HomeBrand Move !!ไม่ใช่แค่มื้อหลัก! “Sizzler” ต่อยอดเมนูฮิต “ช็อคโกแลตมูส-ชีสโทสต์” สู่ “ไอศกรีม” เพิ่มยอดใช้จ่าย-โอกาสการกิน

ไม่ใช่แค่มื้อหลัก! “Sizzler” ต่อยอดเมนูฮิต “ช็อคโกแลตมูส-ชีสโทสต์” สู่ “ไอศกรีม” เพิ่มยอดใช้จ่าย-โอกาสการกิน

แชร์ :

หนึ่งในโจทย์ใหญ่ของธุรกิจร้านอาหารทุกวันนี้คือ การแข่งขันดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ Dine-in Restaurant หรือบริการ Delivery โดยไม่ได้แข่งกันเฉพาะในเซ็กเมนต์อาหารประเภทเดียวกัน หากแต่แข่งกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่กระเพาะของผู้บริโภค (Share of Stomach) และโอกาสการบริโภค (Share of Occasion)

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ที่ผ่านมา Sizzler” (ซิซซ์เล่อร์) เชนร้านอาหารเซ็กเมนต์ Casual Dining Western Food เครือไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป สามารถเจาะเข้าไปอยู่โอกาสการรับประทานใน “มื้อหลัก” ช่วงกลางวัน และเย็น ของวันธรรมดา วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดเทศกาลต่างๆ

อย่างไรก็ตามหากจะสร้างการเติบโตมากขึ้น ทั้งด้านรายได้ และการเข้าถึงผู้บริโภคเพิ่มขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่เฉพาะ “มื้อหลัก” เท่านั้น แต่ต้องขยายเข้าไปอยู่ในทุกๆ โอกาสการรับประทานของผู้บริโภค

เพราะโดยเฉลี่ยผู้บริโภคไทย บริโภคอาหาร 6 – 7 มื้อต่อวัน เนื่องจากคนไทยมีพฤติกรรมการรับประทานแบบ Snacking ดังนั้นใน 1 วัน จึงประกอบด้วย 3 มื้อหลักได้แก่ มื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น โดยในระหว่างวัน จะมีการรับประทานของว่าง/รองท้อง เช่น ช่วงสาย ช่วงบ่าย ช่วงดึก

Sizzler พยายามขยายทั้ง Business Model ใหม่ ด้วยการเปิด Sizzler to go, Delivery, Catering เพื่อเข้าไปอยู่ในโอกาสการรับประทานของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เมนูที่ลูกค้าสั่งยังคงเป็น “อาหารมื้อหลัก”

เพื่อเข้าไปอยู่ในโอกาสการรับประทานครอบคลุมมากขึ้น และเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อบิล ล่าสุดเป็นครั้งแรกที่ Sizzler ลุยเมนูของหวานเต็มรูปแบบ!

มาพร้อมกับ Festive Menu รับเทศกาลวันพ่อ ไม่ว่าจะเป็นล็อบสเตอร์ซอสไข่เค็ม พร้อมสปาเก็ตตีโอริโอ้ และสเต๊กปลาเทราต์ และเมนูเฉลิมฉลองส่งท้ายปี ได้แก่ สเต๊กเนื้อพันเบคอน เสิร์ฟพร้อมกุ่งย่าง และซอสไวน์แดง สเต๊กปลาเทราต์ ลุยสวน และสเต๊กไก่ซูวี พร้อมเบรดพุดดิ้ง และซอสไวน์แดง

Sizzler Festive Menu

 

ต่อยอด Signature Menu ประจำร้าน สู่ “ไอศกรีมถ้วย”

ลูกค้าที่มารับประทาน Sizzler หลังจากรับประทานมื้อหลักเสร็จแล้ว จะต่อด้วยผลไม้ และของหวานที่มีให้บริการตรงสลัดบาร์ เช่น เจลลี่ ช็อคโกแลตมูส เครมบรูเล่ พานาคอตต้า

แต่เพื่อสร้างประสบการณ์ความแปลกใหม่ให้กับลูกค้า พร้อมกับเพิ่มความหลากหลายของเมนูของหวาน และเป็นกลยุทธ์เพิ่มยอดใช้จ่ายต่อบิล Sizzler จึงต่อยอด Signature Menu ประจำร้านคือ “ช็อคโกแลตมูส” ของหวานประจำสลัดบาร์ และ “ชีสโทสต์” พัฒนาออกมาเป็น “ไอศกรีมช็อคโกแลตมูส” และ “ไอศกรีมชีสโทสต์” ถ้วยละ 49 บาท จากราคาปกติ 69 บาท

