HomeBig Featuredเปิดโผ “การตลาด 2018” แบรนด์ทิ้งอะไรไว้ให้ “โลก-ผู้บริโภค” จดจำ และอะไรคือสิ่งที่ต้องจับตาในปี 2019

เปิดโผ “การตลาด 2018” แบรนด์ทิ้งอะไรไว้ให้ “โลก-ผู้บริโภค” จดจำ และอะไรคือสิ่งที่ต้องจับตาในปี 2019

แชร์ :

เป็นประจำที่เมื่อถึงช่วงเวลาสิ้นปี มักจะมีเรื่องราว “การตลาด” ที่เป็นทั้งปรากฏการณ์ ประเด็นร้อน บทเรียนราคาแพงให้นักการตลาดได้เรียนรู้ เพื่อเตรียมตัว นำไปปรับใช้ในปีใหม่ อะไรที่เป็นความสำเร็จของปีก่อน ใช่ว่าปีถัดไปจะยกสูตรเดิมไปใช้ได้ เพราะการทำตลาดนับวันยิ่งเผชิญความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะให้ทิ้งเรื่องราวเก่าๆ ไปเลย คงไม่ได้ เพราะทุกเรื่องราว กลยุทธ์ ล้วนเป็นกรณีศึกษาได้ รวมทั้งการเรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านี้ จะเป็นเครื่องบ่งชี้แนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เหมือนที่นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า “รู้ประวัติศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจปัจจุบัน และคาดเดาอนาคต”​

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาดูกันว่าในปี 2561 แบรนด์ดัง ไม่ดัง สร้างปรากฏการณ์ปัง! หรือแป้ก! อะไรทิ้งไว้บ้าง

ออเจ้ามาร์เก็ตติ้ง…

ถือได้ว่าเป็นที่สุดจริงๆ สำหรับละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เพราะช่วยชุบชีวิตช่องให้ทำเงินอื้อซ่า โกยเรตติ้งถล่มทลายทะลุ 10 ท่ามกลางสถานการณ์ของทีวิดิจิทัลที่เรตติ้งขยับยากเย็นแสนเข็นมาก

นอกจากนี้ ช่อง 3 จากที่เผชิญภาวะขาดทุน ทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท กลับมาต่อลมหายใจธุรกิจได้ไม่น้อย ส่วนดารานักแสดงทั้งพระเอก-นางเอก ทั้งโป๊บ และเบลล่า ฮอตฮิตติดลมบนสุดๆ จนแบรนด์ต่างๆแย่งกันเป็นพรีเซ็นเตอร์ ไม่เว้นแม้แต่ตัวประกอบอื่นๆ ก็ได้อานิสงไปด้วย

ด้วยความดังของละครทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ หันมาทำการตลาดแบบ Real time ระหว่างละครออกอากาศ ยื่งกว่านั้นทุกแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไทวัสดุ, เซเว่นอีเลฟเว่น, เบอร์ลี่ยุคเกอร์(บีเจซี), อุทัยทิพย์ ฯ หันมาเกาะกระแสละครกันเป็นทิวแถว ความร้อนแรงของละครเรื่องนี้เป็นผลของความเชื่อมโยงระหว่าง มีเดีย TV แบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันในโซเชี่ยลมีเดียก็มีส่วนไม่ใช่น้อย

ถ้าหากว่า “บุพเพสันนิวาส” สามารถสร้างกระแสได้ในช่วงต้นปี ปลายปีละครที่ปรากฏให้เห็นก็คือ “เลือดข้นคนจาง” กับคำถาม #ใครฆ่าประเสิรฐ ละครเรื่องนี้เป็นการนำเอานักแสดงดัง ยุค ’90 มาปะทะฝีมือกับไอด้อลรุ่นใหม่ เพื่อดึงดูดแฟนคลับของทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกัน เชื่อมโยงผ่านเรื่องราวของตระกูลคนจีนมีทั้งเรื่องผลประโยชน์ ความรัก และความแค้นผูกปมของครอบครัวนี้เข้าด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะโด่งดังในโซเชี่ยลมีเดียอย่างมาก แต่ในตลาดแมส เรื่องราวที่สลับซับซ้อนอาจจะไม่ใช่จริตของคนหมู่มากที่ต้องการติดตามละครเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงแบบไม่ต้องคิดหรือติดตามจริงจัง แต่กระแสที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็โชว์ฝีมือของนักแสดงรุ่นเดอะให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ชมอีกรุ่น ส่วนกลุ่ม 9×9 ก็แจ้งเกิดอย่างงดงาม รวมทั้งในช่องทาง LINE TV ก็มีกระแสอย่างมาก

