HomeBrand Move !!รู้จักอาณาจักร ‘เจ มาร์ท’ กิจการ 2 แสนล้าน ธุรกิจที่เริ่มต้นจากก๊อปปี้ ‘ซิงเกอร์’ ต่อมาได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

รู้จักอาณาจักร ‘เจ มาร์ท’ กิจการ 2 แสนล้าน ธุรกิจที่เริ่มต้นจากก๊อปปี้ ‘ซิงเกอร์’ ต่อมาได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

แชร์ :

Adisak Jmart CEO

คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา

“เจ มาร์ท” ก่อตั้งบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยคุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยากับภรรยา ในปี 2532 เริ่มธุรกิจแรกร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน ที่ย่านพัฒนาการ ผ่านมา 33 ปี วันนี้ “เจ มาร์ท กรุ๊ป” เป็นโฮลดิ้งลงทุนในธุรกิจค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี มี 20 บริษัทในเครือ มูลค่ากิจการรวมกว่า 210,000 ล้านบาท เป้าหมายในปี 2567 คือ 500,000 ล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ย้อนไปจุดเริ่มต้นที่มาของธุรกิจ “เจ มาร์ท” ในวันแรก คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

ช่วงเริ่มต้นไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจสำเร็จหรือไม่ แต่รู้อยู่อย่างเดียวว่าต้องไป ก๊อปปี้ ธุรกิจอะไรสักอย่างที่กำไรดี เลยเลือกก๊อปปี้ การทำธุรกิจแบบซิงเกอร์ (Singer) ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน คิดดอกเบี้ย 5% ต่อเดือน เพราะไม่มีธุรกิจไหนที่ได้ผลตอบแทนดีเท่านี้แล้ว ช่วงนั้นรัฐยังไม่ได้ออกกฎระเบียบมาควบคุมดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ ทำให้ ซิงเกอร์ เติบโตอย่างมาก

 

jmart first store in 1989

 “เจ มาร์ท” จากมาร์เก็ตแคป 540 ล้าน ทะยานสู่ 60,000 ล้าน

จากจุดเริ่มต้นร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน เส้นทางต่อมาของ “เจ มาร์ท” ในปี 2535 ได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจการค้าปลีกโทรศัพท์มือถือและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ โดยขยายร้านในห้างสรรพสินค้าหลักๆ หลายแห่ง

ช่วง 10 ปีแรกต้องถือว่ามีอุปสรรคอย่างมาก และยังไม่รู้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร แต่ก็เลือกทำธุรกิจร้านขายมือถือโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว คือ เรื่องเงินผ่อน เข้ามาเสริมการทำธุรกิจ แต่การขยายสาขาหลายแห่ง สิ่งที่ตามมาคือ “เงินไม่พอ” ช่วงนั้นจึงต้อง “กู้” อย่างเดียว

แต่ด้วยความตั้งใจที่อยากสร้างธุรกิจให้เติบโต ในปี 2545 คุณอดิศักดิ์ จึงบอกกับตัวเองว่า “ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้” แต่เมื่อยื่นไฟลิ่งครั้งแรก ก.ล.ต. ก็ปฏิเสธ ต่อมาในปี 2548 จึงยื่นไฟลิ่งใหม่เป็นครั้งที่ 2 ก.ล.ต.ก็ปฏิเสธอีก แต่ก็ไม่ท้อเพราะตั้งใจที่พา “เจ มาร์ท” เข้าตลาดฯ ให้ได้ ในปี 2551 ยื่นไฟลิ่งเป็นครั้งที่ 3 ครั้งนี้ ก.ล.ต. ให้ผ่าน

จากนั้นหุ้น “เจ มาร์ท” first trading day ในปี 2552 ราคา IPO 1.80 บาทต่อหุ้น ด้วยมาร์เก็ตแคป 540 ล้านบาท ระดมทุนได้ 133 ล้านบาท

ปัจจุบัน JMART ธุรกิจเดียวมีมูลค่ากิจการกว่า 66,000 ล้านบาท  โดย “เจมาร์ท โมบาย” (Jaymart Mobile) เป็นผู้นำอันดับต้น ๆ ของประเทศ ในด้านการเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์กลุ่มไอทีและอุปกรณ์ดิจิทัลที่หลากหลาย หรือ Gadget Destination ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการเงินให้กับลูกค้า (Financial Destination) มีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 300 สาขา ทำยอดขายกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

“เจ มาร์ท” ที่มาถึงวันนี้ได้เป็นเพราะความตั้งใจและไม่เคยถอดใจและสู้มาตลอดเส้นทางทำธุรกิจ 33 ปี

แจ้งเกิด JMT จากการขอหนี้ค่ายมือถือ AIS

ในปี 2537 ช่วงที่ เจ มาร์ท ทำธุรกิจเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าและเพิ่งทำร้านขายปลีกมือถือ ก็เริ่มมีเงินทุนจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาทำธุรกิจการเงินปล่อยสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่ำกว่าตลาดขณะนั้น

ขณะที่ เจ มาร์ท ไม่มีทุนมากพอที่จะแข่งขัน คุณอดิศักดิ์ บอกว่า “ตอนนั้นเริ่มคิดว่าจะไปต่อหรือจบแค่นี้” แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจไปต่อ

