ช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกเมืองไทยตลอดหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 อุตสาหกรรมค้าปลีกมีมูลค่าราว 3.48 ล้านล้านบาท ก่อนที่ในปี 2563 ธุรกิจค้าปลีกจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มูลค่าตลาดหดตัวลงไป 7% เหลืออยู่ที่ 3.24 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 ทิศทางอุตสาหกรรมก็ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากสถานการร์ระบาดยังคงอยู่ ขณะที่กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่กลับมา ส่งผลให้เมื่อปิดปี 2564 ตลาดค้าปลีกมีมูลค่าอยู่ที่ 3.12 ล้านล้านบาท หดตัวลงไปอีก 4% จากปี 2563
ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าในเมื่อทิศทางธุรกิจค้าปลีกหดตัวต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ทำไมตลอดปีที่ผ่านมากลับได้เห็นการเปิดตัว “ห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า” ผุดขึ้นราวดอกเห็ดทั้งในกรุงเทพชั้นในและปริมณฑล โดยเฉพาะในปี 2565 มี “ศูนย์การค้า” ที่น่าสนใจเปิดตัวในมุมเมืองต่างๆของกรุงเทพมากมาย BrandBuffet พาทำความรู้จัก 5 ศูนย์การค้าไฮไลท์จากแต่ละค่าย กับแม็กเนตที่ใช้ในการดึงลูกค้าที่เปิดตัวในปีนี้
บิ๊กเนมเปิดบริการศูนย์ฯใหม่ โปรเจ็กไฮไลท์ชิงลูกค้าทุกมุมเมือง
เริ่มกันที่พี่ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกอย่าง “กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล หรือ ซีอาร์ซี” ที่ส่งโมเดลน้องใหม่ “Tops Club” ค้าระบบสมาชิกบุกยึดฐานลูกค้ากรุงเทพโซนใต้ โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา บนพื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร มีจุดเด่นคือสินค้านำเข้ากว่า 70% มีสินค้าแปลกใหม่หลากหลายหมวดหมู่ เช่น ของเล่น, อุปกรณ์กีฬา, อุปกรณ์กลางแจ้ง, ของใช้ภายในบ้าน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหารสด, อาหารแช่แข็ง, อาหารแห้ง, ขนม-เบเกอรี และเครื่องดื่มต่าง ๆ วางจำหน่ายกว่า 4,000 รายการ
ซึ่งหลังเปิดให้บริการได้ 2 เดือนได้รับฟีดแบคจากลูกค้าดีมาก ปัจจุบันมีสมาชิกแล้ว 85,000 ราย โดยทางค่ายหมายมั่นปั้นมือว่า Tops Club จะสามารถสร้างรายได้ปีละ 1,000-1,200 ล้านบาท
หลังจากประสบความสำเร็จกับการเปิดศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าโดยอยู่กับสังคมไทยมานาน การทดลองอีกหนึ่งโมเดลเพื่อนำเสนอสินค้านำเข้า รวมทั้งใช้วิธี สมัคร “สมาชิก” เพื่อขายสินค้านำเข้าที่เน้นปริมาณมากๆ เจาะกลุ่มเป้าหมายครอบครัว จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่กลุ่มเซ็นทรัลเปิดในปีนี้ และพร้อมเดินหน้าขยายสาขาเจาะลูกค้าทำเลอื่นในอนาคต
ต่อกันที่บิ๊กอสังหาฯ อย่าง “แลนด์ แอนด์ เฮาท์” ส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH) เปิดตัว “ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 พระราม 3” ขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาบนพื้นที่ศักยภาพของ NEW CBD ถนนพระราม 3 ครอบคลุมกว่า 140,000 ตารางเมตร ขนาด 16 ไร่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาพร้อมคอนเซ็ปต์ที่นำแรงบันดาลใจมาจากเมืองท่องเที่ยวระดับโลก จาก 6 ประเทศ เรียกว่าครบทุกประสบการณ์ที่ลูกค้าต้องการ
โดยการเปิดตัว “เทอร์มินอล พระราม 3” เป็นการปักหมุดยึดทำเลพื้นที่พระราม 3 ของทางค่าย หลังที่ผ่านมาบริเวณนั้นมี “เซ็นทรัล พระราม 3” เป็นขาใหญ่ยึดพื้นที่นั่นอยู่ ทำให้การเข้ามาของเทอร์มินอล ถือเป็นอีกหนึ่งการสร้างสีสันความแปลกใหม่ในย่าน เพราะด้วยทำเลอย่างใจกลางย่านที่พักอาศัยที่มีผู้คนมากกว่า 1 ล้านคน คอนโดมากกว่า 50,000 ยูนิต อาคารสำนักงานมากกว่า 43 แห่ง ที่มีพนักงานออฟฟิศมากกว่า 60,000 คน รายล้อมด้วยโรงแรม 44 แห่ง ก็น่าจะทำให้ทางค่ายสามารถปั้นทราฟฟิกได้ตามเป้าหมายผู้มาใช้บริการที่ 3.5 ล้านคนภายในปีนี้ หรือ 50,000 คนต่อวัน ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 600-700 ล้านบาทในสิ้นปีได้ไม่ยาก
