HomeSponsored“Aunyanuphap Consulting” บริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัว ผู้อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์การสร้าง “ธุรกิจครอบครัว” ให้เป็นมืออาชีพและส่งต่ออย่างยั่งยืน

“Aunyanuphap Consulting” บริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัว ผู้อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์การสร้าง “ธุรกิจครอบครัว” ให้เป็นมืออาชีพและส่งต่ออย่างยั่งยืน

แชร์ :

“ธุรกิจครอบครัว” (Family Business) ถือเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะกิจการกว่า 80% เป็นธุรกิจครอบครัว และสร้างรายได้กว่า 70% ของ GDP แต่เมื่อสมาชิกครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น บวกกับการแข่งขันของตลาดที่รุนแรง และมีโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา จึงทำให้ธุรกิจครอบครัวต้องปรับตัวอย่างมาก หากต้องการ “อยู่รอด” และ “ไปต่อ” แบบไม่ตกขบวน ซึ่งนอกจากการเติมความรู้ และกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ แล้ว อีกปัจจัยที่มีความสำคัญคือ “ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว” เพราะจะช่วยเชื่อมสัมพันธ์คนในครอบครัวให้เข้าใจกันและสามารถวางกลยุทธ์ รวมถึงออกแบบการบริหารธุรกิจครอบครัวได้อย่างถูกต้อง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว” จึงเกิดขึ้น และมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ บริษัท อัญญานุภาพ คอนซัลติ้ง จำกัด (Aunyanuphap Consulting) ทำไมที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวจึงจำเป็นสำหรับ Family Business และที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวจะเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวให้เติบโตยั่งยืนได้อย่างไร? เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น Brand Buffet พามาถอดมุมมอง วิธีคิดของ คุณธีรภาพ อัญญานุภาพ ผู้ก่อตั้ง Aunyanuphap Consulting รวมถึงสถานการณ์ธุรกิจครอบครัวในไทย พร้อมกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจนับจากนี้ที่ต้องการเห็นธุรกิจครอบครัวแข็งแรงและเติบโตอย่างมั่นคง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การพูดคุยหาข้อตกลง คือพื้นฐานสำคัญ “ธุรกิจครอบครัว”

จุดเริ่มต้นของ “Aunyanuphap Consulting” มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ทำธุรกิจครอบครัวมาก่อน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากช่วยเหลือธุรกิจครอบครัว เลยตัดสินใจไปเรียนด้านการบริหารและออกแบบธุรกิจครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ ประกอบกับได้มีโอกาสทำงานด้านการให้คำปรึกษาพัฒนาองค์กรแก่หลายธุรกิจครอบครัวไทย จากนั้นกลับมาทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่สำนักงานกฎหมาย ทำให้คุณธีรภาพได้เข้าใจ และเห็นวัฎจักรของธุรกิจครอบครัว ตั้งแต่เริ่มต้น เติบโตยิ่งใหญ่ เริ่มมีความเห็นต่าง เกิดการทะเลาะ และเข้าสู่ช่วงขาลง จึงซึมซับและเห็น Pain Point ของธุรกิจครอบครัว และค้นพบว่า กุญแจของความสำเร็จของหลายธุรกิจครอบครัวอาจไม่ได้เกิดจากการให้คำปรึกษาเป็นเรื่องๆ (Technical Consultant) เช่น กฎหมาย ภาษี การเงิน การตลาด ลดต้นทุน เป็นต้น เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการให้คำปรึกษาที่เข้าใจบริบทของธุรกิจครอบครัว (Entity Consult) และนำเสนอ Solution ที่คำนึงถึงทั้งความต้องการในมิติของธุรกิจและครอบครัวให้เหมาะสมแก่ลูกค้าแต่ละราย