สิ่งที่ต้องติดตามต่อ: ปี 2019 การสร้างความบันเทิงผ่านละคร ดูจะเป็นความท้าทายของผู้จัดและสถานีโทรทัศน์อย่างหนัก ในขณะที่ Online Straming ทั้ง Netflix , Viu ดูจะสามารถสร้างฐานผู้ชมของตัวเองได้ตามความถนัด ในส่วนของ Netflix คอนเทนท์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเองทั้งหลาย ดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น ส่วน Viu เจาะฐานแฟนเกาหลีได้อย่างรู้ใจ คอนเทนท์และสถานีโทรทัศน์ของไทยจะเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งจากคู่แข่ง และพฤติกรรมของผู้ชม จนน่าจะเกิดการปรับตัวทั้งเรื่องของการพัฒนาแพล็ตฟอร์มของตัวเองให้จริงจังมากขึ้น รวมทั้งใช้โซเชี่ยลมีเดียผสานพลังกับสื่อโทรทัศน์อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

 

BNK48 ดังพลุแตก…

การผุด “โมเดลธุรกิจใหม่” โอกาสที่จะประสบ “ความสำเร็จ” และ “ความล้มเหลว” มีพอๆกัน จึงนับเป็น “ความเสี่ยง” อย่างมากสำหรับนักธุรกิจนักลงทุน เพราะการทุ่มเงิน ทุ่มพลัง ขบคิดกลยุทธ์ในการ “สร้างแบรนด์” ให้โด่งดัง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ BNK48 สามารถทำได้ เพราะความดัง ณ เวลานี้ เรียกว่า “พลุแตก” จริงๆ

แต่กว่าที่ BNK48 จะมายืนอยู่ในจุดที่สปอร์ตไลท์ส่องตรงมาที่วงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปนี้ ต้องผ่านการออกงาน โชว์ตัวสารพัด สร้างการรับรู้วง แต่เมื่อผ่านจุดที่ยากสุด ซึ่งเป็นการทำให้คนทั้งประเทศรู้จักได้ พอติดลมบน ธุรกิจก็ไปโลด

ความดังของ BNK48 นอกจากทำให้มีโอตะจำนวนมาก ไปออกงาน ออกอีเวนท์ที่ไหน ต้องตามไปเฝ้าเกาะติดหน้าเวที ฐานแฟนๆกลุ่มนี้มีพลังมาก เมื่อบวกกับความดังของวงพอทำให้แบรนด์สินค้าจำนวนมากสนใจดึไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ทั้งกลุ่มบ้าง เดี่ยวบ้าง และยังมีโมเดลการสร้างรายได้แบบใหม่ระหว่างแบรนด์และBNK48 ด้วย

ส่วนแบรนด์ที่อาศัยพลัง BNK48 สร้างการเติบโตยอดขาย เช่น ทเวลฟ์พลัสโคโลญน์, มิรินด้ามิกซ์-อิท, แลคตาซอย, ฟูจิฟิล์ม เอ็กซ์-เอ5ม ทรู, ฮอนด้า, ซัมซุง, โออิชิ ฮันนี่ เลมอน เป็นต้น

ไม่พอ เพราะความดังสุดๆ ทำให้ “แพลนบี” ยักษ์ใหญ่สื่อนอกบ้าน ควักเงินกว่า 180 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนถือหุ้น 35% ในบีเอ็นเค ออฟฟิศ ต่อยอดธุรกิจ Talent management เต็มสูบ ซึ่งการได้พลังเงินทุนที่หนา ทำให้เพิ่มโอกาสเติบโตของวงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปวงนี้