ไม่พูดถึงขาใหญ่อย่าง “ซีพี” ก็เห็นจะไม่ได้ กับการเปิดตัวแฟล็กชิปใหม่ของ “โลตัส” กับ “โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์” ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สาขาแฟล็กชิปต้นแบบ SMART Community Center ศูนย์กลางสำหรับการช้อปปิ้ง กิน ดื่ม เที่ยว และการใช้ชีวิตในแบบ 24 ชั่วโมง บนพื้นที่รวมกว่า 47,000 ตารางเมตร ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่จัดเต็มพร้อมทัพสินค้าพรีเมียม สินค้านำเข้า และศูนย์การค้าที่รวมแบรนด์ดัง ร้านอาหาร บริการ เอนเตอร์เทนเมนท์อินเทรนด์
โลตัส สาขานี้นอกจากจะเป็นต้นแบบสมาร์ทรีเทลแล้ว ยังมีไฮไลท์คือ การเป็น Inspiring fresh & food destination จุดหมายปลายทางสำหรับอาหารและอาหารสดคุณภาพสูง โดยมีไฮเปอร์มาร์เก็ตพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร มีสินค้ากว่า 28,000 รายการ รวมถึงสินค้าประเภทอาหารเกือบ 13,000 รายการ การเปิดตัวโลตัสสาขาดังกล่าวถือเป็นการเจาะชุมชนกำลังซื้อสูงชานเมือง มีเป้าหมายเพื่อยึดทำเลกรุงเทพฯโซนตะวันตกอย่างราชพฤกษ์ได้รับการยอมรับว่าเป็นทำเลที่อยู่อาศัยที่โดดเด่นและขยายตัวเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของ มีการเดินทางที่เชื่อมโยงสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกและง่ายดาย
ตามมาด้วยการเปิดตัว “โรบินสัน ราชพฤกษ์” ที่เปิดตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อรองรับกำลังซื้อช่วงปลายปี นอกจากนี้ยังมี “เซ็นทรัล เวสต์วิลล์” ที่รอเปิดตัว โจทย์ของการ “บุกยึดทำเลทอง” ของย่าน “ราชพฤกษ์” ซึ่งเป็นพื้นที่สุดฮ็อต ของเรสซิเดนท์กำลังซื้อสูง
“สีลมเอจ” โดยบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT มาพร้อมรูปแบบโครงการมิกซ์ยูส บนพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร มูลค่าลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท แหล่งรวมร้านค้าร้านอาหารชั้นนำให้เลือกมากมาย แถมยังเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เอาใจวัยรุ่นหนุ่มสาว พนักงานออฟฟิตกลางกรุง
โดย “สีลมเอจ” นับเป็นโปรเจ็คที่สองของทางค่ายต่อจาก สามย่านมิตรทาวน์ อาณาจักรรีเทลที่ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ปลุกปั้นขึ้นมา เพื่อต่อยอดธุรกิจค้าปลีกโดยยึดทำเลกลางเมืองอย่างถนนเส้นพระราม4 เป็นแกน ไล่เรียงมาตั้งแต่ สามย่านมิตรทาวน์ ,สีลมเอจ ก่อนจะไปบรรจบที่โครงการ One Bangkok อภิมหาโปรเจ็ครีเทลสุดยิ่งใหญ่ของเจ้าสัวที่จะเปิดตัวในปี 2570
การเปิดตัวโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องกัน ก็เพื่อปั้นย่าน “สีลม” ที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางธุรกิจสำคัญของประเทศไทย ให้ร้อนแรงขึ้นไปอีก ก่อนที่ โปรเจ็กท์รีโนเวทโรงแรมดุสิตธานีที่ เซ็นทรัลจับมือกับดุสิตธานีจะกลับมาเปิดให้บริการ
ไม่เพียงแต่ค้าปลีกสัญชาติไทยเท่านั้น หากแต่ “ดอง ดอง ดองกิ” ค้าปลีกชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น ยังเดินหน้าปูพรมตลาดค้าปลีกเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 นี้ “ดอง ดอง ดองกิ” เปิดให้บริการในไทยเพิ่มอีก 2 สาขาได้แก่ ร้านดอง ดอง ดองกิ สาขาซีคอนสแควร์ โดยเป็นสาขาที่ 5 ของดองกิในประเทศไทย และเป็นสาขาแรกที่เปิดตัวในโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก
ต่อด้วยโครงการ “เจพาร์ค ศรีราชา นิฮอนมูระ” (J-Park Nihonmura) คอมมูนิตี้มอลล์สไตล์ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา แม้จะมีการปิดให้บริการไป 1 สาขา คือ ดองกิ มอลล์ สาขา เดอะมาร์เก็ต แต่ในระยะยาวทางค่าย ย้ำแผนเดินหน้าขยายสาขาในไทยแน่นอน โดยสนใจทั้งทำเลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เน้นสาขาไซซ์เล็ก ขนาด 1,200-2,000 ตารางเมตร ที่หาพื้นที่ได้ง่ายกว่าไซซ์ใหญ่ มองว่าธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตจากประชากรมีจำนวนมาก และคนไทยชื่นชอบสินค้าจากญี่ปุ่น โดยสาขาลำดับที่ 7 ที่จะเปิดให้บริการที่ศูนย์การค้า “ธนิยะพลาซา” สีลม ในเดือนมกราคม 2566 และเปิดเป็นสาขาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในย่านสีลม โดย “ดิงกิ” มีวิสัยทัศน์ว่าจะเปิดทั้งสิ้น 12 สาขา ภายในปี 2568 ครอบคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร
สิ้นปี 2565 ค้าปลีกโตเพิ่ม 11% หรือปิดมูลค่าที่ 3.45 ล้านล้านบาท
แม้ “ดัชนีค้าปลีก” ประจำเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาจะไม่สดใสมากนัก จากเหตุน้ำท่วม -เงินเฟ้อ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนตุลาคมขยับเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนกันยายนโดยได้รับปัจจัยหนุนชั่วคราวจากจำนวนวันหยุดยาวสองช่วง มาช่วยชดเชยกำลังซื้อที่อ่อนแอ โดยคาดว่าดัชนี RSI ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย (ก.ย.-ธ.ค.) จะปรับเพิ่มขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และเทศกาลปีใหม่ รวมถึงมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเรื่องความท้าทายจากการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กดดันให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่การลดการจ้างงานในช่วงโควิด และการื้นตัวของธุรกิจคืออีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ขณะที่ธุรกิจ 70% ประเมินว่ากำลังซื้อไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะขยายตัวดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ธุรกิจ 44% มีสภาพคล่องเพียงพอมากกว่า 12 เดือน
นั่นทำให้มีการประเมินตัวเลขอุตสาหกรรมค้าปลีกในสิ้นปีนี้ ที่มีการประเมินว่ามูลค่าตลาดค่าปลีกของไทยปี 2565 จะมีมูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนถึง 11% และมีมูลค่าเทียบเท่ากับปี 2562 เทียบเท่าก่อนการระบาดของโควิด-19
ในเมื่อดัชนีค้าปลีกยังไม่ฟื้นตัวเต็มร้อย ขณะที่การระบาดของโควิด กำลังซื้อที่ผ่านมาก็ไม่กระเตื้องมากนัก ทำไมผู้ประกอบการถึงเดินหน้าเปิดศูนย์การค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง….ก่อนอื่นต้องเข้าใจอินไซซ์คนไทยส่วนใหญ่ด้วยว่าชื่นชอบการพักผ่อนที่สะดวกสบาย ไม่เครียดและง่ายต่อการเดินทาง ซึ่งเมื่อห้างสามารถตอบโจทย์ One Stop Service แบบครบจบในที่เดียว ทั้งง่ายสะดวก สบาย ทั้งการเงิน ร้านอาหาร แฟชั่น โรงหนัง หรือแม้แต่กิจกรรมเฉพาะกลุ่มต่างๆ
ขณะที่การขยายตัวของเมือง การปรับผังเมืองในพื้นที่ต่างๆสามารถทำได้มากขึ้น รองรับเส้นทางเดินรถไฟฟ้า ก็ทำให้ทางผู้ประกอบการค้าปลีก ต่างเร่งขยายสาขาตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อชิงกำลังซื้อไปพร้อมๆกับขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เป็นการดักในทำเลยุทธ์ศาสตร์ที่แต่ละค่ายถนัด รับภาพของธุรกิจค้าปลีกกำลังฟื้นตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนในแง่พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทย โดย “วันเดอร์แมน ธอมสัน” เผยผลการศึกษา ‘ฟิวเจอร์ ช้อปเปอร์’ (Future Shopper) พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซสูงที่สุดในโลก
โดยประเด็นที่น่าสนใจคือแม้ออนไลน์จะเป็นช่องทางมาแรง แต่หน้าร้านก็ยังคงสำคัญ และผู้บริโภคยังหวังได้รับประสบการณ์ที่ดีจาก Omnichannel โดยผู้บริโภคชาวไทย 79% ยังคงชอบจับจ่ายกับแบรนด์ที่มีทั้งหน้าร้านจริงและร้านออนไลน์ และพวกเขายังอยากให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกมอบประสบการณ์ที่เชื่อมต่อช่องทางต่างๆ อย่างราบรื่นแบบไร้รอยต่อได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ นั่นทำให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกจะต้องเตรียมพร้อมให้รอบด้านครอบคลุมในทุกมิติธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการให้ตรงจุดมากที่สุด
อ่านเพิ่มเติม
ฝันใหญ่ของ ‘ศุภลักษณ์ อัมพุช’ ไม่ใช่แค่ Shopping Center แต่ปั้น “ย่านสุขุมวิท” ยกกรุงเทพสู่มหานครโลก