HomeFeaturedศึกวันทรงชัย​ ในมือ Gen 2 ‘โอ๋-ปริยากร’ กับภารกิจหนีวังวน “แชมป์โลกตกอับ”

ศึกวันทรงชัย​ ในมือ Gen 2 ‘โอ๋-ปริยากร’ กับภารกิจหนีวังวน “แชมป์โลกตกอับ”

แชร์ :

“มวยไทย มรดกไทย มรดกโลก” คำพูดคุ้นหูที่ถูกคิดขึ้นเพื่อให้เป็นสโลแกนของรายการแข่งขันมวยไทยระดับประเทศอย่าง “ศึกวันทรงชัย” โดยโปรโมเตอร์อันดับ 1 ของประเทศ “เสี่ยซ้ง – ทรงชัย รัตนสุบรรณ” ซึ่งนอกเหนือจากเป็นสโลแกนของศึกวันทรงชัยแล้ว ยังสะท้อนความมุ่งมั่นและตั้งใจสูงสุดของผู้ก่อตั้งที่ต้องการทั้งรักษาและผลักดันให้ “มวยไทย” ยั่งยืนในฐานะของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของไทย รวมทั้งการเติบโตและได้รับการยอมรับในระดับโลก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

บทพิสูจน์ถึงความสำเร็จในการผลักดันมวยไทยให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากนานาชาตินั้น น่าจะได้รับการพิสูจน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งกระแสมวยไทยที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ภาพนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมนุ่งกางเกงมวยให้เห็นอย่างชินตา หรือหากไปถามนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติว่าสิ่งที่นึกถึงหรือรู้จักเกี่ยวกับประเทศไทย เชื่อว่า มวยไทย จะต้องเป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกพูดถึงเสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายนี้ แน่นอนว่า “ทรงชัย รัตนสุบรรณ” มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด

โปรโมเตอร์หญิงหนึ่งเดียวของไทย

ตลอดระยะเวลาในการสานฝันเพื่อยกระดับมวยไทย ให้สามารถไปผงาดในเวทีโลกตามความมุ่งมั่นนั้น ข้างกายของคุณทรงชัย ก็จะมีลูกสาวคนเล็กอย่าง “คุณโอ๋- ปริยากร รัตนสุบรรณ” ติดตามไปด้วยอยู่เสมอ  ไม่ว่าจะเป็นการจัดชกมวยสัญจรไปตามต่างจังหวัด หรือในต่างประเทศ ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นตาคนในแวดวงหมัดมวย ทำให้ซึมซับสายเลือดนักสู้จากคุณพ่อมาอย่างเต็มเปี่ยม ประกอบกับเป็นหนึ่งบุคคลที่คลุกคลีกับวงการมวยมาทั้งชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก จนปัจจุบันได้กลายเป็นผู้มาสานต่อทั้งธุรกิจและภารกิจของผู้เป็นพ่ออย่างเต็มตัว

คุณโอ๋, มาดามโอ๋ หรือน้องโอ๋ หลากหลายสรรพนามที่บรรดาผู้ใหญ่ในวงการเซียนมวย ค่ายมวย ครูมวย หรือนักมวย ต่างเรียกขาน หรือแม้แต่เรียกเธอว่า ทรงชัยน้อย เล่าให้ฟังถึงการเข้ามารับช่วงต่องานของผู้เป็นพ่อ ที่อาจจะท้าทายในสายตาของคนทั่วไป เพราะรู้กันดีกว่า กีฬาชกมวยนั้น เป็นกีฬาของผู้ชาย โดยเฉพาะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีภาพของความเป็นกีฬาหรือธุรกิจ “สีเทา” อยู่มาก แต่เธอสามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้เป็นอย่างดี จนก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งเดียวกับผู้เป็นพ่อได้ รวมทั้งสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงมวยไทย ในฐานะ “โปรโมเตอร์หญิงคนแรกและคนเดียว” ของประเทศไทยในขณะนี้ พร้อมทั้งตำแหน่ง “นายกสมาคมกีฬาไทยแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” พ่วงมาอีกหนึ่งตำแหน่ง