สิ่งที่ต้องติดตามต่อ: BNK48 รุ่นหนึ่งจะยังคงความโด่งดัง ทั้งในแง่ของฐานแฟนที่พร้อมเปย์ ให้กับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งงานพรีเซนเตอร์ของสาวๆ กลุ่มนี้จะยังฮ็อตอยู่หรือไม่ BNK48 รุ่นสอง ที่ปรากฏตัวให้เห็นกันแล้วจะสร้างปรากฏการณ์ได้แบบรุ่นพี่หรือไม่ รวมทั้งมีวงไอด้อลวงอื่นที่เห็นโอเมลเช่นนี้แล้ว ก็พยายามจะก่อร่างสร้างฐานแฟนคลับขึ้นมาเพื่อเกาะกุมหัวใจโอตะ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในแง่การตลาด นักการตลาดทั้งหลายจะสามารถฉกฉวยเอาความชื่นชอบของแฟนๆ ที่มีกับน้องๆ เหล่านี้ มาใช้ประโยชน์กับการสร้างแบรนด์ของตัวเองในรูปแบบใดได้บ้าง

 

“เมจิกสกิน” สิ้นชื่อ…

การทำตลาดนอกจากปรากฎการณ์ความปังแล้ว สิ่งที่เป็นบทเรียนให้แบรนด์ได้อย่างดีคือการทำตลาดของ “เมจิกสกิน” ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยอาศัยศิลปิน ดารานักแสดงตัวท็อป Influencer บนโลกออนไลน์ช่วยโปรโมทแบรนด์ จนผู้บริโภคจำนวนมากซื้อสินค้า ทำให้เจ้าของทำเงินเป็นกอบเป็นกำร่วม “พันล้านบาท”

แต่อนิจจา เมื่อแบรนด์ไม่จริงใจ ไม่ซื่อสัตย์กับผู้บริโภค ผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สุดท้ายสิ่งที่ทุ่มเททำลงไปกลายเป็นหอกทิ่มแทงตัวเอง เพราะที่สุดแบรนด์พัง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับตํารวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) บุกจับแหล่งผลิตและจำหน่ายอาหารเสริม รวมทั้งเครื่องสำอางผิดกฎหมายของบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ปราบจนสิ้นชื่อไปเลยทีเดียว

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่แบรนด์เมจิกสกินที่พังราบคาบ เพราะในห้วงเวลาเดียวกัน สินค้าในหมวดสกินแคร์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งแบรนด์ดัง ได้รับผลกระทบไปด้วย ยอดขายตกไปพอสมควร แต่อีกมุม ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยมองเป็นเรื่องดี เพราะถือเป็นการแสกนสินค้าคุณภาพให้คงอยู่

สิ่งที่ต้องติดตามต่อ: ปี 2018 เป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจบำรุงผิว และอาหารเสริมเติบโตแบบก้าวกระโดด เกิดกลุ่มคนรวยใหม่ที่สร้างตัวจากการขายสินค้าออนไลน์ รวมทั้งนักแสดงหรือผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย หันมาประกอบธุรกิจของตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ และสร้างระบบ “ตัวแทน”​ขึ้นมาอย่างกว้างขวาง และนั่นทำให้ผู้บริโภคไปจนถึงตัวแทนมีทางเลือกมากเหลือเกิน เปิดศักราชใหม่ปีนี้ ต้องจับตาจริงๆ ว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้จะยั่งยืนต่อไปหรือไม่ ในฐานะผู้บริโภคก็ได้แต่หวังว่าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือระบบการขายที่กลายเป็นแชร์ลูกโซ่จะล้มหายตายจากวงการธุรกิจ

ปิดตำนาน “ลิโด” ก่อนคืนชีพเป็น “ลิโด้”…

แม้จะได้ยินนักการตลาดพูดกันบ่อยว่า หมดยุคการทำตลาด Mass แล้ว ต่อไปนี้ผู้บริโภคจะถูกซอยย่อยเป็น Segmentation มากขึ้น และการแบ่งผู้บริโภคจะถูกแบ่งตามไลฟ์สไตล์ ทำให้มีการมองว่าสินค้าที่เป็น Niche Market จะมีที่ยืนในตลาดได้มากขึ้น แต่นั่นใช้ไม่ได้กับโรงภาพยนตร์ “ลิโด” ที่ตระเวนหาหนังดี หนังอาร์ท หนังอินดี้ จากทั่วทุกมุมโลกมาเสิร์ฟคนดู