คุณธีรภาพ อัญญานุภาพ ผู้ก่อตั้ง บริษัท อัญญานุภาพ คอนซัลติ้ง จำกัด

นอกจากนี้ ธุรกิจทั่วไปมักมีการวางกลยุทธ์ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยภายนอก (ทางธุรกิจ) เพื่อสร้างผลกำไรและคืนผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น แต่เนื่องจากธุรกิจครอบครัวมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนธุรกิจทั่วไป เพราะนอกจากปัจจัยภายนอกที่ต้องคำนึงถึงแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยภายใน (ครอบครัว) อีกด้วย การวางกลยุทธ์จึงต้องให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลทั้งเรื่องธุรกิจ การคงความเป็นเจ้าของ (การถือหุ้น) และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว หรือเรียกได้ว่าเป็นการวางกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อรุ่นถัดไป ซึ่งคุณธีรภาพได้นิยามกลยุทธ์นี้ว่า “Generational Strategy” บวกกับความตั้งใจที่อยากวางรากฐานธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น เพราะที่ผ่านมาอัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวไทยลดลงทุกปี ทำให้เห็นว่าสามารถนำเอาประสบการณ์ที่มีมาช่วยธุรกิจครอบครัวได้ จึงตัดสินใจเปิดบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว ภายใต้ชื่อ “Aunyanuphap Consulting”

“ผมไม่ได้บอกว่า Technical Consult ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจครอบครัว แต่ผมมองว่าความเป็นธุรกิจครอบครัวมีมากกว่าการให้คำปรึกษาเรื่องทางเทคนิค เพราะเมื่อครอบครัวขยาย แต่ละคนมีความคิดแตกต่าง พ่อเห็นอย่าง แม่เห็นอย่าง ส่วนลูกมองอีกอย่าง ทั้งยังมี Financial Need มากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อธุรกิจสูงมาก ธุรกิจครอบครัวจึงต้องหาข้อตกลงภายในครอบครัว วางโครงสร้าง จัดทำกฎระเบียบให้เรียบร้อยก่อน หลังจากนั้น Technical ถึงจะตอบโจทย์ และวางแผนครอบครัวควบคู่ไปกับแผนธุรกิจ” คุณธีรภาพ บอกถึงความสำคัญของการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างถูกต้อง

ดังนั้น หากต้องการวางกลยุทธ์ของธุรกิจครอบครัวให้เกิดผลลัพธ์ ควรเริ่มจากการพูดคุยหาข้อตกลงภายในครอบครัว เช่น อนาคตของธุรกิจครอบครัว บทบาทหน้าที่คนในครอบครัวและเขยสะใภ้ ทรัพย์กงสี การสืบทอดกิจการ เป็นต้น จะทำให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและแผนอนาคตร่วมกันของธุรกิจครอบครัวก่อน ซึ่งที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวจะมีบทบาทในส่วนนี้ หลังจากนั้น Technical Consultant จึงเข้ามามีบทบาทเพื่อจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ตัวอย่างเช่น สมาชิกครอบครัวตกลงว่าอนาคตของธุรกิจครอบครัวคือนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวจะช่วยแนะนำในการกำหนดบทบาทหน้าที่คนในครอบครัว การบริหารทรัพย์กงสี เพื่อให้มีความชัดเจน ถูกต้องและพร้อมที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วหลังจากนั้น จึงให้ที่ปรึกษาการเงิน กฎหมายและภาษี แนะนำเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

3 จุดเด่น สร้างความแตกต่าง และเติบโต

เมื่อพูดถึงที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว หลายคนอาจมองว่าเป็นธุรกิจใหม่ แต่ คุณธีรภาพ บอกว่า ต่างประเทศมีมานานแล้ว ส่วนในไทย เพิ่งเกิดมาได้ประมาณ 5-10 ปี ซึ่งผันตัวจากการเป็นที่ปรึกษาอื่น อาจารย์ นักวิชาการ หรือผู้ให้บริการในด้านต่างๆ ที่เห็นความสำคัญและเข้ามาให้คำปรึกษากับธุรกิจครอบครัว

