HomeDigitalมาดู 6 สิ่งใหม่ที่ User คนไทย จะมีโอกาสได้ใช้งานจาก Google -YouTube ในปีนี้

มาดู 6 สิ่งใหม่ที่ User คนไทย จะมีโอกาสได้ใช้งานจาก Google -YouTube ในปีนี้

แชร์ :

Google ประเทศไทย จัดงาน Google for Thailand เป็นครั้งแรก ภายใต้คอนเซ็ปต์ Leave No Thai Behind เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน แสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยให้เติบโต ภายใต้การส่งเสริมผ่าน 4 เสาหลัก เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ทำให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด อยู่ในเจนเนอเรชั่นไหน หรืออยู่ในพื้นที่ส่วนใดของประเทศ ก็มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้เช่นเดียวกัน 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยทั้ง 4 เสาหลัก ที่เป็นแกนในการขับเคลื่อนการพัฒนาต่างๆ ของกูเกิล ประเทศไทย ประกอบด้วย

Access : การเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน

Education & Skill : ทักษะสำหรับการเป็นพลเมืองอินเตอร์เน็ต เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการอินเตอร์เน็ตได้สูงสุด

Localize Products & Local Content : การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเนื้อหาบนแพลตฟอร์มให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน

Small Business Digitization : การมีส่วนในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภายในประเทศ

เบน คิง  Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกในหลายๆ ด้าน ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ รวมทั้งช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลและเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่โอกาสในเชิงธุรกิจก็มีขนาดไม่น้อย โดยประเมินมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าในประเทศไทยอยู่ที่ราว 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อหันมามองการพัฒนาพื้นฐานในการเข้าสู่โอกาสจากเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศไทยจะพบว่า ความเร็วเฉลี่ยในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของคนไทยอยู่ที่ 106 Mbps โดยมีระดับความเร็วในการเชื่อมต่อสูงเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย รองจากสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และกาตาร์ ตามลำดับ รวมทั้งยังมีจำนวนการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมีความครอบคลุมการให้บริการสัญญาณ 3G/4G เฉลี่ยที่ราว 90% ของพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ

สำหรับการขับเคลื่อนตาม 4 Pillars ข้างต้นของกูเกิล ประเทศไทย จะเห็นการผลักดันต่างๆ ทั้งจากฟากฝั่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ของกูเกิลเอง การ Collaborate หรือทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อเพิ่มทั้งการเข้าถึง และประโยชน์ที่มากขึ้นจากการใช้งานสำหรับคนไทย รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการนำเทคโนโลยีหรือดิจิทัลไปใช้ในการอำนวยความสะดวกหรือเพิ่มโอกาสในการยกระดับชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

โดยจะได้เห็นการพัฒนาต่างๆ ของกูเกิล ประเทศไทย ที่เกิดขึ้นในปีนี้ และสอดคล้องไปกลับการพัฒนาผ่าน 4 Pillars ดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. Google Station

บริการ Wifi สาธารณะความเร็วสูงฟรี โดยความร่วมมือกับ CAT หรือ บมจ. กสท โทรคมนาคม โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ 4 ของโลกที่เริ่มให้บริการนี้ ต่อจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก และถือเป็นลำดับที่ 3 ในเอเชีย ซึ่งเริ่มให้บริการแล้วใน 10 จุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ในกลุ่ม Under Access หรือในพื้นที่ที่มีกลุ่มคนจำนวนมากอยู่ เช่น สถานีรถไฟ ตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือในพื้นที่ที่ยังไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล เช่น เลย พิจิตร ส่วนในกรุงเทพฯ ขณะนี้มีให้บริการอยู่ 2 แห่ง คือที่ เมกา บางนา และสถานีรถไฟหัวลำโพง

กูเกิลจะเดินหน้าขยายจุดให้บริการ Google Station อย่างต่อเนื่อง ตามการขับเคลื่อนผ่านมิติของการขยายในส่วนของ Access Affordable รวมทั้งวิธีในการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างทั่วถึง เพียงใส่แค่ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ก็สามารถใช้งานได้แล้ว เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มมีภาคเอกชนอย่างยูนิลีเวอร์เข้ามาให้การสนับสนุนโครงการผ่านเรื่องของการโฆษณาแล้ว

