HomeBrand Move !!เบื้องหลังความสำเร็จ “OREO” คุกกี้มูลค่าแสนล้าน ต่างด้วยรูปลักษณ์-เด่นที่จุดขาย

เบื้องหลังความสำเร็จ “OREO” คุกกี้มูลค่าแสนล้าน ต่างด้วยรูปลักษณ์-เด่นที่จุดขาย

แชร์ :

Photo Credit : Facebook Oreo

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการรักษาความเป็น Top of mind Brand ในตลาดที่มีคู่แข่งมากมายหลายร้อยแบรนด์ แต่ถ้าแบรนด์นั้นมี Brand Identity และ Unique Selling Point ชัดเจน พร้อมทั้งตอกย้ำการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ และพัฒนาสินค้าใหม่ต่อเนื่อง แบรนด์นั้นจะสามารถคงความเป็นแบรนด์ในใจผู้บริโภคได้ทุกยุคสมัย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในแบรนด์ที่มี Identity และจุดขายชัดเจนที่แตกต่างจากคู่แข่ง คือ “โอรีโอ” (OREO) คุกกี้จากสหรัฐฯ ถึงวันนี้เดินทางมา 105 ปีแล้ว และมีจำหน่ายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือไทย แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไร ยังคงอยู่ในการจดจำของผู้บริโภคเสมอ เพราะเมื่อเอ่ยถึง “คุกกี้สีดำ ไส้ครีม” เชื่อว่าหลายคนพูดออกมาได้ทันทีว่า “โอรีโอ” ที่มาพร้อมกับสโลแกน “บิด-ชิมครีม-จุ่มนม” (Twist-Lick-Dunk) ที่ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็จำได้ขึ้นใจ

เรามาทำความรู้จักแบรนด์ “โอรีโอ” กันมากขึ้นดีกว่าว่าทำไมถึงเป็นคุกกี้ที่ครองใจผู้บริโภคทั่วโลกมายาวนานกว่าศตวรรษ และไม่เพียงแต่กินเป็นคุกกี้เท่านั้น ยังถูกนำไปเป็นส่วนผสมของเมนูขนมหวาน และเครื่องดื่มต่างๆ มากมาย อีกทั้งล่าสุดยังเป็นชื่อ Android เวอร์ชั่นใหม่ พร้อมทั้งเจาะลึกยุทธศาสตร์การตลาดในไทยนับจากนี้ ที่ตั้งเป้าเป็นอันดับ 1 ในตลาดคุกกี้ในปี 2018 และภายใน 3 ปี ต้องการคว้าแชมป์เบอร์หนึ่งในตลาดบิสกิต

Timeline กว่าจะมาเป็นคุกกี้มูลค่าแสนล้าน !!

– จุดเริ่มต้นของ “โอรีโอ” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1912 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

– ปี 1920’s เปิดตัวโฆษณาสอนวิธีกิน “บิด-ชิมครีม-จุ่มนม” (Twist-Lick-Dunk) กลายมาเป็น Signature ของคุกกี้โอรีโอถึงทุกวันนี้

– ต่อมาในปี 1930’s ได้มีการเปลี่ยนชื่อ จาก “OREO Sandwich” เปลี่ยนเป็น “OREO Crème Sandwich” เพื่อบ่งบอกการเป็นคุกกี้ สอดไส้ครีม

– หลังจากนั้นในปี 1980’s ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการครั้งสำคัญของแบรนด์โอรีโอ ด้วยการขยายโปรดักต์ไลน์ไปสู่ “ไอศกรีม” ภายใต้แบรนด์ลูก “OREO Cookies ‘N Cream Ice Cream”

– จากนั้นตั้งแต่ปี 1990’s เป็นต้นมา โอรีโอขยายตลาดออกนอกสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงปีดังกล่าวสามารถขยายได้มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

Photo Credit : Facebook Oreo

– ในปี 1997 ได้ขยายตลาดเข้าสู่ประเทศไทย ด้วยการเปิดตัวสินค้าเรือธง “OREO Crème Sandwich”

– ปี 2000 ได้แนะนำนวัตกรรมใหม่สู่ตลาดทั่วโลก คือ “มินิโอรีโอ” หรือโอรีโอขนาดเล็ก

– ปี 2012 “โอรีโอ” เป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 70,000 – 80,000 ล้านบาท และเป็นปีฉลองครบรอบ 100 ปีของแบรนด์ “โอรีโอ” ซึ่งในประเทศไทย เฉลิมฉลองด้วยการเปิดตัว “มินิโอรีโอ” รูปแบบถ้วย