ในขณะที่ “Aunyanuphap Consulting” มีจุดแข็งแตกต่างจากที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวอื่นๆ เพราะมีพื้นฐานมาจากธุรกิจครอบครัวโดยตรง จึงสามารถเข้าใจบริบทของลูกค้า สามารถวางแผนได้ครอบคลุมและนำไปปรับใช้ได้จริง ขณะเดียวกันยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเจนเนอเรชั่นได้ดี รวมทั้ง ทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดมาก และจริงใจกับลูกค้า โดยการทำงานแต่ละครั้งจะรับลูกค้าโดยจำกัดจำนวน เพื่อให้สามารถดูแลทุกครอบครัวได้เต็มที่

“ผมจะทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด และแนะนำอย่างตรงไปตรงมาเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจครอบครัว ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งในครอบครัว เช่น บางทีลูกค้าอยากจะปรับโครงสร้างกิจการ แต่เป็นช่วงที่ลูกหลานกำลังอยู่ในช่วงค้นหา และพิสูจน์ตัวเอง ผมก็จะบอกว่าไม่ต้องรีบทำ ให้รออีกระยะ หรือธุรกิจอีกรายที่กำลังวางแผนเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่สนใจอยากวางแผนสืบทอดกิจการ ผมก็จะแนะนำให้วางโครงสร้างการถือหุ้นก่อน เพราะมีความสำคัญกับการคงความเป็นธุรกิจครอบครัวเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับสร้างความมั่งคั่งควบคู่กันไปด้วย ในขณะที่การสืบทอดกิจการสามารถทำได้ในระยะถัดไป”

นั่นเลยทำให้ธุรกิจครอบครัวเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจ จากช่วงแรกที่มีฐานลูกค้าไม่มาก ก็เริ่มบอกต่อปากต่อปาก จนปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ากว่า 50 ราย ครอบคลุม 12 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วยเทรดดิ้ง การผลิต อสังหาริมทรัพย์ ไอที โลจิสติกส์ F&B เหมือง ก่อสร้าง การเงิน  กีฬา เกษตร และครอบครัวนักการเมือง โดยเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีตั้งแต่ระดับ SME จนถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวระดับกลาง (Medium Enterprise) รายได้อยู่ที่ 1,000 – 5,000 ล้านบาท

“ธรรมนูญครอบครัว” บริการสุดฮิตธุรกิจครอบครัว

ด้วยความที่การบริหารธุรกิจครอบครัวมีความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป คุณธีรภาพจึงได้นำพื้นฐานที่ทำธุรกิจครอบครัวและประสบการณ์เป็นที่ปรึกษามาพัฒนาและออกแบบโมเดลการให้บริการธุรกิจครอบครัวชื่อว่า โมเดลการบริหารธุรกิจครอบครัวเพื่อรุ่นถัดไป (Family Enterprise Multi-Generation Framework (FeF)) โดยได้ให้บริการ 4 ด้านสำคัญ ดังนี้

