HomeBrand Move !!ถอดแนวคิด “น้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ” ลูกไม้ตกใต้ต้น เจน 2 สหฟาร์ม ก้าวใหม่ยึดหลัก “ธรรมาภิบาล ” นำทางธุรกิจ

ถอดแนวคิด “น้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ” ลูกไม้ตกใต้ต้น เจน 2 สหฟาร์ม ก้าวใหม่ยึดหลัก “ธรรมาภิบาล ” นำทางธุรกิจ

แชร์ :

sahafarm

กว่า 54 ปีแห่งความสำเร็จของ “สหฟาร์ม” จากผู้ก่อตั้ง “ดร.ปัญญา โชติเทวัญ” สร้างอาณาจักรส่งออกไก่ที่ยิ่งใหญ่ของไทยจนประสบความสำเร็จยาวนาน ผ่านพ้นวิกฤตมามากมาย หลัง “สหฟาร์ม” ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการคืนบ้านสุขาวดี สู่ทายาท “ตระกูลโชติเทวัญ” เมื่อสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา วันนี้อาณาจักรสหฟาร์ม ถูกส่งไม้ต่อไปยังทายาทเจน 2 หลายคน ในการทำหน้าที่แตกต่างกันไป เพื่อฟื้นคืนอาณาจักรอีกครั้ง 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในทายาทคีย์แมนคนสำคัญคือ “คุณน้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ” บุตรสาวของ “ดร.ปัญญา โชติเทวัญ” หลังเข้ามานั่งตำแหน่งประธานสายบัญชีและการเงิน, ประธานสายการตลาดต่างประเทศ  โดยควบอีกหนึ่งตำแหน่งสำคัญ คือ “เลขานุการประธานกรรมการ” ให้กับ “ดร.ปัญญา โชติเทวัญ” ในวัย 92 ปีผู้เป็นบิดา ที่ต้องบอกว่ายังแข็งแรงและทำงานอยู่ทุกวันให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวของธุรกิจ

BrandBuffet คุยกับ “คุณน้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ” ทายาทเจน 2 แห่งอาณาจักรสหฟาร์ม ถึงทิศทางยุคใหม่ หลังก้าวพ้นมรสุมด้านธุรกิจ พร้อมถอดแนวคิด-วิธีบริหาร ที่ถ่ายทอดจากคุณพ่อผู้ก่อตั้ง ถอดแบบชนิด “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” เลยทีเดียว

 

จากลูกสาวที่โตมาในบ้านสุขาวดีสู่ทายาทเจน 2 ที่จะพลิกสหฟาร์มพ้นแผนฟื้นฟู

“คุณน้ำผึ้ง” เล่าถึงเส้นทางก่อนที่จะมารับไม้ต่อในฐานะทายาทคนสำคัญในครั้งนี้ว่า ด้วยความที่เติบโตมากับธุรกิจของคุณพ่อตั้งแต่เด็กโดยในอดีตทุกคนในครอบครัวจะอาศัยร่วมกันที่ “บ้านสุขาวดี” พัทยา จ.ชลบุรี ที่มีทั้งส่วนโรงงาน ออฟฟิศ และพื้นที่ต่างๆของสหฟาร์ม ทำให้เธอเห็นตัวอย่างการทำงานของคุณพ่อตั้งแต่เด็ก ทั้ง ในส่วนของโรงงาน ระบบหลังบ้าน จนสามารถแยกได้ว่าไก่ชิ้นไหนเรียกว่าอะไร ไปจนถึงการทำงานระบบออฟฟิศ และค่อยๆ ซึมซับ เรียนรู้ตั้งแต่นั้นมา

จากการคลุกคลีมากับเส้นทางธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่เด็กทำให้ “คุณน้ำผึ้ง” มีความฝันในอาชีพอยู่อย่างเดียว คือการสานต่อธุรกิจครอบครัว กับบทบาทการเป็น “นักธุรกิจหญิง” เพียงเป้าหมายเดียวในช่วงนั้น ทำให้เจ้าตัวเลือกเรียนรู้การทำงานกับคุณพ่ออย่างใกล้ชิด ทั้งด้านวิสัยทัศน์และมุมมอง การแก้ปัญหาในวิกฤตต่างๆ เป็นบทเรียนแรก  และเริ่มเข้ามาในธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เรียนจบ แต่อยู่ภายใต้บริษัทอื่นๆ ก่อนจะเข้ามาบริหารสหฟาร์มอย่างจริงจังเมื่อประมาณ กันยายน 2565 หลังกิจการสหฟาร์มออกจากแผนฟื้นฟู