– ปี 2013 “โอรีโอ” รุกทำการตลาดมากขึ้น ด้วยการใช้กลยุทธ์ Collaboration ในการเป็นสปอนเซอร์ Paramount Pictures ภาพยนตร์เรื่อง “Transformers : Age of Extinction”

– ปี 2015 จากความสำเร็จของ “มินิโอรีโอ” ได้ต่อยอดพัฒนา Pack Size ใหม่ในรูปแบบซอง โดยวางจำหน่ายในไทย ทำราคาให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น

– ปี 2016 ตลาดหลักที่สร้างยอดขายให้กับ “โอรีโอ” มากที่สุด คือ สหรัฐฯ, จีน, อังกฤษ, อินโดนีเซีย, แคนาดา, เม็กซิโก, สเปน, อาร์เจนติน่า, อินเดีย และเยอรมนี

ในปีเดียวกันนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโอรีโอ ที่ทำคุกกี้ลายพิเศษออกมา เพื่อสร้าง Movement ให้กับแบรนด์ และสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค

– ปี 2017 แนะนำ “OREO Thins” นวัตกรรมคุกกี้แบบบาง กรอบเข้าสู่ตลาดเมืองไทย หลังจากก่อนหน้านั้นได้เปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศจีน เมื่อปี 2014

ขณะเดียวกัน Mondelez International เจ้าของแบรนด์ “โอรีโอ” คาดการณ์ว่าปัจจุบันมูลค่าแบรนด์ “โอรีโอ” ขยับขึ้นเป็นหลัก 100,000 ล้านบาท!! 

 

ผ่ากุญแจความสำเร็จ “โอรีโอ”

หัวใจสำคัญที่ผลักดันให้แบรนด์ “โอรีโอ” ประสบความสำเร็จ และสามารถแข่งขันได้ในทุกยุคสมัย แม้ว่าจะต้องเจอกับคู่แข่งนับร้อย นับพันแบรนด์ในตลาดบิสกิต และคุกกี้ก็ตาม

1. ความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอสินค้า และบรรจุภัณฑ์ หนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้ “โอรีโอ” แจ้งเกิด คือ สินค้ามีความแตกต่างด้วยรูปลักษณ์ “คุกกี้สีดำ ไส้ครีม” มาพร้อมกับรสชาติ และคุณภาพที่ถูกใจผู้บริโภค โดยในยุคแรกมีแต่ไส้ครีมขาว ต่อมาได้พัฒนาไส้ครีมรสชาติต่างๆ เพื่อขยาย Product Portfolio ให้มากขึ้น โดยในต่างประเทศมีหลากหลายรสชาติ เช่น รสพีนัท บัตเตอร์, รสมินต์, เบอร์รี่, สตรอเบอรี่ รวมทั้งเพิ่มโปรดักต์ไลน์กลุ่มคุกกี้สีครีมในชื่อ “Golden OREO” ฯลฯ

รวมทั้งพัฒนา “นวัตกรรมสินค้า” รูปแบบใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Product Portfolio และสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ โดยมีทั้งสินค้าที่ฉีกออกไปจากความเป็นคุกกี้ สอดไส้ครีมทรงกลม เช่น ไอศกรีม, ช็อกโกแลตบาร์ สอดไส้ครีมโอรีโอ และยังอยู่บนพื้นฐานคุกกี้ สีดำทรงกลม เช่น การพัฒนา “มินิโอรีโอ” ที่ข้ามไปแชร์ตลาด Bi-snack และ “OREO Thins” คุกกี้โอรีโอ ไส้ครีมแบบบาง กรอบ เพื่อขยายฐานไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากปัจจุบันฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มเด็ก และครอบครัว

ขณะเดียวกัน “โอรีโอ” ได้ขยาย Pack Size หลายรูปแบบ หลายระดับราคา เช่น แพ็คเกจจิ้งแบบแท่ง ขนาดครอบครัว แบบถ้วย แบบซอง เพื่อเจาะผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม และผลักดันสินค้า-แบรนด์ให้เข้าไปอยู่ทุกโอกาสการบริโภค