คุณโอ๋ เล่าให้ฟังว่า เธอไม่ได้คิดอะไรมาก หรือไม่ได้มองว่าเป็นความท้าทายใหญ่หลวงมากมายนัก คิดเพียงแค่ในฐานะที่เป็นลูกสาวคนเล็ก เห็นป๊า เห็นแม่ ทำงานหนักและเหนื่อยมาก จึงอยากเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยทำอะไรได้ก็ช่วยทุกอย่าง ตามไปเวทีมวยมาตั้งแต่ประถม มัธยม จนจบมหาวิทยาลัย ความรู้สึกเดียวที่มีมาโดยตลอด คืออยากช่วยงานที่บ้าน รวมทั้งบ้านกับออฟฟิศอยู่ใกล้กัน ไม่อยากไปไหนไกลบ้าน แม้ว่าจะเคยทำงานประจำตามสายงานที่เรียนมา แต่ก็ทำเพื่อเรียนรู้ เพราะตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าสุดท้ายจะต้องกลับมาช่วยงานที่บ้าน เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของครอบครัว

“โอ๋โชคดีที่ผู้ใหญ่ในแวดวงรู้จักอยู่แล้ว เพราะติดตามป๊าและช่วยป๊าทำงานมาโดยตลอด ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องการปรับตัวหรือการยอมรับ เราไม่เคยรู้สึกกดดันว่ามาอยู่ตรงนี้ได้เพราะป๊า เรารู้สึกเสมอว่าโชคดีและภูมิใจที่ได้เกิดเป็นลูกป๊า และมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องรักษาชื่อเสียงที่ป๊าสั่งสมมา ขณะที่เรื่องความสามารถของเราก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งเราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความกดดัน แต่เรามีความตั้งใจกับทุกๆ อย่างที่เราได้ทำ เพื่อรักษาศรัทธาที่ทุกคนมีต่อป๊า และสานต่อสิ่งที่ป๊ารักมากที่สุดก็คือ การจัดมวยที่มีคุณภาพให้แฟนมวยทุกคนได้ดู” 

จากการช่วยเหลืองานบริษัทในเรื่องของการดูแลบัญชี ขยับมาสู่การช่วยงานในด้านอื่นๆ และก้าวขึ้นเป็นโปรโมเตอร์หญิงคนแรกของประเทศในปี 2547 ซึ่งความสนุกของการทำงานตรงนี้ก็คือ การได้เจอคนใหม่ๆ ได้รับโอกาสใหม่ๆ เข้ามาเสมอ แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิงอาจทำให้คุณโอ๋มีข้อจำกัดในบางเรื่อง เพราะส่วนใหญ่ในวงการนี้จะมีแต่ผู้ชาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะสานสัมพันธ์กัน ด้วยการไปสังสรรค์ แฮ้งค์เอ้าท์ ทำให้สนิทสนมกันได้เร็ว ซึ่งคุณโอ๋ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่เกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังใช้ระบบอุปถัมภ์เป็นหลัก และยอมรับว่าบางครั้งก็ทำให้เหนื่อย เพราะตนเองไม่ใช่ทั้งสายเข้าสังคม และไม่ใช่คนอ่อนหวาน จะเป็นคนตรงไปตรงมา เพราะถือว่าต่างคนต่างมีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำ

แม้ว่าจะเป็นผู้หญิงแต่คุณโอ๋ ค่อนข้างเด็ดขาดและในบางครั้งอาจจะเด็ดขาดกว่าผู้เป็นพ่อด้วยซ้ำ เพราะหลายครั้งที่ความใจดีและประนีประนอมของพ่อ ทำให้พ่อเหนื่อยมากกว่าเดิม คุณโอ๋จึงให้ความสำคัญกับความมีวินัยและรู้หน้าที่ โดยจะให้โอกาสเมื่อมีปัญหาไม่เกินหนึ่งถึงสองครั้ง เพราะต้องคำนึงถึงหลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบที่ตามมาเป็นสำคัญ

“ส่วนบทบาทในการเป็นโปรโมเตอร์นั้น โอ๋มองว่าไม่ต่างจากการทำงาน Organize ที่ต้องจัดอีเวนท์ต่างๆ ให้สำเร็จเรียบร้อย แต่งานนี้จะโฟกัสในเรื่องของการจัดกีฬาชกมวย ซึ่งเราต้องดูแลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น การเปรียบคู่มวยที่จะเข้ามาชกในรายการแต่ละคู่  หากมีการถ่ายทอดสดก็ต้องทำการประชาสัมพันธ์ การขายสปอนเซอร์ หรือถ้าเป็นการไปจัดสัญจรนอกสถานที่ก็จะต้องไปติดต่อขอใช้สถานที่ต่างๆ และดูแลหน้างานตลอดการจัดการแข่งขันให้เกิดความเรียบร้อย และนำเสนอมวยที่สนุกสนานให้กับคนดูทุกคน”