“คุณพ่อไม่เคยไปเที่ยว ไม่เคยกินข้าวนอกบ้าน ทุกวันมีแต่ทำงานอย่างเดียว หรือหากจะพาลูกๆไปเที่ยวอย่างมากก็ไปเช้า เย็นกลับ เคยไปถึงภูเก็ต นั่งรถไป-กลับ ไปถึงนั่งพัก อาบน้ำ ล้างหน้าล้างตา แล้วคุณพ่อก็พากลับ” คุณน้ำผึ้งเล่าถึงความทุ่มเทให้แก่สหฟาร์มของคุณพ่อผู้ก่อตั้งด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข และชื่นชมในตัวฮีโร่ของเธอ

 

คุณน้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ

คุณน้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ

 

แม้ทั้ง 2 จะสนิทกันแค่ไหน ทว่าด้วยช่องว่างอายุระหว่างของคุณพ่อ และคุณลูกที่ต่างกันถึง 50 ปี ซึ่งอาจจะมากกว่า พ่อ-ลูกคู่อื่นๆ นั้นทำให้เจ้าตัวมองว่า คืออีกหนึ่งอุปสรรคที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก กับการส่งต่อแนวคิด บทเรียน หรือเส้นทางธุรกิจต่างๆ ที่คนทั้ง 2 เจนจะต้องมาบรรจบกันให้ได้

ซึ่งสูตรสำเร็จการสานสัมพันธุ์ระหว่าง Generation Gap ที่ค่อนข้างมากนี้ คือการพูดคุยสื่อสาร และต้องคอยรายงานความเป็นไปในบริษัท กับคุณพ่อในฐานะผู้ก่อตั้งทุกๆ วัน  นอกจากนี้ยังต้องคอยอัพเดทธุรกิจของบริษัทให้แก่คุณพ่อในทุกอาทิตย์ (ที่บ้านสุขาวดี) ที่ต้องมีทั้งเอกสารอย่างครบถ้วนถึงที่บ้านอย่างขาดไม่ได้ 

 

“ส่วนใหญ่ใช้วิธีการฟังคุณพ่อเป็นหลัก แต่มีการโยนความคิดของตัวเองเข้าไป หากมีเหตุผลคุณพ่อก็เห็นด้วย แต่ฟังแล้วยากความเห็นนั้นก็ไม่ผ่านเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เราทำคือคุยกันทุกวันบ่อยๆ และเจอกันทุกสัปดาห์ เพื่อบีบช่องว่างตรงนั้น (อายุ) ให้เล็กที่สุด จนทำให้เราเป็นพ่อลูกที่สนิทกันมาก”

 

ยึดหลักธรรมาภิบาลบริหารพนักงานกว่า 20,000 ชีวิตท่ามกลางสมรภูมิต้นทุน เพราะทุกคนต้องได้รับการดูแล

สำหรับความท้าทายในฐานะเจน 2 ของสหฟาร์ม “คุณน้ำผึ้ง” บอกว่า นอกจากจะเป็นการเข้ามาดูแลธุรกิจเพื่อรับช่วงต่อจากคุณพ่อ หลังสหฟาร์มออกจากแผนฟื้นฟูได้เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2565 ที่ผ่านมา คือการบริหารจัดการธุรกิจท่ามกลางการแข่งขัน และภาวะต้นทุนหลายอย่างที่แปรปรวนสูงขึ้น โดยจะต้องเลือกรับมือกับปัจจัยลบอย่างรอบคอบ และไม่ผลักภาระไปให้คู่ค้า หรือผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องบริหารจัดการให้เสร็จสรรพจากระบบหลังบ้านภายใน

โดยทิศทางการทำงานนับจากนี้จะเป็นการอาศัยการสั่งสมประสบการณ์หลายอย่าง หลังจากได้เรียนรู้และเจริญเติบโตตลอดช่วงที่ผ่านมา และว่าทิศทางของบริษัทควรจะเป็นบริษัทแบบไหน นอกจากยอดขายแล้ว ยังสามารถทำอะไรเพื่อประเทศชาติได้บ้าง โดยจากนี้ไปตั้งใจจะทำสินค้าที่ดีมีคุณภาพ และมี “ธรรมาภิบาล” ในการทำธุรกิจไปจนถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนแก่สังคม

