HomeBrand Move !!โรงพยาบาลวิมุต ได้ฤกษ์เปิด พ.ค.ปีหน้า หนุนอสังหาฯ “พฤกษา” เกาะเทรนด์สูงวัย-ธุรกิจสุขภาพ

โรงพยาบาลวิมุต ได้ฤกษ์เปิด พ.ค.ปีหน้า หนุนอสังหาฯ “พฤกษา” เกาะเทรนด์สูงวัย-ธุรกิจสุขภาพ

แชร์ :

โรงพยาบาลวิมุต พฤกษา

นับจากประกาศแผนลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลแห่งแรกของ “พฤกษา” และเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2560 ด้วยงบประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท ล่าสุดโรงพยาบาลวิมุต เตรียมเปิดให้บริการเฟสแรกเดือนพฤษภาคม 2564  เป็นก้าวแรกของพฤกษาสู่ธุรกิจสุขภาพ สร้างอีกแหล่งรายได้ประจำ และเพิ่มมูลค่าให้โครงการที่อยู่อาศัย ด้วยบริการ Nursing Home ดูแลสุขภาพและผู้สูงวัยกับโมเดล คลินิก “บ้านหมอวิมุต”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โรงพยาบาลวิมุต  อาคารสูง 18 ชั้น สร้างอยู่บนพื้นที่ขนาด 4 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สี่แยกสะพานควาย (ติดกับธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่) เป็นโรงพยาบาลขั้นตติยภูมิ (Tertiary Care) ขนาด 236 เตียง บริการรักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไป โรคซับซ้อน เช่น หัวใจ กระดูก เตรียมเปิดให้บริการเฟสแรกกลางปี 2564  ถือเป็นสายงานใหม่ของกลุ่มพฤกษาสู่ ธุรกิจสุขภาพ (Health Care) มูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ที่กำลังเติบโต อีกทั้งยังสร้างรายได้ใหม่ในกลุ่ม Recurring Income (รายได้ประจำ) นอกจากอสังหาฯ ที่ครองพอร์ตโฟลิโอเกือบ 100%

ได้ฤกษ์เปิดธุรกิจสุขภาพเกาะเทรนด์สูงวัย

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด กล่าวว่าแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในประเทศไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก เนื่องจากจำนวนเตียงผู้ป่วยต่อประชากรยังน้อย อีกทั้งปัจจัยสนับสนุนจากบุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพสูง ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ตอกย้ำชื่อเสียงนี้จากการดูแลสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19  ที่ประเทศไทยทำได้ดี รวมถึงค่าบริการรักษาพยาบาลในไทยต่ำกว่าต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นอีกตัวเลือกการเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพ

ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ มีประชากรอายุ 60 ปี มีสัดส่วน 20% ซึ่งจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โควิดก็เป็นอีกตัวเร่งที่คนกังวลเรื่องสุขภาพ จึงต้องดูแลตัวเอง การเปิดธุรกิจโรงพยาบาลวิมุตในปีหน้าจึงเป็นจังหวะที่ดี

โดยเฟสแรกกลางปีหน้า เปิดบริการห้องตรวจผู้ป่วยนอกทั้งหมด 120 ห้อง ส่วนคนไข้ในเปิดให้บริการ 100 เตียง โดยจะครบ 236 เตียงใน 2 ปีจากนี้  เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายฐานผู้ใช้บริการ  กลุ่มเป้าหมายหลักของโรงพยาบาลวิมุต เป็นคนทั่วไประดับกลาง (Middle Income) ซึ่งเป็นฐานประชากรขนาดใหญ่ ที่มีกำลังใช้จ่าย และลูกค้าบริษัท

คลินิกบ้านหมอวิมุต Vimut

เปิดคลินิก “บ้านหมอวิมุต” ในโครงการพฤกษา

นอกจากเปิดโรงพยาบาลวิมุตแล้ว ปีที่ผ่านมา พฤกษา ยังได้เปิด คลินิก “บ้านหมอวิมุต” โครงการนำร่องแห่งแรกย่านรังสิต คลอง 3 จังหวัดปทุมธานี  ให้บริการรักษาโรคทั่วไป เป็นอีกธุรกิจที่ต่อยอดจากโรงพยาบาลวิมุต

โครงการนำร่องคลินิกรูปแบบสแตนด์อโลน ทำให้ได้เรียนรู้ตลาดว่าต้องการบริการรักษาโรคและดูแลสุขภาพประเภทใด การเลือกทำเลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของคลินิก เพื่อนำมาวางแผนขยายในปี 2564  ในช่วงกลางปีหลังจากโรงพยาบาลวิมุต เปิดให้บริการแล้ว

