HomeBrand Move !!5 เทรนด์แรงดันธุรกิจ Co-working Space โตในไทย พร้อมเหตุผล CPN ดึง Common Ground บุกไทย

5 เทรนด์แรงดันธุรกิจ Co-working Space โตในไทย พร้อมเหตุผล CPN ดึง Common Ground บุกไทย

แชร์ :

ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กลุ่มแรงงานหลักในตลาดส่วนใหญ่จะกลายเป็นชาวมิลเลนเนียล ที่เข้ามาทดแทนกลุ่มเดิมอย่าง Gen X หรือ Baby Boomer โดยมีการประเมินไว้ว่า อีก 1-2 ปี กลุ่มมิลเลนเนียลในบ้านเราจะขยายตัวจนมีขนาดเป็นครึ่งหนึ่งหรือ 50% ในตลาดแรงงาน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่รูปแบบการทำงานในอนาคตก็จะมีความ Flexibility มากขึ้น ทั้งจากอาชีพที่หลากหลายสอดคล้องกับยุค Mobility ทำให้มีทั้งกลุ่มฟรีแลนซ์ หรือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งเหล่า Entrepreneur ขยายตัวเพิ่ม ทำให้ความต้องการพื้นที่ทำงานที่เหมาะสมกับธุรกิจเล็กๆ มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในทำเลที่ดีที่มี Facility ต่างๆ อย่างครบครัน ในระดับราคาที่ธุรกิจเล็กๆ สามารถจ่ายได้ กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ Co-working Space เติบโตและมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดกับดีลครั้งใหม่จากผู้เล่นรายใหญ่อย่างเครือเซ็นทรัล เมื่อ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ขยายไลน์ธุรกิจสู่การทำโคเวิร์กกิ้งสเปซโดยร่วมมือกับ Common Ground Group (คอมมอนกราวด์ กรุ๊ป) ผู้บริหารแบรนด์ “คอมมอน กราวด์” ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซจากมาเลเซีย ซึ่งเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในนาม บริษัท คอมมอนกราวด์ ประเทศไทย จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 400 ล้านบาท ในสัดส่วนการถือหุ้นจาก CPN 51% และ Common Ground Group 49%

5 เทรนด์ ดันธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซโต

การกระโดดเข้ามาสู่ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซของธุรกิจรายใหญ่อย่างซีพีเอ็น โดยเฉพาะการเข้าไปร่วมทุนกับดาวรุ่งที่กำลังเติบโต อย่างคอมมอนด์กราวด์สะท้อนได้ว่า ซีพีเอ็นน่าจะมองเห็นโอกาสและแนวโน้มการเติบโตในธุรกิจที่น่าสนใจ โดย คุณอิศเรศ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขาย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ชี้ถึงเทรนด์สำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซในประเทศไทยเติบโต จนทำให้มีผู้ลงทุนในธุรกิจนี้จากต่างประเทศขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ามาจากเหตุผลหลักๆ ต่อไปนี้

1.ตามทิศทางของหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ไลฟสไตล์การทำงานของผู้คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปตาม Technology และต้องการความยืดหยุ่นหรือมี Flexibility มากขึ้น ทำให้ต้องการพื้นที่ทำงานที่สอดคล้องและเอื้อต่อการทำงานโดยเฉพาะจุดเด่นของโคเวิร์กกิ้งสเปซที่มีความเป็น Collaborative Workspace ส่งผลให้มีโอกาสได้ขยายเน็ตเวิร์กธุรกิจให้กว้างขวางมากขึ้น

2.แนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจในรูปแบบสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอี ซึ่งยังเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจทำให้ยังไม่มีทุนมากพอสำหรับการเช่าออฟฟิศขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาแพงโดยเฉพาะในโลเกชั่นกลางเมืองซึ่งราคาจะสูงเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้หลายๆ ธุรกิจเลือกโคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นคำตอบ โดยที่แนวโน้มการเติบโตจะสอดคล้องกับการขยายตัวของผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10-15% ต่อปีเลยทีเดียว

