การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ส่งผลให้ “น.ต.ศิธา ทิวารี” หรือ “แด๊ดดี้ปุ่น” กลายเป็นนักการเมืองหนุ่มหล่อที่คอการเมืองคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แถมยังดังหนักกว่าเก่า หลังจากโลดแล่นบนเส้นทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2539 ก่อนจะเงียบหายไปจากหน้าสื่อ และผันเวลามาให้กับลูกๆ ทั้ง 4 คน จนกระทั่งเข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในปีที่ผ่านมา ต่อด้วยสนามเลือกตั้งใหญ่ 2566 ชื่อของเขากลับถูกพูดถึงอีกครั้งโดยเฉพาะในโลกโซเชียล แม้จะไม่ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่เขากลับกลายเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ จนเกิดเป็นกระแสไวรัลโด่งดัง
แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้เขาเป็นคนไม่เล่นโซเชียลเลย แล้วทำไมเขาจึงกลายมาเป็นขวัญใจชาวโซเชียล จนกลายมาเป็นเจ้าพ่อทวิตเตอร์ Brand Buffet ชวนมาหาคำตอบเรื่องนี้จาก น.ต.ศิธา ธิวารี เพื่อทำความรู้จักตัวตนของเขาในอีกมุมให้มากขึ้น
ไม่ชอบเล่นโซเชียล แต่ไม่ตกเทรนด์
คนใกล้ตัวเขาจะรู้ดีว่า น.ต.ศิธา เป็นคนไม่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ตกเทรนด์ เพราะในโลกโซเชียลฮิตอะไร เขาก็มีทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, IG และ Twitter เพราะฉะนั้น คำว่า “ไม่ชอบเล่นโซเชียล” สำหรับน.ต.ศิธา จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่เล่นหรือไม่มีแอปโซเชียลเหล่านี้ เพียงแต่ไม่ค่อยได้เปิดเท่านั้น โดยยกตัวอย่าง IG เปิดมาตั้งแต่ปี 2011 ปีนี้ครบ 12 ปี มีโพสแค่ 7 รูปเท่านั้น
กระทั่งในวันที่โลกเปลี่ยน ออนไลน์เข้ามามีบทบาทขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เขาต้องปรับตัวและเริ่มเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น เพราะมองว่า หากรู้จักแพลตฟอร์มเหล่านี้และใช้ประโยชน์ให้ถูก จะทรงพลังอย่างมาก เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นแตกต่างกัน อย่างทวิตเตอร์ ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีการส่งต่อกัน ดังนั้น เมื่อทวีตข้อความ 10 วินาทีแรกจะรู้ทันทีว่าข้อความนั้นโดนใจคนหรือไม่ โดยดูที่ยอดทวีต หากสูงกว่ายอดไลค์ แสดงว่าข้อความนั้นโดนใจคน เพราะยิ่งแชร์คนยิ่งเห็นมาก ในทางกลับกันถ้ายอดไลค์มากกว่ายอดทวีต คนอาจจะชอบ แต่เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเขาจึงไม่แชร์ต่อ
บวกกับบุคลิกที่เป็นคนคูลๆ สนุกสนาน เข้าถึงง่าย และลีลาการพูดแบบตรงไปตรงมา ฟาดไม่ยั้ง จึงทำให้ถูกอกถูกใจจนทำให้เขากลายเป็นแด๊ดดี้ของผู้คนในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ถึงขั้นมีแฟนด้อมของตัวเองมากมาย แถมยังเกิดเป็นแฮชแท็ก #ศิธา พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์หลายครั้ง โดยบางคลิปมียอดคนดูเกิน 20 ล้านวิวในวันเดียว แต่หากนับเฉพาะ #ศิธา มียอดถึง 437 ล้านวิวทีเดียว
อีกความเข้าใจหนึ่งของแด๊ดดี้ปุ่นในโลกโซเชียลมีเดีย คือ การใช้ “พลัง” ของเครือข่าย เขาเล่าว่าไม่จำเป็นจะต้องสร้างความโด่งดังด้วยแอคเคานท์ของตัวเองคนเดียว แต่นำเสนอข้อมูลทื่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจนแต่ละบัญชีของผู้ใช้งานแชร์ด้วยตัวเอง เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่กว่า ไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนมาติตามเขาเพียงคนเดียว แต่ใช้ช่องทางของคนอื่นบอกเล่าเรื่องราวก็มีตัวตนได้เช่นกัน
เลี้ยงลูกด้วยเหตุผล ไม่ปิดกั้น รับฟังทุกเรื่อง
นอกจากจะหันมาใช้โซเชียลมากขึ้น ในช่วงหลังๆ เราจะเห็นเขาให้คำแนะนำกับคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย น.ต.ศิธา บอกว่า เหตุผลหลักๆ เพราะอยากให้ลูกอยู่ในประเทศที่ดีขึ้น โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่าการทำแบบนี้ จะช่วยให้คนเหล่านี้จดจำตัวเขาและลูกได้ แต่ถ้าเขาทำไม่ดี อนาคตผู้คนจะไปพูดกับลูกว่าพ่อเขาทำไม่ดี และในวันที่เขาไม่อยู่กับลูกแล้ว คนเหล่านี้จะคิดถึงสิ่งดีๆ ที่เขาได้ทำไว้และแนะนำสิ่งดีๆ ให้กับลูกของเขาต่อ
“ผมมีลูกตอนอายุมาก ตอนนี้คนเล็กอายุ 5 ขวบ ก็กลับมาคิดว่าจะดูแลพวกเขาอย่างไรให้เติบโตได้ด้วยตัวเอง ถ้าเด็กๆ มีเงินกองไว้ให้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย พวกเขาอาจจะเติบโตโดยงอมืองอเท้าหรือเป็นภาระของสังคม แต่ถ้าเราให้มรดกกับลูกด้วยการศึกษา คุณงามความดี และทำให้พวกเขาอยู่ในประเทศที่ดีขึ้น เขาจะสามารถเติบโตและดูแลตัวเองได้ตอนที่เราไม่อยู่”
แม้เรามักจะเห็น น.ต.ศิธาในมุมของการดีเบตแบบฟาดไม่ยั้งอยู่เสมอ แต่ในอีกบทบาทกับความเป็นพ่อลูก 4 น.ต.ศิธาไม่สอนแบบดุ โดยจะคุยด้วยเหตุผล และรับฟังลูกทุกเรื่อง แต่บางเรื่องที่ต้องดุก็ดุ เช่น ถ้าเอานิ้วไปแหย่ปลั๊ก ก็ต้องตีมือเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังเลี้ยงลูกแบบไม่ปิดกั้น ลูกอยากทำอะไร และใช้ชีวิตแบบไหน ก็ให้เลือกได้เอง เพราะไม่คิดว่าลูกเราต้องเป็นของเรา ต้องทำตามเรา
“ความเป็นพ่อเป็นแม่ต้องสอนทุกด้าน คุยกับเขาตลอด เหมือนอย่างการตีกอล์ฟ 18 หลุม เขาอ่อนหลุมไหน เราก็ต้องบอก และให้คำแนะนำเพื่อให้เขากลับมาอยู่จุดสแตนดาร์ด ไม่จำเป็นต้องดีเลิศ แต่ถ้าเขาสามารถทำได้ ถือว่าเป็นประโยชน์ของเขา รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกและเรียนรู้ด้วยตัวเอง”
นี่คืออีกของชีวิต “น.ต.ศิธา ทิวารี” ซึ่งเป็นทั้งแด๊ดดี้ของลูกทั้ง 4 คน และแด๊ดดี้ของคนในโลกโซเชียลวันนี้