  1. การกำหนดอนาคตภายในธุรกิจครอบครัว
    การทำ Family Business Evaluation เพื่อบอกช่องว่างและสิ่งสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวควรดำเนินการต่อ การวางกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นการเติบโต ขยายกิจการ หรือ Exit Planning หรือแม้แต่การหาข้อตกลงภายในครอบครัวในประเด็นที่ไม่สามารถหาข้อสรุประหว่างกันได้
  2. การวางโครงสร้างธุรกิจครอบครัว
    เป็นการวางโครงสร้างการถือหุ้น และการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง เพราะหลายครั้ง พบว่าเมื่อครอบครัวได้วางกลยุทธ์เสร็จ แต่คนในครอบครัวไม่เปลี่ยนตัวเอง เนื่องจากยังติดภาพการทำงานเดิม หรือกับดักความสำเร็จ ทำให้แผนโครงสร้างที่วางไว้ ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การปรับโครงสร้างย่อมมาพร้อมกับการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลงที่ครอบครัววางไว้
  3. การทำธรรมนูญครอบครัว
    การวางกฎระเบียบข้อตกลงของคนในครอบครัวให้ชัดเจนโปร่งใสในการบริหารจัดการและอยู่ร่วมกันเพื่อคงความเป็นเจ้าของจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านเครื่องมือ Family Charter Canvas ทำให้จัดทำธรรมนูญครอบครัวได้อย่างครอบคลุมและนำไปสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงบริการ Implement ธรรมนูญครอบครัวเพื่อให้ข้อตกลงของครอบครัวสามารถนำไปใช้ได้จริง
  4. การวางแผนการสืบทอดกิจการ
    เป็นการวางแผนการสืบทอดความเป็นเจ้าของและตำแหน่งบริหาร โดยสร้างกระบวนการ วิเคราะห์ศักยภาพสมาชิกครอบครัว สร้างทักษะที่จำเป็น และวางกฎเกณฑ์การทำงาน พิสูจน์ความสามารถก่อนเข้ารับตำแหน่งบริหารภายในธุรกิจครอบครัว

โดย 4 บริการนี้ คุณธีรภาพ บอกว่า การวางโครงสร้างธุรกิจครอบครัวและธรรมนูญครอบครัว เป็น 2 บริการฮอตสุดช่วงนี้ โดยเฉพาะธรรมนูญครอบครัว ลูกค้าทำเรื่องนี้กว่า 30 รายจากลูกค้ากว่า 50 ราย ซึ่งแต่ละเคสจะใช้เวลาในการให้บริการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทบริการและความซับซ้อนของแต่ละครอบครัว ยกตัวอย่าง การทำธรรมนูญครอบครัว ครอบครัวหนึ่งทำธุรกิจมา 23 ปี มีแค่ 2 รุ่น สมาชิก 6 คน มีบริษัทไม่เยอะจึงใช้เวลาเพียง 6 เดือน แต่อีกหนึ่งครอบครัวมีสมาชิกกว่า 100 คน มีหลายบริษัท เวลาในการทำจึงยาวนานกว่า เป็นต้น

เน้น “ป้องกัน” มากกว่า “แก้ไข”

เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น คุณธีรภาพได้ยกตัวอย่างธุรกิจครอบครัวที่เคยให้คำปรึกษา ซึ่งดำเนินธุรกิจเทรดดิ้งด้านเคมีภัณฑ์ก่อสร้างและการเกษตร คุณพ่อซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจอายุกว่า 90 ปี และรุ่นที่ 2 มีพี่น้อง 4 คน อายุประมาณ 50-60 ปี รายได้บริษัทอยู่ที่ 2,000 ล้านบาทต่อปี โดยโจทย์คือ คุณพ่ออยากวางแผนสืบทอดกิจการ และต้องการให้ผู้ชายเป็นผู้สืบทอด แต่น้องๆ ทุกคนก็ต้องได้ทรัพย์สินที่เท่ากันด้วย

ในกรณีนี้ พอได้รับโจทย์มา บริษัทจึงเริ่มจากการประเมินความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ด้วยความที่สมาชิกในครอบครัวยังพอคุยกันได้ แม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นทะเลาะรุนแรง บวกกับยังไม่มีการวางกฎระเบียบของบ้าน และคุณพ่อวางเป้าหมายให้ธุรกิจเทรดดิ้งของครอบครัวเติบโตต่อเนื่องไป ดังนั้น จึงแนะนำให้ครอบครัวจัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อวางกฎระเบียบการอยู่ร่วมกัน และหาวิธีดูแลสมาชิกครอบครัวอย่าง “เท่าเทียม” ไม่ใช่ “เท่ากัน” แทนที่จะเป็นการวางแผนสืบทอดกิจการตามโจทย์แรกที่คุณพ่อได้ให้ไว้ ซึ่งทุกคนได้ลองคิดดูแล้วจึงตกลงในการจัดทำธรรมนูญครอบครัว ในขั้นต่อมา บริษัทจึงใช้เครื่องมือ และกระบวนการตั้งคำถามกับทุกคน เช่น “อยากส่งมอบธุรกิจครอบครัวให้ลูกหลานแบบไหน” แต่ละคนก็ตอบตามความคิดของตัวเองแตกต่างกันไป ทุกคนจึงเริ่มเห็นภาพว่าวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกันนี่เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และเริ่มหันมาหาข้อตกลงร่วมกันเพื่ออนาคตของธุรกิจครอบครัว