3.ในเชิงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่จะมีกลุ่มมิลเลนเนียลเข้ามาเป็นกลุ่มแรงงานหลักมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดในอนาคตอันใกล้ โดยที่พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้จะไมชอบความจำเจ น่าเบื่อ และชอบทำงานในสถานที่ที่มีความแปลกใหม่ ในสไตล์ Open House มากกว่าห้องทำงานทึบๆ แบบออฟฟิศในสไตล์เดิมๆ ซึ่งเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันทั้งภูมิภาคเอเชีย ทำให้คาดการณ์ว่านอนาคตภายในปี 2030 ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซจะขยายสัดส่วนในตลาดอาคารสำนักงานเพิ่มมากขึ้นถึง 30%จากปัจจุบันมีสัดส่วนในตลาดที่ราวๆ 2%

4.การเข้าถึงออฟฟิศสำนักงานให้เช่าเกรด A ในทำเลที่ดี อยู่ใน Prime Location เริ่มทำได้ยากและมีราคาสูงเพิ่มมากขึ้น ไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นบาทต่อตางรางเมตร ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่บางแห่งต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง ประกอบกับโคเวิร์กกิ้งสเปซส่วนใหญ่มักอยู่ในทำเลที่ค่อนข้างดี เดินทางได้ง่าย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ด้วยเช่นกัน

5.อีกหนึ่งจุดเด่นของธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเป็น Space Provider แต่ยังตอบโจทย์ในเรื่องของไลฟสไตล์ในการทำงานที่มีให้ครบถ้วนทั้ง Facility, Utility, Activity รวมทั้งการสร้าง Network และ Connection เพื่อเชื่อมโยงทั้งผู้คนและธุรกิจที่หลากหลายมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้การทำงานของกลุ่มฟรีแลนเซอร์ หรือแม้แต่เด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการอ่านหนังสือ เปลี่ยนจากการไปทำงานหรืออ่านหนังสือในร้านกาแฟ มาสู่การเข้ามาในโคเวิร์กกิ้งสเปซเพิ่มมากขึ้น

เหตุผลและความแตกต่าง เมื่อ CPN เข้ามาแบ่งเค้ก

ส่วนการเข้ามาในธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซของซีพีเอ็น รวมทั้งรูปแบบการทำธุรกิจของซีพีเอ็นจะเหมือนหรือแตกต่างจากธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซทั่วๆ ไปที่มีอยู่ในตลาดอย่างไรนั้น ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด ซีพีเอ็น ให้เหตุผลเป็นข้อๆ ไว้ดังนี้

1.วิสัยทัศนที่ตรงกันของทั้งสององค์กรในการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Experience & Lifestyle Driven ประกอบกับการที่ซีพีเอ็นที่ต้องการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่การเป็น Center of Life ทำให้ต้องสามารถตอบโจทย์ได้มากกว่าแค่เรื่องของ Shopping Experience แต่ต้องกลายเป็นศูนย์กลางในการใช้ชีวิตของผู้คน และภายใต้ความร่วมมือของสองที่มีเป้าหมายเดียวกันจะทำให้เกิด Innovation ใหม่ๆ ในธุรกิจเพื่อครีเอท New Model หรือ New Era ในธุรกิจ Office Space ทำให้ชีวิตการทำงานจากนี้จะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

2.การเพิ่มธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ จะกลายเป็นจิ๊กซอว์ตัวใหม่ในการทำโครงการ Mixed Use ของซีพีเอ็นให้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นมากกว่าแค่การมีพื้นที่ในส่วน Office Building แบบทั่วไป แต่จะเติมเต็มเบเนฟิทในมิติอื่นๆ ให้กับคนทำงานได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในมิติของ Lifestyle Benefit, Business BenefitและExperience Benefit ด้วยการรวบรวมคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์และไอเดียที่แตกต่าง รวมทั้งสามารถดึง Community ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการเติมเต็ม Traffic ให้กับศูนย์ต่างๆ ของซีพีเอ็น โดยเฉพาะในช่วงที่เป็น Weekday หรือในช่วงวันธรรมดาอีกด้วย

3.การเป็นหนึ่งในสปริงบอร์ดที่จะผลักดันให้ทั้งซีพีเอ็นและคอมมอนกราวด์เติบโตขึ้นเป็น Global Player ด้วยเป้าหมายในการขยายธุรกิจไปใน Destination ที่หลากหลาย ทั้งจากฝั่งคอมมอนกราวด์ที่มีแผนขยายธุรกิจเพิ่มเติมทั้งในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย ไม่ต่ำกว่า 55 แห่ง ภายในปี 2020 ขณะที่ซีพีเอ็นก็ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นธุรกิจรีเทลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยมูลค่า Market Cap สูงถึงกว่า 3 แสนล้านบาท ประกอบกับโอกาสในการต่อยอดเครือข่ายธุรกิจทั้งในเครือเซ็นทรัลเอง ที่มีธุรกิจหลากหลายประเภททั้งอาหาร ศูนย์การค้า ออฟฟิศเช่า โฮมอีควิปเม้นท์ รวมทั้งเครือข่ายจากร้านค้าเช่าที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกับเครือข่ายจากทางคอมมอนกราวด์ด้วยเช่นกัน

