HomeFeaturedผ่าแนวคิด ‘วิธวิทย์ ฟูจิตนิรันดร์’ ซีอีโอวัย 27 ปี กับการปั้นอาณาจักรอาหารจีน Panda King 

ผ่าแนวคิด ‘วิธวิทย์ ฟูจิตนิรันดร์’ ซีอีโอวัย 27 ปี กับการปั้นอาณาจักรอาหารจีน Panda King 

แชร์ :

ทำความรู้จักร้านอาหารจีนยอดนิยมของปีนี้ที่ชื่อว่า แพนด้าคิง (Panda King) ที่ใครๆไปลิ้มลองก็ต้องหลงรักกับความอร่อยของเมนูอาหารจีนเสฉวน BrandBuffet มีโอกาสพูดคุยเจ้าของร้าน วิธวิทย์ ฟูจิตนิรันดร์ ซีอีโอวัย 27 ปี ถึงการทำธุรกิจร้านอาหารและกลยุทธ์การตลาดทำให้แบรนด์ติดตลาด ยอดขายแตะหลักร้อยล้านภายในเวลาเพียง 3 ปี และเป้าหมายพิชิต 500 ล้านบาท ให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้านับจากนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สร้างธุรกิจจาก Pain Point

สำหรับความน่าสนใจของ Panda King อยู่ที่ตัวผู้ก่อตั้งกิจการ ‘วิธวิทย์’ เด็กหนุ่มที่เริ่มต้นกิจการของตัวเองครั้งแรกด้วยวัยเพียง 25 ปี จากแนวคิดอยากทำ “ธุรกิจ” ของตัวเองจาก Passionโดยก่อนหน้าเปิดร้านได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางธุรกิจและการตลาดจากการเป็นพนักงานประจำตำแหน่งที่ปรึกษากลยุทธ์บริษัทข้ามชาติ

ขณะเดียวกันก็มีความชื่นชอบรับประทานอาหารจีนในร้านดังเจ้าประจำแห่งหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นร้านโปรดแต่ก็ยังเจอ Pain Point กับตัวเองเมื่อโดนพนักงานเร่งให้ออกจากร้านเมื่อรับประทานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะต้องการเอาโต๊ะให้กับลูกค้าคนอื่นๆ ที่กำลังรอคิวรับประทานอาหาร จุดอ่อนของร้านโปรดร้านนี้จึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิด Panda King ขึ้นมาสาขาแรก ณ บริเวณสามย่าน ในปี 2559

Panda King สาขาแรก เป็นร้านอาหารจีนเสฉวนสไตล์โมเดิร์น ที่มีรูปแบบการให้บริการ และการตกแต่งร้านที่ทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบร้านอาหารจีนเช่นกัน พร้อมกับจุดแข็งเรื่องบริการและคุณภาพรสชาติที่อร่อยไม่ผิดเพี้ยน เพราะได้ตัวพ่อครัวร้านประจำเจ้าดังที่กำลังเตรียมลาออก มาช่วยปรุงอาหารให้ที่ร้าน

“ที่มาของชื่อร้าน คำว่า Panda ฟังแล้วเป็นชื่อที่น่ารัก มีความเป็นจีนอยู่ในตัว ส่วนคำว่า KING เองมีความหมายที่ดี เมื่อเอามารวมเป็น แพนด้า คิง แล้ว ก็น่าจะสื่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยรุ่น ที่ชื่นชอบอาหารจีนได้เป็นอย่างดี” วิธวิทย์ เสริม

สร้างแบรนด์ยุคใหม่ ต้องใส่ใจคอมเมนต์

ร้านแพนด้า คิง วางโพสิชั่นนิ่งเป็นร้านอาหารจีนสไตล์เสฉวน จับกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ดังนั้นเครื่องมือการทำตลาดสำคัญ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นการใช้สื่อออนไลน์ และ Social Media แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram และรวมไปถึงการใช้ Micro Influencers จากเพจดังๆ  มาใช้ในการสื่อสารตลาดและประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