ย้อนเส้นทางนักสู้ “ทรงชัย รัตนสุบรรณ” 

สำหรับเส้นทางของผู้เป็นพ่อ ก่อนจะก้าวมาสู่โปรโมเตอร์มือทองระดับประเทศ คุณโอ๋ ถ่ายทอดให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ ที่บ้านป๊าฐานะไม่ดีนัก เรียนได้แค่ระดับประถม ก็มาฝึกมวย เป็นนักมวยมาก่อน โดยใช้ชื่อทั้ง ทรงชัย ลูกงามศิริ, ทรงชัย ชัยสุริยะ แต่ไม่ได้มีฝีไม้ลายมือมากนัก ต่อยทีไรก็แพ้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เริ่มรู้ตัวว่าไม่น่าจะรุ่งกับอาชีพนักมวย จึงหันไปเป็นผู้ช่วยโปรโมเตอร์ก่อนจะค่อยๆ ขยับมาเป็นโปรโมเตอร์ภูธร หรือจัดรายการชกมวยตามต่างจังหวัด ก่อนจะขยับมาเป็นโปรโมเตอร์รายการใหญ่ระดับประเทศอย่างเวทีมวยลุมพินี

“ป๊าไม่มีแววทางด้านการเป็นนักมวย แต่จุดเด่นของป๊าคือ มีไหวพริบดี ความจำดี และดูเชิงมวยเป็น ป๊าจะรู้ว่าใครจะต่อยสไตล์ไหน และมองออกว่าถ้าจับมวยคู่ไหนมาเจอกันแล้วสนุก จึงหันมาสู่เส้นทางของการเป็นผู้จัด โดยเริ่มจากการเป็นโปรโมเตอร์ภูธร ที่แปดริ้วบ้านเกิด จนหลายปีผ่านมาเริ่มมีชื่อเสียง ทำให้ถูกทาบทามจากผู้ใหญ่ให้ลองมาจัดที่เวทีลุมพินี จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโปรโมเตอร์ประจำที่เวทีลุมพินีตั้งแต่ปี 2518 โดยใช้ชื่อรายการว่า “ศึกวันทรงชัย” ทำให้เป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้”

ต้องถือว่า เสี่ยทรงชัย เป็นคนมีหัวการตลาดมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้นที่ยังไม่มีใครเข้าใจการตลาด หรือเข้าใจในเรื่องของการสร้างแบรนด์ แต่เสี่ยทรงชัยให้ความสำคัญกับการสร้างชื่อ พยายามทำให้คนรู้จักและจดจำให้ได้ รวมทั้งยึดมั่นใจอุดมการณ์ของตัวเอง เพื่อให้เป็นที่รับรู้ไปทั่ววงการมวย ว่าเป็นรายการที่มีความยุติธรรม เป็นกลาง เน้นเปรียบคู่มวยให้เหมาะสม เพื่อให้ชกออกมาแล้วคนดูสนุก โดยไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง โดยที่ตัวเสี่ยทรงชัยเองจะไม่เล่นการพนัน และไม่ได้ทำค่ายมวยของตัวเอง เพื่อความสบายใจแก่ทุกฝ่าย และไม่ได้คำนึงถึงผลแพ้ชนะของนักมวยแต่ละฝ่าย แต่จะมองที่การทำให้คนที่เข้ามาดูประทับใจเป็นสำคัญ

“จุดเด่นของศึกวันทรงชัย คือ ความยุติธรรมทั้งจากการประกบคู่มวย การกำหนดราคาค่าตั๋ว รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมในทุกๆ ส่วน  ที่ต้องให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายที่มาปฏิสัมพันธ์กับเรา ทั้งนักมวย หัวหน้าค่าย คนดู  ไม่ล้ม ไม่วางยา ไม่ทำให้คนสงสัยว่าจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างประโยชน์ให้สังคมหรือทำสาธารณกุศลต่างๆ โดยใช้มวยไทยเป็นตัวเชื่อม”   

