HomeInsightรู้จัก “10 ร.” ที่แบรนด์และธุรกิจต้องลงมือทำวันนี้ รอไม่ได้ เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตและโตต่อในยุคโควิด

รู้จัก “10 ร.” ที่แบรนด์และธุรกิจต้องลงมือทำวันนี้ รอไม่ได้ เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตและโตต่อในยุคโควิด

แชร์ :

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ลากยาวมากว่า 18 เดือน ไม่เพียงเข้ามาเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต แต่ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ SMEs ที่มีเงินทุนจำกัด บางรายสายป่านสั้น ทำให้ไม่สามารถยื้อธุรกิจต่อไปได้ โดยมีการคาดการณ์กันว่าหากการระบาดยังยืดเยื้อไปถึงสิ้นปีนี้ อาจส่งผลให้ SMEs กว่า 80% ต้องปิดกิจการลง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ในช่วงที่ผ่านมาหลายหน่วยงานจะออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนั่งรอความช่วยเหลือ หรือการรอให้สถานการณ์กลับมาปกติ คงไม่พอต่อการอยู่รอด เพราะคงไม่ต่างอะไรกับการนั่งกลั้นลมหายใจรอความฝันในอดีต อีกทั้งยังไม่รู้ว่าการระบาดจะกินเวลายาวนานไปอีกแค่ไหน แล้วถ้าอยากรอดจากวิกฤติ ต้องทำอย่างไร มาฟังคำตอบและทางออกจาก Head 100 ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด กับ 10ร. ที่ธุรกิจและแบรนด์ต้องลงมือทำวันนี้ รอไม่ได้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการกลับมาสู้ต่อ และนำไปปรับใช้กับธุรกิจต่อไป

1.ร.รอด

Let purpose guide the way… หาดาวเหนือให้เจอ แล้วเราจะรอด! หลายธุรกิจในช่วงนี้อาจรู้สึกสับสนว่าจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด หลายคนเริ่มท้อ เข้าขั้นกุมขมับ เพราะลองทำมาหลายอย่างแต่ไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง ซึ่งการหาดาวเหนือถือเป็นคัมภีร์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ การหาดาวเหนือของธุรกิจให้เจอ คือการรู้เป้าหมายที่แท้จริง เข้าใจว่าจิตวิญญาณของธุรกิจของเราคืออะไร ถ้ากำหนดได้ถูกทิศ เราจะไม่มีวันหลงทาง ช่วยชี้นำทางให้ธุรกิจเราอยู่รอด และเติบโตไปต่อได้ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านคาเฟ่ เมื่อผู้บริโภคออกจากบ้านน้อยลงหรือเจอการล็อกดาวน์ ถ้าดาวเหนือของธุรกิจคุณอยู่ที่การขายกาแฟ การมุ่งสู่กาแฟ on-line delivery น่าจะเป็นคำตอบที่ใช่ แต่ถ้าคนมาคาเฟ่เพื่อมาเล่นบอร์ดเกมส์ คุณควรจะขายเกมส์ออนไลน์ไม่ใช่กาแฟ หรือถ้าคุณเป็นร้าน Specialty Coffee คุณควรทำ live streaming เพื่อให้เห็น coffee blend เรื่องราวที่มาของเมล็ดกาแฟเป็นต้น เพราะจุดเด่นจะอยู่ที่ story-telling ซึ่งถ้าเป็นแค่เมนูกาแฟในแอปอาจไปไม่รอด ลองกลับมาพิจารณาธุรกิจของคุณดู ถ้ามีดาวเหนือชัด หนทางรอดยังมีในคุณเสมอ

2.ร.เรียนรู้สิ่งใหม่

การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ประโยคนี้ใช่มากๆ กับโลกยุคโควิด ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แค่เราหยุดเรียน หยุดรู้ ไม่ตามติดสถานการณ์ เผลอแป๊บเดียว อาจไม่เหลือพื้นที่ยืนอีกแล้ว โรคใหม่ได้ตอกย้ำความสำคัญและสร้างบริบทการเรียนรู้ใหม่ให้กับพวกเราทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงต้องไม่หยุดเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้เสมือนการสร้างกล้ามเนื้อ ยิ่งขยันสร้างจะยิ่งแข็งแรง และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า โดยมี 5 เรื่องที่ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ ดังนี้