วิธวิทย์  อธิบายว่า ข้อดีของโลก “ออนไลน์” คือ สามารถทำให้รับรู้ฟีตแบ็คของลูกค้าที่เข้ามารับประทานได้ผ่านทาง Page หรือ # (Hashtag)  ช่วงแรกๆของการทำร้าน หากมีลูกค้าเข้ามารับประทานอาหารที่ร้าน 10 คน มีลูกค้าชอบ 3 คน ขณะเดียวกันไม่ชอบอีก 7 คน ที่การแชร์ข้อความ หรือ Comment ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆเกิดขึ้น เราจะอินบ๊อกไปยังลูกค้าทั้ง 7 ราย  สอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นและนำกลับมาปรับปรุง เพื่อสร้าง Customer Experinence ให้ลูกค้าประทับใจมากที่สุด

“ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลเชิงลึกร่วมกับผู้บริโภคเช่นนี้ใช้ระยะเวลากว่า 7 เดือน ซึ่งทำให้เขารู้ว่า หัวใจสำคัญข้อแรกในการทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์นั้น จะต้องไม่กลัว Comment ของลูกค้า”

 

เฟรนช์ ฟรายด์ ฮ่องเต้  Magnet หมัดเด็ดดึงลูกค้า

นอกเหนือจากการใช้สื่อออนไลน์แล้ว แพนด้า คิง ยังมี Product Strategy โดยโปรโมทเมนู Signature  ขึ้นชื่ออย่าง เฟรนช์ ฟรายด์ ฮ่องเต้ เมนูทำจากมะเขือยาวหั่นทรงเหลี่ยมทอดกรอบคลุกเคล้าซอสจีน 3 รส เสิร์ฟในภาชนะเท่ๆจัดให้สวยงามเหมือนอาหารที่เสริฟให้ฮ่องเต้ พร้อมปักธงโลโก้แพนด้า คิงเอาไว้ด้วย  ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่ชอบถ่ายรูปอาหารก่อนรับประทาน ทำให้เมนูเฟรนช์ ฟรายด์ ฮ่องเต้ ถูกแชร์ต่อกันบนโซเชียล มีเดีย เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการสร้าง Brand Awareness ดึงดูดให้มีลูกค้าใหม่เข้ามาร้าน อีกช่องทางนึง

“สร้างแบรนด์แพนด้า คิง อีกอย่างนึงเห็นได้ชัดเลยว่าเมนูกับแพคเกจจิงหรือการจัดวางของอาหาร ต้องทำให้น่าสนใจ เพราะจะช่วยทำให้คนอยากถ่ายอยากแชร์  คนเข้ามาร้าน 10 คน ก็จะถ่ายรูปแล้ว 8 คน และแชร์ต่อไปราว 5 คน” วิธวิทย์ อธิบาย

 

ดังจนได้(เรื่อง) “ขยายสาขา”

ด้วยชื่อเสียงของร้านอาหาร แพนด้า คิง ในสาขาแรกสามย่าน ที่บอกเล่าปากต่อปากในกลุ่มลูกค้า ในเรื่องรสชาติอร่อยเป๊ะตามสูตรอาหารจีนต้นตำรับ บวกกับบรรยากาศทันสมัย สะอาด และสบาย ตรงจริตคนรุ่นใหม่ ทำให้ แพนด้า คิง ได้มีโอกาสเปิดสาขาสอง ที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ท่าพระ จากการชักชวนของ คุณแดง (ลักขณา นะวิโรจน์) หนึ่งในผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ที่มารับประทานอาหารที่ร้านจนกลายเป็นลูกค้าประจำในที่สุด

ถัดจากนั้นอีกสองปีต่อมา แพนด้า คิง จึงได้ขยายสาขาเพิ่มในศูนย์การค้าอีก 3 แห่ง คือ เดอะมอลล์ โคราช (นครราชสีมา) เซ็นทรัล พระราม2 และเซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์ และมาพร้อมกับไอเดียใหม่ ในการขยายสาขาธุรกิจ คือ ร้านแพนด้า คิง ในรูปแบบ สแตนด์อะโลน และล่าสุดที่ผ่านมากับสาขาแรก ในจังหวัดนครปฐม