โดยเป็นช่วงที่ทำร้านขายมือถือแล้ว จึงรู้จักกับโอเปอเรเตอร์ และเห็นโอกาสหารายได้จากการบริหารหนี้ เริ่มด้วยการไปขอหนี้จากค่ายมือถือ AIS ด้วยมูลหนี้ 600,000 บาท ให้พนักงานขายมือถือที่มีอยู่ 11 คน ตามเก็บเงินปรากฏว่าได้เงินมา 30,000 บาท จากนั้นก็ไปขอหนี้เพิ่มเรื่อยๆ และขยายไปขอหนี้จากแบงก์มาตามเก็บต่อ จนเริ่มเป็นที่รู้จัก

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ “เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส” หรือ JMT บริษัทบริหารหนี้ด้อยคุณภาพและการติดตามหนี้ ต่อมาในปี 2555 JMT เข้าตลาดฯ ด้วยมาร์เก็ตแคป 1,200 ล้านบาท ปัจจุบันมูลค่าอยู่ที่ 95,209 ล้านบาท (ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2565)

ถ้าเราถอดใจวันนั้น ไม่สู้ต่อ JMT ไม่เกิดขึ้นแน่นอน

IT Junction

Cr.jasasset

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจค้าปลีก ในปี 2542 เริ่มจาก เจ มาร์ท ได้พื้นที่เช่าในห้างบิ๊กซีมา 500 ตารางเมตร จึงก่อตั้งธุรกิจให้เช่าพื้นที่ไอทีภายใต้แบรนด์ “ไอที จังชั่น” (IT Junction) แต่ก็ไม่มีผู้ค้ามาเช่าต่อ ต้องเจอกับภาวะขาดทุน ด้วยความตั้งใจและไม่ยอมแพ้ จึงยังทำต่อไปเรื่อยๆ มีจุดเปลี่ยนเมื่อ AIS มาเช่าพื้นที่เปิดช็อป ช่วยดึงคนมาใช้บริการ ทำให้ร้านค้าอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือจุดเริ่มต้นของ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J “ถ้าเราไม่สู้ เจเอเอส แอสเซ็ท ก็คงไม่เกิด”

ปัจจุบัน เจเอเอส แอสเซ็ท ซึ่งเจ มาร์ท กรุ๊ปถือหุ้น 65.5% เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าสำหรับผู้ค้าปลีกสินค้าไอทีและโทรศัพท์มือถือ “ไอที จังชั่น” มีพื้นที่ให้เช่ากว่า 30 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังพัฒนา “คอมมูนิตี้มอลล์” ภายใต้แบรนด์ เดอะ แจส, เดอะ แจส เออเบิร์น, แจส วิลเลจ และ แจส กรีน วิลเลจ พื้นที่รวมกว่า 75,000 ตารางเมตร

Cr.facebook Jaymart

จากก๊อปปี้ธุรกิจก้าวสู่ ผู้ถือหุ้นใหญ่ “ซิงเกอร์”

แม้อาณาจักร “เจ มาร์ท” เริ่มต้นด้วยด้วยการก๊อปปี้โมเดลธุรกิจซิงเกอร์ แต่ 26 ปีต่อมา คือในปี 2558 ได้รับข้อเสนอจากผู้ถือหุ้นเดิม (กลุ่มต่างชาติ) “ซิงเกอร์” ที่จะขายหุ้นให้ คุณอดิศักดิ์ บอกว่าเขาตกลงทันที เพราะเดิม “รักและชอบ” ธุรกิจซิงเกอร์อยู่แล้ว “เจ มาร์ท” จึงเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 24.99% ปัจจุบันถืออยู่ที่ 25.48% (ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2565)

การซื้อหุ้น “ซิงเกอร์” ครั้งนั้นไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ เพราะเงินไม่พอซื้อ จึงเลือกที่จะตัดขายหุ้น เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท บางส่วน โดยขายให้ BTS และกู้ธนาคารเพิ่ม เพื่อนำเงินมาซื้อหุ้นซิงเกอร์

หลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “เจ มาร์ท” ใช้เวลา 3 ปี ในการอัพเกรดระบบหลังบ้าน นำระบบ POS และ ERP มาใช้ ทำให้ ซิงเกอร์ เปลี่ยนการทำงานจากระบบแอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล 100% สามารถขยายพอร์ตสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัทย่อย “เอสจี แคปปิตอล” หรือ SGC ได้เพิ่มขึ้น และขยายบริการสินเชื่อทะเบียนรถเพิ่มเติม ปลายปี 2565 ซิงเกอร์ เตรียมนำ SGC เข้าในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นับจากวันที่ซื้อหุ้นซิงเกอร์ ปรับโครงสร้างการทำงาน ขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเติม ปัจจุบันมีสาขากว่า 6,000 แห่งในทุกตำบลทั่วประเทศ มีทีมขายกว่า 10,000 คน ทำให้ ซิงเกอร์ กลับมาเป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุด 700 ล้านบาท ในปี 2564 สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้ง 132 ปี (เคยกำไรสูงสุด 603 ล้านบาท) และปี 2565 ซิงเกอร์จะสร้างสถิติใหม่ที่กำไร 1,000 ล้านบาท