  • Health prevention ทำอย่างไรที่จะดูแลผู้บริโภคแบบป้องกันไม่ใช่รักษา ชัดเจนว่า Hygiene product & services มาแรงแบบฉุดไม่อยู่
  • Home as hub ทุกคนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต ทำงานจากบ้านให้มีประสิทธิภาพ มี tools อะไรที่ช่วยทำให้ประสบการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้นเหนือความคาดหมาย เช่น เครื่องมือที่ช่วยให้เราดูดีขี้นในจอ Zoom การออกกำลังกาย และความบันเทิงที่บ้านรูปแบบใหม่ๆ
  • Hybrid is the new black การเชื่อมหรือ collab กับธุรกิจอื่นช่วยทำให้เรามี solution ที่ครบครันขึ้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีในเวลานี้
  • Hyper Everything – Hyper Connected ชีวิตขาดอินเตอร์เน็ตแล้วจะขาดใจ Hyper Convenience เมื่อผู้บริโภคถูก spoil ให้ทุกอย่างในชีวิตต้องสะดวกสุดๆ
  • Help others in need น้ำใจยามทุกข์ยากคือการก่อกำเนิดของความสัมพันธ์ที่ดี ถ้าแบรนด์เรายื่นมือโดยไม่หวังผล ในวันที่ลูกค้าเรามีกำลังซื้อเค้าจะไม่มีวันลืมเรา

3.ร.รื้อ

อะไรที่เคยได้รับความนิยมมาแล้วในอดีตที่ผ่านมา หรือเคยว่าชัวร์มากสำหรับธุรกิจ พอเจอโควิดเข้าแล้วก็เซกันไป นี่คือสัญญาณเตือนว่าควรรื้อซะ! สมการความสำเร็จ winning formula ไม่น่าจะเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ช่องทางการซื้อเปลี่ยน ทางเลือกมีมากขึ้น ยิ่งในโลกออนไลน์ ไม่มี limit ใครๆ ก็ลงเล่นได้ หมัดที่เราเคยชกเข้าไปแล้ว knock out ในอดีต วันนี้เราอาจล้มลงแทน ดังนั้น อย่ายึดติดกับแผนเดิม ต้องกล้ารื้อและเปลี่ยนถ้าเจอทางตัน รื้อเกมเดิมๆ สร้างกฎใหม่ๆ เกมใหม่ที่เราเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ผู้ตาม แต่อย่าลืมว่าเกมที่ว่านี้ ทั้งเกมธุรกิจและเกมชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเกมที่ต้องลงเล่นด้วยแนวความคิดแบบไม่มีจุดสิ้นสุด Play with Infinite Mindset จึงต้องพร้อมเสมอที่จะรื้อกฎเดิมๆ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าเดิมเสมอ

4.ร.เริ่ม

Just Do it! มัวคิดแต่ไม่เริ่มสักที คงอยู่กับที่หรือถอยหลังหลายก้าวด้วยซ้ำ ถ้าเราจะมีความคิดแบบกล้าๆ กลัวๆ อาจต้องยกความผิดนี้บางส่วนให้คนรอบข้างเรา เพราะถ้าคนรอบข้างชมเรามาตลอด จะทำให้เราไม่กล้าริเริ่มอะไรใหม่ๆ ไม่กล้าออกจาก comfort zone เพราะกลัวความผิดพลาด กลัวทำให้คนอื่นผิดหวัง แต่ที่เราไม่รู้คือ การไม่ได้เริ่ม เราอาจกำลังเสียโอกาสครั้งสำคัญเลยก็ได้

ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะลองอะไรใหม่ๆ มีหลายธุรกิจได้พลิกวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสโดยการริเริ่มทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วแจ้งเกิดได้แบบงดงาม หนึ่งตัวอย่างสร้างแรงบันดาลในคือ Pied à Terre ร้านอาหารระดับมิชลินชื่อดังแห่งเมืองลอนดอน ที่เมื่อโควิดมาเยือนก็ต้องปิดประตูลงอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่มึนหมัดไปประมาณ 6 สัปดาห์ David Moore เจ้าของก็ตื่นขึ้นด้วยความคิดว่าเค้าต้องเริ่มอะไรซักอย่าง ด้วยความที่กระแส Vegan กำลังมาและถือเป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ของร้าน The Vegan Feast Menu จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ส่งเมนูระดับมิชลินถึงบ้านในราคาที่จับต้องได้ การเริ่มครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามและมีแผนการที่ขยายธุรกิจต่อเนื่องในระยะยาวแม้ร้านมิชลินของเค้าจะกลับมาเปิดได้แล้ว

