HomeBrand Move !!AIS จับมือ Gulf โชว์ “Green Network” นำร่อง 2 ชุมชนพื้นที่สูง เข้าถึง “ไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต” ครั้งแรก

AIS จับมือ Gulf โชว์ “Green Network” นำร่อง 2 ชุมชนพื้นที่สูง เข้าถึง “ไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต” ครั้งแรก

แชร์ :

เอไอเอสร่วมกับกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf) เผยโฉม “กรีนเน็ตเวิร์ก” หรือเครือข่ายที่สามารถตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง สำหรับรองรับการใช้งานในพื้นที่ห่างไกล โดยมีการพัฒนาขึ้นใช้จริงแล้วในชุมชนบ้านดอกไม้สด และชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จังหวัดตาก ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. พร้อมเผยแผนขยายไปยังชุมชนอื่น ๆ อีก 4 แห่งในปีนี้เพิ่มเติม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับกรีนเน็ตเวิร์กดังกล่าวเป็นผลผลิตของโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย โดยเป็นการนำอุปกรณ์เครือข่าย และแผงโซลาร์เซลล์ เข้าไปติดตั้งให้กับชุมชน โดยทีมงานของเอไอเอสและ Gulf ซึ่งทำให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ และสามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ดังกล่าว เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลเข้ามายังชุมชนได้

***ก่อนหน้านี้ชุมชนเหล่านั้นเข้าไม่ถึงทั้งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต และการเดินทางไปยังชุมชนเหล่านี้ถือว่าค่อนข้างยากลำบากเนื่องจากอยู่ในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล

กรีนเน็ตเวิร์กเริ่มต้นอย่างไร

จุดเริ่มต้นของกรีนเน็ตเวิร์กมีที่มาจากโครงการ CSR ของ Gulf ที่พบว่า หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลของไทยบางแห่งเข้าไม่ถึงไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้การเก็บรักษายา – เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ของศูนย์พยาบาลทำไม่ได้ และส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนที่มีอาการป่วยต้องเดินทางลงจากเขาเพื่อมารับการรักษาพยาบาล ซึ่งบางทีอาจไม่ทันการ ทาง Gulf จึงได้เข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 3 – 5 กิโลวัตต์ให้กับสถานพยาบาลในชุมชนเหล่านั้นมีไฟฟ้าใช้ในการเก็บยา

คุณธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากการที่ GULF และ GULF1 บริษัทในเครือ นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่

  • บ้านห้วยน้ำไซ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก
  • เกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา
  • บ้านดอกไม้สด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

โดยทั้งสามพื้นที่มีทีมวิศวกรจาก GULF1 ให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาและวิธีการใช้งานชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์แก่ชุมชน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบโซลาร์ได้อย่างยั่งยืน

“เมื่อได้ลงพื้นที่จริง และพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหาในการสื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่ จึงเล็งเห็นการต่อยอดโครงการโดยการชักชวนพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง AIS เพื่อผนึกกำลังขยายสัญญาณสื่อสาร มอบโอกาสในการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข” คุณธีรตีพิศากล่าว

จากสาธารณสุข ต่อยอดสู่การอินเทอร์เน็ต – การเรียนรู้

ในส่วนของการติดตั้งกรีนเน็ตเวิร์กนั้น คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS ระบุว่า มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อรองรับการผลิตไฟสำหรับเสาสัญญาณขนาด 22 กิโลวัตต์ โดยมาพร้อมแบตเตอรี่ที่สามารถรองรับการทำงานของระบบเน็ตเวิร์กได้นานถึง 36 ชั่วโมง (เผื่อบางวันไม่มีแสงแดดมากพอจะผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ รวมถึงต้องเก็บไฟไว้ใช้ในเวลากลางคืนด้วย)

หลังจากการติดตั้งกรีนเน็ตเวิร์กดังกล่าว ผู้บริหารเอไอเอสเผยว่า จะมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้น ๆ อย่างแท้จริงและยั่งยืน พร้อมยกตัวอย่างชุมชนมอโก้โพคี หนึ่งในหลายชุมชนที่ได้เข้าถึงระบบไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์และระบบสื่อสารดิจิทัลของโครงการนี้ ที่มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟและการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น (จากเดิมชุมชนนี้ทำไร่ข้าวโพดและมีการเผาซังข้าวโพดจนเกิดฝุ่น PM 2.5 และทำให้คนในชุมชนมีปัญหาสุขภาพ ปัจจุบัน เมื่อมีการให้ความรู้มากขึ้น คนในชุมชนก็หันไปปลูกกาแฟแทน และหวังว่าเมล็ดกาแฟของชุมชนจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างมั่นคงกว่า)

ทั้งนี้ ทางผู้บริหารเอไอเอสเผยว่า  จะมีการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เพื่อเข้าไปติดตั้งกรีนเน็ตเวิร์กใหักับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลอีกอย่างน้อย 4 แห่ง และมีการนำสื่อให้ความรู้เช่น AIS Play เข้าไปยังชุมชนเหล่านั้นเพื่อให้ความรู้เด็ก ๆ ด้วย

ด้านคุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวปิดท้ายว่า “การทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เราทลายข้อจำกัดในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งาน เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐด้วยโครงข่ายดิจิทัลจากโครงการนี้ โดย AIS และพาร์ทเนอร์จะมีการทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้น ๆ อย่างแท้จริงและยั่งยืน”


แชร์ :