HomeInsightอย่าชะล่าใจ! บทเรียน 20 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” สู่ “วิกฤติรอบใหม่” อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

อย่าชะล่าใจ! บทเรียน 20 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” สู่ “วิกฤติรอบใหม่” อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

แชร์ :

บาดแผลเจ็บลึกสำหรับคนไทยที่เคยผ่านช่วง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี 2540 เป็นเหตุการณ์ที่หลายคนไม่มีวันลืม ทั้งการถูกโจมตีค่าเงิน ทำให้รัฐบาลสมัยนั้นต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้ค่าเงิน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันภาคเอกชนหลายบริษัทต้องเลิกกิจการ เป็นผลมาจากภาวะหนี้สิน สถาบันการเงินหลายแห่งต้องทยอยปิดตัว ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเก็งกำไรก่อนหน้านั้น ตกถึงจุดต่ำสุด จนในที่สุด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผ่านมาแล้ว 20 ปี ปัจจุบันเข้าสู่ยุค Globalization ทุกเหตุการณ์ ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้เชื่อมโยงถึงกัน ยามใดที่โลกเกิดเหตุการณ์ หรือความเปลี่ยนแปลงด้านใดก็ตาม ไม่ว่าจะภาวะเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ภัยก่อการร้าย หรือแม้แต่การขยายตัวของกลุ่มทุน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี จะขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ ไม่ควรชะล่าใจ แต่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ

บทความ “วิกฤติรอบใหม่อาจเกิดขึ้นแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว” โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จะพาเราไปร่วมย้อนหลังเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง และแม้เวลาจะผ่านไปอย่างไร แต่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะวิกฤติอาจมาในรูปแบบใหม่ โดยที่เราไม่รู้ตัว !!!

ครบรอบ 20 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง…ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยไหม?

เมื่อ 20 ปีก่อน ในวันที่ 2 ก.ค. 2540 เราต้องยอมจำนนต่อการโจมตีค่าเงิน ทางธปท. ต้องปล่อยเงินบาทให้อ่อนค่าตามกลไกตลาดจากเดิมที่ตรึงค่าเงินไว้ที่ราว 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินสำรองระหว่างประเทศถูกใช้ในการปกป้องค่าเงิน แต่จะโทษ ธปท. ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะทั้งธนาคารพาณิชย์และนักลงทุนต่างก็มีส่วนในการปล่อยให้ระบบการเงินมีปัญหา ทั้งจากการประเมินสินทรัพย์และความเสี่ยงที่ไม่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน และความโลภที่บังตา

อย่าว่าแต่เมืองไทยเลย แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งระดับโลกก็ไม่อาจทำนายวิกฤติการเงินในสหรัฐ ในยุโรป หรืออีกหลายประเทศได้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ต่อให้ในปัจจุบันเราจะมีข้อมูล มีแบบจำลองที่ซับซ้อน และมีผู้เชี่ยวชาญมาเฝ้าระวังมากมาย แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า วิกฤติการเงินจะไม่เกิดขึ้นอีก

อย่าถามนักเศรษฐศาสตร์เลยครับว่าวิกฤติการเงิน หรือวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่และด้วยสาเหตุอะไร ผมว่าเสียเวลาเปล่า เพราะพวกเราไม่เคยทำนายได้ถูกหรอกครับ

อย่าวางใจดีกว่า…วิกฤติอาจมาในรูปแบบใหม่

สาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถทำนายวิกฤติได้อย่างถูกต้องก็เพราะว่าวิกฤติเปลี่ยนรูปแบบไปมา ต่อให้เราเฝ้าระวังแผลเดิม มันก็มีช่องโหว่สำหรับแผลใหม่ที่เราไม่คาดคิดได้เสมอ

ทีนี้แผลใหม่หรือรูปแบบของวิกฤติรอบใหม่จะเป็นอะไรได้บ้าง ที่แน่ๆ มันคงไม่ซ้ำรอยปี 2540 เพราะทาง ธปท. ดูแลเสถียรภาพการเงินได้ดี เงินสำรองระหว่างประเทศมีเพิ่มขึ้นมาก

หากวิกฤติการเงินเกิดเพราะความโลภ เมื่อเราไม่โลภ วิกฤติก็ไม่เกิด ที่ชัดเจนคือความอยากได้ผลตอบแทนการลงทุนสูงๆ ทั้งส่วนต่างราคาซื้อขายและอัตราผลตอบแทน อัตราดอกเบี้ยในอดีตนั้นสูงอยู่แล้ว แต่คนอยากได้ผลตอบแทนสูงขึ้นไปอีก วิกฤติปี 40 จึงเกิด

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยแสนจะต่ำ คนถูกบีบให้ไปหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพื่อนำไปใช้จ่ายเพียงพอในยามสูงอายุ จนอาจสูญเสียเงินลงทุน และนำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพการเงิน แต่นั่นก็อยู่ในวิสัยของ ธปท. ที่กำกับดูแลได้ จึงไม่น่านำไปสู่วิกฤติรอบใหม่ได้

แล้วทำไมผมถึงตั้งคำถามว่าเรากำลังยืนฉงนอยู่ท่ามกลางวิกฤติโดยไม่รู้ตัวหรือไม่?