4.สำหรับความแตกต่างของ Common Space จากโคเวิร์กกิ้งสเปซอื่นๆ โดยเฉพาะการเป็นพาร์ทเนอร์ในรูปแบบที่เป็น Deep Partnership กับธุรกิจช้อปปิ้งมอลล์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์และ Community ต่างๆ อยู่แล้วทำให้ธุรกิจหรือสตาร์ทอัพต่างๆ มีพื้นที่ในการนำเสนอไอเดียสำหรับการทดลองตลาดได้จริง  เนื่องจากอยู่ในโลเคชันที่เป็นศูนย์กลางหรือใจกลางเมืองในแต่ละพื้นที่ที่ขยายสาขาไป รวมทั้งการใช้ Facility ต่างๆ จากพาร์ทเนอร์แต่ละฝ่าย โดยเฉพาะตัวช่วยในการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฏหมาย หรือบัญชี รวมทั้งเครือข่ายในกลุ่มสถาบันการศึกษาที่ทางคอมมอนกราวด์มีอยู่ในอีโคซิสเต็มของตัวเอง

ทั้งนี้ ซีพีเอ็นวางเป้าหมายความร่วมมือครั้งนี้ โดยมีแผนจะขยายสาขาให้ครบ 20 แห่ง ภายใน 5 ปี ภายใต้งบลงทุนรวม 800 ล้านบาท กระจายไปทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะทำให้ซีพีเอ็นมีพื้นที่ในกลุ่มธุรกิจ Common Space รวมๆ ประมาณ 5 หมื่นตารางเมตร เทียบเท่ากับพื้นที่ในการทำศูนย์การค้าขนาดกลาง 1 แห่งเลยทีเดียว โดยเฉพาการสร้างสาขาแฟลกชิพสโตร์ ในทำเลใจกลาง CBD ของกรุงเทพฯ ในปีหน้าบนพื้นที่ 4.5 -5 พันตารางเมตร มากกว่าสาขาทั่วไปที่จะมีพื้นที่ 2-3 พันตารางเมตร พร้อมตั้งเป้ารายได้หลังจากขยายได้ครบตามแผนลงทุนที่วางไว้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของธุรกิจโคเวิร์คกิ้งแห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ขณะที่รายได้ของซีพีเอ็นในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเติบโตได้เกือบ 15% โดยมีรายได้กว่า 17,600 ล้านบาท และยังคงรักษาการเติบโตของกำไรไว้ได้เกือบ 10% ด้วยยอดกำไรสุทธิเกือบ 6 พันล้านบาท

การเปิดตัว คอมมอน กราวด์ ในประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาค นับเป็นเป็นรีจินัลแฟล็กชิพแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 4,500 ตร.ม. ตั้งอยู่ใน Bangkok CBD ซึ่งเป็น  Prime location ทำให้ติดต่องานและหมุนเวียนเปลี่ยนโลเคชันได้สะดวก อีกทั้ง มีความแตกต่างจากโคเวิร์คกิ้งสเปซอื่นๆ ด้วยจุดเด่นในการมอบไลฟ์สไตล์ที่ครบครันและสมบูรณ์แบบ (Enrich Lifestyle) ใกล้ศูนย์การค้า พร้อมสิทธิประโยชน์มากมายจากพันธมิตรทางธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ทั้งแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร ธนาคาร ฟิตเนส ที่จอดรถ ร่วมด้วยกิจกรรมอีเว้นต์ และไลฟ์สไตล์เวิร์กช็อปมากมาย

ในอีก 5 ปีข้างหน้า เดินหน้าเปิดสาขาในประเทศไทย 20 สาขา โดย 10 สาขาจะตั้งอยู่บน Prime Location ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในอาคารสำนักงานที่เชื่อมต่อกับศูนย์การค้าของซีพีเอ็น หรืออาคารสำนักงานให้เช่าอื่นๆ รวมถึงสาขาในหัวเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และ พัทยา เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการยุคใหม่ทั่วประเทศ

 


แชร์ :

You may also like