HomeBrand Move !!3 กลยุทธ์ “SCG Express” เขย่าตลาดขนส่งพัสดุด่วน 20,000 ล้าน พร้อมเผยเทรนด์พลิกโฉมธุรกิจส่งพัสดุ

3 กลยุทธ์ “SCG Express” เขย่าตลาดขนส่งพัสดุด่วน 20,000 ล้าน พร้อมเผยเทรนด์พลิกโฉมธุรกิจส่งพัสดุ

แชร์ :

ในช่วงเวลา 3 – 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดขนส่งพัสดุรายย่อยในไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 10 – 20% ต่อปี โดยปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวธุรกิจ E-Commerce ในรูปแบบค้าปลีกค้าส่ง ที่ในแต่ละปีเติบโตสูงถึง 30% โดยทุกวันนี้มีมูลค่า 700,000 ล้านบาท เมื่อการค้าออนไลน์ขยายตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนมีแนวโน้มสูงขึ้นตามาไปด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไม “เอสซีจี” (SCG) ถึงได้ร่วมทุนกับ “ยามาโตะ กรุ๊ป” (YAMATO Group) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แมวดำ” ยักษ์ขนส่งพัสดุรายใหญ่อันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 46% จัดตั้ง “บริษัท ยามาโตะ เอเชีย จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 633 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น “เอสซีจี” 65% และ “ยามาโตะ กรุ๊ป” 35% โดยให้บริการส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน ภายใต้ชื่อ “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” (SCG Express)

“ถึงแม้ตลาดขนส่งพัสดุด่วนมีการแข่งขันสูง ทั้งรายเก่า และรายใหม่ แต่ยังถือเป็น New Market และมีการเติบโตมาก เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นแต่ละรายจะวาง Positioning ของตัวเองอย่างไร ซึ่ง “เอสซีจี” เห็นโอกาสของธุรกิจนี้  และเราเข้าตลาดในจังหวะที่เหมาะสม เพราะขนาดตลาดใหญ่พอสมควร ที่จะทำให้เรามี Scale ได้ โดยใช้จุดแข็งของเรา และยามาโตะกรุ๊ป ค่อยๆ สร้างการเติบโตให้กับ “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน นี่คือ สไตล์เรา ไม่ต้องรีบแข่งจนทำให้บริการเสีย แบรนด์เสีย เพราะแบรนด์นี้ ประกอบกันระหว่างแบรนด์ใหญ่ “เอสซีจี” กับแบรนด “ยามาโตะ” ในญี่ปุ่น” คุณนิธิ ภัทรโชค ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ตลาดในประเทศ ธุรกิจเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เล่าถึงโอกาสของธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนในไทย

“The Power of Synergy” สร้างความต่าง บนความได้เปรียบ 

โมเดลธุรกิจของ “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” เป็นการประสานความแข็งแกร่ง ทั้งจาก “เอสซีจี” ในด้านระบบโลจิสติกส์ และเน็ตเวิร์ค ซึ่งต่อยอดมาจาก “เอสซีจี โลจิสติกส์” (ให้บริการขนส่งแบบ B2B) เข้ากับองค์ความรู้ เทคโนโลยี-นวัตกรรมด้านการขนส่ง และมาตรฐานคุณภาพการให้บริการของ “ยามาโตะ กรุ๊ป” เพื่อใช้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางสมรภูมิรบที่มีผู้เล่นมากมาย ทั้งเจ้าถิ่นอย่างไปรษณีย์ไทย และยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย

โดยสรุปออกมาเป็น 3 กลยุทธ์หลักที่จะทำให้ “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” สามารถแข่งขัน และยืนอยู่ได้บนความแตกต่างจากรายอื่น

1. นวัตกรรมบริการขนส่งจากญี่ปุ่น นำมาใช้ในตลาดไทย โดยในช่วงแรกมี 4 รูปแบบบริการ คือ บริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ (COOL TA-Q-BIN) จัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้รับ ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากยามาโตะ กรุ๊ป ได้แก่ “กล่องรักษาความเย็น” (Cool Container) ที่สามารถเก็บรักษาความเย็นได้นาน 12 ชั่วโมง โดยมองว่าบริการขนส่งนี้ จะตอบความต้องการลูกค้ากลุ่มธุรกิจรายย่อยที่ต้องการส่งสินค้าในรูปแบบควบคุมอุณหภูมิ อาทิ อาหารแช่แข็ง ผลไม้ ยา ขนม และเครื่องสำอาง ที่คาดการณ์ว่าตลาดนี้มีมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท

นอกจากนี้มีบริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนถึงบ้านหรือทัค-คิว-บิง (TA-Q-BIN) บริการรับพัสดุถึงบ้านลูกค้าและจัดส่งถึงปลายทางในวันถัดไป, บริการส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ด่วนระหว่างบริษัทถึงบริษัท (DOCUMENT TA-Q-BIN), บริการเก็บเงินปลายทาง (TA-Q-BIN COLLECT)

การนำนวัตกรรมบริการขนส่งจากญี่ปุ่นเข้ามาให้บริการในไทย ทาง “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” จะศึกษาตลาด และความเหมาะสมกับตลาด และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไทย เพื่อให้ตอบโจทย์คนไทยได้จริง ขณะเดียวกันต่อไปจะพัฒนาบริการสำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ เนื่องจากตลาดไทย และญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน 100% จึงต้องพัฒนานวัตกรรมบริการขนส่งเองด้วย เพื่อ Localize ให้เข้ากับสภาพตลาด และไลฟ์สไตล์ของคนไทย

2. ยึดหลัก “Customer Centric” เพื่อส่งมอบบริการด้วยความเอาใจใส่จากพนักงานที่ได้รับการอบรมมาตรฐานการให้บริการจากยามาโตะ กรุ๊ป เพื่อยกระดับการบริการขนส่งพัสดุย่อยในไทยให้ก้าวไปอีกระดับ เนื่องจากมองว่าปัจจัยพิจารณาการเลือกใช้บริการขนส่งพัสดุด่วน ลูกค้าไม่ได้มองที่ “ราคาถูก” อย่างเดียว แต่ยังตัดสินใจเลือกใช้บริการจากคุณภาพ และการให้บริการด้วยใจ
ปัจจุบัน “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” มีพนักงานขับรถ (Sale Driver) 100 คน และมีหน่วยรถขนส่ง 100 คัน แบ่งเป็น 50 คันรถกระบะ และ 50 คันเป็นรถจักรยานยนต์

3. ขยายศูนย์บริการ “เอสซีจี เอ็กซเพรส” (Service Point) ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายจุดบริการรับพัสดุเอสซีจี เอ็กซ์เพรส (Service Agent) ด้วยการเปิดให้องค์กรธุรกิจ หรือผู้สนใจสมัครเป็น Service Agent เพื่อขยายจุดบริการรับพัสดุสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเน้นกระจายไปตั้งในย่านชุมชน เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ปัจจุบันมีศูนย์บริการ 4 สาขา ได้แก่ พื้นที่เขตรัชดาภิเษก, รังสิต, ปทุมวัน และบางนา ขณะที่ Service Agent มี 20 จุด โดยภายในปีนี้ ตั้งเป้ามี Service Agent 300 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นในปี 2561 ต้องการขยาย Service Agent ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

จุดให้บริการถือเป็นหัวใจสำคัญไม่น้อยไปกว่านวัตกรรมขนส่ง และการให้บริการ เพราะธุรกิจขนส่ง ยิ่งมีเน็ตเวิร์คสาขา หรือจุดให้บริการมากเท่าไร นั่นจะยิ่งเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้น

“ถ้าจะขยายครอบคลุมทั่วประเทศ เราต้องมีไม่ต่ำกว่าพันกว่าจุด แต่ถ้าเราได้ Service Agent มีคุณภาพมาตรฐาน ตรงกับความต้องการของเรา จะทำให้เราสามารถกระจายได้มากกว่านั้น เพราะจุดแข็งของเรา คือ ยิ่งใกล้ผู้บริโภค ผู้บริโภคยิ่งสะดวก ซึ่งยามาโตะที่ญี่ปุ่น มีจุดให้บริการหลายแสนจุด”

หลังจาก “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตั้งแต่เดือนมกราคาที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 3 เดือนมีลูกค้าใช้บริการส่งพัสดุด่วนกว่า 150,000 ชิ้น ตลอดระยะเวลา 3 เดือน และคาดหวังว่าจากกลยุทธ์ทั้ง 3 ด้าน จะทำให้ “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” มียอดขายมากกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี และครองความเป็นผู้นำตลาดส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ

