HomeAutomobileEV โตต่อเนื่อง “SHARGE” จับมือ 8 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผุดสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 600 แห่งภายในปีนี้

EV โตต่อเนื่อง “SHARGE” จับมือ 8 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผุดสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 600 แห่งภายในปีนี้

แชร์ :

shutterstock_home ev charging

สำหรับภาพของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ในประเทศไทย ปี 2022 อาจเป็นปีที่ภาพดังกล่าวกำลังชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยนอกเหนือจากการสนับสนุนของภาครัฐฯ จนทำให้ราคารถ EV สามารถปรับลดลงมา และส่งผลให้รถ EV ที่มาจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามแล้ว ในเรื่องของสถานีชาร์จ ก็มีการประกาศโรดแมปของผู้ให้บริการออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในแบรนด์ที่ออกมาประกาศวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานีชาร์จรถ EV ในปีนี้ก็คือค่าย SHARGE ที่บอกว่า จะเดินหน้าเพิ่มพันธมิตร และสร้าง Ecosystem โดยเน้นกลุ่มที่อยู่อาศัย, ห้างสรรพสินค้า, อาคารสำนักงาน, โรงแรม ไปจนถึงบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมตั้งเป้าสร้างสถานีชาร์จ 600 แห่ง และมีหัวชาร์จให้บริการ 2,400 หัวชาร์จภายในปีนี้

นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE)

คุณพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE)

คุณพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) เผยให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดรถ EV ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลกว่า สถานการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมจำนวนรถ EV ทั่วโลกระหว่างปี 2010 – 2020 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ราว 76% ต่อปี สู่จำนวน 10.2 ล้านคัน และยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทั่วโลกต่างออกมาตรการสนับสนุนและนโยบายที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตรถ EV อย่างต่อเนื่อง เช่น จีนที่มีการใช้รถ EV มากกว่า 4.5 ล้านคัน จากการยกเว้นภาษีและสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ผลิต

sharge ev 04

sharge ev 01

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ EV อย่างสถานีชาร์จและจำนวนหัวชาร์จ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกเช่นเดียวกัน เฉพาะในเยอรมนี คาดว่าจะมีสถานีชาร์จสาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 จุดในปี 2025 และทะลุ 700,000 จุดในปี 2030

ไทยตั้งเป้ามีรถ EV 1.05 ล้านคันภายใน 2025

สำหรับประเทศไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้มีการตั้งเป้าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2025 จากเป้าหมายดังกล่าว SHARGE คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีความต้องการชาร์จพลังงาน EV ไม่น้อยกว่า 1 ล้านหน่วยต่อสัปดาห์ในปี 2025 และมีความจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้าน EV รวมถึงสถานีชาร์จ EV ที่เพียงพอ

sharge ev

นอกจากนี้ การทำความเข้าใจพฤติกรรมการชาร์จไฟรถ EV ของผู้บริโภคก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยคุณพีระภัทรมองว่า การชาร์จไฟของผู้บริโภคนั้น มีหลายรูปแบบ เช่น

  • การชาร์จในตอนกลางคืน  มักเป็นการชาร์จไฟที่บ้าน ใช้เวลา 2 – 8 ชั่วโมง
  • การชาร์จไฟในตอนกลางวัน ที่มักเกิดขึ้นตอนเราไปจอดรถตามห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรืออาคารสำนักงาน ที่อาจต้องใช้หัวชาร์จอีกประเภทหนึ่งที่สามารถชาร์จไฟได้ภายในเวลา 2 – 4 ชั่วโมง
  • การชาร์จไฟในระหว่างเดินทาง (On-the-go) มักเป็นการชาร์จที่ต้องการความรวดเร็ว เพราะต้องเดินทางต่อ โดยอาจใช้เวลาชาร์จ 15 – 20 นาที
  • การชาร์จสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Fleet) ซึ่งมักมีการติดตั้งจุดชาร์จที่จุดลงสินค้า

ส่วนความกังวลเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น และอาจกระทบต่อการใช้ไฟของประเทศนั้น คุณพีระภัทรกล่าวว่า “สมมติเรามีรถ EV หนึ่งล้านคันวิ่งทุกวัน รถ EV หนึ่งคันชาร์จแบตเตอรี่เต็ม จะใช้ไฟเท่ากับ 25% ของไฟบ้านหนึ่งหลัง ซึ่ง Capacity ด้านไฟฟ้าของประเทศไทย เรามีเตรียมไว้เกิน 50% ของกำลังการใช้ของประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น การใช้เพิ่มขึ้น 25% ยังไม่ใช่ตัวเลขที่มีผลในภาพรวมต่อการใช้ไฟของประเทศ”