โดยใช้พลัง Synergy ธุรกิจในเครือไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ที่มีบริษัทในเครือ “ไมเนอร์ แดรี่” โรงงานผลิตไอศกรีมหลากหลายรูปแบบและท้อปปิ้งสำหรับแบรนด์ร้านอาหาร มาเป็นผู้ผลิตไอศกรีมถ้วยใหม่นี้ให้ ด้วยความพร้อมทั้งวัตถุดิบ และกำลังการผลิต ทำให้สามารถผลิตสินค้าใหม่ในต้นทุนที่ดี สามารถวางจำหน่ายในราคาเข้าถึงได้

Sizzler Chocolate Mousse Ice Cream

นอกจากนี้ยังมี “ทาร์ตไข่” สไตล์มาเก๊า 2 ชิ้น ราคา 39 บาท จากราคาปกติ 60 บาท โดยทดลองจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้

“เป็นครั้งแรกที่เราทำ​ “เมนูของหวาน” นอกเหนือจากที่เรามีสลัดบาร์ และผลไม้ ขณะที่ไอศกรีมช็อคโกแลตมูส และ ไอศกรีมชีสโทสต์ เป็นของหวานพิเศษที่ยังผูกกับความเป็น Signature ของ Sizzler” คุณนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านอาหารภายใต้แบรนด์ Sizzler เล่าถึงการออกเมนูของหวาน

Sizzler Cheese Toast Ice Cream

การลุยเมนูของหวานในครั้งนี้ เชื่อว่า Sizzler ต้องการบรรลุ 3 เป้าหมายสำคัญ

1. นำแบรนด์ และผลิตภัณฑ์ Sizzler เข้าไปอยู่ในโอกาสการรับประทานของผู้บริโภค ไม่ว่าจะมาใช้บริการที่ร้าน (Dine-in) ซื้อกลับ (Take Away) และใช้บริการ Delivery เพื่อเป็นเมนูเพิ่มเติมจากเมนูมื้อหลักที่ลูกค้าสั่ง

2. เพิ่มยอดใช้จ่ายต่อบิล จากโดยเฉลี่ยยอดใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ 300 บาท แต่เมื่อมี Festive Menu จะเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อบิล 30% และเมนูของหวาน เพิ่มยอดใช้จ่ายอีก 39 – 49 บาทต่อคน

“เมนูขนมหวาน เราคาดหวังการใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเราตั้งราคาเข้าถึงได้ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจง่าย ต้องการให้ลูกค้ารู้สึกว่าจ่ายเพิ่มอีกนิด ได้ของหวานเพิ่ม ไม่ว่าจะรับประทานที่ร้าน หรือสั่ง Delivery เพิ่มเติมจากเมนูมื้อหลัก และสั่งเอาไว้ตุนที่บ้านได้”

3. สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า เพื่อทำให้ Sizzler ยังคงเป็น Destination ที่ลูกค้าใช้บริการ ยิ่งทุกวันนี้ร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย

เพราะฉะนั้นจึงนำเสนอเมนูใหม่ต่อเนื่อง ควบคู่กับการทำโปรโมชั่น เป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงความสนใจของผู้บริโภค ขณะเดียวกันเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาตลอด และนำเสนอสิ่งใหม่สม่ำเสมอ

“ธุรกิจร้านอาหาร คู่แข่งเยอะ ดังนั้นความสดใหม่ต้องมีตลอดเวลา เราจึงออกเมนูใหม่ทุก 1 – 2 เดือน เรียกได้ว่าเกือบทุกเดือน โดยเฉพาะในช่วงปลายปี เป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง คนออกมารับประทานอาหารนอกบ้านกัน ต้องมีเมนูพิเศษมานำเสนอ เพื่อไม่ให้ลูกค้ามาแล้ว เจอแต่เมนูเดิม” คุณกรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการพัฒนาสินค้าใหม่

Sizzler Egg Tart

 

