HomeDesignคุยกับไมโครซอฟท์ ออกแบบ Windows 11 อย่างไร เมื่อเทรนด์การทำงานเปลี่ยนสู่ Hybrid Work

คุยกับไมโครซอฟท์ ออกแบบ Windows 11 อย่างไร เมื่อเทรนด์การทำงานเปลี่ยนสู่ Hybrid Work

แชร์ :

shutterstock_work from home wfh child annoy
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงได้ผ่านตางานวิจัยของไมโครซอฟท์ (Microsoft) ในชื่อ “Work Trend Index” กันไปบ้างแล้ว โดยสิ่งที่งานวิจัยดังกล่าวรวบรวมข้อมูลมานั้น เผยให้เห็นถึงแนวโน้มต่าง ๆ ของโลกการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการปรับตัวไปสู่การทำงานแบบ Hybrid มากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ชื่อ “การทำงานแบบ Hybrid” จะฟังดูดี แต่สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้เปิดเผยตามมาก็คือ สถิติการใช้เครื่องมือดิจิทัลอย่างอีเมล “เพิ่มขึ้น 40,600 ล้านครั้ง” (จำนวนการส่งอีเมลในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 เทียบกับปี 2020) หรือข้อความแชทใน Microsoft Teams ที่เพิ่มขึ้นถึง 45% ต่อคน

นอกจากนั้น เรื่องของการใช้เอกสาร Microsoft Office ก็เพิ่มขึ้นถึง 66% เมื่อเทียบกับปี 2020 เช่นกัน ไม่นับรวมปัญหาความเหนื่อยล้าของพนักงานที่ต้องปรับตัวกับการทำงานในลักษณะดังกล่าว

ไมโครซอฟท์ยังพบด้วยว่า พนักงานใช้เวลากับการประชุมเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในแต่ละสัปดาห์ หรือคิดเป็น 148% และผลสำรวจยังพบว่า เมื่อปีที่ผ่านมา พนักงาน 1 ใน 6 เคยร้องไห้กับเพื่อนร่วมงานมาแล้ว โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านสาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่า วงทำงานของทีมที่แคบลงยังส่งผลให้องค์กรขาดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (ซึ่งเราจะเห็นว่า บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากไม่เพิกเฉยต่อสิ่งนี้ และพยายามจะชวนพนักงานกลับเข้าออฟฟิศกันในหลายรูปแบบ) โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจาก Work Trend Index ก็คือกลุ่ม Gen Z ที่หลายคนเสี่ยงหมดไฟได้นั่นเอง

ไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศ – พร้อมหางานใหม่

resign pandemic burnout ลาออก

แต่เมื่อถามต่อว่า พนักงานอยากให้การทำงานแบบ Hybrid นี้ดำเนินต่อไปไหม งานวิจัยกลับชี้ว่า 73% ของคนทำงาน ต้องการให้การทำงานแบบ remote work ดำเนินต่อไป และยังพบด้วยว่า การประกาศรับสมัครงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้บน LinkedIn นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

Work Trend Index เผยว่า แรงงานทั่วโลกกว่า 40% กำลังพิจารณาที่จะย้ายออกจากนายจ้างเดิมในปีนี้ และ 46% กำลังวางแผนที่จะย้ายไปทำงานที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้

ภาพที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า โลกแห่งการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งในมุมของผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเกินกว่าพันล้านเครื่อง แถมต้องรองรับผู้ใช้งานที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่เด็กนักเรียนนักศึกษา คนทำงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที นักพัฒนาแอปพลิเคชัน ไปจนถึงหน่วยงานราชการ ฯลฯ บางทีงานดีไซน์ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) บนระบบปฏิบัติการตัวใหม่ล่าสุดอย่าง Windows 11 อาจมีคำตอบของตัวเองอยู่เช่นกัน และผู้ที่จะมาเผยมุมมองนี้ได้ดีที่สุดอาจเป็นคุณวิสสุต เมธีสุวกุล ​ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด นั่นเอง

คนทำงานโหยหาความสงบ

Vissut-Microsoft

คุณวิสสุต เมธีสุวกุล ​ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

นั่นคือสิ่งที่คุณวิสสุตบอกออกมาเป็นอันดับแรก ๆ

“หากย้อนไปในอดีต เชื่อว่าหลายคนยังจำได้กับยุคที่เรายังต้องใช้แผ่นดิสก์หลาย ๆ แผ่นในการติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows แต่พอเปลี่ยนมาเป็น Windows 95 ตอนนั้นผู้ใช้งานรู้สึกเลยว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะ Windows 95 มีทั้งกราฟิก สีสัน ใช้เมาส์กดคลิกได้ ทำอะไรได้มากมาย ผู้ใช้งานรู้สึกว่าตนเอง Productive ขึ้น”

ระบบปฏิบัติการ Windows 98, Windows XP รวมถึงระบบปฏิบัติการ Windows 10 ที่เปิดตัวตามมาก็เช่นกัน แต่ความสำเร็จเหล่านั้นอาจต้องถูกปฏิรูปเสียใหม่ ในยุคแห่ง Hybrid Work ที่บริบทของการทำงานเปลี่ยนไป

“การจะออกแบบระบบปฏิบัติการ Windows 11 ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานบนอุปกรณ์มากกว่า 1,300 ล้านเครื่องเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะกลุ่มเป้าหมายมีทั้งคนใช้ตามบ้าน นักเรียน คนทำงาน นักพัฒนา ฯลฯ และความ Productive ของแต่ละกลุ่มนั้นก็แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราพบว่าทุกกลุ่มต้องการเหมือนกันก็คือ ความสงบ ทำอย่างไรให้โฟกัสกับงานตรงหน้าได้มากขึ้น ไม่ว่างานนั้นจะเป็นการเรียนหนังสือ ทำงานออฟฟิศ หรือแม้แต่การเขียนโปรแกรม”

