HomeBrand Move !!ไม่เปลี่ยน-ไม่รอด ทุกเรื่องของ Singha Ventures เมื่อ ‘สิงห์’ เตรียมบุกซิลิคอนวัลเลย์

ไม่เปลี่ยน-ไม่รอด ทุกเรื่องของ Singha Ventures เมื่อ ‘สิงห์’ เตรียมบุกซิลิคอนวัลเลย์

แชร์ :

เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังผลกระทบจาก Technology Disruption ที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้องค์กรยักษ์ใหญ่ระดับประเทศที่ดำเนินธุรกิจมามากกว่า 8 ทศวรรษ อย่างเครือบุญรอด ต้องขยับตัวเข้ามาอยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพและบรรดา Tech Company อย่างใกล้ชิดและคลุกวงในมากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ช่วงกลางปีที่ผ่านมา สิงห์ เวนเจอร์ จึงถือกำเนิดขึ้น ในฐานะบริษัทลูกของ สิงห์ คอปอเรชั่น ด้วยทุนจดทะเบียน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และเลือกจดทะเบียนในฮ่องกง เพราะเป้าหมายของสิงห์ เวนเจอร์ คือการก้าวไปสู่ Global Company เพื่อให้การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลกที่มีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือการช่วยผลักดันความแข็งแรงให้กับสตาร์ทอัพไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Hub ของเหล่าสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ  รวมทั้งสามารถสร้างให้เกิดยูนิคอร์นตัวแรกในประเทศให้สำเร็จให้ได้

ไม่เปลี่ยน – ไม่รอด

คุณเต้ – ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร สิงห์ เวนเจอร์ (Singha Ventures)  กล่าวถึงการก่อตั้งสิงห์ เวนเจอร์ ขึ้นมา เพื่อก้าวให้กันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงล้วนมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้เป็นทั้งโอกาสและขณะเดียวกันก็จะไป Disrupt บางธุรกิจในเวลาเดียวกัน

“ไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น คนที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะสามารถเป็นผู้รอด ความพร้อมในการปรับตัวและรับมือจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเตรียมตัว แต่ในฐานะที่บุญรอดและสิงห์ คอร์ป เป็นองค์กรใหญ่ การจะขยับเพื่อทำอะไรใหม่ๆ อาจจะติดขั้นตอนและไม่คล่องตัว เพราะความรวดเร็วเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในยุคนี้  ทำให้ตัดสินใจแยกเป็นสิงห์ เวนเจอร์ ออกมา เพราะสามารถใช้งบที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนธุรกิจต่างๆ ที่มีอนาคต โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากบอร์ด เพื่อความสามารถในการบริหารจัดการและพิจารณาลงทุนจากโอกาสต่างๆ ที่มองเห็นได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น”

คุณเต้ ยังมองว่า สิงห์ เวนเจอร์ คืออนาคตในการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ เป็นหนทางสร้าง New S-Curve ให้กับเครือบุญรอด ภายใต้การลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จากกลุ่มสตาร์ทอัพที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ หรือการลงทุนผ่านกองทุนที่สนับสนุนสตาร์ทอัพเหล่านี้ ซึ่งเป็นเหมือนประตูที่ทำให้สิงห์ มีโอกาสได้พบกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต หรือสามารถเป็นประโยชน์ในการต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

วาง 3 สเตป ลงทุนผ่านสตาร์ทอัพ

ทั้งนี สิงห์ เวนเจอร์ วางกรอบในการลงทุนตามพัฒนาการและความเชี่ยวชาญในธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เข้ามาคลุกคลีอยู่ใน Startup Ecosystem โดยได้มองทิศทางในการลงทุนเป็น 3 สเตป ดังต่อไปนี้

1. การเริ่มเข้าไปลงทุนผ่านกองทุนที่ให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพต่างๆ 2. การเข้าไปสนับสนุนการลงทุนโดยตรงในกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีอนาคต และ 3.การตั้งกองทุนของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่หลากหลาย โดยเฉพาะการดึงกลุ่มนักลงทุนเข้ามาร่วมให้การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพของคนไทยให้แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น

