ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนว่าธุรกิจสินเชื่อบุคคล (Personal Loan) จะไม่ค่อยหอมหวาน เพราะตลาดอยู่ในสภาวะ “ไม่เติบโต” จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้การแข่งขันของตลาดดุเดือดขึ้น เพราะผู้เล่นต่างงัดสารพัดกลยุทธ์มาช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดที่หดตัวกันอย่างหนัก เพื่อรักษาการเติบโตของตัวเองเอาไว้ ซึ่งหนึ่งในผู้เล่นอย่างบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ของ “บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “KTC” ก็ปรับตัวเองต่อเนื่อง และปีนี้ขอพลิกเกมสู้ ด้วยการดึงพันธมิตรมือถือขยายลูกค้าใหม่ พร้อมส่งโปรโมชั่น ผ่อน 0% นานสูงสุด 24 เดือนมาชิงลูกค้าในตลาด
กลยุทธ์นี้จะช่วยให้ “เคทีซี พราว” ขยายฐานลูกค้าใหม่ และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของ KTC ได้แค่ไหน? ท่ามกลางตลาดสินเชื่อบุคคลที่หดตัว ตามมาฟังวิธีคิดจาก “คุณพิชามน จิตรเป็นธรรม” ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ธุรกิจสินเชื่อบุคคลไม่หวาน แถมทำ “ยาก” ขึ้น
ถึงแม้ 3 เดือนแรกของปี 2568 พอร์ตธุรกิจสินเชื่อของ KTC จะเติบโต 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลมีการเติบโต 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่คุณพิชามน ยอมรับว่า การทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างยากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะตลาด “ติดลบ” มาตลอด และปีนี้มองว่าภาพรวมธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภคน่าจะยัง “ทรงตัว” หรือ เติบโตไม่เกิน 1% จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้มีความกังวลเรื่องคุณภาพหนี้
โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า ตลาดบัตรเครดิตอยู่ที่ 460,000 ล้านบาท หดตัวราว 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล รวมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอยู่ที่ 851,901 ล้านบาท หดตัว 0.21% เฉพาะสินเชื่อไม่มีหลักประกันอยู่ที่ 476.728 ล้านบาท ลดลง 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นตลาดเดียวที่มีการเติบโต 7.5% แต่เป็นการเติบโตแบบชะลอตัวจากเดิมที่เติบโต 2 หลัก
อีกทั้งเมื่อมาดูสถานการณ์แข่งขันของตลาด ยังรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแย่งชิงฐานลูกค้ากันในตลาด โดยใช้กลยุทธ์ “โปรโมชั่น ผ่อน 0%” เป็นอาวุธในการดึงลูกค้าให้ Switch Brand จากเดิมจะเห็นโปรโมชั่น ผ่อน 0% สูงสุด 10 เดือน ทว่าตอนนี้เริ่มเห็น 0% สูงสุด 36 เดือน นั่นจึงทำให้ปีนี้ KTC ไม่ได้ตั้งเป้าเติบโตสูงมากเหมือนกับ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 3% เท่านั้น
“เราไม่ได้อยากเห็นพอร์ตสินเชื่อที่โตแบบล้นหลาม แต่คุมคุณภาพลูกหนี้ไม่ได้ จึงเน้นเติบโตแบบระมัดระวัง เพราะตัวชี้วัดความสำเร็จของการทำธุรกิจนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของพอร์ตสินเชื่อ แต่อยู่ที่คุณภาพลูกหนี้และกำไรหลังหัก NPL แล้ว” คุณพิชามน บอกถึงการขยายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2568
ดึงพันธมิตรมือถือ ขยายลูกค้าใหม่ 1,000 ราย
สำหรับวิธีที่ KTC จะใช้ดันพอร์ตสินเชื่อให้เติบโตท่ามกลางตลาดที่ไม่โตและการแข่งขันรุนแรง คุณพิชามน บอกว่า หัวใจสำคัญยังเน้นการรักษาคุณภาพลูกหนี้ แต่จะปรับวิธีในการรักษาฐานลูกเดิมและการขยายลูกค้าใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ตลาด โดยการรักษาฐานลูกค้าเดิมของเคทีซี พราวที่มีจำนวน 690,178 บัญชี (ณ เดือนมีนาคม 2568) จะเน้นพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานของบัตรให้ตอบพฤติกรรมการใช้งาน เพื่อให้ลูกค้าใช้วงเงินในบัตรเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมถึงมีรอยัลตี้ โปรแกรมให้ลูกค้าที่ชำระดี ผ่านโครงการเคลียร์หนี้ที่ทำมา 15 ปี และปีนี้ยังทำต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันช่วยลูกหนี้ไปกว่า 6,000 ราย มูลค่ารวม 51 ล้านบาท
ส่วนการขยายฐานลูกค้าใหม่ ปีนี้จะอาศัยร้านค้าพันธมิตรที่มีสาขาทั่วประเทศและเป็นจุดแข็งของ KTC เป็นช่องทางในการขยายฐานลูกค้าใหม่ ให้สามารถสมัครบัตรกดเงินสด เคทีซี พราว ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ผ่านระบบ e-Application ที่สามารถสมัครได้ทันที และรู้ผลไวใน 30 นาที โดยในเฟสแรกได้นำร่องจับมือ 4 พันธมิตรที่เป็นร้านจำหน่าย Smartphone ก่อน ได้แก่ AIS, True Shop, Advice และ TG พร้อมโปรโมชั่น ผ่อน 0% นานสูงสุด 24 เดือน
“ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เสริมจากบัตรเครดิต และอาจมีภาระในการผ่อนหลายอย่าง เราจึงมีทางเลือกในการผ่อนที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า แต่อีกกลุ่มที่เราจะได้คือ ฐานลูกค้าของคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้ให้เรามีพอร์ตสินเชื่อโตขึ้น แม้ลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะแคบลงเมื่อเทียบกับฐานลูกค้าสินเชื่อบุคคลทั่วไป แต่เป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้วงเงินค่อนข้างใหญ่ โดยพบว่า กลุ่มนี้มียอดใช้จ่ายบัตรต่อรายสูงกว่าสินเชื่อปกติกว่า 50% ทั้งยังเกิดการใช้จ่ายทันที”
คุณพิชามน บอกถึงโอกาสของลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งจากการทดลองทำตลาดมาตั้งแต่เดือนมกราคม ปัจจุบันมีลูกค้าส่งใบสมัครเกือบ 1,000 ราย และอนุมัติไปกว่า 100 รายแล้ว โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการขยายพันธมิตรเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์รถยนต์ สุขภาพและความงาม โดยตั้งเป้าปีนี้จะขยายฐานลูกค้าใหม่จากช่องทางนี้เพิ่มขึ้น 1,000 ราย และปีหน้าสัดส่วนของช่องทางนี้น่าจะเพิ่มขึ้น
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE