HomeInsightปีแห่งการสู้ต่อไป! ปี 2567 คนไทย 50% มองเศรษฐกิจเข้าขั้น ‘แย่’ ราคาสินค้า-ค่าครองชีพสูงขึ้น  

ปีแห่งการสู้ต่อไป! ปี 2567 คนไทย 50% มองเศรษฐกิจเข้าขั้น ‘แย่’ ราคาสินค้า-ค่าครองชีพสูงขึ้น  

แชร์ :

อิปซอสส์ (Ipsos) ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคต่อเนื่องใน 33 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จำนวน 6,000 ตัวอย่าง อายุ 18 ปีขึ้นไป

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ อิปซอสส์ ได้สรุปรายงานการวิจัยเรื่อง What worries Thailand ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ดังนี้

– ความกังวลใจสูงสุด 5 อันดับแรกของคนไทยยังคงเป็น  1. ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม  43%,  2. การทุจริตทางการเงินหรือการเมือง 40%,  3. ภาวะเงินเฟ้อ  35%,  4. การว่างงาน 24% และ 5. ความรุนแรงและอาชญากรรม  23%

– นักการเมือง ยังคงเป็นอาชีพที่คนไว้วางใจ “น้อยที่สุด” ในโลกรวมถึงในประเทศไทย 48%  รองลงมาคือ  ตำรวจ 47%  และอาชีพในเครื่องแบบ 45%

– อาชีพที่น่าเชื่อถือมากสุด คือ  แพทย์  66% รองลงมา คือ นักวิทยาศาสตร์ 59%  และ ผู้พิพากษา 48%

“การที่อาชีพในเครื่องแบบที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลประชาชน แต่กลับไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าสังคมจะเดินต่อไปอย่างไร” 

ผลสำรวจยังพบว่าคนไทย 80% เห็นด้วยว่าโลกโหดร้ายขึ้นทุกวัน  คือเป็นมุมมองที่มองโลกในแง่ร้าย ใช้ชีวิตอยู่ยากขึ้น จากรู้สึกอันตรายรอบตัว ที่เห็นได้ชัด ก็คือภัยจากแก๊ง Call Center ที่ระบาดหนักมาก

โดย 83% เห็นว่าภัยคุกคามที่เป็นกังวล คือ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ทำให้เกิดภัยจากแก๊ง Call Center ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว และต้องการให้ภาครัฐและเอกชน มีแผนในการกำจัดพวกมิจฉาชีพเหล่านี้

เศรษฐกิจปี 67 ยัง “แย่”  สินค้าขึ้นราคา-ค่าครองชีพพุ่ง

ครึ่งหนึ่ง (50%) ของประชากรชาวไทย เห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจเข้าขั้น “แย่” (ลดลงจาก 57% ในเดือนเมษายน 2566) โดย 61%  มีสมาชิกในครอบครัวและคนใกล้ตัว ตกงาน  แต่ 48% คาดว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนรวมถึงสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะแข็งแกร่งขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

20%  บอกว่ามีความยากลำบากทางด้านการเงิน (ลดลง 5 จุด เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566)

26%  ยอมรับไม่ได้กับธุรกิจและผู้ค้าปลีกที่ลดขนาดสินค้า แม้ราคาคงเดิมหรือที่เรียกว่า Shrinkflation

59%  คิดว่าค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจะเพิ่มขึ้นในปี 2567 (ลดลง 6 จุดจากเดือนเมษายน 2566)

12%  อัตราเงินเฟ้อจะไม่กลับสู่ภาวะปกติ (ลดลง 2 จุดจากเดือนเมษายน 2566)

15%  คิดว่ามาตรฐานการครองชีพของพวกเขาจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี 2567 (ลดลง 5 จุดจากเดือนเมษายน 2566)

ด้านค่าใช้จ่าย ผลการศึกษาพบว่า คนไทยคาดว่าสินค้าและบริการต่างๆ จะมีราคาสูงขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า  

61% สินค้าอาหาร

61% ของใช้ในครัวเรือน

59% ค่าสาธารณูปโภค

59% ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

41% สังสรรค์นอกบ้าน

31% ค่าสมัครบริการสมาชิก

36% ดอกเบี้ย/ค่าเช่า

คนไทยเชื่อว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น  มาจากปัจจัยหลักดังนี้

77% ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ

77% นโยบายของรัฐบาลแห่งชาติ

76% สภาวะของเศรษฐกิจโลก

75% คนงานเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น

74% ธุรกิจทำกำไรมากเกินไป

ปี 67 จับตา 6 กลุ่มธุรกิจกระทบอย่างไร

จากแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 ที่ยังคงไม่แน่นอน “อิปซอสส์” ได้สำรวจผลกระทบภาคธุรกิจ 6 กลุ่ม

1. ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) : แม้จำนวนคนที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและของใช้ในบ้านจะสูงขึ้นในปี 2567 จะมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ แต่แบรนด์ยังคงต้องระมัดระวังวิธีการลดต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อรักษากำไร

46% ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 33 ประเทศทั่วโลกบอกว่า พวกเขารับไม่ได้หากธุรกิจและร้านค้าปลีกต่างๆ ลดขนาดผลิตภัณฑ์ของตนลงในขณะที่ยังคงราคาไว้เท่าเดิมเพื่อตอบสนองต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

62% เชื่อว่าการที่ ‘ธุรกิจทำกำไรมากเกินไป’ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติค่าครองชีพ แบรนด์จึงต้องให้ความสำคัญกับ ‘ประสบการณ์’ (Experience) ของผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะไม่รู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบมากจนเกินไป

2. ธุรกิจบริการ (Hospitality): ผู้บริโภคในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการออกไปสังสรรค์นอกบ้าน (ตามร้านอาหาร, บาร์, โรงภาพยนต์, ฯลฯ) จะสูงขึ้นในปี 2567 ทำให้ประสบการณ์ (Experience) ที่แบรนด์ต่างๆ นำเสนอให้ลูกค้ามีความสำคัญมากขึ้น

3. ค้าปลีก (Retail): ผู้บริโภคที่คิดว่ารายได้หลังหักภาษีหรือรายรับที่จับจ่ายได้จะเพิ่มขึ้นใน ปี 2567 มีจำนวนมากขึ้น ขณะที่จำนวนคนที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและของใช้ในบ้านในปี 2567 มีสัดส่วนต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ Ipsos Inflation Monitor

ผู้คนเริ่มสังเกตเห็นขนาดสินค้าที่ลดลงตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต และมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยในหลายประเทศที่รับไม่ได้กับเรื่องนี้ มีกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในหลายประเทศที่เข้าข้างผู้บริโภคและเริ่มจับตามองผู้ผลิตมากขึ้น

4. บริการด้านการเงิน (Financial services) : อัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจโลกถูกมองว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติค่าครองชีพ มีคนจำนวนน้อยลงที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศของพวกเขาจะสูงขึ้น

คนที่คาดว่าค่าผ่อนหรือเช่าที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้น มีจำนวนไม่ต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่ อาจเห็นการรีไฟแนนซ์น้อยลงในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ ความกังวลทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2567 ทำให้ออมเงินมากขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับช่วงคับขันที่อาจเกิดขึ้น

5. กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) : โดยเฉลี่ย 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามใน 33 ประเทศ คาดว่าค่าบริการสาธารณูปโภคจะเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งไม่ค่อยต่างจากการสำรวจในเดือนเมษายน 2566 แต่ลดลงถึง 9% จากปี 2565

มีผู้คนในหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะชาวยุโรป ที่คาดว่าค่าใช้จ่ายสำหรับพลังงานจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนเมษายน 2566

6. กลุ่มสื่อและบันเทิง (Media and Entertainment) : โดยเฉลี่ย 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามใน 33 ประเทศ คาดว่า “ค่าสมัครบริการ” (Subscriptions) ต่างๆ จะเพิ่มขึ้นในปี 2567  (เพิ่มขึ้น 4% จากการผลสำรวจรอบก่อนในเดือนเมษายน 2566) และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ Ipsos Inflation Monitor การที่มีสมาชิกบริการสตรีมมิ่งเริ่ม “ลดลง” ในหลายประเทศ เพราะมองว่าเป็นบริการไม่จำเป็น  ทำให้ความคุ้มค่า เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการควรคำนึงถึงมากขึ้นในปี 2567

ปี 2566 ในมุมมองของผู้บริโภคถือเป็นปีแห่งการเอาตัวรอด  จากความกังวลสถานการณ์โลกทั้งเศรษฐกิจและสงครามอิสราเอล รวมทั้งเศรษฐกิจ การเมืองในประเทศ  คนไทยจึงมองว่าปี 2567 ยังเป็นอีกปีที่ต้องเตรียมตัวต่อสู้ต่อไป แต่ก็มีความหวังว่าจะดีขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม 


แชร์ :

You may also like