อีกหนึ่งประเด็นที่สหฟาร์มให้ความสำคัญและถูกส่งต่อมายังรุ่นต่อรุ่นคือ การบริหารจัดการพนักงานที่ต้องให้ความสำคัญอย่างทั่วถึง ปัจจุบันสหฟาร์มมีพนักงานเกือบ 20,000 ชีวิตในเครือฯ ให้อยู่ดีมีสุขอย่างทั่วถึง ทั้งอาชีพ สวัสดิการ ความสุขในการทำงาน ภายใต้วัฒนธรรมองค์กร-สิ่งแวดล้อมที่ดีต่อคนทำงาน

 

sahafarms factory

เส้นทางโรงงาน และ บริษัทในเครือของสหฟาร์ม ที่ใช้จำนวนบุคลากรร่วม 20,00 ชีวิต

 

“ในฐานะที่เราเป็น Management นอกจากจะบริหารองค์กร อุดรอยรั่วต่างๆ เพื่อสร้างการเจริญเติบโต สิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญมากๆคือเรื่องบุคลากร คือต้องการให้บุคลากรมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน มีความสุขในการทำงาน โดยมีการจัดการสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้รู้สึกสนุก มีส่วนร่วม และต้องผลักดัน ส่งเสริม ซัพพอร์ตให้ทีมงานประสบความสำเร็จ เปรียบตัวเองเหมือนหน่วยซัพพอร์ตให้ลูกน้องกล้าคิด กล้าทำ และภาคภูมิใจในผลงานตัวเอง”

โดยมีการนำหลักศีลธรรมเข้ามาใช้ในการบริหารงานด้วย ส่วนตัวมีการนั่งสวดมนต์  ทำสมาธิ และอยากให้ทุกคนในองค์กรมีจิตใจที่สงบเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิต ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเจ้าตัวมักจะนิมนต์พระเพื่อมาทำบุญ และสวดมนต์ในองค์กรอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่บรรจุเข้ามาเพื่อยกระดับจิตใจพนักงาน

คุณน้ำผึ้งยังบอกอีกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้เท่าทันตัวเอง สิ่งที่คิด สิ่งที่ทำ เช่น เมื่อเราโกรธ เรารู้ว่าเราโกรธ เราจะสามารถบริหารจิตใจให้กลับมาได้ปกติทันที 

 

“นอกจากเรื่องธุรกิจเราต้องมีจิตวิญญาณในการทำงาน ตรงไหนไม่ดี เราก็แก้ไข เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น ทำให้เราจะสามารถสร้างโอกาสด้านอื่นๆได้มากขึ้น”

 

สู่สหฟาร์มยุคใหม่ แต่ไม่ทิ้งตัวตนเดิมแต่ต้องทันสมัยมากขึ้น

ขณะที่ในส่วนของธุรกิจ “คุณน้ำผึ้ง” บอกว่า ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจส่งออกโลก สิ่งหนึ่งที่สหฟาร์มยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อไปคือศักยภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต้องทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งสิ่งที่จะทำมากขึ้นคือการพัฒนาขีดความสามารถทางการผลิตไก่คุณภาพในการส่งออก

sahafarms

 

“สิ่งที่ทำให้เราหยุดการเจริญเติบโตคือการที่เราเข้าแผนฟื้นฟูถึง 7 ปีที่ทำให้เราไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์ด้านต่างๆ  แน่นอนวันนี้เรากลับมาก็จะทำการตลาดมากขึ้น”

แนวทางการพัฒนาศักยภาพการผลิตของสหฟาร์มเกิดขึ้นตามดีมานด์ตลาดส่งออกไก่ของโลก ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันไทยจะไม่ใช่ผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ (ประเทศที่ผลิตไก่และส่งออกมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา และจีน) โดยไทยมีกำลังการผลิตอยู่ที่อันดับ 7 และส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่การพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถตั้งแต่วันนี้ เชื่อว่าจะทำให้ไทยกลายเป็นอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ด้านส่งออกไก่ได้ไม่ยาก โดยปัจจุบัน สหฟาร์มส่งออกไก่ทั้งหมดกว่า 100,000 ตันต่อเดือน 

โดยจากนี้ไป “คุณน้ำผึ้ง” เลือกพัฒนาต่อยอดจุดแข็งของสหฟาร์ม ทั้งในส่วนของการพัฒนาฟาร์มที่ได้มาตรฐานแล้ว ให้ดียิ่งขึ้น  การพัฒนา Skilled Labour ที่สามารถตัดแต่งสินค้า (Special Cut) ได้ตามความต้องการ ซึ่งถือว่ามีความแม่นยำ และเป็นการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่รายอื่นใช้เครื่องจักรและส่งออกแบบ Primary Cut ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเรื่อง “คน” ที่สหฟาร์มให้ความสำคัญมาโดยตลอด


แชร์ :