HomeReal Estate & Condoบทสรุปปิดคดี ‘แอชตัน อโศก’ ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ‘อนันดา’ หารือรัฐเยียวยาลูกบ้าน 580 ราย 

บทสรุปปิดคดี ‘แอชตัน อโศก’ ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ‘อนันดา’ หารือรัฐเยียวยาลูกบ้าน 580 ราย 

แชร์ :

คดีสะเทือนวงการอสังหาฯ คอนโดหรู “แอชตัน อโศก” (Ashton Asoke) ของ “อนันดา” ซึ่งเป็นอาคารสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 783 ยูนิต ตั้งอยู่ริมถนนอโศก มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท  บทสรุปสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ “เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

วันพฤหัสบดี ที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก และขอเพิกถอนใบอนุญาตให้โครงการดังกล่าวใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางเข้า-ออก สู่ถนนอโศก

สรุปคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง

– ประเด็นสำคัญที่ศาลวินิจฉัย คือ ที่ดินทางเข้า-ออกอาคารแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นที่ดินของ รฟม. มาจากการเวนคืน จึงไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการประกอบการได้

– เมื่อไม่สามารถนำที่ดินทางเข้า-ออกมาใช้ได้ ดังนั้นการที่หน่วยงานของรัฐ (กทม.) ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงขัดกับ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่อาคารสูงต้องมีทางออกด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า  12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร จึงมีผลให้ใบอนุญาตก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

– ศาลปกครองสูงสุด จึงยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง  คือให้ “เพิกถอน” คำสั่งอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกใบอนุญาต

ย้อนรอยคดีคอนโด “แอชตัน อโศก”

– คดีแอชตัน อโศก เป็นคดีระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่มีคุณศรีสุวรรณ จรรยา เป็นนายกสมาคมฯ และชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 19 กับผู้อำนวยการเขตวัฒนากับพวกรวม 5 คน โดยมีบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อนันดาดีเวลลอปเมนท์ ทู จำกัด เป็นผู้ร้องสอด คดีดังกล่าวเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

– คดีนี้เริ่มจากชาวสุขุมวิท 19 จำนวน 15 คนได้มอบอำนาจให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้อง ผอ.เขตวัฒนากับพวกรวม 5 คน ต่อศาลปกครองกลางตั้งแต่ปี 2559 ที่ได้ร่วมกันออกคำสั่งอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (เจ้าของคอนโด แอชตัน อโศก) ก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่บนถนนอโศก

– ประเด็นที่เป็นปัญหาจนนำไปสู่การยื่นฟ้อง คือ การอนุญาตให้ก่อสร้างคอนโดดังกล่าวอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 เนื่องจากที่ดินโครงการไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ เพราะที่ดินของแอชตัน อโศก เจ้าของเดิมถูกเวนคืนสร้างรถไฟฟ้า ทำให้จากเดิมสามารถสร้างตึกสูงได้เพราะติดถนนอโศก แต่เมื่อถูกเวนคืน รฟม.สร้างสถานีรถไฟฟ้าปิดอยู่ด้านหน้าจึงมีถนนเป็นทางออกสู่ถนนอโศก มีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎหมาย (ไม่ถึง 12 เมตร)

– เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564  ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตาม ม.39 ทวิ และ ม.39 ตรี พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด โดยมีผลย้อนหลังจนถึงวันที่ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าว

– จากนั้นทั้ง 2 ฝ่าย ยื่นอุทธรณ์คดี และมาถึงบทสรุปสุดท้ายของคดีในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้ “เพิกถอน” ใบแจ้งหรือใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดแอชตัน อโศกทั้งหมด

“อนันดา” เรียกร้องหน่วยงานรัฐเยียวยาลูกบ้าน 

–  โครงการแอชตัน อโศก เป็นโครงการร่วมทุนของอนันดากับมิตซุย ฟูโดซัง ญี่ปุ่น พัฒนาคอนโดหรูสูง 51 ชั้น จำนวน 783 ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท  ก่อสร้างแล้วเสร็จเริ่มโอนกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 โดยขายไปแล้ว 668 ยูนิต  มูลค่า 5,639 ล้านบาท หรือ 87%  ปัจจุบันมีผู้พักอาศัย  580 ครอบครัว เป็นคนไทย 438 ราย และต่างชาติ 140 ราย จาก 20 ประเทศ ยังมียูนิตเหลือขายอีก 117 ยูนิต หรือ 13%  มูลค่า 828 ล้านบาท

 –  อนันดา ย้ำว่าโครงการนี้ได้ผ่านการขอใบอนุญาต 9 ฉบับ และได้รับอนุมัติจาก 8 หน่วยงานราชการ   

1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

2. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

3. สำนักงานเขตวัฒนา

4. สำนักงานที่ดินพระโขนง

5. สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.)

6. กรมโยธาธิการและผังเมือง

7. สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร

8. กรมที่ดิน

– ปัจจุบันมีโครงการลักษณะคล้ายกันของผู้ประกอบการอสังหาฯ รายอื่นๆ อีก 13 โครงการที่เข้าข่ายเดียวกับแอชตัน อโศก และมีอีกเป็น 100 โครงการ ทั้งอสังหาฯ ห้างฯ ที่ขอเชื่อมทางกับหน่วยงานราชการ ที่อาจได้รับผลกระทบ

– แนวทางหลังจากนี้ อนันดา เห็นว่าผลแห่งคำพิพากษาที่เกิดขึ้นดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุด และบริษัทอนันดา เพราะหากหน่วยงานราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติแล้วโครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่

– อนันดา จะเร่งรีบดำเนินการ ในการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทโดยเร็ว รวมทั้งจะดำเนินการประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และเจ้าของร่วม เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายใน 14 วัน

– คุณประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์  ย้ำว่า สุดท้ายหน่วยงานรัฐที่ออกใบอนุญาต ต้องเข้ามาร่วมหาทางออก รับผิดชอบและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ขั้นตอนที่ทำได้ในฐานะเป็นผู้ได้รับความเสียหาย คือการฟ้องหน่วยงานรัฐ  ซึ่งการพิจารณาคดีต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควร

“ตอนนี้กำลังหาปาฏิหาริย์ คุยกับหน่วยงานรัฐ เพื่อไม่ต้องทุบตึกที่มีความเสียหายสูง อาจมีแสงสว่างปลายอุโมงค์”  

แนะซื้อที่ดินเอกชนทำทางออกกว้าง 12 เมตร

คุณศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นชาวบ้าน ซ.สุขุมวิท 19 แยก 2 ร้องเรียนผู้ประกอบการมาก่อนการฟ้องคดี ก่อนการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2557-2559  แต่บริษัทกลับเพิกเฉย ไม่รีบเข้าไปเจรจาป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการก่อสร้างกับชาวบ้านข้างเคียงให้เบ็ดเสร็จหรือเปล่า จนทำให้ชาวบ้านต้องมาร้องขอความเป็นธรรมและขอความช่วยเหลือทางคดีกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ทางออกของเรื่องนี้มีทางเดียวคือ ต้องไปเจรจาซื้อที่ดินจากเอกชนแปลงใดก็ได้เพื่อให้มีทางเข้า-ออกอาคารแอชตันสู่ถนนสายหลักที่มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 18 เมตร โดยทางเข้า-ออกนั้นต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like