“ตลอด 6-7 เดือนที่ผ่านมา สิงห์ เวนเจอร์ ชิมลางลงทุนผ่านงบก้อนแรก 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการลงทุนในสเตปแรก เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเข้าไปอยู่ใน Startup Ecosystem เพื่อทำความคุ้นเคยและเรียนรู้ธุรกิจหรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่น่าสนใจ ผ่านการลงทุนในกองทุนสตาร์ทอัพของอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมีทิศทางที่น่าพอใจ ทั้งการขยายตัวของเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว ประกอบกับมีโอกาสนำเทคโนโลยีจากธุรกิจสตาร์ทอัพมาทดลองใช้ในธุรกิจ ช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ที่มากขึ้นให้กับธุรกิจได้”

ขณะที่สเตปต่อไปที่วางไว้ คือ การมองหาสตาร์ทอัพที่มีโอกาสเติบโต และมึความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอนาคตจากนี้ไป โดยวางกรอบการเข้าไปร่วมทุนเบื้องต้นไว้ที่ 25% ก่อนจะพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสมตามลักษณะของธุรกิจ โดยที่ยังรักษาสัดส่วนเพื่อให้ผู้ก่อตั้งธุรกิจยังมีแรงจูงใจในการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตต่อได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของสิงห์อยู่ที่การเข้ามาสนับสนุนไม่ใช่การเข้ามาซื้อกิจการ

“เป้าหมายสำคัญคือ การเข้ามาสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพโดยเฉพาะธุรกิจของคนไทยให้มีความแข็งแรง และสามารถเติบโตจนกลายเป็น Hub ที่มีสตาร์ทอัพที่แข็งแรงและหลากหลายอีกแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และจีน โดยเป้าหมายสูงสุด และคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ภายใน 2 ปี คือ การตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพของตัวเองขึ้นมา เพื่อเพิ่มโอกาสในการผลักดันสตาร์ทอัพที่มีอนาคตได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการรวบรวมเครือข่ายจากนักลงทุนต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาความแข็งแรงของสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสให้กับเหล่าสตาร์ทอัพไทย ให้มีโอกาสแจ้งเกิดในเวทีโลกรวมทั้งความสามารถในการสร้างยูนิคอร์นตัวแรกให้กับประเทศได้เป้นผลสำเร็จ”       

เตรียมบุกทุ่งซิลิคอนวัลเลย์     

ขณะที่ทิศทางของสิงห์ เวนเจอร์ ในปีนี้ จะรุกคืบมาสู่การเข้าไปลงทุนโดยตรงในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ โดยมีแผนจะเดินทางไปซิลิคอนวัลเลย์ ในสหรัฐอเมริกา เพื่อมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีเทคโนโลยีที่มีความเชื่อมโยงที่จะสามารถนำมาต่อยอดให้กับธุรกิจในเครือได้ รวมไปถึงการมองหาเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้คนในอนาคต

โดยเบื้องต้นจะเลือกให้ความสำคัญกับธุรกิจที่อยู่ใน 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่มีอยู่ภายในเครือ ได้แก่

กลุ่ม Consumer Product ทั้งอาหารเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญในอนาคตทั้งจากจำนวนประชากรที่มากขึ้น และการเข้าสู่ Aging Society หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงในกลุ่มเครื่องปรุงรสต่างๆ เป็นต้น

เทคโนโลยีที่ช่วยในการบริหารจัดการด้าน  Supply Chain ทั้งในเรื่องของระบบการผลิต การขนส่งและจัดจำหน่ายสินค้า รวมทั้งการพัฒนาระบบ  Logistic ทั้งในรูปแบบที่ต้องการส่งให้กับผู้รับปลายทางโดยตรง, รูปแบบ B2B และการขนส่งให้ธุรกิจ e-Commerce เป็นต้น

– การลงทุนในระบบหรือโปรแกรมที่ช่วยบริหารจัดการภายในองค์กร (Enterprise Solutions) เช่น การพัฒนาซอฟท์แวรต์เกี่ยวกับระบบต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการแก่ลูกค้า อาทิ ในกลุ่มธนาคารที่เริ่มมีการพัฒนา  FinTech ต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่โลกของ Cashless Society เป็นต้น

นอกจาก Priority ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักเหล่านี้แล้ว สิงห์ เวนเจอร์ ยังเปิดกว้างสำหรับการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Healthcare, BioTech, PorpTech หรือ Internet of Things ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต เรียกได้ว่า เปิดกว้างให้กับทุกๆ เทคโนโลยีที่สามารถจะเข้ามาเปลี่ยนโลกในอนาคตได้

