HomeMediaโอตาคุเฮ! “การ์ตูนคลับ มีเดีย” เจ้าของลิขสิทธ์การ์ตูนดัง ผุดธุรกิจใหม่ “ทัวร์ตามรอยอนิเมะ” แบบเอ็กซ์คลูซีฟ

โอตาคุเฮ! “การ์ตูนคลับ มีเดีย” เจ้าของลิขสิทธ์การ์ตูนดัง ผุดธุรกิจใหม่ “ทัวร์ตามรอยอนิเมะ” แบบเอ็กซ์คลูซีฟ

แชร์ :

หากเอ่ยถึงชื่อแบรนด์ “การ์ตูนคลับ” เชื่อว่าบรรดาแฟนการ์ตูนชาวไทยคงคุ้นเคยเป็นอย่างดีในฐานะผู้นำเสนอคอนเทนต์การ์ตูนดังตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เจ้าของลิขสิทธิ์ วันพีซ นารูโตะ ไปจนถึงการ์ตูนสุดคลาสสิคอย่างอาราเล่และอิคคิวซัง แต่สำหรับยุค Digital Disruption ความท้าทายของผู้ที่ทำธุรกิจคอนเทนต์มีมากมายรอบด้าน ทั้งเป็นอุปสรรค และโอกาสใหม่ๆ ส่วนหนึ่งมาจากแพลตฟอร์มสำหรับการนำเสนอคอนเทนต์มีมากขึ้น อีกทั้งแต่ละแพลตฟอร์มต่างก็มีโอกาสในการเติบโต และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันนั่นจึงนำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นรายใหญ่ของไทยอย่าง “การ์ตูนคลับ มีเดีย” กับแผนการรุกธุรกิจแบบ 360 องศา ที่ว่า 360 องศา หมายถึงอะไรบ้าง เรามาดูกัน…

จับมือ LINE TV แก้ปัญหาลิขสิทธิ์ – ส่วน LINE  ได้ฐานคนดูผู้ชาย-เด็ก

คุณธนัท ตันอนุชิตติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การ์ตูนคลับ มีเดีย จำกัด เล่าถึงรูปแบบการจัดทัพของการ์ตูนคลับ มีเดียในปีนี้พบว่า เป็นการจัดทัพแบบกระจายตัวไปทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น ทีวีดิจิทัล (ช่อง GMM25 ช่อง 3 ช่อง 9 ช่อง 13 และช่อง 14 Family) ทีวีดาวเทียม (ช่องการ์ตูนคลับแชแนล) แอปพลิเคชันการ์ตูนคลับ สำหรับให้บริการ Live Streaming คอนเทนต์จากทีวีดาวเทียม และล่าสุดก็คือการเป็น Exclusive Partner กับ LINE TV โดยส่งคอนเทนต์การ์ตูนดังแบบถูกลิขสิทธิ์ 10 เรื่อง ได้แก่ วันพีซ นารูโตะ รีบอร์น ก๊อง อิคคิวซัง อาราเล่ พริตตี้เคียว โทริโกะ วอชท์ คาร์ และ จี ไฟท์เตอร์ ลงจอสมาร์ทโฟนให้สามารถรับชมแบบรีรันได้บน LINE TV อีกทั้งในปี 2562 ก็มีการ์ตูนดังในอดีต เช่น ดราก้อนบอล เซเลอร์มูน เครยอนชินจัง เซนต์เซย่า ฯลฯ จ่อคิวลงจอของ LINE TV ด้วยเช่นกัน

คุณธนัทเผยด้วยว่า การจับมือกับ LINE TV ครั้งนี้ บริษัทคาดหวังไปไกลถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนบนอินเทอร์เน็ต โดยมองว่า LINE TV สามารถแก้ปัญหานี้ลงได้อย่างเห็นผลในประเทศไทย เพราะทันทีที่การ์ตูนมีการออนแอร์จบบนทีวีดิจิทัล ก็จะถูกอัปโหลดขึ้นแพลตฟอร์มของ LINE TV ทันที อีกทั้งยังสามารถรับชมย้อนหลังได้ตลอดเวลา

คุณธนัท ตันอนุชิตติกุล ซีอีโอ การ์ตูนคลั[ มีเดีย และ คุณพัลภา มาโนช หัวหน้าธุรกิจ LINE TV

โดยที่ผ่านมา LINE TV มีการ์ตูนบนแพลตฟอร์มทั้งสิ้น 73 เรื่อง ในจำนวนนี้มีการ์ตูนจากการ์ตูนคลับ มีเดีย 10 เรื่อง แต่ทั้ง 10 เรื่องนี้มีส่วนแบ่งด้านยอดวิวถึง 41% จาก 114 ล้านวิว (ตัวเลขในปี 2561) และยังทำให้การรับชม LINE TV หมวดอะนิเมะเติบโตขึ้นเท่าตัว จาก 53 ล้านวิวในปี 2560 ด้วย

ด้านประโยชน์ที่ LINE TV จะได้รับเมื่อจับเอาคอนเทนต์ “การ์ตูน” มาลงใน LINE TV เพิ่มก็คือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่ม นั่นคือกลุ่มผู้ชาย และเด็ก ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของกลุ่มนี้ยังถือว่าน้อย (ผู้ชาย 32% vs ผู้หญิง 68% หรือหากแบ่งตามช่วงอายุ กลุ่มอายุ 10 – 20 ปีบนแพลตฟอร์ม LINE TV มีเพียง 24%) ถือว่าเป็นการต่อยอดจากคอนเทนต์ละครหรือซี่รี่ย์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงได้ดี และการเพิ่มกลุ่มผู้ชม ก็เท่ากับดึงดูดให้มีผู้ลงโฆษณาเพิ่มด้วย โดยเน้นไปที่ลูกค้ากลุ่ม FMCG


