้บุญเติมกระจายทั่วประเทศ รองรับรถ EV

อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจก็คือเรื่องของแบตเตอรี่ ในจุดนี้ดีแทคระบุว่าอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่หลัก ๆ อาจมีสองโมเดล นั่นคือการซื้อขาดแบตเตอรี่ แล้วให้ผู้ซื้อชาร์จเองได้ ซึ่งโมเดลนี้มีความเสี่ยงในแง่ของแบตเตอรี่เสื่อม เพราะการซื้อแบตเตอรี่ก้อนใหม่ยังมีราคาค่อนข้างแพง และต้องฝากความหวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการทางภาษีออกมาช่วยเหลือผู้ใช้รถ EV นี้อย่างไร กับโมเดลที่สองคือ การ SWOP แบตเตอรี่ ที่ดีแทคจะร่วมมือกับทางตู้บุญเติม สร้างจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรองรับรถ EV ดังกล่าว

โดยทางตู้บุญเติมที่มีอยู่ 130,000 แห่งทั่วประเทศ จะหันมาเป็นจุดเติมแบตเตอรี่อัจฉริยะให้กับดีแทคราว 10 จุด ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในย่านบางกะปิ – รามคำแหงก่อนเป็นอันดับแรก และแต่ละจุดจะอยู่ไม่ห่างกันมาก ประมาณรัศมี 5 กิโลเมตร แต่ถ้าหากได้รับการตอบรับที่ดีก็พร้อมจะขยายเพิ่ม

ต้นแบบตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่อัจฉริยะ ที่ต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน

ส่วนสาเหตุที่เลือกย่านดังกล่าวก่อนนั้น ทางผู้บริหารดีแทคระบุว่า เลือกจากความหลากหลายของผู้บริโภคในพื้นที่เป็นสำคัญ โดยรูปแบบการเข้าใช้บริการตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่นั้น สามารถเช็คได้จากแอปพลิเคชันว่าจุดเติมแบตเตอรี่ที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน และที่จุดนั้นมีแบตเตอรี่เหลือให้เปลี่ยนกี่ชิ้น โดยผู้ใช้งานต้องนำโทรศัพท์มือถือมาสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อยืนยันตัวตน ฝาตู้จึงจะเปิดและสามารถหยิบแบตเตอรี่ออกมาเปลี่ยนได้

แชร์ข้อมูลผู้ใช้รถ

แน่นอนว่าประเด็นเรื่อง Data Privacy คืออีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะรถ EV คือการเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมยานยนต์มาสู่ธุรกิจ Data สำหรับแพลตฟอร์มของดีแทคก็เช่นกัน เพราะผู้ใช้งานจะถูกถามแน่นอนว่าอนุญาตให้มีการแชร์ข้อมูลหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่ระบบขอเข้าถึง อาจเป็นข้อมูลในการเดินทาง พฤติกรรมในการขับขี่ ฯลฯ

ส่วนการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ อาจเป็นการประเมินร่วมกับบริษัทประกันในการลด – เพิ่มดอกเบี้ยตามพฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งจะทำให้การคิดค่าเบี้ยประกันมีความเฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคลมากขึ้นนั่นเอง

รถ EV ทั้ง 5 รุ่นที่นำมาจัดแสดง

สำหรับผู้ที่สนใจรถ EV และอยากลงชื่อจองไว้ก่อนนั้น ทางผู้บริหารดีแทคระบุว่า หากเป็นลูกค้าดีแทคประเภทรายเดือนอยู่แล้วสามารถลงชื่อจองได้เลย (รับรถได้ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน) แต่ถ้าหากไม่ใช่ ต้องเปิดเบอร์ใหม่ โดยจะมีค่าบริการรายเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 349 บาท ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่ไม่มากนักสำหรับองค์กรมหาชน

ในจุดนี้ คุณอเล็กซานดรา มองว่า แพลตฟอร์มรถ EV ทำขึ้นเพื่อทดสอบตลาดที่ใหม่มาก ๆ สำหรับประเทศไทย ดังนั้น โมเดลธุรกิจ และเป้าหมายในการขายจึงยังไม่มีการกำหนดตายตัว

“เราหวังให้พารทเนอร์ที่เข้ามาได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ส่วนในอนาคตอาจมีการพัฒนาโมเดลหารายได้อื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น บริการประเภทแชร์ตัวรถ (Ride-sharing)” ผู้บริหารดีแทคกล่าวทิ้งท้าย

 


แชร์ :

You may also like