HomeFeaturedShizuoka บทพิสูจน์ “ชาเขียว” ยังไม่ถึงทางตัน แต่ต้องดันไปสู่ความเป็นพรีเมี่ยม

Shizuoka บทพิสูจน์ “ชาเขียว” ยังไม่ถึงทางตัน แต่ต้องดันไปสู่ความเป็นพรีเมี่ยม

แชร์ :

“อวสาน ชาเขียว” ? นี่คือ คำถามที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงการตลาดและการลงทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาพรวมของตลาดที่หดตัวลง แต่ถ้าหากพิจารณาโดยละเอียดแล้ว จะพบว่า ยังมีเซกเมนต์ของตลาดที่เติบโต และยังมีช่องว่างให้บุก ประกอบกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่ในวันนี้ การเติบโตของสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยมมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ นั่นทำให้แบรนด์ต่างๆ รวมทั้งสินค้าในกลุ่มชาเขียวเปิดตัวรสชาติใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดนี้มากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สินค้าพรีเมี่ยมเติบโตสูง ปั้นประสบการณ์ใหม่

จากการเติบโตของชนชั้นกลางในเมือง ที่แสวงหาความแปลกใหม่ทั้งสินค้า บริการ และการใช้ชีวิต นั่นทำให้สินค้าที่อยู่ในกลุ่มพรีเมี่ยมในประเทศไทยเติบโตขึ้นถึง 24% โดยมีปัจจัยเกื้อหนุน 3 ด้านก็คือ 1.ความสามารถในการจ่ายเงินตามกำลังฐานะที่ดีขึ้น 2. ความต้องการของที่ดีขึ้น 3. ต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ มาเติมเต็ม ปลดปล่อยความเครียด หรือฟื้นฟูตัวเอง

ส่วนของแบรนด์ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการนั่นได้ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้มีทั้ง นวัตกรรม ดีไซน์ และโซลูชั่น จากแนวโน้มดังกล่าวนี่เอง ในสินค้าชาเขียว ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นเช่นกัน

จากมูลค่าการตลาด  2,908 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ของปี 2018 จะพบว่า ตลาดภาพรวม 8.8% ในแง่ของมูลค่า แต่ก็ยังมีเซกเมนต์ที่เติบโตก็คือ 1. ชาพรีเมี่ยม ซึ่งเติบโตมาแล้วเป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่อง 2. ชาผสมวุ้น  ซึ่งทำตลาดได้ดีในกลุ่มวัยรุ่น

ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องของเทรนด์สุขภาพเพิ่มเติมเข้ามา ทำให้ผู้บริโภค ในกลุ่มคนวัยทำงาน จนถึงสูงอายุ มองหาเครื่องดื่มสุขภาพที่มีน้ำตาลน้อย เครื่องดื่มชาเขียวพรีเมี่ยม จึงสามารถจับตลาดที่มี range กว้างมากได้

ชาชิซึโอกะจากถิ่นกำเนิดเบอร์ 1 ของชาเขียว 

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง “อิชิตัน” กับ “จังหวัดชิซึโอกะ” ดินแดนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งชาเขียว ของประเทศญี่ปุ่น เพราะมีอัตราการส่งออกชาเขียว เป็นอันดับ 1 ของประเทศ หรือกว่า 40% ของชาเขียวที่คนญี่ปุ่นดื่มมาจากพื้นที่นี้  เปิดตัว ชาชิซึโอกะ

จุดเด่นของ ชิซึโอกะ ก็คือ มีภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตใบชาคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำในการเกษตรที่ได้จากการละลายของหิมะบนภูเขาไฟฟูจิ จึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ทำให้ใบชามีรสชาติหอมละมุน มีคุณภาพให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ และเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการดื่มชามายาวนานจึงมีการพัฒนาคุณภาพดิน การเก็บเกี่ยว และการผ่านกระบวนการที่ได้รับการยอมรับถึงความพิถีพิถัน จนกลายเป็นจิตวิญญาณของชาวชิซึโอกะเลยทีเดียว

มิสเตอร์ทัตซึฮิโกะ โมชิซากิ ประธานสมาคมชาเพื่อการส่งออก เมืองชิซึโอกะ (ซ้าย) นายวิโรจน์ สุภาสูรย์ รองกรรมการผู้จัดการ – โรงงาน บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (กลาง) และมิสเตอร์ฮิโระอะกิ มาสุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสมาคมชาเพื่อการส่งออกเมืองชิซึโอกะ (ขวา)

ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของวัตถุดิบเท่านั้น ที่ ชาชิซึโอกะจะคัดเลือกเฉพาะใบชาต้นฤดูกาล (First Flush & Second Flush) เท่านั้นยังมีเรื่องของกรรมวิธี ที่ “อิชิตัน” ได้ Know How จากต้นตำรับโดยได้ มิสเตอร์ซาโตรุ ฟูจิโมโต  ทีมาสเตอร์คนสำคัญของเมืองมาเป็นผู้พัฒนาสูตรและเป็นเครื่องดื่มชนิดแรกและชนิดเดียวที่ได้รับตราสัญลักษณ์ประจำเมือง (Fujipi)

“ผมทราบว่าประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อนชอบดื่มชาที่ให้ความสดชื่น แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังอยากนำความเข้มข้น หวานกลมกล่อมของชาชิซึโอกะพัฒนาให้เข้ากับรสชาติที่ถูกปากคนไทย สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้คือการเลือกใบชาที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้น้ำชาคุณภาพดีที่สุด ผมจึงเลือกใช้ใบชาต้นฤดู (ชาที่เก็บเกี่ยวครั้งที่ 1และครั้งที่ 2 ของปีเท่านั้น) หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Spring Winter Tea หลังจากอิชิตันได้นำสูตรไปผลิตและส่งผลิตภัณฑ์กลับมา ผมได้ดื่มแล้วรู้สึกถึงความสดชื่น มีความเป็นชาที่สดเหมือนกับที่ผมส่งไป รสหวานของใบชายังคงอยู่ รสขมฝาดที่ไม่ดีหายไป ดื่มง่ายชุ่มคอ และผมรู้สึกดีใจมากถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีมาก และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานของผมสู่ผู้บริโภคชาวไทย” มิสเตอร์ซาโตรุ ฟูจิโมโต ปรมาจารย์ด้านชาเขียว ที่เป็นผู้คิดค้นสูตรกล่าว

โดยอาจารย์ฟูจิโมโต พัฒนาสูตรให้กับชาเขียว “ชิซึโอกะ” 2 สูตร ประกอบด้วย สูตรไม่มีน้ำตาลและสูตรน้ำตาลน้อย วางจำหน่ายในขนาดบรรจุ 440 มล. ราคา 30 บาท ที่ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศ

 

สำหรับความหวังในตัวชา “ชิซึโอกะ” นี้ ทางอิชิตันมองว่า น่าจะได้ยอดขาย 130 ล้านบาท ภายในปีแรก เพื่อดึงให้ตลาดชาเขียวกลับมาสู่เส้นทางของความคึกคักอีกครั้ง โดยระลอกนี้ เป็นแนวทางการสร้างการรับรู้ตลาดชาที่ยั่งยืนตามแนวทางของต้นตำหรับชาเขียว ที่เน้นเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก และพิสูจน์อีกครั้งว่าเส้นทางชาเขียวในประเทศไทย ไม่ “ตัน” แต่สามารถดันให้เป็นเครื่องดื่มระดับพรีเมี่ยมได้


แชร์ :

You may also like