3 เทรนด์แห่งอนาคต พลิกโฉมบริการขนส่งพัสดุ 

การทำงาน และท่องเที่ยวแบบ “Hands-Free Luggage” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นแล้ว คือ คนทำงานที่เดินทางไปต่างประเทศ หรือไปอีกเมือง/จังหวัดหนึ่ง และนักท่องเที่ยว ไม่ต้องถือกระเป๋าขนาดใหญ่ หรือสัมภาระใดๆ โดยผู้ใช้บริการติดต่อไปยังผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ จากนั้นเมื่อลงเครื่องบิน รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นๆ ก็เอากระเป๋ามาฝากไว้กับผู้ให้บริการขนส่ง

เพียงเท่านี้คนทำงาน หรือนักท่องเที่ยวก็เดินทางไปทำงาน ไปประชุมต่อ หรือไปท่องเที่ยวได้เลย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องกระเป๋าเดินทาง และต้องแบกสัมภาระรุงรัง ทำให้ทำงาน หรือเที่ยวได้อย่างเต็มที่ และในระหว่างนั้น บริษัทขนส่งพัสดุจะส่งกระเป๋าไปถึงห้องพักที่โรงแรม เมื่อทำงานเสร็จ ท่องเที่ยวเสร็จ กลับถึงห้องพัก ก็จะเจอกระเป๋าอยู่ในห้องพัก

“Aging Society” ปัจจุบันประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก คือ ญี่ปุ่น สิ่งที่ตามมาคือ สินค้าและบริการต่างๆ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่รองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยขณะนี้ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุในญี่ปุ่นอย่าง “ยามาโตะ” ได้ยกระดับเป็นมากกว่าการให้บริการจัดส่งพัสดุ หรือ Beyond Logistic ไปสู่การเป็น “Social Infrastructure Company” ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมให้กับคนในญี่ปุ่น

เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนสูงอายุในวัยตั้งแต่ 70 – 90 ปี จะอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปไหน เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้นิยมใช้บริการ “Home Service” เช่น อาหารในมื้อต่างๆ ทั้งมื้อเช้า – มื้อกลางวัน – มื้อเย็น ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะใช้วิธีโทรสั่ง รวมไปถึงการช้อปปิ้ง ดังนั้นพนักงาน Sale Driver ของยามาโตะในญี่ปุ่น จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่จัดส่งพัสดุ แต่ยังช่วยจัดการในหลายๆ เรื่องให้กับผู้สูงอายุ เช่น จัดส่งมื้ออาหารทั้ง 3 ช่วงเวลา หรือในการจัดส่งหลอดไฟ เมื่อไปส่งถึงบ้านแล้ว ก็ติดตั้งหลอดไฟให้ด้วย หรือส่งโทรทัศน์ ก็ให้บริการติดตั้งให้ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเวลานี้ มีแนวโน้มเกิดขึ้นในสังคมไทยไม่เกิน 10 – 20 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน ดังนั้น ต่อไปผู้ให้บริการด้านขนส่งพัสดุ หรือโลจิสติกส์ ต้องไม่จำกัดความตัวเองอยู่แต่เฉพาะบริการขนส่งเท่านั้น แต่ต้องก้าวข้ามไปอีกสเตป เพื่อนำเสนอบริการที่ดีขึ้น และ Home Service คือ หนึ่งในเทรนด์แห่งอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์

“Producer to Consumer” เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น นั่นคือ เกษตรกรสามารถซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง โดยมีผู้ให้บริการขนส่งสินค้าจัดส่งไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

แตกต่างจากในอดีตที่ “เกษตรกร” ขายผัก-ผลไม้ให้กับ “คนกลาง” จากนั้นคนกลางนำไปส่งต่อถึง “ผู้บริโภค” สิ่งที่เกิดขึ้นเกษตรกรต้องทนกับการขายพืชผลทางการเกษตรในราคาต่ำ ขณะที่ผู้บริโภคต้องซื้อผักผลไม้ในราคาแพง ดังนั้นการเกิดขึ้นของระบบ Producer to Consumer จะช่วยแก้ปัญหานี้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีอำนาจต่อรองกันคนกลาง ให้สามารถขายสินค้าทางการเกษตรในราคาดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคได้สินค้าในราคาสมเหตุสมผล

 

 

 


แชร์ :

You may also like