HomeBrand Move !!10 เรื่องที่น่าสนใจของ “เสือติดปีก” รายการทีวี ที่ “ตัน” เล่นเอง และจ่ายเอง

10 เรื่องที่น่าสนใจของ “เสือติดปีก” รายการทีวี ที่ “ตัน” เล่นเอง และจ่ายเอง

แชร์ :

ตัน-ไพบูลย์-เสือติดปีก-

ครั้งแรกที่สองนักธุรกิจชื่อดังของเมืองไทยอย่าง ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จับมือกันผลิตรายการโทรทัศน์ที่ชื่อว่า “เสือติดปีก” มุ่งเน้นหานักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ศักยภาพ และทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์กับสังคม และถ้าหากว่าธุรกิจไหนที่คณะกรรมการเล็งเห็นว่าน่าจะต่อยอดไปสู่ความสำเร็จในขั้นต่อไปได้ ก็จะได้รับเงินทุน และนี่คือ 10 เรื่องเกี่ยวกับรายการ “เสือติดปีก”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. รายการนี้ก่อตั้งขึ้นโดย บริษัท ไพบูลย์ แอนด์ ตัน จำกัด ซึ่งเป็น Nonprofit Organization ซึ่งตัน กับ ไพบูลย์ ใช้เงินส่วนตัวคนละ 13 ล้านบาทร่วมกันก่อตั้งขึ้น โดย 13 ล้านบาทแรก จะให้เป็นค่าผลิต ส่วน 13 ล้านบาทที่เหลือจะถูกใช้เป็นเงินรางวัล ซึ่งไม่ได้ให้เปล่า แต่เป็นการร่วมลงทุนในลักษณะ Venture Capital เมื่อธุรกิจนั้นๆ มีกำไร ก็จะรับมาเพื่อนำมาต่อยอดกับให้กับผู้ประกอบการรายอื่น โดย 13 ล้านบาทที่ทั้งคู่ดังมานั้นเป็นเงินส่วนที่ตั้งใจใช้เพื่อการกุศล

2. รูปแบบรายการจะให้ผู้เข้าแข่งขันแนะนำธุรกิจที่ตัวเองทำ แผนธุรกิจเบื้องต้น หลังจากนั้นก็จะมีคณะกรรมการสอบถามข้อสงสัย ถ้าหากว่าคณะกรรมการ 1 คนขึ้นไป รู้สึกว่าผู้เข้าแข่งขันเหมาะจะเป็น “เสือติดปีก” ก็จะเข้าสู่ขั้นต่อไป คือ พบกับ The Boss ซึ่งก็คือ ตัน ภาสกรนที นั่นเอง และเขาผู้นี้จะเป็นผู้ตัดสินอีกครั้งว่าควรจะร่วมลงทุนหรือไม่

3. คณะกรรมการ 5 ท่าน ที่เรียกว่าผู้พิสูจน์เสือ ประกอบไปด้วย ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม(The Brain) เป็นตัวแทนนักคิดและนักสร้างสรรค์, อาจารย์วีระ ธีรภัทร(The Knife) คมความคิดพร้อมเชือดทุกธุรกิจ, ดร.วิเลิศ ภูริวัชร(The Heart) นักการตลาดที่เข้าไปนั่งในหัวใจลูกค้า และอาจารย์จตุพล ชมภูนิช(The Talk) ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้คำพูดให้นำมาซึ่งความสำเร็จ  ปิดท้ายด้วย ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล(The Startup) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนับหนึ่งทางธุรกิจ จนได้ฉายาว่า Startup angel โดยอ.จตุพล ชมภูนิช และชาคริต จันทร์รุ่งสกุล จะสลับกันมาร่วมรายการ แต่ผู้พิสูจน์เสืออีก 3 ท่านจะเป็นขาประจำ

คณะกรรมการเสือติดปีก

4. นอกเหนือจากเงินทุนจากนักธุรกิจทั้ง 2 แล้ว ยังมีสปอนเซอร์อีก 4 ราย ประกอบด้วย สิงห์, ธนาคารกรุงศรีฯ, เอไอเอส และอิชิตัน ซึ่งเงินที่เข้ามานั้นก็จะถูกใช้เป็นเงินรางวัลเพิ่มเติม เพราะเงินทุนตั้งต้นก็เพียงพอกับค่าผลิตรายการทั้งสิ้น 13 เทป อยู่แล้ว