จากนั้นจึงใช้เวลาในการพูดคุยและวางแผนธรรมนูญครอบครัวประมาณ 5-6 เดือน โดยสุดท้ายพี่ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ชายได้ธุรกิจเคมีภัณฑ์ไป แต่ครอบครัวตกลงว่าจะมีการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยได้จัดตั้งบริษัทกงสี (Family Holding Company) ที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นธุรกิจตรงกลางที่แยกความเป็นกงสีออกจากธุรกิจที่กำลังจะพัฒนากลายเป็นธุรกิจแบบมืออาชีพ นอกจากนี้ Family Holding Company ยังเป็นแหล่งเงินที่ช่วยหล่อเลี้ยงครอบครัวทุกคน รวมถึงหากน้องคนไหน อยากเปิดธุรกิจใหม่ที่ตนเองสนใจก็สามารถทำได้ โดยให้น้องเป็นผู้ถือหุ้นเจ้าภาพ เป็นผู้บริหารธุรกิจใหม่ แต่มีกฎของครอบครัวกำหนดโดยให้ Family Holding Company เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนหนึ่งเพื่อคงความเป็นธุรกิจครอบครัวไว้ ซึ่งนี้ก็ถือเป็นกลยุทธ์การกระจายธุรกิจ (Diversify) เพื่อสร้างการเติบโต บริหารความเสี่ยง ขจัดความขัดแย้งให้กับธุรกิจครอบครัวได้

นอกจากเคสที่ประสบความสำเร็จโดยที่ทุกคนยังคงความเป็นกงสีเดียวกันแล้ว คุณธีรภาพก็แชร์ถึงอีกสูตรความสำเร็จที่ให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจครอบครัวไป เช่นตัวอย่าง ธุรกิจก่อสร้างแห่งหนึ่งเข้ามาปรึกษากับบริษัท หลังคุณพ่อเสียชีวิต โดยครอบครัวนี้มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 4 คน ซึ่งผู้ชายเป็นคนมีนิสัยตรงไปตรงมาและทะเยอทะยาน ส่วนผู้หญิง Conservative มาก ด้วยสไตล์พี่น้องที่แตกต่างจึงไม่มีการสื่อสารกัน จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำให้สุดท้ายทุกคนอยากแยกธุรกิจจากกัน (ครอบครัวมีหลายธุรกิจ) บริษัทจึงเข้าไปวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อจัดสรรหุ้น จัดสรรทรัพย์สินให้เหมาะสมโดยไม่มีการทะเลาะกัน ความสำเร็จดังกล่าวแม้ไม่ใช่ความสำเร็จตามแบบฉบับที่หลายกงสีที่วาดฝันไว้ แต่นี่คือความสำเร็จของครอบครัวดังกล่าวที่ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีความรักใคร่ต่อกัน แม้ไม่ได้ทำธุรกิจร่วมกัน หรือที่คุณธีรภาพเรียกว่า “แยกย้ายอย่างไรให้ยังรักกันอยู่”