ขณะที่การจุดประกายให้มวยไทยได้รับการยอมรับและเปิดตลาดในต่างประเทศได้สำเร็จ จนเกิดเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลก มาจากการให้ความสำคัญกับการนำมวยไทยไปชกในต่างประเทศ แล้วมีการถ่ายทอดสดกลับมาให้คนในประเทศได้ดู โดยเฉพาะแมตช์ในฝรั่งเศสที่นำสุดยอดมวยไทยค่าตัวแพงในยุคนั้นอย่าง นำพล หนองกี่พาหุยุทธ ปะทะกับนักมวยไทยชาวดัตช์อย่าง ราม่อน แด็กเกอร์ ซึ่งผลปรากฏว่า นำพลแพ้น็อคให้กับนักมวยต่างชาติ ทำให้กลายเป็น Talk of The Town และทำให้ชาวต่างชาติรู้จักมวยไทยที่เป็นกีฬาจริงๆ และรู้สึกว่าสามารถสัมผัสและจับต้องได้ จนทำให้เกิดเป็นกระแส “มวยไทยฟีเวอร์” ในยุคสมัยหนึ่ง

“ป๊ามีอุดมการณ์ของป๊า แต่บางคนไม่เข้าใจ โดยเฉพาะบางคนที่รับไม่ได้ก็ต่อว่ารุนแรงถึงขนาดหาว่าป๊า “ขายชาติ” แต่ทุกอย่างที่ป๊าทำมาก็พิสูจน์ได้แล้วว่า เราประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้มวยไทยได้รับการยอมรับและทำให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น ถ้าเราอยากเป็นที่รู้จัก ก็ต้องทำให้ทุกคนสามารถพิสูจน์ว่านี่คือกีฬา ที่ต่อสู้และเอาชนะกันด้วยชั้นเชิง ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ชนะได้ถ้าเหนือกว่าและเก่งกว่าจริง”

เรียกได้ว่า นักมวยแต่ละคนที่ชกในรายการที่มีโปรโมเตอร์ชื่อทรงชัยนั้น ไม่มีคำว่า “กินหมู” ไม่ว่าจะเป็นมวยไทยหรือมวยสากล หรือแม้แต่การชกกับนักชกต่างชาติ ทรงชัยก็ไม่เคยเข้าข้างนักมวยไทยด้วยกัน พยายามนำคู่ต่อสู้จากทั่วโลกที่มีฝีมือสูสีกับนักชกไทย เพื่อสร้างบรรทัดฐานในเรื่องของความโปร่งใส เพื่อสร้างการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการท้าชิงแชมป์ หรือป้องกันแชมป์ ทุกแมตช์จะต้องเป็นการพิสูจน์ตัวเองของนักมวยแต่ละคนว่า “เหมาะสมกับตำแหน่งแชมป์โลก” หรือไม่ ซึ่งนักมวยไทยหลายคนที่สามารถพิสูจน์ตัวเองจนประสบความสำเร็จจนถึงขั้นได้เป็นเจ้าของแชมป์โลกจากสถาบันชั้นนำอย่างสมาคมมวยโลก (WBA) องค์กรมวยโลก (WBO) หรือสภามวยโลก (WBC) อาทิ แสน ส.เพลินจิต, หยกไทย ศิษย์ อ., พิชิต ช.ศิริวัฒน์, ดาวรุ่ง ช.ศิริวัฒน์, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, เมืองชัย กิตติเกษม, พิชิต ศิษย์บางพระจันทร์, ยอดสนั่น ส.นันทชัย, ยอดดำรงค์ สิงห์วังชา, ผึ้งหลวง ส.สิงห์อยู่ เป็นต้น

สานฝันตัวเอง มวยไทยต้องมีความเป็นมืออาชีพ 

เมื่อฝันของผู้เป็นพ่อในการผลักดัน มวยไทย ให้เป็นทั้งมรดกไทย และมรดกโลก สำเร็จได้ตามที่หวัง มาถึงฝันของคุณโอ๋บ้าง แม้จะบอกว่าทุกวันนี้มาได้ไกลเกินฝันแล้ว เพราะตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาไม่ได้ตั้งเป้าหมาย หรือความหวังใดๆ ไว้ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็สามารถปั้นแชมป์โลกในรายการได้สำเร็จ จนได้รับรางวัลโปรโมเตอร์ยอดเยี่ยมจากองค์กรมวยโลก WBO ถึง 7 ปีซ้อน (2010 -2016) แต่สิ่งหนึ่งที่คุณโอ๋อยากจะผลักดันอย่างจริงจังจากนี้คือ การทำให้วงการมวยไทยมีความเป็นมืออาชีพและเต็มไปด้วยคำว่าคุณภาพ ตั้งแต่เรื่องของหลักสูตร ไปจนถึงบุคลากรไม่ว่าจะเป็นนักมวย หรือแม้แต่ครูมวย 