 

เสริมแกร่งสตาร์ทอัพไทย

สำหรับแนวทางในการเข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพของสิงห์ เวนเจอร์ จะเน้นสตาร์ทอัพในกลุ่ม Series A เป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน เพราะเป็นระยะที่เริ่มมีโมเดลธุรกิจชัดเจน มีการตั้งเป็นบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจและเริ่มรับรู้รายได้ แม้อาจต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่าการเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น (Seed) แต่ก็มีโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตได้มากกว่า

ขณะที่การเข้ามาสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย จะเริ่มด้วยการเข้ามาสนับสนุนผ่านกองทุนของไทยอย่าง 500 ตุ๊กตุ๊ก พร้อมพยายามมองหาโอกาสในการผลักดันสตาร์ทอัพไทยที่มีโอกาสเพื่อให้สมารถแข่งขันและเติบโตได้ โดยเฉพาะการเข้าไปสนับสนุนผ่าน 3  แนวทางสำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสให้สตาร์ทอัพสามารถขยายสเกลในการเติบโตได้เร็วขึ้น ได้แก่

1. Collaboration เปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกับบริษัท เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจ ทั้งทรัพยากรคน R&D Marketing รวมทั้งหน่วยสนับสนุนการขายต่างๆ

2. Connect เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจสตาร์ทอัพเข้ากับเครือข่ายธุรกิจที่สิงห์มีอยู่ ทั้งคู่ค้า ระบบดิสทริบิวชั่น หรือพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่มีอยู่ใน 50 ประเทศทั่วโลก และร้านค้าปลีกที่มีกว่า 4 แสนร้านค้าทั่วประเทศ ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญในการข่วยให้สตาร์ทอัพสามารถขยายสเกลธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

3. Invest Support หรือการสนับสนุนด้านการเงินในการลงทุน เพื่อการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในระยะยาวกับกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการเลือกสนับสนุนธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้จริง การที่มาร่วมเป็นพันธมิตรกับทางสิงห์จะทำให้โอกาสในการเติบโตและไปถึงเป้าหมายเป็นไปได้เร็วขึ้น จากองค์ความรู้และทรัพยากรจากบริษัทที่มีประสบการณ์มากว่า 85 ปี

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่คุณเต้สังเกตุเห็น เมื่อได้เข้ามาคลุกคลีในแวดวงสตาร์ทอัพไทยมากขึ้น คือ ความแตกต่างระหว่างผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยและต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งจุดอ่อนที่เหล่าสตาร์ทอัพไทยต้องเสริมเข้าไป คือ วิธีคิดและมุมมองในการปั้นธุรกิจของผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ที่คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน ทำให้การวางวิสัยทัศน์หรือโมเดลธุรกิจยังไม่แข็งแรง

ขณะที่กลุ่มสตาร์ทอัพในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ผู้ก่อตั้งจะเคยอยู่ในธุรกิจนั้นๆ มาก่อน ทำให้มองเห็น Pain Point และข้อจำกัดต่างๆ ในธุรกิจ และสามารถนำเสนอโมเดลที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ทำให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จจนบางรายเติบโตขึ้นจนกลายเป็นยูนิคอร์นได้สำเร็จ ขณะที่ในประเทศไทยสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ยังไม่แข็งแรงมากนัก

“เราต้องการให้สตาร์ทอัพไทยแข็งแรงและสามารถขยายขนาดธุรกิจได้ ทำให้เลือกที่จะเข้ามาสนับสนุนในจุดนี้ ส่วนการเลือกจะเข้าไปสนับสนุนหรือเป็นพาร์ทเนอร์กับธุรกิจใด วิสัยทัศน์และมุมมองทางด้านธุรกิจของผู้ก่อตั้งจะเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่เราจะพิจารณา รวมไปถึงโอกาสของธุรกิจและเทคโนโลยีต่างๆ ที่สตาร์ทอัพเหล่านั้นมี โดยสิงห์ เวนเจอร์ เปิดกว้างในการให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพจากทั่วโลก แต่เป้าหมายสำคัญคือการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยให้แข็งแรงและแข่งขันได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่เราวางไว้”


แชร์ :

You may also like