ตลอด 50 ปี โรงหนังลิโด ยืนหยันทำตลาดเฉพาะสำหรับคอหนังจริงๆ กลยุทธ์ “ราคาตั๋ว” ก็ “ต่ำ” แต่กลับไม่สามารถตรึงและดึง Traffic ให้เข้ามาดูหนังมากพอที่จะมีรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจและต่อสู้กับค่าเช่าที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(PMCU)โขกขึ้นได้ เมื่อต้องแบกภาระขาดทุนทุกปีๆ สุดท้ายธุรกิจจำใจยกธงขาว โบกมือลาขาโจ๋ย่านสยามสแควร์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่ไม่ปล่อยให้เดากันนาน ว่าพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์แห่งนี้จะถูกนำไปทำอะไร เพราะก่อนจะสิ้นปี 2561 สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เพิ่งประกาศ “ผู้เช่า” พื้นที่รายใหม่ คือค่ายเพลง “Loveis” ของเจ้าพ่อเพลงรัก “บอย โกสิยพงษ์” เข้ามารุกธุรกิจบริการจัดการพื้นที่ Retail เป็นครั้งแรก จะแปลง “ลิโด” ให้เป็น “ลิโด้” ชื่อออกเสียงเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ “ไม้โท” เพราะต้องการจะบอกให้สังคม และแฟนคลับรู้ว่า หากผันคำลิโดจนถึงลิโด๋ คำว่า “ลิโด้” อยู่กึ่งกลาง ซึ่งสอดรับกับเจตนารมย์ของ “พี่บอย” จะเนรมิตพื้นที่ดังกล่าวให้ทุกคนมีโอกาสมาใช้ประโยชน์ อวดศิลปะทุกแขนง และยังมีหนังมาฉายเหมือนเดิม โดยจะไม่ชนกับหนังของ “สกาล่า” ด้วย

สิ่งที่ต้องติดตามต่อ:ต้องมาดูว่า “ลิโด้” ใหม่ จะกลับมาสร้างตำนานแบบไหนให้ชาว “สยามสแควร์” ได้จดจำ รวมทั้งค่ายเลิฟอีส เมื่อผันตัวมาเป็นผู้บริหารพื้นที่แล้ว จะสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่และศิลปินที่มีอยู่ในมือได้อย่างไร โดยมีกลุ่มน้อง Sweat 16 ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของพื้นที่ย่านนี้ที่สุด เป็นตัวความหวังสำคัญ

 

Icon Siam – คิงเพาเวอร์มหานคร สร้างแลนด์มาร์ค…

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์(Developer)ของเมืองไทย รายใหญ่ๆต่างแข่งกันสร้าง “แลนด์มาร์ค” เพื่อเป็น Destination ดึงขาช้อปปิ้งเมืองไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

“ไอคอนสยาม” ของนางพญาค้าปลีก “ชฎาทิพ จูตระกูล” แม่ทัพใหญ่แห่งสยามพิวรรธน์ ลงขันกับเครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) ทุ่มงบกว่า 5 หมื่นล้าน สร้างศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี สร้างสีสันการค้าให้ย่านดังกล่าวอย่างมาก

วันเปิดตัว ยังเชิญแขกเหรื่อคนดังทั่วฟ้าเมืองไทยไปร่วมงาน และยังทุ่มเงินดึงนักแสดง ศิลปินระดับโลกมาร่วมงาน เช่น Naomi Watts Alicia Keys ฯ ส่วนการแสดงยังโชว์ความอลังการทั้งภายในและภายนอกศูนย์การค้า เรียกเสียงฮือฮาจากการใช้ “โดรน” กว่า 1,500 ลำ มาแปรอักษรด้วย

ส่วนการตอกย้ำภาพแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองกรุง ไอคอนสยาม ได้ดึงแบรนด์ดังมาไว้ภายในศูนย์การค้าด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่ๆเพียบ ทั้งไอคอนลักซ์ ร้านหรู Shop in shop มี Apple Store แห่งแรกใสนไทย ถึงไม่ใหญ่สุด แต่ก็ได้รับความสนใจแบบสุด เป็นต้น

“มหานคร” ตึกนี้ สร้างความฮือฮอามาตลอดตั้งแต่สร้างกระทั่งเปิดให้บริการ เดิมโปรเจคต์นี้พัฒนาโดย “สรพจน์ เตชะไกรศรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) แต่สร้างไป ก็เผชิญปัญหาการเงินไป งบลงทุนงอกเงยมาเรื่อยๆ จนองค์กรต้องแบกภาระ “หนี้” ร่วมหมื่นล้านบาท สุดท้ายหาทางออกโดยการดึง “คิง เพาเวอร์” เข้ามาซื้อกิจการบางส่วนไปด้วยเม็ดเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