5.ร.เร็ว

Fast or Sure? เราเคยเชื่อเสมอว่า slow but sure ปลอดภัยและเจ็บตัวน้อยสุด แต่ในยุคนี้ เนื่องจากไม่มีอะไรชัวร์ ไปเร็วย่อมได้เปรียบกว่า เพราะได้เรียนรู้ก่อน มีโอกาสได้ test-learn-run ถ้าผิดพลาดก็ปรับใหม่ ดีกว่านั่งรอจังหวะที่ชัวร์ 100% ซึ่งอาจไม่มีวันนั้น แต่การจะวิ่งให้เร็ว ข้อมูลต้อง “แน่น” และ “แม่น” ควรเอาทั้ง big & small data มาใช้ให้เป็นประโยชน์ turn data into magic และควรมีตัวช่วย เช่นการนำ Technology เข้ามาปรับใช้กับธุรกิจทุกภาคส่วนให้มากขึ้น เร็วขึ้น ทั้ง 1. การวิเคราะห์ 2. การพยากรณ์  3. การทำงานอัตโนมัติ  4. การจัดประเภท  5. การให้คำแนะนำ ตัวอย่างเช่น Digital financial solution ในทุกวันนี้ การทำธุรกรรมทางการเงินเร็วขึ้นขั้นตอนน้อยลง ขอสินเชื่อหรืออยากลงทุน แค่คลิกก็ได้เรื่อง เข้าถึงคนในวงที่กว้างขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น หรือการสั่งอาหารหรือสั่งซื้อสินค้าก็แค่คลิก เป็นต้น

6.ร.รอง

Good is the enemy of great ถ้าคิดว่าดีแล้ว เก่งแล้ว เราอาจกำลังเดินถอยหลัง หากคิดแบบ “ผู้ท้าชิง” หรือ “มวยรอง” จะทำให้ไม่หยุดพัฒนา ท้าทายวิถีปรกติ นิยามแนวคิดแบบผู้ท้าชิงจะมองทะลุผ่านท่ามาตรฐาน มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมที่ลงเล่น โดยมีหลายแนวทางในการท้าทาย Norm เช่น ท้าทายโลกที่ไม่ยุติธรรม อย่างแบรนด์ Patagonia สนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยแบ่ง % ยอดขายให้กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงแสดงจุดยืนต่อต้านผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างสม่ำเสมอ หรือแพลตฟอร์ม dating app Bumble ที่ออกมาท้าทายยักษ์ใหญ่อย่าง Tinder โดยการเปลี่ยนเกมส์การนัดเดท โดยเน้น user ผู้หญิงเป็นที่ตั้ง สร้าง app ที่เน้นการนัดเดทที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ และให้พลังแก่ผู้หญิงในการ make first move ซึ่งตอบ insight ของกลุ่ม user ผู้หญิงอย่างดีเยี่ยม จนทำให้ Bumble ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด และต่อยอดไปสู่บริการใหม่ๆ ทั้งเรื่อง networking การหาเพื่อนใหม่ หรือกระทั่งการหางาน

7.ร. เรา

“เรา” คือแนวคิดแบบ we before me ถ้าจะรอดไปต่อข้างหน้า เราต้องรอดด้วยกัน เราต้องแข็งแรงปลอดโรคและธุรกิจต้องเข้มแข็งมั่นคง การเติมเต็มประสานพลังกัน จึงเป็นหนึ่งทางเลือกสำคัญในเวลานี้ ยกตัวอย่างการทำ Pandemic Partnership ของแพลตฟอร์มท่องเที่ยวอย่าง Tripadvisor กับ Lysol แบรนด์น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยจัดทำแนวทางรักษาความปลอดภัยปลอดเชื้อพร้อมทั้งจัดทำชุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อสุดเก๋เช่น Restroom Rescue และ Germ Buster ถึง 8 ล้านชุดเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นฟื้นชีพให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

