HomeBrand Move !!2023 ปีแห่งการซื้อ-ควบกิจการโทรคมนาคม “TRUE-dtac-AIS-3BB”

2023 ปีแห่งการซื้อ-ควบกิจการโทรคมนาคม “TRUE-dtac-AIS-3BB”

แชร์ :

จากข้อมูลของฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ ระบุว่าการควบรวมกิจการและการซื้อกิจการเป็นสิ่งที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งหากหันมามองประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจโทรคมนาคมของบ้านเราได้ปรับตัวสอดคล้องกับสิ่งที่การ์ทเนอร์คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค เกิดเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 หรือการซื้อกิจการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 3BB ของเอไอเอส ที่ดำเนินการจนแล้วเสร็จในปีเดียวกัน และเกิดเป็นแบรนด์ใหม่ในชื่อ “AIS – 3BB FIBRE 3” 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ตลาดเปลี่ยนไปอย่างไรจาก “ควบรวมทรูดีแทค – เอไอเอสซื้อ 3BB”

แน่นอนว่า ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงย่อมสร้างแรงกระเพื่อมให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค และการซื้อกิจการ 3BB ของเอไอเอส มีดังนี้

ควบรวมทรู-ดีแทค

  • ดีลนี้เป็นครั้งแรกที่มูลค่าทรัพย์สินและรายได้ตกกับ “บริษัทควบรวม” สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การควบรวมกิจการด้านการสื่อสารของประเทศ โดยมีมูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน 2.94 แสนล้านบาท (ตัวเลขเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566)
  • สำหรับผู้ใช้บริการของบริษัทใหม่ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” พบว่ามีผู้ใช้งานทรูมูฟ เอช ที่ 33.8 ล้าน และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย  นอกจากนั้นยังมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย
  • แบรนด์ทรู และดีแทค ยังคงใช้งานอยู่ต่อไป อย่างน้อย 3 ปี รวมถึงแพ็กเกจต่าง ๆ ที่เคยให้บริการก่อนหน้านี้
  • มีการให้คำมั่นสัญญาหลายข้อ เช่น การจะขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุม 98% ของประชากรภายในปี 2569 การจัดตั้งกองทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ ฯลฯ

เอไอเอสซื้อ 3BB 

  • มูลค่าการซื้อกิจการ 32,000 ล้านบาท
  • การทำตลาดจะเปลี่ยนไป โดยใช้ชื่อใหม่อย่าง “AIS – 3BB FIBRE 3” แทน
  • พื้นที่การให้บริการของ AIS – 3BB FIBRE 3 ครอบคลุมกว่า 131,000 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 77 จังหวัด 923 อำเภอ 5,849 ตำบล
  • จากตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของไทยมีผู้ใช้งานทั้งสิ้น 10.37 ล้านราย การซื้อกิจการของเอไอเอส จะทำให้บริษัทมีลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 4.69 ล้านราย (เป็นของ AIS เดิมที่ 2.38 ล้านราย และลูกค้าของ 3BB อีก 2.31 ล้านราย)

ดราม่าค่าบริการ “เท่ากันหมดเลย”

หลังการควบรวม สิ่งที่ถูกจับตาก็คือการแข่งขันของทรู – ดีแทค – เอไอเอส ว่าอาจจะไม่เข้มข้นเหมือนเก่า พร้อมอ้างอิงไปที่ค่าบริการของทั้งสามค่ายที่ถูกนำมาเปรียบเทียบว่าเท่ากันหมดจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (การสำรวจดังกล่าวมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-23 พ.ย.2566 โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์จากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย และพบว่ามีปัญหาใหญ่ ๆ ที่พบ 5 ข้อจากการควบรวม ได้แก่ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าบริการในแต่ละระดับแพ็กเกจมีราคาเท่ากัน ทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก)

ด้าน ทรู คอร์ปเปอเรชั่นได้ทำหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เช่น กรณีสัญญาณแย่ลงหลังการควบรวม ทรู ชี้แจงว่า ไม่มีเหตุผลที่ทรูจะดำเนินการใด ๆ เพื่อให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง อีกทั้งยังได้นำเทคโนโลยีการจัดการโครงข่ายด้วย Single Grid ทำให้สัญญาณใช้งานดีขึ้นด้วย หรือกรณีที่ผู้บริโภคกังวลว่า แพ็กเกจราคาแพงขึ้น ทางทรูได้ชี้แจงว่า ค่าบริการของทางค่ายยังคงมีราคาเริ่มต้นที่ 100 บาท และลูกค้าสามารถเลือกได้ทั้งแบบเติมเงินและรายเดือน (อ่านการชี้แจงทั้งหมดได้ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น แจง 6 ข้อเท็จจริง ที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับ ทรู-ดีแทค [PR] – Brand Buffet)

ความท้าทายในปี 2024

อย่างไรก็ดี การควบรวมกิจการ หรือการซื้อกิจการไม่ได้เป็นหลักประกันว่าอนาคตของผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะมั่นคง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจในปี 2024 มีความท้าทายรอให้เผชิญหน้าอีกมาก ทั้งจากปัจจัยภายนอกอย่างอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนจากนโยบายทางการเงินของสหรัฐอเมริกา กำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค ความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน  การมาถึงของคู่แข่งรายใหม่ ๆ และการใช้งาน AI ที่เข้มข้นขึ้น ฯลฯ

ขณะที่ปัจจัยภายในของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเองก็มายืนรอท่าอยู่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การพัฒนา และใช้งานเทคโนโลยี 5G ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การลงทุนด้านเครือข่ายเพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ฯลฯ

ความท้าทายเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศไทย เพราะรายงานจากรอยเตอร์ก็ชี้ว่า ธุรกิจโทรคมนาคมในสหภาพยุโรปก็เผชิญกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นยังมีภาระหนี้สูง เนื่องจากที่ผ่านมา มีการลงทุนด้านเครือข่าย 5G เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง การควบรวมกิจการที่ผ่านมา จึงไม่อาจรับประกันได้เลย ว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

Source

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like