ทัวร์ตามรอยการ์ตูนดัง ต่อเติมความฝันวัยเยาว์
มีคำกล่าวกันว่า “ทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวเอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ชาย” ที่มีหลายคนพูดว่า “ผู้ชายเป็นเด็กที่ไม่มีวันโต” (In every man, there is a child.) ดูเหมือนว่าประโยคเหล่านี้ จะถูกพิสูจน์ด้วย ธุรกิจอีกแขนงหนึ่งของ “การ์ตูนคลับ มีเดีย” เมื่อบริษัทมีแผนจะเปิดธุรกิจด้านการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ แต่เป็นการท่องเที่ยวที่อิงมากับความเชี่ยวชาญของตัวเอง นั่นก็คือ “ทัวร์ตามรอยอะนิเมะ”

โดยในส่วนของต่างประเทศเป็นลักษณะของทัวร์ตามรอยการ์ตูนดังแบบเอ็กซ์คลูซีพในภูมิภาคต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เช่น คาเฟ่วันพีซในโตเกียวทาวเวอร์ ตามรอยโคนันในทตโตริ เข้าเยี่ยมชมโรงถ่ายภาพยนตร์ของค่ายโตเอะ สตูดิโอ ฯลฯ ซึ่งรูปแบบทริปจะเป็นลักษณะ VIP Access และเจาะกลุ่มเฉพาะคนรักการ์ตูน โดยสิ่งที่ลูกทัวร์จะได้รับคือสามารถทำกิจกรรมพิเศษกับแต่ละสถานที่ หรือการได้รับของที่ระลึกพิเศษแตกต่างจากการเข้าชมของบุคคลทั่วไป นอกจากนั้นยังอาจเพิ่มการ Meet & Greet กับบุคคลสำคัญในแวดวงอะนิเมะญี่ปุ่นได้อีกด้วย

ส่วนรูปแบบการจัดทริปนั้น คาดว่าเริ่มต้นจะอยู่ในรูปแบบทัวร์ 4 วัน 3 คืน ซึ่งนอกจากตามรอยการ์ตูนดังแล้ว ในวันที่เหลือยังสามารถเจาะไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ยูนิเวอร์แซลเจแปน ดิสนีย์แลนด์ ฯลฯ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจในแต่ละฤดูกาลได้

ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น เป็นการจัดล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา ในชื่อ การ์ตูนคลับครูซ ในช่วงเย็น – ค่ำ ซึ่งจะมีโชว์พิเศษจากตัวการ์ตูนต่าง ๆ พร้อม ๆ กับการล่องเรือผ่านแลนด์มาร์กสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ไอคอนสยาม วัดอรุณราชวราราม ด้วย

ปั้นบุคลากรสายอะนิเมะ

ด้านธุรกิจขาที่ 3 ของการ์ตูนคลับ มีเดียคือ การสร้างการ์ตูนคลับอะคาเดมี่ สำหรับจัดอบรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สอนพากษ์การ์ตูนโดยทีมพากษ์ชื่อดัง และในปีนี้จะมีเพิ่มการสอนทำแอนิเมชันสำหรับผู้ที่สนใจผลิตการ์ตูนสัญชาติไทย ซึ่งทางการ์ตูนคลับ มีเดีย ได้เตรียมการอย่างครบวงจรด้วยการผุด Cartoon Club Co-Finance and Agent สำหรับเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายแอนิเมชันสัญชาติไทยให้กับต่างประเทศด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสามารถเปิดตลาดให้กับอะนิเมะสัญชาติไทย “Bling Bling” ไปยังตลาดจีน และเกาหลีใต้ได้เป็นผลสำเร็จ

สำหรับแนวทางการพัฒนาธุรกิจในอนาคต คุณธนัทเผยว่า มีแผนจะสนับสนุนแอนิเมเตอร์สัญชาติไทยสู่การผลิตคอนเทนต์เป็นของตัวเองมากขึ้น และในส่วนของการนำเสนอ อาจก้าวไปสู่การผลิตคอนเทนต์แบบ Real-Time เพื่อนำเสนอพร้อม ๆ กับทางประเทศผู้ผลิต โดยในส่วนนี้อาจต้องพิจารณาจากความพร้อมของระบบ เช่น การใส่ซับไตเติ้ล ฯลฯ ร่วมด้วย นอกจากนั้นยังเน้นไปที่การพาร์ทเนอร์กับผู้จัดกิจกรรมแบบเอ็กซ์คลูซีพ เช่น การส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมวันพีซรันตามหัวเมืองใหญ่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คอนเทนต์ในหมวดการ์ตูนกำลังเป็นสมรภูมิรบครั้งใหม่ในธุรกิจออนไลน์สตรีมมิ่ง โดยที่ผ่านมา ได้มีการประกาศจากเน็ตฟลิกซ์ในการดึงการ์ตูนดังสัญชาติญี่ปุ่นจำนวนมากเข้าเสริมทัพ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงอีวานเกเลี่ยน เดธโน้ต ซามูไรพเนจร บากิ บลีช กินทามะ ฮันเตอร์ฮันเตอร์ ดังนั้น การออกมาประกาศรุกธุรกิจสตรีมมิ่งของการ์ตูนคลับ มีเดีย บน LINE TV ครั้งนี้จึงอาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็เป็นได้


แชร์ :

You may also like