การรุกตลาดรถยนต์อัจฉริยะของหัวเว่ย (Huawei) มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด ได้มีการเปิดตัวชิ้นส่วนอัจฉริยะและโซลูชันสำหรับยานยนต์ภายใต้แบรนด์ Huawei Inside (HI) พร้อมเพิ่มการลงทุนด้านซอฟต์แวร์การขับขี่ไร้คนขับระดับสูงอีกกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ หวังเสริมแกร่งอุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติของจีน
การเปิดตัวดังกล่าวมีขึ้นในงาน Auto Shanghai 2021 โดยหัวเว่ยบอกว่าต้องการยกระดับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีน เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้บุกเบิกด้านการขับขี่แบบไร้คนขับให้เป็นรูปธรรม
สำหรับชุดอุปกรณ์อัจฉริยะที่เปิดตัวในงานประกอบด้วย ระบบถ่ายภาพเรดาร์แบบ 4 มิติความละเอียดสูง ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับอุปรณ์เซ็นเซอร์ในยานพาหนะ และหัวเว่ย MDC 810 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการประมวลผลสำหรับการขับขี่อัจฉริยะ ที่หัวเว่ยบอกว่าได้ทำงานร่วมกับผู้จัดจำหน่ายเซนเซอร์ หัวฉีด และอัลกอริธึมของแอปพลิเคชันต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อการสร้างอีโคซิสเต็มของเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานมาจากผลิตภัณฑ์ MDC เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งทีมทำงานที่ประกอบด้วยพนักงานกว่า 5,000 คน มาร่วมปฏิบัติงานในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านชิ้นส่วนยานยนต์อัจฉริยะโดยเฉพาะ และบริษัทยังประกาศลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจดังกล่าว โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศจีนเข้าร่วมด้วย
สำหรับแบรนด์ Huawei Inside หรือ HI นั้น ได้มีการเปิดตัวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยวางโพสิชันเป็นผู้จัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ที่เน้นกลุ่มรถยนต์ดิจิทัล ซึ่งโซลูชันอัจฉริยะภายใต้แนวคิด Huawei Inside ประกอบด้วย 5 โซลูชันได้แก่ การขับขี่อัจฉริยะ ห้องคนขับอัจฉริยะ เทคโนโลยี mPower การเชื่อมต่ออัจฉริยะ และคลาวด์สำหรับยานพาหนะอัจฉริยะ
ทั้งนี้ การประกาศเข้าร่วมตลาดชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับยานยนต์อัจฉริยะของหัวเว่ยมีขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2019 (ในงาน Auto Shanghai เช่นกัน) และตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า หัวเว่ยมีการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่มากมาย ส่วนในปีนี้ หัวเว่ยจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์เรือธงอีกหลายรุ่น ซึ่งจะนำไปสู่การจำหน่ายโซลูชันยานยนต์อัจฉริยะของหัวเว่ยในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม
รายได้หัวเว่ยยังลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ในการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2021 พบว่ารายได้ของหัวเว่ยยังคงลดลงต่อเนื่องโดยทำไปได้เพียง 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากการกีดกันทางการค้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีต่อธุรกิจจากจีน นั่นจึงไม่แปลกหาก เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งบริษัทจะหันไปหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทเพิ่มเติมในธุรกิจเช่น เกษตรอัจฉริยะ เฮลท์แคร์ คลาวด์คอมพิวติ้ง และยานยนต์ไฟฟ้า