Adisak CEO JMART 3

จับมือพันธมิตรขยายธุรกิจ เป้าหมายปี 67 มาร์เก็ตแคป 5 แสนล้าน

ในปี 2559 เจ มาร์ท ได้ปรับโครงสร้างกลุ่มให้กลายเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เปลี่ยนตัวเองจากบริษัทขายมือถือ สู่ Investment Technology Holding Company โดยให้ “เจมาร์ท โมบาย” เป็นธุรกิจหลัก มีเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ในปี 2560 ได้ก่อตั้ง บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) เป็น ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล มุ่งเน้นในการทำ Digital Transformation ด้วยการนำเทคโนโลยี อาทิ บล็อกเชน มาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างการเติบโต

ต่อมาในปี 2561 JVC เริ่มทำ Fintech เสนอขาย Initial Coin Offering (ICO) ในชื่อ JFIN ดิจิทัลโทเคนรายแรกของไทย ล่าสุดพัฒนา JFIN Chain เป็นบล็อกเชนของตนเอง และใช้ JFIN เป็น Native Token

ส่วนธุรกิจรีเทลได้เข้าไปลงทุนใน บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด (BB) ร้านอาหารและร้านกาแฟ สเปเชียลตี้ แบรนด์ คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) และ White Café เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ ปัจจุบันมี 34 สาขา ทั่วประเทศ

ไม่เพียงขยายธุรกิจด้วยตัวเอง “เจ มาร์ท” ที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ได้จับมือกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ ขยายธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก คือค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่อง

พันธมิตรรายใหญ่ BTS Group ผ่านบริษัทในเครือ คือ VGI และ U City ในปี 2564 ได้เข้ามาลงทุนใน เจ มาร์ท 17,500 ล้านบาท โดย U City เข้าไปลงทุน 24.9% ในซิงเกอร์ นอกจากนี้ทั้ง U City ได้ถือหุ้น 9.9% และ VGI ถือหุ้น 15% ใน เจ มาร์ท

ช่วงปลายปี 2564 เจ มาร์ท ร่วมกับ “กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง” ตั้งบริษัทร่วมทุน “เจจีเอส ซินเนอร์จี พาวเวอร์” (JGS) ทำตลาด Solar Rooftop ไซส์ครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง ผ่านทางช่องทาง เจมาร์ท โมบาย, JayDee Group และซิงเกอร์ พร้อมให้สินเชื่อจากกลุ่มเจ มาร์ทและซิงเกอร์

เดือนมิถุนายน 2565 ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมทุนกับ JMT มูลค่า 10,000 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) เป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกในไทย ระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด

ส่วนความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ ในปี 2564 เจ มาร์ท และ JMT ร่วมทุนกับ KB Kookmin Card บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ในเกาหลีใต้ จัดตั้งบริษัท เคบี เจ แคปิตอล จำกัด (KB J) ขยายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ตั้งเป้าหมายก้าวเป็นบริษัท Non Bank 1 ใน 5 ของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทย

ในช่วง 2-3 ปีจากนี้ เจ มาร์ท ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องด้วยเงินลงทุนอีก 20,000-30,000 ล้านบาท ผ่านดีลร่วมทุนใน 3 ธุรกิจหลัก คือค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี หนึ่งในดีลร่วมทุนที่จะได้ข้อสรุปในเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ ธุรกิจอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” โดยเจ มาร์ท จะเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพด้านเงินทุนและเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดการเติบโตร่วมกัน

การลงทุนจะเป็นหัวใจหลักของกลุ่ม “เจ มาร์ท” หลังจากนี้ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Business Model) เป็นการเติบโตแบบ Organic Growth จากธุรกิจที่มีอยู่และธุรกิจที่เข้าไปลงทุน ด้วยเป้าหมายสร้างมูลค่ากิจการรวมกลุ่มบริษัทให้ได้ 500,000 ล้านบาท ในปี 2567 “เราต้องทำธุรกิจให้เติบโตมากกว่าที่ผ่านมา เป็นแบรนด์ที่คนรุ่นใหม่ยอมรับ และต้องการเข้ามาร่วมทำงานด้วย”

“ตลอดเวลากว่า 33 ปี ของ เจ มาร์ท ทำธุรกิจสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ผมไม่ได้มีความทะเยอทะยานอะไรมาก แต่เมื่อมีพาร์ทเนอร์เข้ามาทำงานร่วมกับเรามากขึ้น จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องคิดต่อว่า วันนี้ เจ มาร์ท มาได้ไกลขนาดไหนแล้ว ก็ต้องตอบว่ามาได้ 30% นั่นเป็นการส่งสัญญาณให้ทีมงานและทุกบริษัทในเครือรู้ว่า เรายังมาไม่ถึงครึ่งทาง หรือ 50% หมายถึงเรายังมีการบ้านที่ต้องทำอีกเยอะมาก และโอกาสที่จะไปต่อก็อีกมากเช่นกัน” 

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like