2. กลยุทธ์การสื่อสาร “โอรีโอ” นับเป็นกรณีศึกษาแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จด้านกลยุทธ์การสื่อสาร เพราะนับตั้งแต่ช่วงปี 1920’s เป็นต้นมา ถึงวันนี้ยังคงสื่อสาร “บิด-ชิมครีม-จุ่มนม” ซึ่งเป็นการสร้างวิธีการกินที่ช่วยเพิ่มความอร่อยและความสนุกในการกิน กลายเป็น Signature อยู่คู่แบรนด์โอรีโอ ที่คนทั่วโลกทุกเพศ ทุกวัยรู้จักและจดจำได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังได้สร้างสรรค์การสื่อสารใหม่ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย เช่น Animation Marketing Campaign เพื่อตอกย้ำพันธกิจของแบรนด์ นั่นคือ การทำให้คนได้มามีช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานด้วยกัน ทำให้ภาพลักษณ์ของคุกกี้กว่าศตวรรษแบรนด์นี้ ยังคงดูทันสมัย ไม่ตกยุค

Photo Credit : Facebook Oreo

3. เพิ่ม Usage การใช้ใหม่ๆ นอกจากการเพิ่ม User ด้วยผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายแล้ว “โอรีโอ” ยังสร้างรูปแบบการใช้ใหม่ๆ ด้วยการครีเอทเป็นขนมหวาน และเครื่องดื่มที่นำ “โอรีโอ” เป็นวัตถุดิบหลัก เช่น เค้กโอรีโอ, เครื่องดื่มปั่นผสมโอรีโอ

การต่อยอดด้วยการสร้างรูปแบบการใช้ใหม่ๆ ดังกล่าว ยิ่งทำให้ “โอรีโอ” อยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้มีร้านเบเกอรี่ และร้านเครื่องดื่มมากมาย ที่สร้างสรรค์เมนูขนมหวานและเครื่องดื่มโดยใช้ “โอรีโอ” เป็นส่วนผสมหลัก พร้อมทั้งใช้ชื่อโอรีโอเป็นชื่อขนมและเครื่องดื่มด้วย ย่อมส่งผลดีต่อแบรนด์ที่ยิ่งทำให้ผู้บริโภคจดจำ และ Remind แบรนด์ได้เสมอ กลายมาเป็นความผูกพันระหว่างแบรนด์-ผู้บริโภค

Photo Credit : Facebook Oreo

4. Collaboration ถึงแม้แบรนด์ “โอรีโอ” มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่ไม่เคยหยุดมองหาโอกาสสร้างการเติบโต โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มอัตราเร่งการเติบโตได้มากขึ้น คือ การผนึกกำลังกับพันธมิตรธุรกิจ ทั้งในกลุ่มธุรกิจอาหารด้วยกันเอง และข้ามอุตสาหกรรม เช่น จับมือกับ Dunkin’ Donuts ร่วมกันพัฒนาสินค้าใหม่ อย่างการเป็นเมนูเครื่องดื่มใหม่ของ Dunkin’ และเมื่อเมื่อกลางปีนี้ ได้เปิดตัวคุกกี้รสชาติใหม่ Dunkin’ Donuts Mocha OREO เป็นสินค้า Limited Edition เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาด

หรือการจับมือกับแบรนด์ไอศกรีม Wall’s ในการบุกตลาดไอศกรีม Take Home ภายใต้แบรนด์ “Wall’s Selection” ที่เป็นครั้งแรกของ Wall’s ในการร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง OREO พัฒนาเป็นสูตร Wall’s Selection OREO

ล่าสุดได้จับมือกับยักษ์ใหญ่ในธุรกิจดิจิทัลอย่าง “Google” เจ้าของระบบปฏิบัติการ “Android” ทำข้อตกลงร่วมกันให้ชื่อ “โอรีโอ” เป็นชื่อระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่น Android 8.0 ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Android OREO” ซึ่งเปิดตัวในวันเดียวกับที่เกิดสุริยุปราคา ในสหรัฐฯ

 

ปรับกลยุทธ์ใหญ่รอบ 20 ปี ตั้งเป้าขึ้นอันดับหนึ่งตลาดคุกกี้ และบิสกิตในไทย

แม้จะเข้าตลาดมาได้ 20 ปีแล้ว ด้วยการวางตำแหน่งเป็นพรีเมียมแบรนด์ในตลาดคุกกี้และบิสกิต ที่วางขายในโมเดิร์นเทรด แต่ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา “โอรีโอ” ในไทยแทบจะไม่รุกการตลาดมากนัก

แต่ด้วยชื่อเสียงของแบรนด์ที่มีมายาวนาน ประกอบกับ “โอรีโอ” ทำตลาดในไทยได้ 2 ทศวรรษแล้ว นี่จึงทำให้การวัดระดับ Brand Awareness ตลาดบิสกิตในกลุ่มผู้บริโภคไทย “โอรีโอ” สามารถคว้าอันดับ 1 มาได้ เช่นเดียวกับการวัดเรื่องรสชาติ คุณภาพ ความผูกพัน และเป็นแบรนด์ที่คนรัก (Brand Love) ก็ยังครองแชมป์เหนือแบรนด์อื่นๆ