ด้วยเหตุนี้ คำตอบของไมโครซอฟท์กับการทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกสงบมากขึ้นก็คือการดีไซน์ที่เน้นความโค้งมน ทั้งในส่วนของตัวหน้าต่าง และฟอนต์

ส่วนกราฟิกบนหน้าจอ หากไม่ได้เป็นหน้าต่างที่ใช้งาน ก็จะออกแบบให้โปร่งแสงเพื่อให้หลุดสายตาออกไป คนทำงานจะได้โฟกัสกับหน้าจอตรงหน้ามากขึ้น

ย้ายทาสก์บาร์อยู่ตรงกลาง เพราะเทรนด์จอกว้างกำลังมา

windows 11 start menu

ปุ่มสตาร์ทเมนูที่เคยอยู่มุมซ้ายของหน้าจอมาตลอดหลายสิบปีก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยในดีไซน์ใหม่ ทาสก์บาร์ได้ย้ายมาอยู่ตรงกลาง ในจุดนี้คุณวิสสุตเล่าว่า เป็นเพราะเทรนด์จอกว้าง กำลังมาแรง

“ไมโครซอฟท์พบว่า ผู้ใช้งานในปัจจุบันมีการใช้จอกว้างเป็นพิเศษมากขึ้น ซึ่งการที่ปุ่มสตาร์ทที่มุมด้านซ้าย ทำให้เราต้องเลื่อนเมาส์ไกลมาก แล้วก็ต้องละสายตาไปมองที่มุมซ้ายสุดด้วย แต่พอย้ายมาตรงกลาง เราแค่เลื่อนสายตามานิดเดียวก็กดได้แล้ว เราจึงมองว่านี่คือการออกแบบที่ตอบโจทย์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถอัปเกรดจอได้ตามต้องการมากขึ้น”

Aerial View Of Mother Working In Office At Home With Daughter

Personalize อย่างไรให้ชีวิตบาลานซ์

นอกจากนี้ การที่ไมโครซอฟท์พบว่า การทำงานจากที่บ้านไม่ใช่เรื่องน่าสบาย หรือน่าอิจฉาอย่างที่หลายคนคิด จึงมีการออกแบบตัวช่วยมาในอีกหลายรูปแบบบน Windows 11 เพื่อให้ชีวิตการทำงาน – ชีวิตส่วนตัวสมดุลมากขึ้น

“เราเปิดตัว Windows 365 เป็นคลาวด์พีซี เพื่อให้การทำงานแบบต่อเนื่องเกิดได้อย่างลื่นไหลมากขึ้น เช่น บางคนปิดพีซีไปแล้ว กลับมาถึงบ้านเปิดแท็บเล็ต แล้วล็อกอินด้วย Windows 365 แอปที่ค้างในหน้าจอที่ทำงาน ก็จะกลับมาแสดงผลให้เลย”

นอกจากนั้น ยังมีการเปิดตัว Microsoft Viva ในฐานะผู้ช่วยขององค์กร โดย Microsoft Viva สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกกับฝ่าย HR หรือผู้บริหารได้ โดยข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ HR ทราบว่าแต่ละทีมมีความสมดุลในการทำงานมากน้อยอย่างไร ประชุมมากเกินไปหรือเปล่า อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูล และช่วยแจ้งเตือนหัวหน้างานได้ว่าทีมไหนที่อาจกำลังประสบปัญหาอยู่ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน พร้อมทั้งวัดผลที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนนั้นได้ด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ไมโครซอฟท์บอกว่า ต้องการ Personalize ให้เข้ากับคนทำงานที่ต้องการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัวก็คือการออกแบบให้มีหลาย ๆ เดสก์ทอปในหนึ่งเครื่อง เช่น มี Work Desktop สำหรับใช้งานตอนกลางวัน และสามารถสร้างเดสก์ทอปตัวที่สองสำหรับไว้ใช้งานในตอนพักผ่อน ฯลฯ โดยในตัวที่สองอาจมีแอปเกมสำหรับไว้เปิดในเวลาหลักเลิกงาน หรือแอปเรียนออนไลน์สำหรับลูก ๆ เป็นต้น

สุดท้ายคือเรื่องของความปลอดภัย ที่คนทำงานในยุค Hybrid อาจต้องมีการล็อกอินเข้าระบบจากคนละสถานที่ และอาจเปลี่ยนได้ตลอดเวลา โดยคุณวิสสุตเผยว่า Windows 11 มีการรองรับระบบรักษาความปลอดภัยทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกอินด้วยใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ การล็อกอินแบบไร้รหัสผ่าน (Passwordless) หรือแม้แต่การล็อกอินแบบ Multifactor Authenticaiton

“ตั้งแต่พัฒนา Windows 10 เป็นต้นมา ไมโครซอฟท์มีคอนเซ็ปต์ว่า เราต้องทำให้ Windows as a service คือเป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถอัปเดท – อัปเกรดได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะใช้ Windows ณ วันนี้หรือในอนาคต เรามองว่า ไมโครซอฟท์จะเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่กับผู้ใช้งานไปในทุกที่ และจากเทรนด์ที่เราพบ การทำงานแบบไฮบริดคือสิ่งที่ไมโครซอฟท์เห็นว่ามันกำลังเกิดขึ้นแล้วแบบชัดเจนมาก ๆ นั่นจึงทำให้การออกแบบ Windows 11 ต้องรองรับความไฮบริดด้วย เพราะมันคือการให้ประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานมองหา” คุณวิสสุตกล่าวปิดท้าย


แชร์ :

You may also like