เมื่อ “มหานคร” มาอยู่ในมือของ “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา” ก็ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น คิงเพาเวอร์มหานคร และไม่นานก็เปิดให้บริการ Skywalk มีไฮไลท์อยู่ตรงที่กระจกใสยื่นออกนอกตัวตึก วัดใจคนกล้าให้ไปยืนท้าความเสียวบนตึกที่มีความสูงอันดับ 2 ของเมืองไทย

สิ่งที่ต้องติดตามต่อ: ในปี 2018 การท่องเที่ยวของประเทศไทยซึ่งเป็นรายได้หลักทางหนึ่งของประเทศต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งจากข่าวที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวจีน ทั้งเรือล่ม ทั้งกรณีการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ไม่สู้ดีนัก ประกอบกับสงครามการค้าทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นๆ ลดลง การสร้างแลนด์มาร์คเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้จับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ภาคเอกชน-รัฐ ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสร้างเม็ดเงินให้หมุ่นเวียนภายในประเทศให้ได้ ทั้ง 2 เมกะโปรเจ็กต์นี้ เปิดตัวช่วงหลายปี เพื่อต้อนรับเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งจากกระแสที่เกิดขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศก็ดูหนาตา สร้างกระแสได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามกระแส “ของจริง” น่าจะอยู่ที่ปี 2019 ความฮิตของทั้งสองสถานที่ จะยัง “ฮ็อต” ข้ามปี และเป็นหนึ่งในแรงจูงใจชวนนักช็อปทั้งหลายได้จริงหรือไม่

 

ปิดตำนาน “วิชัย ศรีวัฒนประภา”…

เป็นข่าวช็อค! วงการธุรกิจและวงการกีฬาทั้งประเทศไทยและทั่วโลกก็ว่าได้ สำหรับการจากไปของมหาเศรษฐีชื่อดังของเมืองไทย และเจ้าของสโมสรฟุตบอล “เลสเตอร์ ซิตี้” นั่นคือ  คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ครองอาณาจักรคิง เพาเวอร์ ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการที่เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวตกบริเวณข้างสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม

เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความเสียใจให้กับบุคคลในครอบครัวอย่างมาก รวมถึงคนในเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เนื่องจากสิ่งที่ คุณวิชัย สร้างให้กับชาวเมืองมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงหอผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลในเมืองเลสเตอร์ บริจาคเงินให้กับสาธารณกุศลต่างๆ จนชาวเมืองรักใคร่ รวมทั้งพาทีมเลสเตอร์ ซิตี้คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบปาฏิหารย์

การจากไปของวิชัย ทำให้นักธุรกิจไทย ยกย่องถึงสิ่งที่ทำ อย่างการเข้าไปลงทุนในสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ช่วยสร้างชื่อเสียงให้คนทั่วโลกรู้จักไทยอีกมุม การช่วยเหลือสังคม ยังเป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการอื่นๆของไทย ที่หากประสบความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจ การลงทุนแล้ว อย่าลืมที่จะช่วยเหลือสังคมรอบข้างด้วย เพราะแม้ร่างกายจะจากไป แต่ความดีจะอยู่ในใจผู้บริโภคไปตราบนานเท่านาน

สิ่งที่ต้องติดตามต่อ: ในแง่ของความยิ่งใหญ่และความดีของเขาเป็นสิ่งที่อยู่ในใจผู้คน แต่ในแง่มุมธุรกิจ นี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ของตระกูลศรีวัฒนประภา ในเมื่อกลุ่มคิงเพาเวอร์เพิ่งลงทุนก้อนใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้านกับตึก คิงเพาเวอร์ มหานคร รวมทั้งการแข่งขันในธุรกิจ Duty Free ก็ดูเหมือนจะระอุขึ้น เมื่อค่ายใหญ่ค้าปลีกทั้งเซ็นทรัล เดอะมอลล์ต่างก็จ้องธุรกิจนี้ตาเป็นมัน ในส่วนของเซ็นทรัล ในปี 2019 Central Village ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสุวรรณภูมิจะเปิดตัว เพื่อดักทางนักท่องเที่ยวก่อนเดินทางถึงสนามบิน สงคราม Duty Free ในปีหน้าน่าจะร้อนแรงน่าจับตามองไม่น้อย เจ้าสัวน้อยต๊อบ-อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา จะนำทัพลุยศึกนี้ได้หรือไม่ต้องจับตา


แชร์ :

You may also like