2. Academy Bangkok -A Google Space

ศูนย์บ่มเพาะทักษะทางดิจิทัล ที่จะตั้งอยู่ในโครงการ True Digital Park กรุงเทพฯ ภายใต้การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาด้าน Education & Skill เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการ Google Ignite ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมทักษะด้านการตลาดดิจิทัลสำหรับนักศึกษาระยะเวลา 2 เดือน เตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานจริงกับบริษัทที่ว่าจ้าง นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมโครงการอื่นๆ ของ Google ในด้านต่างๆ อาทิ ทักษะนักพัฒนาซอฟท์แวร์ และระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในปีนี้แล้ว ศูนย์ฯ จะรองรับผู้เข้าฝึกอบรมได้ถึง 200 คนในแต่ละครั้ง

3. YouTube Pop Up Space 

พื้นที่สำหรับการสนับสนุนเครือข่ายชุมชน YouTube ในประเทศไทยที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการมีพื้นที่ให้บรรดาครีเอเตอร์ชาวไทยสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีในการผลิตวิดีโอที่ล้ำสมัย โดยเตรียมเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมทั้งเตรียมจัดโครงการฝึกอบรมสำหรับครีเอเตอร์ เช่น YouTube NextUp ซึ่งเป็นการฝึกอบรมระยะเวลา 8 สัปดาห์ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ครีเอเตอร์เกี่ยวกับเทคนิคในการก้าวขึ้นเป็นผู้มีชื่อเสียงบน YouTube และโครงการ Creators for Change โครงการที่ส่งเสริมให้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมในปัจจุบัน

โครงการนี้จะเป็นการขับเคลื่อนทั้งในมิติของการพัฒนาทักษะและความรู้ ขณะเดียวกันก็ยังช่วยส่งเสริม Creator Ecosystem ส่งผลต่อการพัฒนาคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้เป็นมากกว่าแค่ Entertainment Platform แต่รวบรวมทุกคอนเทนต์ที่มีประโยชน์จากกลุ่มนักสร้างสรรค์คอนเทนต์

4. YouTube GO

การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนา Local Content ผ่านความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เพื่อนำเสนอแพ็คเก็จ VDO Data ให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างไม่จำกัด สำหรับผู้ใช้แอปพลิเคชัน YouTube Go ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียง 9 บาทต่อวันเท่านั้น หรือเดือนละ 59 บาทเท่านั้น โดยแอปพลิเคชัน YouTube Go จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถรับชมและแชร์วิดีโอบน YouTube ได้แม้จะมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ช้าหรือไม่มีเลยก็ตาม เนื่องจากสามารถควบคุมการใช้งานดาต้าได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งสามารถดูผ่านได้กับดีไวซ์ทุกประเภท เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่ต้องการทั้งของไทยและจากทั่วโลกได้ในราคาประหยัด และไม่จำกัดจำนวนดาต้า

5. Google Map : Motorcycle Mode

Google Maps ได้พัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ใช้งานในไทยให้เดินทางได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Next Billion Users จากการเปิดตัวโหมดการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดบน Google Maps ที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 20 ล้านคน วางแผนการเดินทางได้ดีขึ้น เพราะมีข้อมูลทางลัดและตรอกซอกซอยเล็กๆ ที่มีเพียงแค่รถจักรยานยนต์ที่สามารถผ่านได้ และสามารถคำนวณเวลาเดินทางได้แม่นยำมากขึ้น เนื่องจากเส้นทางที่รถมอเตอร์ไซค์ใช้จะต่างจากเส้นทางหลักของผู้ขับขี่รถยนต์

โหมดการใช้งาน Motorcycle Mode ถูกออกแบบเพื่อผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ ตามนโยบายในการทำ Localize Product โดยเพิ่มช่วงถนน 3,000 จุด เพิ่มถนนใหม่ๆ 4,500 กิโลเมตร และระบุช่วงถนนที่รถจักรยานยนต์ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ 7,500 จุด เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ขับขี่ที่ดีกว่าเดิม พร้อมรองรับการสั่งงานด้วยเสียง และสามารถดูข้อมูลการนำทางได้แบบโค้งต่อโค้ง

6. Google My Business

จากเป้าหมายในการสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs สามารถสร้างยอดขายให้เติบโตและขยายธุรกิจผ่านโลกดิจิทัลได้ จึงเปิดให้บริการ Google My Business สำหรับกลุ่มธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าและมีตัวตนบนโลกดิจิทัล โดยความเคลื่อนไหวล่าสุด ได้ประกาศความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถลงทะเบียนและรับการตรวจสอบความถูกต้องในการใช้งานสมัครเข้าใช้งาน Google My Business ได้ง่ายและเร็วขึ้น ผ่านเจ้าหน้าที่ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ทุกสาขา


แชร์ :

You may also like