SHARGE เปิดแผนสร้าง Ecosystem สำหรับ EV

sharge ev 02

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จ EV ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศไทยในอนาคต และสอดคล้องกับเมกะเทรนด์การเติบโตของ EV ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทาง SHARGE มี 8 แกนในการจับมือ ได้แก่

  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property Developer) เช่น แสนสิริ, พฤกษา, SC Asset, ศุภาลัย, Origin
  • ธุรกิจด้านการบริหารอสังหาริมทรัพย์ (Property Management)
  • ธุรกิจค้าปลีก – อาคารสำนักงาน (Retail & Office) โดยมีสถานีชาร์จที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เซ็นทรัล เอมบาสซี
  • ธุรกิจโรงแรม (Hotel) เช่น โรงแรมเดอะสแตนดาร์ด หัวหิน
  • ธุรกิจโรงพยาบาล – สถานศึกษา (Hospital & Campus)
  • บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ (Automotive Sector) เช่นการจับมือกับค่าย Audi, porche
  • ผู้ให้บริการที่มียานพาหนะจำนวนมาก (Fleet Operator) เช่น เรือด่วนเจ้าพระยา
  • ธุรกิจค้าปลีกพลังงาน (Energy Retailer & Supplier) เช่น บางจาก

นั่นคือ บริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จและหัวชาร์จทั้งแบบกระแสสลับ (AC) ตามที่อยู่อาศัย และแบบกระแสตรง (DC) ที่เป็น Super Fast Charge ตามจุดพักรถและสถานที่สำคัญต่าง ๆ กระจายไปตามจุดพักรถในทั้ง 4 ภูมิภาค นำร่องในปี 2022 ด้วยจำนวนสถานีชาร์จทุกประเภทสะสมไม่น้อยกว่า 600 สถานี และจำนวนหัวชาร์จ 2,000-2,400 หัวชาร์จ

sharge

2022 ผุด “สถานีชาร์จแลนด์มาร์คที่ใหญ่ที่สุด”

ขณะเดียวกัน ในปีนี้ SHARGE บอกว่า จะมีการสร้าง “สถานีชาร์จแลนด์มาร์คที่ใหญ่ที่สุด” ในรัศมี 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ​ มีจุดเด่นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

  1. มีจำนวนหัวชาร์จมากกว่าสถานีปกติ
  2. เป็นสถานีที่มีหัวชาร์จ DC แบบ Super Fast Charge ที่จ่ายไฟได้เร็วที่สุดในประเทศไทย เพื่อให้ไลฟ์สไตล์การชาร์จไฟฟ้าใช้เวลาใกล้เคียงกับการเติมพลังงานแบบดั้งเดิม โดยไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
  3. มีอาหารและบริการที่ตอบโจทย์ทั้งคนและรถยนต์

เตรียมจับมือ 5 Fleet Operators

อีกหนึ่งแผนที่คุณพีระภัทรเผยว่าจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการเติบโตของ SHARGE ในปีนี้ก็คือ การเจาะตลาดกลุ่มผู้มียานพาหนะให้บริการจำนวนมาก (Fleet Operator) เช่น บริษัทโลจิสติกส์ บริษัทที่ให้บริการด้านการขนส่งคนและสิ่งของ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความต้องการลดต้นทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิง โดยบริษัทจะเดินหน้าเจรจากับกลุ่ม Fleet Operator อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 รายในปีนี้ และหนึ่งใน Fleet Operator ที่มีการเปิดเผยออกมาก็คือ เรือด่วนเจ้าพระยา

sharge app

SHARGE app

พัฒนาแอป จองคิวชาร์จไฟได้ล่วงหน้า

สำหรับแอปพลิเคชันของ SHARGE มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเติมหลายด้าน เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้น เช่น

  • Queuing System ระบบที่สามารถจองคิวการชาร์จไฟล่วงหน้าได้
  • Admin Dashboard อำนวยความสะดวกให้เจ้าของสถานีสามารถดูสถานการณ์ดำเนินงานของสถานีนั้น ๆ ได้แบบ Realtime
  • Privilege สำหรับองค์กรที่ต้องการโซลูชั่นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบฟลีท

ทั้งนี้ แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้แล้ว ทั้งใน App Store และ Play Store

ผู้บริหาร SHARGE เผยด้วยว่า บริษัทมียอดขายสะสม 5 ปีนับจากนี้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ปัจจุบัน มีบริษัทขนาดใหญ่จากหลากหลายเซ็กเตอร์เข้าร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้น อาทิ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG และบริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด

ปัจจุบัน SHARGE ให้บริการใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.การขายอุปกรณ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า 2.การเป็นเจ้าของสถานีชาร์จในแหล่งไลฟ์สไตล์ที่สำคัญ เช่น ห้างสรรพสินค้าต่างๆ 3.การให้บริการแอปพลิเคชัน SHARGE และการจัดการซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับ EV Charging


แชร์ :

You may also like