ไม่หวั่น COVID-19 เดินหน้าขยายสาขา ปรับการออกแบบร้านบนพื้นที่เล็กลง

ปัจจุบัน Sizzler มี 54 สาขา และภายในปี 2564 จะเพิ่มเป็น 57 สาขา โดยเตรียมเปิดอีก 3 สาขาคือ โรบินสัน สระบุรี โรบินสัน ศรีสมาน และโรบินสัน ฉะเชิงเทรา งบลงทุนโดยรวมของทั้ง 3 สาขา 50 ล้านบาท

พร้อมทั้งวางแผนเปิดสาขาใหม่โดยเฉลี่ย 3 – 5 สาขาต่อปี ขณะที่สัดส่วนรายได้ในปัจจุบัน มาจากบริการ Dine-in 80% Delivery และ Take Away 20%

ทั้งนี้ในอดีต ขนาดร้าน Sizzler ต่อ 1 สาขา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 450 ตารางเมตร ภายในจะมีโซนที่นั่งโซฟาขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันร้านสาขาใหม่ และสาขาเดิมที่ปรับปรุงใหม่ จะลดขนาดลงมาอยู่ที่ 300 ตารางเมตร ยกเว้นสาขาฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต หนึ่งในสาขาเก่าแก่ของ Sizzler มีขนาด 500 ตารางเมตร และออกแบบพื้นที่สลัดบาร์ขนาดใหญ่

ขนาดร้านที่เล็กลง ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าของพื้นที่ที่ให้พื้นที่เล็กลง เนื่องจากเมื่อมีธุรกิจร้านอาหารมากขึ้น จึงต้องซอยย่อยพื้นที่แต่ละร้านให้มีขนาดเล็กลง

Sizzler Future Park Rangsit

Sizzler โฉมใหม่ สาขาฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต

เมื่อขนาดร้านเล็กลง ทำให้ Sizzler ออกแบบพื้นที่ครัวเล็กลง ส่วนที่นั่งในร้าน ยังคงไว้เท่าเดิม แต่ปรับให้ Efficiency มากขึ้น ด้วยการรื้อโซฟาขนาดใหญ่ออก และใช้โต๊ะขนาด 4 ที่นั่ง จากเดิมโต๊ะตัวหนึ่งของ Sizzler สามารถรองรับได้ 6 – 8 คน แต่หลังจากศึกษา Data พบว่าลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้าน โดยเฉลี่ยมาไม่เกิน 2 – 3 คนต่อโต๊ะ ดังนั้นจึงปรับขนาดโต๊ะให้เล็กลง เพื่อเพิ่มจำนวนโต๊ะได้มากขึ้น และสอดคล้องกับพื้นที่ร้านที่มีขนาดเล็กลง

นอกจากนี้บางสาขาของ Sizzler เริ่มย้ายไปอยู่ชั้นล่างของศูนย์การค้า จากเดิมมักจะอยู่ชั้น 3 หรือชั้น 4 ของศูนย์การค้า และอยู่โซนในๆ แต่การปรับตำแหน่งร้านมาอยู่ชั้นล่างของศูนย์การค้า เพื่อความคล่องตัว หากเกิดกรณีต้องล็อกดาวน์อีก และต้องเปิด-ปิด เปิด-ปิดร้าน รวมทั้งเพื่อรองรับบริการ Delivery ที่ไรเดอร์จะได้เข้ามารับอาหารได้เร็ว และสะดวก

ส่วนโมเดล Sizzler to go มีแผนขยายพื้นที่ให้บริการมากขึ้นในปี 2565 ให้ครอบคลุมสถานที่ที่มี High Traffic เช่น รถไฟฟ้า โรงพยาบาล ฯลฯ

Sizzler-to-go

Sizzler ทยอยปรับโฉมร้านใหม่ ที่มาพร้อมกับดีไซน์ร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ในการรับประทานอาหารของลูกค้า ประเดิมที่เดอะมอลล์ ท่าพระ เซ็นทรัล เวสต์เกต และฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต

ในส่วนของการขยายสาขาได้เดินหน้ารุกพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เตรียมเปิดสาขาใหม่ที่โรบินสัน สระบุรี โรบินสัน ฉะเชิงเทรา และโรบินสัน ศรีสมาน ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่นการตลาดต่อเนื่อง จากกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ เราตั้งเป้าการเติบโตปี 2565 จะกลับไปเทียบเท่าก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19” คุณกรีฑากร สรุปทิ้งท้าย

Sizzler Festive MenuSizzler Festive MenuSizzler Festive Menu


แชร์ :

You may also like