แต่ทว่าเมื่อดูตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดในตลาดบิสกิต ประเทศไทยล่าสุด มูลค่า 12,954 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 2.3% พบว่า “โอรีโอ” มีส่วนแบ่งการตลาด 5.2% ซึ่งเป็นอันดับ 4 ของตลาดรวมบิสกิต ในขณะที่ผู้นำตลาดมีส่วนแบ่ง 8.5%

และถ้าเจาะเฉพาะเซ็กเมนต์คุกกี้ “โอรีโอ” มีส่วนแบ่งการตลาด 14.0% เป็นอันดับ 2 ของตลาด อย่างไรก็ตามถ้าวัดเฉพาะช่องทางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด “โอรีโอ” เป็นแบรนด์อันดับ 1 ในช่องทางดังกล่าว

เหตุที่ทำให้ฝั่ง Brand Awareness รวมทั้งผลการวัดผลเรื่องรสชาติ คุณภาพ ความผูกพัน และ Brand Love คว้าอันดับ 1 มาได้ ตรงกันข้ามกับตัวเลขส่วนแบ่งการตลาด ที่ “โอรีโอ” ยังเป็นเบอร์รองของตลาด นั่นเป็นเพราะ…

– ตลาดบิสกิตในประเทศไทย มีกว่า 500 แบรนด์ และสถานการณ์การแข่งขันในตลาดนี้เน้น 4 – 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ ราคา, การปูพรมสินค้าให้ครอบคลุมทั้งช่องทางการขายโมเดิร์นเทรด และร้านค้าปลีกดั้งเดิม, ความหลากหลายของสินค้า, การสื่อสารการตลาด

– ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของ “โอรีโอ” ในไทย มีการเปิดตัวรสชาติใหม่ และนวัตกรรมใหม่ไม่ถี่มากนัก อีกทั้งสินค้าฟอร์แมตเรือธงที่ทำยอดขายให้กับโอรีโอในไทยได้ตลอด คือ แพ็คเกจจิ้งแบบแท่ง สำหรับซื้อบริโภคหลายคนในครอบครัว กับเพื่อน หรือที่ทำงาน โดยเน้นกระจายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก ประกอบกับตำแหน่งแบรนด์เป็นสินค้าพรีเมียม และราคาที่สูงกว่าแบรนด์คู่แข่งในตลาด จึงทำให้ฐานลูกค้า “โอรีโอ” ไม่ได้กว้างแบบคู่แข่ง

– ขณะที่คู่แข่ง มีการทำสินค้า ทั้งรูปลักษณ์ตัวคุกกี้ สอดไส้ครีมเหมือนกัน และแพ็คเกจจิ้งสีฟ้าเช่นเดียวกัน แต่ขายในราคาถูกกว่า พร้อมทั้งปูพรมสินค้าครอบคลุมทั้งโมเดิร์นเทรด และร้านค้าปลีกทั่วไป ส่งผลให้มาทีหลัง แต่สามารถกินตลาดได้กว้างกว่า

จากการตีตลาด “คุกกี้สีดำ สอดไส้ครีม” ของคู่แข่ง ทำให้ในที่สุด “โอรีโอ” ต้องออก Pack Size ขนาด 3 ชิ้น ราคา 5 บาทเข้ามาแย่งชิงตลาดในช่องทางร้านค้าปลีกทั่วไป และโมเดิร์นเทรด เพื่อทำให้เด็กสามารถซื้อได้เอง และบริโภคนอกบ้าน เนื่องจากบรรจุภัณฑ์แบบแท่ง คนซื้อเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน เช่น พ่อแม่ที่ซื้อติดบ้านไว้

อย่างไรก็ตามนั่นยังไม่เพียงพอสำหรับการบุกตลาดบิสกิตในไทย ด้วยเหตุนี้เอง “มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย)” ได้ปรับกลยุทธ์การตลาด-การขายแบรนด์ “โอรีโอ” ในไทยครั้งใหญ่ โดยนับจากนี้ไปจะมีความเป็น Mass Brand มากขึ้น และขยาย Product Portfolio ทั้งเติมความหลากหลายของรสชาติสินค้า และในด้านฟอร์แมตใหม่ๆ มากขึ้น

