ในช่วง 2 ปีมานี้ ธุรกิจการบินไทยเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น ดูได้จากปริมาณผู้โดยสารกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางเส้นทางบินมีการเติบโตเท่ากับช่วงก่อนการระบาดโควิด โดยเฉพาะตลาดคนไทยเดินทางไปยุโรป และคนยุโรปเดินทางมาไทย นับเป็นอีกตลาดที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ สะท้อนได้จากอัตราการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการสายการบินที่ให้บริการเส้นทางนี้เติบโตตามไปด้วย หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa)
นั่นเลยทำให้สายการบินลุฟท์ฮันซ่าต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดให้เข้มข้นขึ้น ด้วยการเพิ่มความถี่เที่ยวบินให้สอดรับกับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่พุ่งขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในขวบปีที่ 65 นี้อย่างต่อเนื่อง
“ไทย” Top 5 Destination ของลุฟท์ฮันซ่า
แม้ดีมานด์การใช้บริการเส้นทางบินนี้มีจำนวนมาก แต่หากมองในแง่การแข่งขันแล้ว ถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับเส้นทางบินอื่นๆ โดยเฉพาะเที่ยวบินตรงไทย-ยุโรป เพราะมีผู้ให้บริการแค่ 2 รายเท่านั้นคือ กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า และการบินไทย
สำหรับลุฟท์ฮันซ่า เป็นสายการบินประจำชาติของเยอรมนี เริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงครั้งแรกในไทยเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2502 โดยออกเดินทางจากเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี มายังกรุงเทพฯ ด้วยเที่ยวบิน LH640 ซึ่งขณะนั้นเรียกกันว่า Super Constellation ตอนนั้นใช้เวลาบินเกือบ 2 วัน ผ่าน 6 เมืองก่อนมาถึงไทย และได้ขยายการบริการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับวางจุดยืนชัดเจนเป็นสายการบินพรีเมียม มาถึงทุกวันนี้เป็นระยะเวลา 65 ปี
ปัจจุบันกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าเป็นสายการบินใหญ่สุดในยุโรปที่ให้บริการเที่ยวบินตรงมายังไทย โดยมีเครือข่ายให้บริการรวม 4 สายการบิน ได้แก่ สวิส แอร์ไลน์, ออสเตรียน แอร์ไลน์, เอเดลไวซ์ แอร์ไลน์ และลุฟท์ฮันซ่า มีรายได้เป็นอันดับ 4 ของโลก โดย คุณเฟลิเป้ บอนิฟาตติ รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และกิจการร่วมค้าในภูมิภาคตะวันออก กล่าวว่า ในปี 2566 สร้างรายได้มากถึง 3.54 หมื่นล้านเหรียญยูโร และธุรกิจหลักที่สร้างรายได้มากสุดคือ การบินพาณิชย์
ขณะที่จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการของสายการบิน คุณอันลี โด ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มบริษัทลุฟท์ฮันซ่า กล่าวว่า ในปี 2566 มีผู้โดยสารกว่า 120 ล้านราย เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน โดย “ไทย” เป็น Top 5 Destination ของลูกค้าลุฟท์ฮันซ่า โดยในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไทยใช้บริการของสายการบินเดินทางไปยุโรปมากถึง 328,000 คน ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ตั้งแต่นักธุรกิจไปจนถึงนักท่องเที่ยว และในช่วงไฮซีซันหรือ Winter Season นี้คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ที่นั่ง
ลุยเพิ่มเที่ยวบิน-สร้างประสบการณ์เดินทางมัดใจนักเดินทาง
จากความต้องการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มบริษัทลุฟท์ฮันซ่า ต้องปรับแผนการให้บริการเที่ยวบินระหว่างไทยและยุโรปเพิ่มเป็น 31 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปีที่ผ่านมามีเที่ยวบินให้บริการ 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันก่อนจะเกิดการระบาดโควิด ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์เดินทางที่สะดวกสบายให้กับผู้โดยสารมากขึ้น ผ่านการปรับปรุงเครื่องบินให้ทันสมัย รวมถึงนำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการบิน
โดยล่าสุดได้นำเครื่องบิน Air Bus A380 และที่นั่งระดับ First Class กลับมาให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกับทดลองให้บริการ Green Fares ใน 12 เส้นทางบิน รวมถึงกรุงเทพฯ-เวียนนา เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ซึ่งคุณอันลี โด บอกว่า ผลตอบรับจากนักท่องเที่ยวดีมาก แม้ต้นทุนจะสูงกว่า เนื่องจากผู้โดยสารตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2567 ลุฟท์ฮันซ่าสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 47.8 หมื่นตัน และมีแผนขยายการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันลุฟท์ฮันซ่าซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนเป็นอันดับ 5 ของโลก และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2593
Photo Credit : Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย (https://number24.co.th/)
#Number24xShutterstockThailand
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE