HomeBrand Move !!เจาะลึกชัยชนะ โอบามา ทำไม 2 สมัยซ้อน ?

เจาะลึกชัยชนะ โอบามา ทำไม 2 สมัยซ้อน ?

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

 

หลังจากชาวอเมริกันได้ลุ้นกับการเลือกตั้งครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง US Presidential Election 2012  สรุปว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นสมัยที่ 2 โดยได้รับคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง เหนือนายมิตต์ รอมนีย์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์  SCB EIC (Economic Intelligence Center) ได้วิเคราะห์ฺสาเหตุการได้รับชับชนะของบารัค โอบามา และคาดการณ์เศรษฐกิจ-การลงทุนของสหรัฐฯและไทย

ชัยชนะของประธานาธิบดีโอบามามาจากผลชี้ขาดในรัฐที่มีการแข่งขันสูง (swing states)

ผลการเลือกตั้งในรัฐที่ฐานเสียงหลักเป็นของพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นไปตามที่คาด ในขณะที่ชัยชนะสำคัญของประธานาธิบดีโอบามามาจากผลชี้ขาดในรัฐที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐโอไฮโอและรัฐเวอร์จิเนีย โดยสำนักข่าว CNN และหนังสือพิมพ์ New York Times คาดว่าเมื่อมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีโอบามาจะได้รับคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 303 เสียง และนายมิตต์ รอมนีย์ จะได้ 206 เสียง

– คะแนนเสียงของโอบามาจำนวนมากมาจากประชากรต่างเชื้อชาติและกลุ่มสตรี

ผลสำรวจของ Exit Poll หลายสำนักบ่งชี้ว่าประธานาธิบดีโอบามาได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากประชากรต่างเชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรผิวสี และประชากรที่ใช้ภาษาสเปน (Hispanics) รวมถึงกลุ่มผู้หญิง ความสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงถึงลักษณะทางประชากรและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของสหรัฐฯ ซึ่งมีลักษณะเปิดกว้างทางโอกาสมากขึ้นแก่ชนกลุ่มน้อยและผู้เสียเปรียบในสังคมซึ่งอาจรวมถึงชนชั้นกลางจำนวนมาก และสะท้อนให้เห็นความสำเร็จของรัฐบาลโอบามาในการช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้ผ่านนโยบายต่างๆ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการประกันสุขภาพ (Medicare)

– สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภา (The Senate) และสภาล่าง (House of Representatives) ยังคงมีลักษณะแบ่งแยก

พรรคเดโมแครตยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ขณะที่เสียงข้างมากของสภาล่างเป็นของพรรครีพับลิกัน ลักษณะดังกล่าวจะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณากฎหมายสำคัญต่างๆ อย่างไรก็ดี ชัยชนะอีกครั้งหนึ่งของประธานาธิบดีโอบามาซึ่งประหนึ่งเป็นการยืนยันบทบาทผู้นำ น่าจะช่วยให้พรรครีพับลิกันมีท่าทีประนีประนอมต่อกฎหมายที่เสนอโดยพรรคเดโมแครตมากขึ้น

– การเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) จะมีโอกาสบรรลุข้อสรุปได้เร็วขึ้น และเสร็จสิ้นภายในต้นปี 2013

แม้ว่าจะยังคงมีความเห็นต่างระหว่างวุฒิสภาและสภาล่างซึ่งสะท้อนผ่านเสียงข้างมากที่มาจากทั้งสองพรรคใหญ่ แต่ความต่อเนื่องในแง่ของตัวประธานาธิบดี คณะผู้บริหาร ข้าราชการระดับสูง รวมถึงความชัดเจนของชุดนโยบายการคลัง จะทำให้การสานต่อการเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุมาตรการลดภาษี การตัดลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ และการขยายเพดานหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงจากหน้าผาทางการคลัง ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และน่าจะบรรลุข้อสรุปได้ภายในต้นปี 2013 (อ่านเพิ่มใน Outlook ไตรมาส 4/2012, In Focus: US Fiscal Cliff ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และโอกาสความเป็นไปได้)

– ความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนลดลง

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของนายโอบามา ยังหมายถึงความต่อเนื่องในด้านนโยบายทางการเงินภายใต้การนำของนายเบน เบอนันเก้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมานายเบอนันเก้และรัฐบาลโอบามาสามารถทำงานร่วมกันได้ดี และมีความเห็นสอดคล้องกันในประเด็นหลักทางเศรษฐกิจ ความต่อเนื่องดังกล่าวจะช่วยลดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน ในขณะที่มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในรอบที่ 3 (QE3) น่าจะดำเนินต่อไปกระทั่งนายเบอนันเก้หมดวาระการดำรงตำแหน่งในสมัยนี้ในเดือนมกราคม 2014 เป็นอย่างน้อย

– ไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนทางตรงเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มให้น้ำหนักในการลงทุนเพิ่มในไทยในช่วงที่ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต (นายบิล คลินตัน และนายบารัค โอบามา) มากกว่าในวาระประธานาธิบดีของนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน* นอกจากนี้ บทบาทในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลโอบามาต่อจีนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาศัยเวทีระหว่างประเทศในแก้ไขปัญหาข้อพิพาทมากกว่าการเผชิญหน้า จะช่วยลดความตึงเครียดในห้วงเวลาที่จีนมีการถ่ายโอนอำนาจและผู้นำใหม่ของจีนจำเป็นต้องแสดงบทบาทในเวทีโลก ความสัมพันธ์ที่เคารพบทบาทต่อกันของทั้งสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จะช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและความร่วมมือในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ และส่งผลดีต่อไทยในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตของโลกที่สำคัญแห่งหนึ่ง


แชร์ :

You may also like