นั่นเพราะวิกฤติเปลี่ยนรูปร่างได้เสมอจนเราไม่อาจตามทันได้ วิกฤติที่เราคุ้นเคยมักเกิดขึ้นด้วยช๊อกหรือเหตุการณ์ไม่คาดคิด เศรษฐกิจหดตัวแรง เหมือนรูปตัว V เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจมีการปรับโครงสร้างใหม่ ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วกลับขึ้นมาอีกครั้ง เช่นในช่วงวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจไทยใช้เวลาราว 4 ปีก่อนจะกลับมามีขนาดเศรษฐกิจ หรือ GDP เท่ากับช่วงก่อนวิกฤติได้ในปี 2544 หลังจากนั้นก็เติบโตอย่างรวดเร็วที่เฉลี่ยราว 5.4% ในช่วง 2544-2550 ก่อนวิกฤติลูกใหม่กระทบไทยในปี 2551

ในภาวะปัจจุบัน แม้เราคงไม่เห็นรูปตัว V อีก แต่อย่านิ่งนอนใจไป เพราะวิกฤติที่รุนแรงกว่าเดิมอาจก่อตัวขึ้นแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นคือเศรษฐกิจรูปตัว L ที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำ ราวสัก 3.5% และลากยาวต่อเนื่องไปอย่างยาวนาน หากเทียบวิกฤติรอบปี 2540 กับภาวะปัจจุบันแล้ว แน่นอนว่าปี 2540 มีความรุนแรงกว่ามาก ดังเห็นได้จากเศรษฐกิจหดตัวแรง เรามีปัญหาคนว่างงาน คนยากจน แต่อย่าลืมว่าวิกฤติครั้งนั้นเปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จนกลับมาทะยานใหม่ได้ หากแต่รอบนี้เราไม่มีโอกาสรู้ตัว การปรับตัวค่อนข้างช้า และการที่เศรษฐกิจซึมยาวนั้น แม้ในระยะสั้นไม่เจ็บปวด แต่ในระยะยาวนั้น ขนาดเศรษฐกิจอาจขยายใหญ่ได้ไม่เท่าการเกิดวิกฤติในรูปตัว V เสียด้วยซ้ำ นั่นเพราะการเติบโตที่ช้ามันกัดกร่อนศักยภาพและการปรับตัวของคนไทย

แล้วนักเศรษฐศาสตร์มีทางแก้ไหม?

ตามทฤษฎีแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาศัยอยู่สองปัจจัย ปัจจัยแรกคือการขยายตัวของประสิทธิภาพแรงงาน และประการที่สองคือการขยายตัวของจำนวนแรงงาน ในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทยโชคดีที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่มีวัยทำงานเพิ่มขึ้นเร็ว ต่อให้ประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นไม่มาก เศรษฐกิจก็สามารถขยายตัวได้ดี ด้วยจำนวนแรงงานที่เติบโตสูง
แต่ในตอนนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นน้อยมาก ในขณะที่ประสิทธิภาพของแรงงานยังคงโตช้า แล้วจะไปหวังให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างไร?

สุดท้ายทางออกก็หวังว่ารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Thailand 4.0 จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ให้เกิดการลงทุนด้านใหม่ๆ ให้แรงงานคนเดิมผลิตของได้มากชิ้นขึ้น หรือสร้างรายได้หรือมูลค่าสินค้าได้ดีขึ้น เสมือนการปรับโครงสร้างเช่นในอดีต ให้เศรษฐกิจไทยผ่านวิกฤติตัว L กลับมาเป็น U หรือ V ได้ในอนาคต

แต่ที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤติที่เรายังไม่รู้ตัวไปได้หรือไม่ ก็ฝากความหวังไว้กับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ไว้ด้วย หาไม่แล้ว ศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จะโตได้เพียง 3.5% ต่อปี คงเป็นการตอกย้ำว่าเราไม่อาจผ่านพ้นวิกฤติรอบนี้ไปได้

 

Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like