HomePR NewsSCG Ceramics แถลงผลประกอบการไตรมาส 4 และปี 2561 เผยเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย พร้อมบุกขยายตลาดต่างประเทศ [PR]

SCG Ceramics แถลงผลประกอบการไตรมาส 4 และปี 2561 เผยเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย พร้อมบุกขยายตลาดต่างประเทศ [PR]

แชร์ :

ผลประกอบการไตรมาส 4 และผลประกอบการปี 2561 ของ เอสซีจี เซรามิกส์ รายได้และกำไรลดลงเนื่องจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น เร่งสร้างความแข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์การบริหารแบรนด์สินค้า ชูกระเบื้อง 3 แบรนด์หลัก คอตโต้ คัมพานา และโสสุโก้ ลงตลาดครบทุกช่องทางเจาะทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมบุกขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLM

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA)   เปิดเผยว่า   งบการเงินรวมก่อนสอบทานของ COTTO ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,713 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง ร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไร 66 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 160 จากไตรมาสก่อน

สำหรับผลประกอบการในปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 11,557 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 11 มีกำไรสุทธิรวมจำนวน 10 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 566 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกัน ค่าที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการจัดการและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท

ในปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการส่งออก 2,534 ล้านบาท และรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 1,833 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีรายได้จากการส่งออก 527 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณขายในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของปริมาณขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินทรัพย์รวมของ COTTO ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีมูลค่า 11,725 ล้านบาท

นายนำพล กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าไตรมาสที่ผ่านมาตลาดจะเติบโตขึ้น 1% จากราคาเกษตรที่สูงขึ้นและสัญญาณการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงแต่เมื่อมองในภาพรวมของทั้งปีจะเห็นว่าตลาดยังคงชะลอตัวอยู่ -2% ประกอบกับปัจจัยลบที่สำคัญคือต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผลประกอบการของ COTTO ในไตรมาส 4 และโดยรวมปี 2561 มีรายได้ลดลง” ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ในปีนี้ บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหารแบรนด์สินค้าควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานและบริการของสินค้าทุกแบรนด์เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านดีไซน์ ความสวยงาม คุณภาพสินค้าและบริการที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่มุ่งแข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก

ปัจจุบันสินค้ากระเบื้องเซรามิกของบริษัทมี 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ คอตโต้ คัมพานา และโสสุโก้ โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีไลฟสไตล์แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ

  • คอตโต้ (COTTO) มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และความล้ำสมัยมีความสวยงามที่แตกต่างโดดเด่น เลือกสินค้าเพื่อสะท้อนตัวตนของผู้ใช้งาน
  • คัมพานา (CAMPANA) เน้นความเรียบง่ายให้อารมณ์อบอุ่น และสวยงามแบบธรรมชาติ
  • โสสุโก้ (SOSUCO) นำเสนอลวดลายที่มีความหลากหลายสำหรับพื้นที่ใช้สอยโดยทั่วไป เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่ชอบความสะดวกสบายและสินค้าที่ใช้งานง่าย

ในส่วนของการขยายตลาดในต่างประเทศ นายนำพล เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLM หรือ กัมพูชา ลาว และพม่า โดยจะเน้นการวางรากฐานและระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฐานลูกค้าและเครือข่ายการจัดจำหน่ายเพื่อเพื่อความแข็งแกร่งของการขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนงานที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มช่องทางการขายเพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงลูกค้าทุกระดับ โดยมีแผนงานเพิ่มสาขาพื้นที่ขาย “คลังเซรามิค” ในจุดที่ช่องทางจัดจำหน่ายในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเป็น 100 สาขาภายใน 5 ปี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ชอบความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและต้องการสินค้าที่หลากหลายใช้งานง่าย ปัจจุบัน “คลังเซรามิค” มีสาขาที่เปิดให้บริการแล้วรวม 25 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ มีพื้นที่การขายเฉลี่ยของแต่ละสาขามากกว่า 1,200 ตารางเมตร ทำให้บริษัทฯ มีช่องทางจำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมจากการขายสินค้าผ่านผู้แทนจำหน่าย โมเดิร์นเทรด และ Flagship Store ที่  คอตโต้ สตูดิโอ   เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ และ VOA Space ที่ จ.ขอนแก่น

“ในส่วนของการบริหารต้นทุน บริษัทฯ มีแผนงานเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิต โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานในโรงงาน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานด้วย บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันรุนแรงในประเทศและสามารถรักษาความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในประเทศไว้ได้เนื่องจากเรามีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งแผนงานระยะสั้นเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแผนงานระยะยาวเพื่อมุ่งสร้างความแข็งแกร่งและหาแนวทางการเติบโตให้กับธุรกิจด้วย” นายนำพล กล่าวสรุป

สำหรับภาพรวมตลาดในปี 2562 มีปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซรามิก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของนักลงทุนภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดว่าในปี 2562 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่สูงขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย โดยมีปัจจัยบวกที่เป็นโอกาสดีของธุรกิจวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะกลุ่มกระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากโครงการ Mixed use หรือ การก่อสร้างเพื่อการพาณิชยกรรมภายใต้แนวคิดการรวมกันของกลุ่มผู้อยู่อาศัยและกลุ่มการค้าเพื่อการพาณิชย์ที่มีโครงการที่มูลค่าสูงกว่า 4 แสนล้านบาทซึ่งได้เริ่มทยอยก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปยังพื้นที่ในเมืองอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ รวมทั้งนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่ผู้ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างบ้าน รวมถึงโครงข่ายคมนาคมรถไฟฟ้าและมอเตอร์เวย์ที่ทำให้การเดินทางออกสู่ชานเมืองและต่างจังหวัดสะดวกขึ้นยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์พื้นที่ชานเมือง ปริมณฑลและจังหวัดทางตะวันออก บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าปัจจัยบวกเหล่านี้จะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 2562  มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น


แชร์ :

You may also like