แต่หากธุรกิจครอบครัวไหนยังมีจุดประสงค์ที่อยากจะให้คงความเป็นกงสีเดียวกัน บทเรียนที่ได้จากการเข้าไปให้คำปรึกษาเคสนี้ คือ อย่ารอให้ปัญหาเกิด อย่ารอให้ปัญหาเรื้อรัง เพราะหากเกิดแล้วไม่ว่าใครก็แก้ยาก ดังนั้น กลยุทธ์ของบริษัทจึงเน้นไปที่ “การป้องกัน” มากกว่า “การแก้ไข” โดยเป็นการป้องกันเชิงรุก นำทุกปัญหาใต้พรมของธุรกิจครอบครัวมาพูดคุยกันตอนที่สมาชิกในครอบครัวยังคุยกันได้เพื่อหาข้อตกลงให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ ทั้งนี้ คุณธีรภาพยังย้ำเพิ่มเติมว่า “ทุกครอบครัวมีปัญหาเสมอ ไม่ว่าเป็นปัญหาที่ครอบครัวเห็นกันโจ่งแจ้ง ปัญหาที่ครอบครัวอาจบอกว่าเล็กน้อยอาจเป็นพื้นผิวของปัญหาใหญ่เบื้องลึกที่ครอบครัวไม่รู้ บางคนอาจหนีปัญหาไม่ให้คนอื่นรู้ หรือน่ากลัวที่สุดคือไม่ยอมรับว่าครอบครัวมีปัญหาและมองว่าทุกคนรักกัน เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าปัญหาใหญ่ของครอบครัวอยู่ที่ตรงไหนจนกระทั่งเราได้เริ่มพูดคุยสื่อสารกันภายในครอบครัว”

ลุยสร้างการรับรู้ หวัง Next Gen สร้างธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน

คุณธีรภาพ บอกว่า ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวเริ่มสนใจในการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างถูกต้องมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว แต่คำว่าเริ่มสำหรับคุณธีรภาพยังถือว่า “ไม่พอ” และ “ช้าเกินไป” สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้หลักการบริหารที่ถูกต้อง จึงส่งผลให้อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวน้อยลงไปทุกปี โดยปัจจุบันมีเพียง 3% เท่านั้นที่สามารถส่งผ่านธุรกิจไปสู่เจนเนอเรชั่นถัดไป เนื่องจากไม่มีการวางอนาคต โครงสร้าง กฎระเบียบ (ธรรมาภิบาล) และการสืบทอด สุดท้ายเมื่อไม่มีกระบวนการวางอนาคต ไร้โครงสร้าง ปราศจากกฎระเบียบชัดเจนโปร่งใส ลูกหลานคนไหนเล่าจะอยากมาสานต่อกิจการ

“ตอนนี้ธุรกิจครอบครัวอยู่ในช่วงตะเข็บของการเปลี่ยนแปลง ทั้งการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง เพราะไม่มีการจัดสรรหุ้นและทรัพย์สิน รวมทั้งไม่กล้าพูดปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เพราะติดเกรงใจ ติดหลักความเชื่อเดิมว่าครอบครัวต้องรักและห้ามทะเลาะขัดแย้งกัน ทำให้สะสมปัญหาไว้ใต้พรม ซ้ำเรื่องครอบครัวและเรื่องธุรกิจยังปะปนกัน ความไม่ชัดเจนในบทบาทหน้าที่ ขณะที่ตำแหน่งก็ไม่ได้มาตามความสามารถ เพราะบางครอบครัวยึดติดกับลูกคนโต และเพศสภาพ เมื่อเจอการเปลี่ยนแปลงจึงไม่รู้วิธีจัดการ บางคนก็ไปขอสูตรลับความสำเร็จจากธุรกิจของเพื่อน และนำมายำเพื่อใช้ในบ้านของตัวเอง แต่บริบทของแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน จึงทำให้คนในครอบครัวเห็นไม่ตรงกัน และกลายเป็นความขัดแย้ง”

