HomeBrand Move !!“เคทีซี” เชื่อท่องเที่ยวยังไม่ตาย แต่ยอดใช้จ่ายท่องเที่ยวผ่านบัตรเครดิตกว่าจะกลับมาปกติต้องหลังปี 2565

“เคทีซี” เชื่อท่องเที่ยวยังไม่ตาย แต่ยอดใช้จ่ายท่องเที่ยวผ่านบัตรเครดิตกว่าจะกลับมาปกติต้องหลังปี 2565

แชร์ :

คุณเจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการ การตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี

หลังภาครัฐประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้มให้ประชาชนสามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ รวมถึงผ่อนผันให้ระบบขนส่งสาธารณะสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ ทำให้ช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 กลายเป็น “ความหวัง” ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไล่ตั้งแต่ธุรกิจการบิน โรงแรม บริษัททัวร์ ไปจนถึงรถเช่า และบัตรเครดิตในหมวดท่องเที่ยวว่าจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง หลังต้องเผชิญ “ฝันร้าย” มานานเกือบ 20 เดือน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของผู้บริโภคหลังถูกกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานานจะเปลี่ยนไปหรือไม่ กลุ่มไหนจะกลับมาเดินทางเร็วสุด และภาพของตลาดบัตรเคดิตในหมวดท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไรต่อ คุณเจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการ การตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างน่าสนใจ

เชื่อท่องเที่ยวยังไม่ตาย เทรนด์ท่องเที่ยวแบบ Revenge มาแรง หลังคลายล็อก

ก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจบัตรเครดิตในหมวดท่องเที่ยว เป็นเซ็กเม้นต์ที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมียอดการใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 8-10% ต่อปี จนกระทั่งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยอดใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก

แม้กระทั่งผู้ที่คลุกคลีในแวดวงมานานอย่างคุณเจนจิต ยังเปรยว่า “ไม่เคยเจอยอดใช้จ่ายในหมวดท่องเที่ยวหดตัวแบบนี้มาก่อน” โดยในไตรมาสแรกของปี 2564 ยอดการใช้จ่ายในหมวดท่องเที่ยวของเคทีซีติดลบ 50% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดใช้จ่าย 9,000 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2564 ลดลงเกือบ 70% ขณะที่ในปี 2562 มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันยอดการใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยวลดลงต่ำกว่าอันดับที่ 10 จากที่เคยอยู่อันดับ 2 เมื่อเทียบกับทุกหมวด หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

ภาพจาก shutterstock

“เราเชื่อว่าการท่องเที่ยวยังไม่หายไปไหน เพราะอยู่ในสายเลือดของทุกคน ยังไงผู้คนยังอยากเดินทางท่องเที่ยว ถ้าสถานการณ์ผ่อนคลายมากกว่านี้เมื่อไหร่ ผู้บริโภคจะกลับมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยจะเห็นเทรนด์การท่องเที่ยวแบบ Revenge หรือการท่องเที่ยวแบบเอาคืน เพราะคนอัดอั้นที่ต้องอยู่บ้านมาตั้งแต่ต้นปี”

คุณเจนจิต บอกว่า เริ่มเห็นเทรนด์นี้ในประเทศมาสักพักแล้ว แม้ว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสายการบินจะงดบินในประเทศ แต่นักท่องเที่ยวก็ขับรถออกไปท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้ๆ เพราะยังมีบางเซกเมนต์ที่ไม่ได้ทำงานประจำ และไม่ได้เดือดร้อนด้านเศรษฐกิจ โดยเส้นทางที่ได้รับความนิยมคือ กาญจนบุรี และเขาใหญ่ รวมถึง Destination ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เพราะผู้คนไม่แออัด ทำให้มีความปลอดภัยในการท่องเที่ยว แต่หากมองในแง่รูปแบบการท่องเที่ยว มี 3 เทรนด์ที่ต้องจับตา ประกอบด้วย

1.การท่องเที่ยวแบบ Private จะเพิ่มขึ้น ส่วนกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆ จะหายไป

แม้ตอนนี้หลายคนจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 กันมากขึ้น แต่นักเดินทางยังระมัดระวังในการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆ ไปกันหลายๆ คน หรือ Collective จะลดน้อยลง และจะหันมาท่องเที่ยวแบบ Private เดินทางคนเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ มากขึ้น

2.ตัวกลางยังมีบทบาทสำคัญ

แม้เทรนด์การท่องเที่ยวแบบ Private จะเป็นที่นิยม แต่นักเดินทางจะมองหาตัวกลางในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะต้องการความมั่นใจว่าจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและรวดเร็วที่สุด รวมถึงบริการที่มีคุณภาพ ครอบคลุมการให้บริการเปลี่ยนหรือยกเลิกตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พัก ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงวิกฤตนี้ ถึงแม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อทริปเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

ถึงแม้ธุรกิจตัวกลางจะมีความสำคัญมากขึ้น แต่เมื่อกลับมาแล้ว ต้อง Add Value ให้กับตัวเองเพื่อให้บริการมากกว่าแค่การซื้อขายตั๋วธรรมดา ต้องเป็นคนที่รู้รอบ มีความชำนาญให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

3.คนจะมองหา Product ที่ยืดหยุ่น ครอบคลุมบริการครบวงจรมากขึ้น

จากสถานการณ์ระบาดที่ไม่แน่นอน ทำให้พฤติกรรมจองตั่วหรือที่พักล่วงหน้าจะเกิดยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปรากฎการณ์ที่ตามมาจากความไม่แน่นอนคือ ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่น โดยจะเห็นว่าในช่วงหลังๆ สายการบินจำนวนมากเริ่มหันมาโปรโมทเรื่อง Free Cancelation มากกว่าการทำโปรโมชั่นราคาเพื่อให้ได้จำนวนลูกค้า

Domestic-Premium Traveler กลับมาเร็วสุด ตลาดบัตรเครดิตท่องเที่ยวต้องรอหลังปี 65

เมื่อถามถึงทิศทางตลาดบัตรเครดิตในหมวดท่องเที่ยว คุณเจนจิต บอกว่ายังประเมินยาก เพราะตลาดคงไม่ได้กลับมาด้วยวอลุ่มใหญ่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มีกำลังในการเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนเดิม แต่คาดหวังให้ยอดการใช้จ่ายกลับมาเท่ากับปีที่ยังไม่เคยมีโควิด-19 โดยมองว่าคงไม่ได้เร็วกว่าปี 2565 แต่ขณะเดียวกันถ้าฝั่งซัพพลายไม่มีผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าเลือกมากนัก ยอดอาจจะไม่ได้กลับมาเร็ว

ภาพจาก shutterstock

“ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อาจจะกระเทือนในแง่การปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ครบมากขึ้น รวมถึงทำ Loyalty Program จำนวนของผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงไม่ได้หายไปมาก แต่รายย่อยที่ไม่มีเงินทุน อาจจะแยกย้ายไปทำธุรกิจอื่น เมื่อทุกอย่างกลับมา ก็กลับมารีเซ็ทธุรกิจใหม่ โดยตอนนี้เริ่มเห็นกลุ่มรถเช่ากลับมาบ้างแล้ว ส่วนแหล่งท่องเที่ยวอาจจะค่อยๆ ฟื้นตัวเป็นคลัสเตอร์ เพราะก่อนหน้านี้จังหวัดที่สามารถขับรถไปได้ บางสถานที่มีลูกค้าเดินทางท่องเที่ยวพอสมควร”

แต่หากมองในมุมของนักท่องเที่ยว คุณเจนจิตมองว่า กลุ่ม Essential Travelers เป็น Segment ที่ยังไปได้เพราะมีความจำเป็นในการเดินทาง เช่น ไปทำงาน หรือไปเรียนหนังสือ ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ และกลุ่ม Premium Traveler เป็นกลุ่มที่มีทิศทางกลับมาได้เร็วที่สุด หากภาครัฐมีการประกาศปรับมาตรการ นักเดินทางกลุ่มนี้จะเดินทางได้ทันที เนื่องจากได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วสำหรับ

ขณะที่ Destination ที่นักเดินทางให้ความสนใจคือ แหล่งท่องเที่ยวที่มีจำนวนคนไม่มาก สามารถเว้นระยะห่างได้ เช่น การท่องเที่ยว Outdoor เพื่อทำกิจกรรมกลางแจ้ง กางเต้นท์ ท่องเที่ยวในสไตล์ธรรมชาติ รวมถึงการท่องเที่ยวแบบ Unseen หรือ Lesser Known

เคทีซี ปรับระบบหลังบ้าน รับพฤติกรรมท่องเที่ยวเปลี่ยน

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เคทีซีปรับแนวทางการให้บริการเพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ตลาดท่องเที่ยวกลับมาเปิดให้บริการ โดยพัฒนาระบบหลังบ้านเพื่อให้เป็น One Stop Service สำหรับสมาชิก รวมถึงจัดโครงการ “เที่ยว… อยู่ได้” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ สถานที่ท่องเที่ยว หมวดรถเช่า และบริษัทนำเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการออกแบบ จัดทำ และผลิตสื่อแบนเนอร์เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ผ่าน 7 ช่องทางของเคทีซี อาทิ จดหมายรายเดือนสำหรับสมาชิกบัตรเคทีซี / Facebook: KTC Real Privileges /  เว็บไซต์เคทีซี / KTC Line Official / E-Newsletter / IG: KTC Card และแอพ KTC MOBILE เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจและบริการไปยังฐานสมาชิกกว่า 2.6 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางขายหรือตัวแทนจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนด้วยตัวเอง ผ่านทาง KTC World Travel Service ทั้งยังได้สนับสนุนโปรโมชันพิเศษ มอบเครดิตเงินคืน 10% ให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่ใช้จ่าย ณ ร้านค้า หรือสถานประกอบการที่ร่วมรายการ เพียงใช้คะแนน KTC FOREVER เท่ายอดใช้จ่าย และลงทะเบียนแลกรับผ่านเว็บไซต์ www.ktc.co.th/ktctravel ระยะเวลาโครงการระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2564 – 31 ธันวาคม 2564 โดยตั้งเป้าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 200 ราย จากปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมเกือบ 100 ราย


แชร์ :

You may also like