“การขยายสาขาทั้งรูปแบบในศูนย์การค้า และ สแตนด์ อะโลน นั้น ก็เป็นไปตามยุทธ์ศาสตร์ทางธุรกิจที่วางไว้แล้ว คือ ในปี 2559 จะเป็นปีสร้างแบรนด์ แพนด้า คิง  ส่วนในปี 2560-2561 เป็นช่วงเข้าสู่ช่วงขยายสาขา ภายใต้สูตรการขยายสาขาในทำเลศูนย์การค้า 1 แห่ง โดยเดินคู่ไปกับการเปิดสาขาสแตนด์ อะโลน 1 แห่ง”

การเปิดร้านแพนด้า คิง ในศูนย์การค้าวิธวิทย์ มองว่าเป็นช่องทางในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้รวดเร็วและทำให้แบรนด์ทันสมัยมากขึ้น แม้ว่าจะมีต้นทุนสูงกว่าเปิดร้านสาขาสแตนด์ อะโลนก็ตาม

 

ลูกน้องเติบโต ธุรกิจเติบโต

ด้วยจำนวนสาขาร้านอาหารแพนด้า คิง ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง  และมีจำนวนพนักงานที่มากขึ้น 120 คน จากเมื่อ 3 ปีก่อน มีพนักงานเพียง 7 คนเท่านั้น ในสาขาแรก ทำให้การบริหารคน (พนักงาน) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหม่ สำหรับ ซีอีโอ อายุน้อยอย่าง วิธวิทย์

ดังนั้น การบริหารพนักงาน ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหม่ในการทำธุรกิจเวลานี้ เพราะพนักงานมีความแตกต่างกันทั้ง ที่มา และ อุปนิสัย ใจคอ โดย วิธวิทย์ ได้นำหลักการบริหารแบบพี่น้องมาใช้กับพนักงานของร้าน นอกเหนือจากการใช้กฎเกณฑ์การปฎิบัติงานตามกฎหมายทั่วไปมากำกับ

“ผมโชคดี ตรงที่เราให้ใจกับพวกเขา มองว่าเราเป็นพี่เป็นน้อง อย่างหากผมโกรธลูกน้อง ผมจะไม่ตำหนิดุว่าในทันที แต่จะเอามาคิดก่อนหนึ่งวันว่า ข้อดีด้านอื่นๆของลูกน้องมีด้านใดบ้าง ที่ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด เมื่อผ่านวันนั้นไป เรื่องนี้ก็จะเบาลงเมื่อเรียกลูกน้องมาตำหนิในเรื่องที่ผิดพลาดไป”

นอกจากนี้ในแต่ละปีบริษัทยังจัดให้มีการประชุม เพื่อรับฟัง Feedback พนักงาน พร้อมนำมาปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน รวมถึงให้พนักงานสามารถชี้แจง หรือ แสดงความเห็นต่างๆได้โดยผ่านช่องทาง Line Group ด้วย

และที่สำคัญมีการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานระดับหัวหน้า อย่างหัวหน้าพ่อครัวร้าน หรือ เชฟ ประจำสาขา โดยบริษัทจะแบ่งผลกำไรธุรกิจ (Profit Sharing) ในสัดส่วน 5% เพื่อให้เชฟร้านแพนด้า คิง ได้มีส่วนร่วมในธุรกิจ และขยายต่อไปยังการให้ความใส่ใจกับลูกน้องในสาขา

ด้วยหลักบริหารนี้ทำให้อัตราการลาออกพนักงานของบริษัทน้อยมาก turn over rate ไม่สูง โดย วิธวิทย์ บอกว่าการบริหารคน หากต้องการให้องค์กรโตแบบแข็งแรง ก็ต้องให้ลูกน้องโตไปด้วยพร้อมกัน

 