8.ร. รัก

ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ความรัก ความห่วงใยและความใส่ใจ จะมีคุณค่าและมีความหมายเท่าเวลานี้ และต้องไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆเพียงลมปาก แต่ต้องมาจากการกระทำที่สัมผัสได้ มีประโยชน์ และตอบโจทย์ pain point สำคัญของผู้บริโภคที่เผชิญอยู่ โดยใช้จุดเด่นของธุรกิจหรือแบรนด์ของคุณให้เป็นฮีโร่ อย่างเช่น AirBNB ที่แม้ว่าธุรกิจจะผ่านมรสุมครั้งใหญ่ หดตัวลงอย่างมาก แต่ยังคงเดินหน้า แสดงน้ำใจผ่านการเสนอที่พักให้กับบุคลากรแนวหน้าที่ต่อสู้กับโควิด หรือแพลตฟอร์มอีเว้นท์ดังอย่าง Eventbrite ที่แม้ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด แต่ได้ผันตัวเองมาเป็น vaccine appointment and notification assist ช่วยจัดการการนัดหมาย แจ้งเตือน และให้ข้อมูลการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในสหรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ทำให้ได้ใจกันไปเต็มๆ

9.ร.รบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในสภาวะสงคราม คนต้องใช่ แผนต้องโดน ระบบต้องพร้อม วงจรการวางแผน ลงมือ และปรับแผนต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การมี battle checklist ในมือจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อคอยเป็นไกด์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ ซึ่งหนึ่งในหลักเช็คลิสต์ง่ายๆ คือ 3R ประกอบด้วย

  • Relevance ลูกค้ามี pain point หรือ passion ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วจุดขายหลักของแบรนด์ ประสบการณ์ที่มอบให้ ยังตอบโจทย์สภาพการณ์วันนี้หรือไม่ ต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรให้ ‘ใช่’ กว่านี้หรือไม่ เป้าหมายคือพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิม พร้อมเพิ่มเติม brand fans ใหม่ๆ
  • Rivalry วิเคราะห์คู่แข่งหรือทางเลือกทดแทนที่เข้ามาแทนที่ สินค้าและบริการของเราแตกต่างมากพอ หรือลอกเลียนแบบได้ง่ายหรือไม่
  • Revenue Streams ช่องทางรายได้ยังคงที่หรือไม่ หรือควรมีการปรับ Model รายได้และขยายแหล่งที่มาของรายได้จากที่ใหม่ๆเพิ่มเติม

10.ร.ร่ม

คำกล่าวที่ว่าฟ้าหลังฝนย่อมงดงามเสมอ อาจจะจริง แต่อย่าลืมว่าฝนก็พร้อมจะกลับมาตกได้อีก พายุอาจโหมกระหน่ำได้ทุกเมื่อแบบไม่ทันตั้งตัว บทเรียนนี้เราได้จากโควิดกันมาเต็มๆ หนทางข้างหน้ายังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การเตรียมร่มเป็นเรื่องสำคัญมาก และร่มที่ดีต้องช่วยกันได้ 3 เรื่องหลักๆ

  • กันการขาดสภาพคล่อง บริหาร cashflow แบบขั้นเทพ #ตัวเบาไว้ก่อนพ่อสอนไว้
  • กันการถูกปิดก๊อก #พร้อมไปต่อแบบไม่สะดุด ถ้าเปิดร้านไม่ได้ ช่องทางออนไลน์ต้องพร้อมไปต่อทันที ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องสร้างกลุ่มลูกค้าในประเทศรองรับไว้เลย ถ้ากลุ่มลูกค้าเดิมขาดกำลังการซื้อ ต้องปรับเปลี่ยนขยายกลุ่มลูกค้าใหม่รองรับให้ไว หรือปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้ตรงความต้องการที่เปลี่ยนไป อย่ารอ!
  • กันโควิด #ทุกคนต้องปลอดโรคปลอดภัย ให้คิดเลยว่าเราต้องปรับตัวยอมรับโควิดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การวางมาตรการเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากเราทำได้ โควิดจะไป.. อะไรจะมาแทน ธุรกิจและแบรนด์ของเราก็อยู่รอดปลอดภัย

แชร์ :

You may also like