“ที่ผ่านมา เราจะได้ยินข่าวนักมวยที่เคยประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายต้องกลับไปลำบากเหมือนเดิม หรือนักมวยดาวรุ่งแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวติดการพนัน หรือเรื่องผู้หญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่พบได้มากในวงการ มีนักมวยเพียง 20% ที่ประสบความสำเร็จแล้วสามารถรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีไปจนถึงบั้นปลายชีวิต ส่วนอีก 80% ส่วนใหญ่ก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมๆ ซึ่งเรามองว่าเรื่องนี้ต้องแก้กันตั้งแต่พื้นฐาน ตั้งแต่การสร้างจิตสำนึก ความรับผิดชอบ ความมีวินัย และความเป็นมืออาชีพ ซึ่งไม่ใช่แค่ในวงการมวยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่นักกีฬาทุกคนจำเป็นต้องมี”

วิธีการที่คุณโอ๋จะใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาตามวังวนเดิมๆ เช่นนี้ คือ การผลักดันให้มีการเรียนการสอนมวยไทย ในรูปแบบ After School หรือในกลุ่มวิชาเลือก เพื่อให้เริ่มมีการเรียนมวยไทยตั้งแต่เด็กๆ และจะเริ่มสอนตั้งแต่วิธีคิด การปฏิบัติตัว และความมีวินัย รับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้คนโดยรอบ มากกว่าแค่การซ้อมเตะ ต่อย เพียงอย่างเดียว แต่จะทำให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีใครทำในส่วนนี้เพราะขาดทั้งหลักสูตร ผู้สอน และองค์ประกอบต่างๆ แต่วันทรงชัยมีความพร้อมในทุกด้านที่สามารถบุกเบิกได้ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณปลายปีนี้ ด้วยการเริ่มเข้าไปสอนในกลุ่มโรงเรียนสองภาษา หรือหลักสูตร EP ก่อนจะขยายไปสู่โรงเรียนในสังกัด  สพฐ.  เป็นสเตปต่อไป เนื่องจากมีรายละเอียดและขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ ค่อนข้างมาก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วงการมวยไทยของเรายังไม่สามารถก้าวไปได้ไกลว่าจุดที่ยืนอยู่นี้ เพราะส่วนใหญ่ขาดวินัยและไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ทั้งนักมวยเอง หรือแม้แต่หัวหน้าคณะ ทำให้ไม่มีการสร้างต้นแบบที่ดี ขณะที่วันทรงชัยเองเราก็ไม่มีนโยบายสร้างค่ายมวยเอง แต่เรามีนักมวยในสังกัดอยู่ทั่วประเทศ ที่ปล่อยให้ดูแลกันเองในแต่ละคณะ ซึ่งส่วนใหญ่จะปล่อยปละละเลย ทำให้บางครั้งกระทบกับการจัดรายการต่างๆ ที่มีการลงทุนในการจัดงานแต่ละครั้งเป็นหลักล้าน หรือหลักสิบล้าน และถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยและทำให้เราเศร้าใจมาโดยตลอด การเข้ามาบุกเบิกการสอนเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาและเริ่มปลูกฝังจิตสำนึกต่างๆ และเชื่อว่าจะช่วยเข้ามาพัฒนาคุณภาพของวงการมวยได้ในระยะยาว”

นอกจากนี้ คุณโอ๋ ยังมองการสร้างโอกาสในการพัฒนาหรือการเติบโตในสายงาน เพื่อให้มี Career Path ในอาชีพนี้ โดยเฉพาะนักมวยหรือครูมวย ที่สามารถขยับไปเป็นโค้ช เป็นครูมวยในต่างประเทศได้ ถ้ามีความตั้งใจจริง โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทางวันทรงชัยได้ไปเปิดค่ายมวยในจีนชื่อว่า S1 เฉินตูยิม เพื่อเป็นอีกหนึ่งฐานสำคัญในการทำตลาดในต่างประเทศ โดยจะส่งครูมวยไปช่วยสอนมวยไทยในต่างประเทศ โดยเน้นการสอนให้กับกลุ่มเด็ก และผู้หญิง เพื่อเรียนรู้การป้องกันตัว โดยคุณโอ๋ยังมีบทบาทสำคัญในการปลุกปั้นให้วงการมวยหญิงกลับมาคึกคักได้อีกครั้งหนึ่งด้วย