“ในต่างประเทศ เช่น อเมริกา โอรีโอมีจำหน่ายหลากหลายรูปแบบมาก แต่สำหรับ “โอรีโอ” ในประเทศไทยที่อยู่มา 20 ปี ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีการออกสินค้าที่เป็นฟอร์แมตใหม่ โดยส่วนมากจะเป็นการออกรสชาติใหม่มากกว่า ขณะที่ฟอร์แมตใหม่ นอกจากแบบแท่งที่เป็นออริจินัลแล้ว เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วได้เปิดตัวฟอร์แมต “มินิโอรีโอ” ในไทย และล่าสุดคือ “OREO Thins” ถือเป็นนวัตกรรมฟอร์แมตใหม่ตัวที่ 3 สำหรับโอรีโอ ในไทย

เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา Portfolio ของโอรีโอในไทย ไม่ได้มีความหลากหลาย รวมทั้ง Pack Size ยังมีไม่มากนัก และราคา เพราะด้วยความที่เป็นแบรนด์พรีเมียมมาจากอเมริกา ในอดีตราคาจึงสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้เรายังไม่ได้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกช่องทางขาย แต่นับจากนี้ไปเราจะผลักดันการเติบโตของแบรนด์โอรีโอในไทย โดยจะพิจารณาว่าสินค้าไหนเหมาะกับตลาดไทย เราจะเอาเข้ามาทำตลาด เพื่อตอบสนองผู้บริโภคไทย ทั้งการนำเสนอรสชาติใหม่, ฟอร์แมตใหม่, Pack Size หลากหลาย, มีระดับราคาครอบคลุมตั้งแต่ตลาดแมส ไปจนถึงพรีเมียม รวมทั้งอาจขยายเข้าเซ็กเมนต์อื่น เพื่อทำให้สินค้าโอรีโอสามารถเจาะช่องทางการขายได้หลายช่องทาง” คุณฐานันท์ สุวรรษรักษ์ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ล่าสุดเปิดตัว “OREO Thins” ในไทย เพื่อขยายฐานกลุ่ม Generation Y อายุ 18 – 34 ปี โดยเป็นโอรีโอแบบบางเพียง 3 มิลลิเมตร ที่ให้ความบางเบา กรอบ ด้วยเนื้อครีม 2 รสชาติ คือ วานิลลา ดีไลท์ และรสทีรามิสุ วางจำหน่าย 35 บาท

ปัจจัยของการพัฒนาโอรีโอ ให้มีรูปแบบบาง กรอบ สำหรับเจาะกลุ่ม Gen Y โดยเฉพาะ เนื่องจาก Consumer Insight คนกลุ่มนี้ ต้องการขนมที่ให้รสชาติความอร่อย ราคาสมเหตุสมผล และต้องตอบโจทย์ Health & Wellness เนื่องจากคนรุ่นใหม่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นรูปแบบบางกรอบ จะทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกอิ่มเกินไป และไม่รู้สึกผิดในการกินขนมหวาน

การเปิดตัว OREO Thin นอกจากทำตลาดคุกกี้แล้ว ด้วยฟอร์แมตสินค้าจะข้ามเข้าไปแชร์ตลาด Bi-Snack หรือขนมขบเคี้ยวขนาดเล็กด้วยเช่นกัน

ขณะที่แผนสื่อสารการตลาด ครอบคลุมทั้งสื่อออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาโทรทัศน์ สื่อ ณ จุดจำหน่าย และเน้นช่องทางออนไลน์ ทั้ง Facebook, YouTube และ Instagram เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายหลัก ผสานกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นยอดขาย

“เราวางเป้าหมายการเติบโตของแบรนด์โอรีโอ ในไทยว่าภายในปี 2018 “โอรีโอ” จะมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มคุกกี้เป็นอันดับ 1 ของตลาด และภายใน 3 ปี จะมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในตลาดบิสกิต ด้วยการใช้จุดแข็งในตลาดโลก รวมทั้งการสนับสนุนทางการตลาดอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง พร้อมเสริมทัพสินค้าใหม่ที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้า เช่น OREO Thins ล่าสุดนี้ จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้” คุณฐานันท์ กล่าวทิ้งท้าย

FYI
มูลค่าตลาดบิสกิตในประเทศไทย (อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 2.3% ต่อปี)
ปี 2014 11,742 ล้านบาท
ปี 2015 12,285 ล้านบาท
ปี 2016 12,897 ล้านบาท

ตลาดบิสกิตในไทย แบ่งเป็นเซ็กเมนต์
ขนมขบเคี้ยวขนาดเล็ก (Bi-Snack) 32%
คุกกี้ 27%
เวเฟอร์ 24%
แครกเกอร์ 17%


แชร์ :

You may also like