5. รายการนี้จะออกอากาศทางช่อง one31 ทุกวันอังคาร เวลา 22.15 น. เริ่มอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งทางช่องวางได้ Positioning เอาไว้ว่าเป็น สถานีโทรทัศน์ระดับMass ของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นการที่มีผังรายการที่ให้ความรู้และแรงบันดาลใจอย่าง “เสือติดปีก” ก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ชม จากเดิมที่ช่องนี้แข็งแกร่งเรื่องละครและซีรี่ย์ โดยตอนนี้ช่องพยายามเพิ่มคอนเทนท์อื่นๆ เข้ามา เช่น รายการศึกวันดวลเพลง ซึ่งเป็นรายการประกวดเพลงลูกทุ่ง 

6. รุ่งธรรม พุ่มสีนิล Programming& Production Management Director, GMM One TV ในฐานะผู้กำกับรายการ กล่าวถึง การเลือกคณะกรรมการว่าเลือกจากความหลากหลาย เช่น อ.วีระ ซึ่งบุคลิกเป็นคนตรง ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะต้องชัดใจไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ออกไปพบความเจ็บปวดจากการทำธุรกิจในชีวิตจริง

7. ในส่วนของผู้เข้าแข่งขันจะต้องมีความน่าสนใจไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ, วิธีคิด, บุคลิก หรือการนำเสนอ ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อบอกออกมาต้องกระตุ้นความสนใจของผู้ชม ให้อยากรู้ต่อ ตอนนี้รายการถ่ายทำไปแล้ว 5 เทป ธุรกิจที่ร่วมแข่งขันแล้ว เช่น เสื้อยืดมือสอง ที่สร้างรายได้หลักล้านต่อเดือน หรือชาที่ช่วยเร่งน้ำนมแม่

8. ท่ามกลางรายการแข่งขันธุรกิจหรือไอเดียสิ่งประดิษฐ์ที่ในระยะหลังมีมากขึ้น ไพบูลย์ กล่าวถึงจุดเด่นของรายการนี้ว่า “อยู่ที่คุณตันเลย เพราะเป็นคนที่เหมาะสมที่สุด เป็นคนที่ทำธุรกิจจริง และออกตังค์จริง” ขณะที่ รุ่งธรรม ก็แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “มีความเป็น Reality ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง คนที่มาเขามีความฝันจริงๆ ทำธุรกิจแล้วจริงๆ และเราก็ให้จริง คณะกรรมการแต่ละคนถามจริง”

ตัน-เสือติดปีก

9. รายการนี้อาจจะถือได้ว่าเป็น Branded Content ของ ตัน อิชิตัน และ อากู๋ แกรมมี่ ในส่วนของแกรมมี่ก็ได้รายการที่เจาะกลุ่มคนเมือง คนทำธุรกิจ และคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการทำเพื่อสังคมของอากู๋ นอกเหนือจากที่เขามีมูลนิธิส่วนตัว ส่วนอิชิตัน นี่คือ การนำเสนอภาพลักษณ์ของตัน 2 ส่วนไปพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องของความเป็นนักธุรกิจที่เฉียบคม มองธุรกิจเด็ดขาด และความเป็นอาเสี่ยใจป้ำ ดังนั้นตั้งแต่ถ่ายทำรายการมาแล้วยังไม่ถึงครึ่งทางด้วยซ้ำ เขาก็เล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้แจกเงินไปจนหมดแล้ว เดี๋ยวคงต้องใส่เพิ่ม คนไหนที่รู้สึกว่าธุรกิจไปได้ ถ้าขอมาได้พอ ผมก็ให้เพิ่มเข้าไปอีก แต่ถ้าไม่ให้ก็คือไม่ให้เลย” 

10. ถึงแม้ว่ารายการเสือติดปีกจะโปรโมทและพยายามอิงกับกระแส “สตาร์ทอัพ” ที่กำลังได้รับความสนใจในภาคธุรกิจในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าแข่งขันหลายรายน่าจะเป็นผู้ประกอบการ SME มากกว่า Startup ซึ่งหมายถึงธุรกิจมี Business Model เชื่อมโยงกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและมีความคิดสร้างสรรค์


แชร์ :

You may also like