ต้อง Cool เหมือน After You

จากการเดินทางตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาของแพนด้า คิง ร้านอาหารจีนสไตล์ เสฉวน ที่ซีอีโอ หนุ่มวัยไม่ถึง 30 ปี บอกว่า อยากมีภาพธุรกิจในอนาคตเป็นเหมือนกับแบรนด์ธุรกิจร้านขนมหวานชื่อดังอย่าง อาฟเตอร์ ยู (After You)  ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน เพราะใครๆก็อยากกิน และผู้บริโภคกินแล้วรู้สึกเท่ Cool

ดังนั้น การจะไปสู่เป้าหมายทางธุรกิจได้แบบนั้น จะต้องวางแผนทุกด้านอย่างเป็นสเต็ป เริ่มตั้งแต่เป้าหมายระยะใกล้ภายใน3 ปี นับจากนี้ แพนด้า คิง จะสามารถเปิดให้บริการได้ราว 13 สาขา คาดว่าใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 130 ล้านพร้อมกับเตรียมขยายธุรกิจร้านอาหารแพนด้า คิง ไปยังแพล็ตฟอร์มอื่นๆ ได้อีก ทั้งรูปแบบ Kiosk  บริการอาหารพร้อมปรุงพร้อมทานแช่แข็ง(Frozen Food) และบริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน Delivery เป็นต้น

ขณะเดียวกัน แบรนด์แพนด้า คิง ก็ยังเปิดรับโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดยมองหาพันธมิตรนักลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ Angel Fund รายหนึ่ง ที่สนใจนำร้านอาหารแพนด้า คิง เปิดให้บริการรูปแบบสแตนด์ อะโลน ในพื้นที่ใหม่ๆ

“เร็วๆนี้ใช้งบลงทุนราว 70 ล้านบาท ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งย่านเอกมัย เพื่อพัฒนาธุรกิจร้านอาหารฯรูปแบสแตนด์อะโลน ขนาดพื้นที่ประมาณ 60 ตารางวา คอนเซ็ปต์เปิด 24 ชั่วโมง คาดสามารถเปิดให้บริการในปีหน้า ด้วยมองว่าสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้ในอนาคตเช่นกัน”

 

“4 ส่วนผสม” สร้างอาณาจักรแพนด้า 

ปัจจัยที่ทำให้แพนด้า คิง ประสบความสำเร็จ วิธวิทย์ เล่าว่าต้องประกอบไปด้วย 4 ส่วนผสมสำคัญ คือ “คน-ครัวกลาง-คุณภาพ-ทำเล” ทุกส่วนมีความสำคัญหมด

นอกจาการให้ความสำคัญ “พนักงาน” ทำงานกันแบบพี่น้อง แล้วยังมีการพัฒนาบุคลากรด้วย การสร้างสถาบันด้านอาหาร และครัวกลาง ขึ้นมาเพื่อส่งต่อรสชาติอาหารที่มีคุณภาพ และมาตรฐานความอร่อยเหมือนกันในทุกร้าน ทุกสาขา ปัจจุบันครัวกลาง แพนด้า คิง มีกำลังผลิตรองรับได้ถึง 15 สาขาต่อวัน

ทั้งนี้หลังจากสร้างแบรนด์แพนด้า คิง ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่นแล้ว ขั้นต่อไป คือ นำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะร้านอาหารจีนสไตล์เสฉวนที่เข้าถึงง่าย พร้อมวางเป้าหมายยอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

“ผู้ที่กำลังเริ่มต้นกิจการของตัวเองว่า หากจะลงทุนทำธุรกิจในช่วงแรก ควรเป็น Lean Cost ไม่ควรทิ้งน้ำหนักลงทุนมากเกินตัว และเมื่อธุรกิจนั้นไปได้ ก็สามารถลงทุนเพิ่มได้ ที่สำคัญอย่าเป็นนักวิชาการหรือนักลงทุนแค่ในกระดาษ แต่ควรลงมือปฏิบัติ และทำจริง เพื่อให้ธุรกิจเกิดขึ้นได้ และนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด” วิธวิทย์ ทิ้งท้าย


แชร์ :