HomeSustainability & CSRโลกมืดไม่อาจปิดกั้นความสำเร็จ ‘พอลร์’ ผู้พิการทางสายตา สู่เจ้าของแบรนด์ Paul Food 

โลกมืดไม่อาจปิดกั้นความสำเร็จ ‘พอลร์’ ผู้พิการทางสายตา สู่เจ้าของแบรนด์ Paul Food 

‘พอลร์ ผู้พิชิตไพร’ ผู้พิการทางสายตา สู่เจ้าของแบรนด์เนยถั่วและอาหารสุขภาพ Paul Food 

แชร์ :

“ครั้งนึงผมช่วยยกของจากบนรถ พอคนมาเห็นก็ตกใจ แล้วก็มาว่า เห้ย บริษัทปล่อยคนตาบอดมาส่งของได้ยังไง เหมือนรังแกผู้พิการ ลูกน้องผมก็บอก อ๋อ พี่เขาเป็นเจ้าของบริษัทครับ”

หลายครั้งสังคมมักตีกรอบความคิดเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตาว่าคงไม่สามารถทำงานได้ หรือถ้าหากทำได้ก็มีอาชีพจำกัดอยู่เพียงไม่กี่อย่าง แต่สำหรับคุณ ‘พอลร์ ผู้พิชิตไพร’ ผู้พิการทางสายตาเจ้าของแบรนด์ Paul Food ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตร ได้พิสูจน์ว่าผู้พิการสามารถ ‘เป็นอะไรก็ได้’ เพียงแต่คนไทยยังมีมุมมองว่าการใช้งานผู้พิการกลายเป็นการรังแกและเป็นสิ่งไม่ดี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ซึ่งคุณพอลร์ยังยืนยันว่าผู้พิการก็ทำงานได้และเริ่มธุรกิจได้ เช่นเดียว Paul Food ที่เริ่มต้นขึ้นที่บ้านของเขาเองที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จาก “เนยถั่ว” ที่เรียนรู้จากคุณพ่อที่เป็นมิชชันนารีรวมกับการศึกษาเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตและสถาบันอาหารในปี 2549 ปัจจุบันมีพนักงาน 20-30 คนและสินค้าวางขายในซูเปอร์ต่างๆ จนมียอดขายหลายสิบล้านต่อปี ก็เกิดขึ้นได้ด้วยมือคนตาบอด

จากคนตาดี สู่ ผู้พิการทางสายตา

“ผมเป็นคนตาดีมาก่อนนะครับ จนถึงอายุ 24 ปีแล้วก็เริ่มป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง ก็เลยทำให้สูญเสียการมองเห็นไป”

โรคภูมิแพ้ตัวเองที่ทำให้เม็ดเลือดขาวทำลายเม็ดเลือดแดงในร่างกาย จนทำลายเนื้อเยื่อในจอประสาทตาของคุณพอลร์ส่งผลให้การมองเห็นค่อยๆ เลือนรางลงเรื่อยๆ จนหลังผ่านการรักษาราว 3 ปี สุดท้ายดวงตาคุณพอลร์ก็บอดสนิทในวัย 24 ปี

“ตอนนั้นผมเสียใจมาก แล้วก็ขังตัวเองอยู่ในบ้าน 2 ปีไม่ยอมออกไปไหนเลย กว่าจะทำใจและออกมาสู้ต่อ ออกมาเรียนอีกครั้ง ตอนนั้นก็ถอดใจมาก เราก็พยายาม มาเรียนจนจบ มาเริ่มทำธุรกิจ โชคดีว่าผมได้รับกำลังใจจากครอบครัวมากเลยครับ”

เมื่อสูญเสียดวงตาและไม่สามารถกลับมาเรียนคณะบัญชีที่เคยเรียนได้ หลังจากรักษาตัวเองคุณพอลร์ก็กลับไปเรียนคณะครุศาสตร์จนจบการศึกษา ด้วยความที่มาสูญเสียการมองเห็นตอนโตเป็นผู้ใหญ่ทำให้คุณพอลร์ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด และต้องปรับตัวทุกอย่างในชีวิต โดยมีทางมูลนิธิคนตาบอดที่เข้ามาช่วยแนะนำการใช้ชีวิตในฐานะผู้พิการ และช่วยเหลือให้กลับเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง รวมถึงทางมูลนิธิได้ช่วยเปิดโอกาสในการฝึกงานให้คุณพอลร์ได้ไปฝึกสอนที่โรงเรียนคนตาบอด 

