HomePR Newsทรูแจง ขบวนการขายคิววัคซีนไม่เกี่ยวข้องกับ “ระบบ” ของค่ายมือถือ

ทรูแจง ขบวนการขายคิววัคซีนไม่เกี่ยวข้องกับ “ระบบ” ของค่ายมือถือ

แชร์ :

shutterstock_vaccine thai bangsue
ทรูแจง กรณีขบวนการขายคิววัคซีนบางซื่อ ไม่เกี่ยวข้องกับ “ระบบ” ของค่ายมือถือ พร้อมบอกว่าไม่มีการแฮ็กระบบทรูอย่างที่เป็นข่าว แนะเจ้าหน้าที่ส่วนกลางควบคุมการให้สิทธิ์ผู้เข้าถึงข้อมูลส่วนกลางให้รัดกุมยิ่งขึ้น

จากที่มีรายงานข่าวอ้างว่า มีการแฮ็กระบบของโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือ เพื่อขายคิวจองวัคซีนบางซื่อ รวมทั้งบางรายงานมีการกล่าวถึงว่าเป็นระบบทรู นั้น ล่าสุด ทางทรูได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ขบวนการขายคิวจองวัคซีนบางซื่อนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ “ระบบ” การจองฉีดวัคซีนของทรู แต่อย่างใด รวมถึงไม่มีการแฮ็กระบบของทรู อย่างที่มีการรายงานข่าวหรือแชร์ข้อมูลส่งต่อทางอินเทอร์เน็ต
นอกจากนั้น ทางทรูยังได้ชี้แจงว่า ความผิดปกติที่ปรากฎชื่อเพิ่มขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากการมีชื่อเพิ่มเติมในระบบส่วนกลางของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลการลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลจากระบบทรู ที่ส่งให้กรมการแพทย์รายวันล่วงหน้านั้น ถูกต้องตามโควต้าที่ได้รับ และเป็นการนำส่งข้อมูลทางเมลไปให้กรมการแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบและนำไปลงระบบเอง
ทรูเผยด้วยว่า ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีการนำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบส่วนกลางได้อย่างไร เพราะจากการตรวจสอบมีรายชื่อถูกเพิ่มเข้าระบบช่วง 4 ทุ่ม โดยนำไปเพิ่มในโควต้าทรู ซึ่งเป็นการเข้าถึงข้อมูลผ่านดาต้าเบส ไม่ได้ผ่านจากการเจาะระบบโอเปอเรเตอร์ จึงต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน และทรู เป็นผู้ที่พบความผิดปกติหน้างาน เนื่องจาก
1) ไม่มี QR Code เหมือนทุกคนที่จองผ่านทรู
2) ตรวจสอบในระบบของทรู อีกครั้งก็ไม่มีรายชื่อ
จึงตั้งข้อสังเกตและส่งเรื่องให้ส่วนกลางกรมการแพทย์ตรวจสอบและเข้าแจ้งความ ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดดำเนินคดี
ทั้งนี้ การดำเนินการที่ทางค่ายมือถือสนับสนุนกรมการแพทย์นั้น มีทั้งการสนับสนุนพัฒนาระบบการจองผ่านเว็บไซต์และมือถือ การจัดทีมดูแลรับเรื่องการจองคิว การส่ง SMS ยืนยันก่อนวันฉีดวัคซีน รวมทั้งการสนับสนุนว่าจ้างบุคลากรค่ายละ 100 คน เพื่อไปช่วยปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกกับผู้เข้ามาฉีดวัคซีนในแต่ละวัน ทรู จึงได้ว่าจ้างจัดหาเจ้าหน้าที่ Outsource เพื่อไปช่วยงานกรมการแพทย์จำนวน 98 คน ตามที่มีการขอสนับสนุน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.) การปฏิบัติหน้าที่หน้างานภายนอก 30 คน (จุดรับรายงานตัวจุดที่ 1 ทรูเป็นผู้ดูแล )
2.) การปฏิบัติงานภายในส่วนงานของกรมการแพทย์อีก 70 คน ซึ่ง 70 คนนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมการแพทย์เอง ซึ่งทรู ได้ว่าจ้างและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 100% แต่ไม่ได้บริหารคนกลุ่มนี้ โดยได้ส่งมอบให้กรมการแพทย์ดูแลตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2564
สำหรับพนักงานที่ดูแลและสามารถลงระบบภายในนั้น กรมการแพทย์จะเป็นผู้กำหนด Username และ Password ให้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด้านในกับกรมการแพทย์ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ Outsource ที่ทรู ส่งมอบไปแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก และเป็นการป้องกันเชิงรุก จึงขอให้กรมการแพทย์เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบการมอบหมายสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนกลาง รวมทั้งควรมีกระบวนการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ทางทรูบอกด้วยว่า บริษัทจะดำเนินคดีจนถึงที่สุด เพื่อไม่ให้มีผู้ที่เอาเปรียบสังคม หลอกลวงประชาชนชาวไทยในสถานการณ์วิกฤตนี้

แชร์ :

You may also like