ต่อยอดสร้างแบรนด์ S1 สู่ตลาดโลก

เมื่อมวยไทยได้รับความนิยมในระดับโลก ทำให้ “วันทรงชัย” ขยายการจัดรายการแข่งขันมวยไทยไปในหลากหลายประเทศ ภายใต้แบรนด์ S1 (เอสวัน) เพื่อให้คนต่างชาติสามารถออกเสียงได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งจะต่อท้ายด้วยชื่อแต่ละประเทศหรือเมืองที่ไปจัด เช่น อิตาลี อังกฤษ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีแมตช์ที่แชมป์จากแต่ละรายการ มาชกเพื่อจัดอันดับ ก็จะมีการจัดรายการ เอสวันเวิลด์ ขึ้นมาด้วย

นอกจากรายการชกมวยไทยในต่างประเทศแล้ว แบรนด์ “เอสวัน” ยังขยายไปสู่การจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาชกมวย เช่น นวม กางเกงมวย อุปกรณ์ฝึกซ้อม เวทีมวย ขณะที่ “วันทรงชัย” จะใช้ในการจัดรายการชกมวยภายในประเทศ รวมทั้งใช้เป็นชื่อของหลักสูตรในการสอนมวยไทย ในมิติของการสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างการพัฒนาให้กับแวดวงกีฬามวยไทยต่อไป

และเป็นธรรมดาของการตลาดเมื่อมวยไทยเป็นที่นิยมก็จะต้องมีผู้เข้ามาในธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในความกังวลของคุณโอ๋คือ การที่หลายๆ คน นำคำว่า “มวยไทย” ไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เพราะมวยไทยคือศิลปะ คือวัฒนธรรมของชาติ มีแบบมีแผนในฐานะที่เป็นกีฬาประจำชาติ ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้โดยที่ใช้คำว่ามวยไทยมาช่วยในการทำตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังการรับรู้เกี่ยวกับมวยไทยออกไปอย่างไม่ถูกต้อง

“สำหรับโอ๋ มวยไทยต้องประกอบขึ้นทั้งจาก Sport และ Culture เพราะมวยไทยคือกีฬาประจำชาติไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ต้องใช้หมัด เท้า เข่า ศอก การต่อสู้ด้วยมือเปล่าอย่างครบเครื่อง ผู้ชกต้องมีปฎิภาณไหวพริบ มีจังหวะในการจู่โจมคู่ต่อสู้ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการไหว้ครู ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณก่อนชกอยู่เสมอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของความเป็นไทยอีกอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมักจะเน้นเรื่องของการตลาด ความสนุก สะใจ ซัดเปรี้ยงเดียวจบ ซึ่งอาจจะทำให้จุดที่เป็นหัวใจที่บรรพบุรุษต้องการจะสืบสานและรักษาต่อไว้ต้องหายไป เราสามารถมีรูปแบบการชกมวยที่หลากหลายได้ แต่เราต้องแยกแยะให้ถูกด้วยว่าแบบไหนคือมวยไทย หรือแบบไหนเป็น Kick Boxing”

และนี่คือปณิธานของศึกวันทรงชัย ที่พยายามจะรักษาความเป็นมวยไทยตามต้นฉบับไว้ให้มากที่สุด ทั้งการให้ความสำคัญกับมิติของ Sport และ Culture อย่างสมดุลให้มากที่สุด โดยเลือกที่จะใช้เรื่องของการตลาดมาเป็นเพียงตัวเสริมไม่ใช่เป็นตัวนำ โดยคุณโอ๋ ยังได้ทิ้งท้ายให้เป็นข้อคิดด้วยว่า

“สิ่งที่น่าเสียดายที่สุด คือ การที่คนไทยไม่เห็นค่าความเป็นไทย เคยมีโปรโมเตอร์จากต่างประเทศมาถามโอ๋ว่า พวกคุณกำลังทำอะไรอยู่ ให้ความสำคัญกับการสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ต่างๆ ซึ่งที่ไหนก็มีได้ ทั่วโลกก็สร้างได้ แต่สิ่งที่คนอื่นไม่มีมันคือ Tradition แต่พวกคุณกลับกำลังทำลายมัน มาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นแค่สีสัน แต่ในระยะยาว พวกคุณอาจจะไม่เหลืออะไรเลย และสุดท้ายคนทั่วโลกก็จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มวยไทยที่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร” 

Photo Credit : Facebook Muaythai Songchai, www.onesongchai.com


แชร์ :

You may also like