แม้ว่าการปรับตัวในวัยผู้ใหญ่เป็นเรื่องยาก เพราะพัฒนาการที่หยุดไปตั้งแต่วัยเด็กทำให้ไม่สามารถพัฒนาประสาทสัมผัสได้มากเท่าคนที่ตาบอดแต่กำเนิด คุณพอลร์ยังเล่าถึงช่วงที่เรียนครุศาสตร์ไปฝึกสอนที่โรงเรียนคนตาบอด เด็กๆ ที่ตาบอดแต่กำเนิดมีประสาทสัมผัสที่ดีกว่ามากสามารถรับรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ใช้การดีดนิ้วหรือผิวปากช่วยรับสัมผัส แต่ตลอดเวลาในช่วงปรับตัวทางมูลนิธิคนตาบอดได้เข้าสนับสนุนให้คุณพอลร์ได้ปรับตัวและสนับสนุนทางด้านการศึกษามาตลอด

 

กรอบ และ กรอบ…ผู้พิการ

“พอจบผมก็เริ่มไปสมัครงานตามโครงการของราชการเนาะ แต่เขาก็เลือกคนที่พิการน้อย อย่างขาเดินไม่ได้ ขาไม่เท่ากัน แต่อาจจะมองเห็นดีกว่าเรา เราก็เลยไม่ได้งาน ถึงแม้ว่าคะแนนสอบเราจะเยอะแต่เขาก็ดูที่ความพิการด้วย”

เพราะสังคมไทยยังคงมองว่าผู้พิการ หรืออาจโดยเฉพาะผู้พิการทางสายตาไม่สามารถทำงานได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณพอลร์ไม่ได้รับเข้าบรรจุทำงานและจึงกลับมาที่บ้านและเริ่มต้นธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรของตัวเองจนสำเร็จ ซึ่งคุณพอลร์ก็ยังบอกว่ามันยากและคนตาบอดต้องพยายามเป็น 2-3 เท่าของคนตาดี ทุกข้อมูล ทุกการวิเคราะห์ ต้องใช้การจำเพียงอย่างเดียวและต้องจำทุกอย่าง และการเริ่มต้นธุรกิจในฐานะคนตาบอดก็ยังเป็นเรื่องแปลกในสังคม แม้แต่กับคนตาบอดด้วยกัน

“ตอนที่ผมเริ่มทำโรงงานใหม่ๆ ก็มีคนก็โทรมาบอกว่าพอลร์ไม่ต้องทำโรงงานแล้วให้ครอบครัวทำเถอะ เขากลัวว่าเราจะทำไม่ได้ ผมก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร โรงงานนี้ผมเริ่มด้วยตัวเอง ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว เป็นธุรกิจของผม ผมอยากทำด้วยตัวเอง”

“ส่วนตอนที่เรียนครุศาสตร์ก็มีเด็กตาบอดที่บอกว่า เออ เราจะตั้งใจเรียนทำไม พอโตมาเราก็ไปเป็นหมอนวด ไปขายลอตเตอรี่ เหมือนความคิดคนในสังคมหรือแม้แต่ผู้พิการบางคนเองก็ยังตีกรอบอยู่แค่นั้น”

 

โอกาสและความเข้าใจ

ความคิดที่ตีกรอบสังคมเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมไทยมักมองผู้พิการด้วยความ ‘สงสาร’ และคิดว่าพวกเขาไม่มีศักยภาพ ซึ่งคุณพอลร์กล่าวว่าเข้าใจทั้ง 2 กลุ่มมากขึ้นเพราะเขาเองก็เคยเป็นทั้งคนตาดีและเป็นคนตาบอด