คุณธีรภาพ บอกถึง Pain Point ของธุรกิจครอบครัวในปัจจุบัน และเป็นเหตุผลที่ทำให้ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวจึงสำคัญ เพราะจะเข้ามาช่วยหาจุดตรงกลางของครอบครัวเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อได้ ซึ่งการ “เติบโต” ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงการมี “สาขา” จำนวนมาก และ “ยอดขาย” เป็นหมื่นล้าน บางบ้านอาจพอใจแค่การมีสาขาเดียว แต่ธุรกิจสามารถอยู่ได้เป็น 100 ปี  ที่สำคัญที่สุดคือสมาชิกทุกคนอยู่ร่วมกันได้แบบมี “ความสุข” “ความมั่งคั่ง” และ “ปรองดอง” กัน ซึ่งจะผลักดันให้เกิด Cycle การสืบทอดกิจการที่ดี จนเกิดการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจให้ไปต่อได้

ปัจจุบัน บริษัทยังคงให้บริการ 4 บริการนี้เป็นหลัก ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ผ่านการทำงานต่างๆ รวมถึงการจับมือพันธมิตร องค์กร และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการให้ความรู้ผ่านงานบรรยาย และงานสัมมนา เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจครอบครัวมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการวางแผนธุรกิจครอบครัวกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าธุรกิจครอบครัวไทยมีศักยภาพ หากมีการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างเป็นมืออาชีพและเพิ่มอัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวให้สูงขึ้นแม้ทุกวันนี้ธุรกิจครอบครัวต้องเจอการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน แต่การบริหารธุรกิจครอบครัวให้เติบโต ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ เพียงแต่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ โดยคุณธีรภาพ ได้แนะ 4 หลักคิด เพื่อนำไปปรับใช้ คือ

1. การขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ เมื่อมีปัญหา และความคิดเห็นไม่ตรงกัน ต้องถอยกันคนละก้าว และตั้งคำถามภายในครอบครัวว่า “แล้วจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างนั้นอีก” เพื่อมองภาพอนาคตแบบไปข้างหน้า

2. มองแบบ Inclusive มองประโยชน์ส่วนรวม (ประโยชน์กงสี) มองว่าทรัพย์สินที่ตนเองได้รับไม่ว่าหุ้นหรือทรัพย์สินอื่นนั้นมีไว้เพื่อการสร้างและส่งต่อ

3. สร้างการสื่อสาร “การพูดคุยไม่ใช่การสื่อสารเสมอไปการสื่อสารที่ดีคือต้องมีเรื่องที่จะพูดคุยกันชัดเจน มีรูปแบบการสื่อสารที่ถูกต้อง อยู่ในเวลา สถานที่ที่เหมาะสม เข้าใจบทบาทหน้าที่ในการสื่อสาร และมีความสม่ำเสมอ

4. สร้างกระบวนการและไม่ใช่รอปรากฏการณ์ มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วคาดหวังจะเห็นคนในครอบครัวกลายเป็นผู้กอบกู้สืบทอด และนำพาธุรกิจครอบครัวให้อยู่รอด เพราะความคาดหวังนี้ สำหรับในโลกปัจจุบันนั้นแทบจะไม่เกิดขึ้นจริงเลย

“3 ปีกับ 50 ธุรกิจครอบครัวที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษา ในเชิงบริษัท ผมพอใจ แต่ถ้ามองในเชิงผลลัพธ์ที่ตั้งเป้าให้ธุรกิจครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ ผมบอกได้เลยว่ายังไม่พอใจ ดังนั้นผมจึงต้องผลักดัน สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะคาดหวังจะเห็นธุรกิจครอบครัวอยู่รอดมากขึ้น และทำให้คนรุ่นใหม่มองธุรกิจครอบครัวเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและมีอนาคต” คุณธีรภาพ ย้ำถึงเป้าหมายในอนาคต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม www.aunyanuphap-consulting.com


แชร์ :

You may also like