HomeBrand Move !!“เถ้าแก่น้อย” ขยายธุรกิจตปท. ออกป๊อบคอร์นสู้ “การ์เรตต์”

“เถ้าแก่น้อย” ขยายธุรกิจตปท. ออกป๊อบคอร์นสู้ “การ์เรตต์”

แชร์ :

 

Tob corn Popcorn

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

10 ปีเถ้าแก่น้อยที่ก่อร่างสร้างขึ้น โดย “ต๊อบ อิทธิพัทธ์” จากโรงงานผลิตสาหร่ายทอด ซึ่งมีพนักงานคือครอบครัว และคนงานอีกเพียงแค่ 6-7 คน ส่งสินค้าไปทดลองขายในเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งขณะนั้นมี 3,000 สาขา ผ่านการทำตลาดอย่างครีเอต จนสามารถสร้างแบรนด์จากเพียง “เอสเอ็มอี” ขึ้นติดอันดับในใจผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
ผ่านไป 1 ทศวรรษ วันนี้ถือเป็นช่วงบ่มเพาะจนสุกงอมของ “ต๊อบ” และแบรนด์เถ้าแก่น้อยในการแตกตัวทางธุรกิจในทุกทิศทุกทาง ทั้งการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ 

นอกเหนือจาก “สาหร่ายทอดกรอบ” เพื่อสร้างรายได้และขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็ถึงเวลาในการมองการบุกไปยังต่างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อก้าวสู่ความเป็น “โกลบอลแบรนด์” อย่างเต็มภาคภูมิ

ธุรกิจล่าสุดที่เปิดตัวในต้นปีนี้ ผู้บริหารหนุ่มเจ้าของเถ้าแก่น้อยเลือกธุรกิจข้าวโพดคั่วสดพรีเมี่ยมมาเป็นตัวสร้างฐานรายได้ตัวใหม่ พร้อมใช้แบรนด์ใหม่คือ “ต๊อบคอร์น” ที่มาจากชื่อเล่นของตัวเอง เส้นทางที่เขาวางไว้คือ เริ่มจาการเปิดสาขาในศูนย์การค้าให้เป็นที่รู้จัก ก่อนที่จะบรรจุถุงขายในช่องทางค้าปลีกต่อไป

“อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ต๊อบคอร์นสาขาแรกเปิดที่เทอร์มินัล 21 ช่วงกลางปีนี้จะเปิดตลาด “ป๊อปคอร์น” บรรจุถุงขายในค้าปลีก

แม้จะเป็นเซ็กเมนต์ที่มีมูลค่าเพียง 300-400 ล้านบาท แต่โตอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เฉพาะปีที่แล้วถึง 50% จากไลฟ์สไตล์คนที่นิยมดูหนังมากขึ้น ทำให้คุ้นเคยกับการบริโภคป๊อปคอร์นมากขึ้น

บวกกับผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามา รวมถึงกระแสจากพรีเมี่ยมแบรนด์ระดับโลก “การ์เรตต์” ที่กำลังจะเข้ามาเปิดสาขาในไทยในวันที่ 29 มกราคมนี้ที่สยามพารากอน

เขาระบุว่า หากเทียบราคาของต๊อบคอร์นจะถูกกว่าแบรนด์ต่างชาติที่กำลังจะเข้ามาถึง 30-50% โดยมีราคาตั้งแต่ 59 บาท ไปถึง 299 บาท ตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งจากการเปิดให้บริการที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยตั้งเป้าปีแรกจะมีรายได้ 100 ล้านบาท แบ่งเป็นโมเดลร้านป๊อปคอร์นคั่วสด และบรรจุถุงขายในค้าปลีก อย่างละ 50:50

แม้จะเลือกใช้แบรนด์ใหม่เพื่อสื่อถึงเซ็กเมนต์ใหม่ แต่เขาก็มั่นใจเพราะแบรนด์ดังกล่าวจะถูกเอ็นดอร์สด้วย “เถ้าแก่น้อย” ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอยู่แล้ว

“ที่ผ่านมาคนรู้จักชีวิตของผมเยอะผ่านหนังวัยรุ่นพันล้าน ในเฟซบุ๊กปัจจุบันผมมีแฟนเพจกว่า 1 ล้านคน สังเกตได้จากคนที่มาซื้อสินค้าที่ร้านต๊อบคอร์น ครึ่งหนึ่งมาจากแฟนคลับในเฟซบุ๊ก”

ความที่มีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ก็ทำให้การขยายตัวสู่ธุรกิจใหม่ๆ ทำได้ง่ายขึ้น และด้วยเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ก็ทำให้กลยุทธ์ของเถ้าแก่น้อยในปีนี้เปลี่ยนไป

“อิทธิพัทธ์” ระบุว่า ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เถ้าแก่น้อยจะมีการใช้ Tag Line หรือสโลแกน ที่คิดไว้เบื้องต้นคือ “Everyday Inspired” ทำหน้าที่เป็นแบรนด์ที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้คน เป็นการปรับกลยุทธ์จากปีที่แล้วที่ใช้ “ศิลปินเกาหลี” มาเป็นเส้นทางลัดเพื่อโกอินเตอร์

“เราจะมีแบรนด์ไอเดีย มีสตอรี่คำคมตามซองเถ้าแก่น้อยที่จะเริ่มเห็นตั้งแต่เมษายนนี้ และจะเป็นกลยุทธ์หลักในการทำตลาด”

“อิทธิพัทธ์” ขยายความว่า ส่วนแผนต่างประเทศเป็นยุคที่จะรุกตลาดอย่างจริงจัง ทั้งการสร้างโรงงานในต่างประเทศอีกไม่เกิน 3 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโลเกชั่น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ลงทุน 100 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา ที่จะเริ่มเดินเครื่องในปีหน้าเพื่อรองรับตลาดส่งออกโดยเฉพาะ

ปัจจุบันบริษัทส่งออกสินค้าไปยัง 27 ประเทศทั่วโลก จากนี้มีแผนขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในจีนที่เป็นเป้าหมายสำคัญ โดยตั้งเป้า 5 ปีจะขึ้นเป็นสาหร่ายทอดกรอบอันดับ 1 ในเอเชีย มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท และเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า

“อีก 10 ปีข้างหน้าเราต้องการเป็นโกลบอลแบรนด์ ขายไม่ต่ำกว่า 100 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นรายได้ 1 หมื่นล้านบาท จากปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เกือบ 3 พันล้านบาท”

เป็นเส้นทางที่ดูเหมือนไกล แต่เป็นความฝันที่ผู้บริหารหนุ่มวัย 29 ปีคนนี้

เชื่อว่าไม่ไกลเกินเอื้อม และสามารถทำให้เป็นจริงได้ โดยอาศัยพลังของแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” เป็นใบเบิกทาง

 

Partner : ประชาชาติธุรกิจ 


แชร์ :

You may also like