“ความเข้าใจผิดๆ คือคนทั่วไปมักจะพยายามมอบอภิสิทธิ์ให้กับคนพิการ เข้ามาประคบประหงม ซึ่งมันคือการให้อภิสิทธิ์เพราะสงสาร ยิ่งทำให้เราแตกต่าง อย่างผมเคยไปกับลูกน้องไปกินข้าวพอไปจ่ายเงินเขารู้ว่าเราตาบอดเขาก็บอกว่าเขาไม่อยากคิดเงิน ไปที่ห้างแล้วเจ้าหน้าที่เอารถเข็นมาให้ เข้าใจว่าเขาหวังดี แต่เราก็บอกว่าเราเดินได้สะดวกกว่าครับ มันก็มีคนที่มองแบบนี้”

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะใส่ใจผู้พิการคุณพอลร์เล่าว่ายังมีอีกกลุ่มที่ไม่สนใจเรื่องสิทธิและบางทีก็ละเมิดสิทธิคนพิการด้วย ไม่ว่าจะถูกแซงคิว เข้าไปใช้พื้นที่ผู้พิการ ถูกตะคอกใส่ และทำเหมือนว่าพวกเขาเป็น ‘ภาระ’ ที่ไม่แม้แต่จะอยากทำความเข้าใจ

ผู้พิการในประเทศไทยยังต้องการ “โอกาสและความเข้าใจ” อีกมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกตีกรอบในอาชีพ การถูกมองว่าเป็นภาระที่ต้องดูแล การให้อภิสิทธิ์ต่างๆ ด้วยความสงสาร หรือเชื่อว่าผู้พิการทำงานไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สังคมไทยยังต้องกระจายการเรียนรู้อีกมาก เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน อาชีพ และการใช้ชีวิตอย่างปกติของผู้พิการ

“อยากฝากถึงคนตาบอด พยายามอย่าคิดว่าเรามีอาชีพแค่ หมอนวด ขายลอตเตอรี่ หรือว่าสอนหนังสือ จริงๆ เราทำได้ครับ เราทำธุรกิจ เราทำอะไรได้ทุกอย่างเลยนะ เพียงแต่เราอาจจะต้องแสวงหามันบ้าง

“สำหรับคนตาดี หลายคนที่มักจะรู้สึกสงสารคนพิการ ผมเข้าใจนะครับแต่อย่าสงสารจนทำให้เรารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นภาระเลย แต่คนที่เห็นเราเป็นภาระอยากให้เปิดใจหน่อยครับ เพราะเราก็พยายามที่จะดูแลตัวเองให้ได้ อย่าดูถูกเราหรือว่าเห็นเราเป็นภาระจนทำลายความตั้งใจของเราเลยครับ”

คุณพอลร์กล่าวทิ้งท้าย โดยหวังว่าวันหนึ่งสังคมจะเปิดใจและเห็นภาพผู้พิการทำงานและเป็นได้ทุกอาชีพ เพราะอย่างน้อยคุณพอลร์ก็พิสูจน์มาแล้วว่าผู้พิการก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจและสร้างแบรนด์ Paul Food จนประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

 

ผ้าป่ามหากุศล เปิดโอกาสผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ

Brand Buffet x มูลนิธิคนตาบอดไทย เพื่อสนับสนุนให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงความรู้ ดูแลตัวเอง และมีอาชีพที่มั่นคงตามความสามารถที่แตกต่างกัน ทางมูลนิธิได้จัดตั้งโครงการบริจาค “ผ้าป่ามหากุศล ช่วยคนตาบอดทั้งแผ่นดินให้รู้หนังสือ และมีงานทำ” ในวันที่ 2 เมษายน 2565

ร่วมสนับสนุนโอกาสและสร้างความเข้าใจให้กับผู้พิการทางสายตากับ ‘มูลนิธิคนตาบอดไทย’ (TAB Foundation) ได้ที่ บัญชีธนาคาร มูลนิธิคนตาบอดไทย

ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 128 0 85485 0

ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 007 0 04410

ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 034 4 18061 9

ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 744 2 45208 8

รายละเอียดเพิ่มเติม  https://www.facebook.com/tabfoundation

 

สามารถติดตามและอุดหนุนสินค้าเกษตรกรรม เพื่อสุขภาพ จาก Paul Food ได้ที่ https://www.facebook.com/paulfood.co


แชร์ :

You may also like