คลินิกบ้านหมอวิมุต ที่จะขยายสาขาจะมีโมเดลเป็นพันธมิตรร่วมกับศูนย์ดูแลและรักษาโรคต่างๆ เช่น ศูนย์ไตเทียม แล็ปตรวจโรคต่างๆ ศูนย์กายภาพบำบัด  ซึ่งแต่ละพันธมิตรจะปรับขนาดมาบริการในคลินิก ซึ่งจะทำให้มีฐานลูกค้ากว้างขึ้น  ส่วนคลินิกเองก็จะมีความครบวงจรในการให้บริการมากขึ้น

ในมุมของการต่อยอดธุรกิจสุขภาพกับอสังหาฯ ของพฤกษา ในปี 2564 ที่จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ใหม่ 30-35 โครงการ ในจำนวนนี้บางทำเลมีคลินิกบ้านหมอวิมุต เปิดให้บริการ 3-4  แห่งด้วย โดยจะอยู่ในพื้นที่โครงการและอยู่ใกล้กับโครงการ ให้บริการรักษาโรคทั่วไป และเปิด Nursing Home ในบางทำเลที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้สูงวัย ซึ่งจะให้บริการทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการพฤกษาและผู้อยู่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงคลินิก ทำให้โครงการของพฤกษา มีมูลค่าเพิ่ม จากเซอร์วิสที่แตกต่าง เกาะเทรนด์ดูแลสุขภาพและสังคมสูงวัย

พฤกษา โรงพยาบาลวิมุต

คุณปิยะ ประยงค์ – นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล

ปรับบิสซิเนส โมเดล อสังหาฯ ปีนี้ติดลบ ปีหน้าฟื้น

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาด 208,994  ล้านบาท ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งปี 2563 ตลาดอสังหาฯ น่าจะติดลบประมาณ 30% จากปัจจัยลบวิกฤติโควิดและปัญหาเศรษฐกิจ “พฤกษา” เองก็ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ท้าทายและต้องปรับตัวเช่นกัน

คุณปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)  สรุปตัวเลขผลประกอบการงวด 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2563 มียอดขาย 16,161 ล้านบาท  ลดลง 56.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีโครงการเปิดใหม่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การแพร่ระบาดโรคโควิด รวมทั้งมาตรการ LTV ส่วนรายได้งวด 9 เดือนอยู่ที่ 19,801 ล้านบาท ลดลง 30% กำไรสุทธิ 1,942 ล้านบาท ลดลง 45%  มองว่าทั้งปีนี้รายได้ พฤกษา น่าจะลดลงราว 10%

สถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯ ในปีนี้ ทำให้พฤกษา ต้องปรับกลยุทธ์การบริหารและโปรดักท์ใหม่ ให้สอดคล้องกับกำลังซื้อในปี 2564 สรุป 5 เรื่องหลัก

1. เปลี่ยนบิซสิเนส โมเดล จาก Operation Company สู่ Thinking Company ลดค่าใช้จ่ายองค์กร ปรับรูปแบบการก่อสร้างจากเดิมที่แต่ละโครงการมีผู้รับเหมารายย่อย 20-30 ราย เปลี่ยนเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ 3-4 ราย ซึ่งสามารถดูแลต้นทุนได้ดีกว่า

2. เน้นตลาด “ฮีโร่ โปรเจกต์” (Hero Projects) จากปกติพฤกษา จะเปิดโครงการใหม่เกือบ 200 โครงการ ในอนาคตจะเปิดประมาณ 100 โครงการ  โดยจะเลือกเปิด ฮีโร่ โปรเจกต์ โครงการที่ตรงกับความต้องการลูกค้ารายเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะการออกแบบโปรดักท์ ที่มีฟังก์ชันตรงกับการใช้งาน โดยให้ Data Analytic เก็บข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์การทำตลาดมากขึ้น

กลุ่มฮีโร่ โปรเจกต์ จะเป็นตลาดกลาง-บน  อย่าง ทาวน์เฮาส์ ราคา 2-5 ล้านบาท  คอนโด 2-5 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 5-15 ล้านบาท  ฐานลูกค้ารายได้ 30,000-200,000 บาทต่อเดือน  เนื่องจากลูกค้าหลักตลาดล่าง รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ทำให้ทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอยอดขาย 40%  ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยปีหน้าจะปรับสัดส่วนตลาดล่างให้เหลือ 30% และไปเพิ่มกลุ่มกลาง-บน

3. บริหารที่ดินในมือ มี 2 ส่วน คือ ที่ดินพร้อมเปิดโครงการมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท จะนำมาพัฒนาโครงการในปี 2564  ราว 30-35 โครงการ  แต่ที่ดินเซ็กเมนต์บนบางทำเล หากพัฒนาเป็นคอนโด ราคา 200,000 บาทต่อตารางเมตร มองยังไม่เหมาะในช่วงนี้  ดังนั้นหากมีที่ดินในทำเลแบบนี้ก็จะปล่อยขายออกมาก่อน แต่หากขายไม่ได้ก็คงต้องรออีก 3 ปี เพื่อรอกำลังซื้อต่างชาติ จึงพัฒนาโครงการออกมาขาย  ซึ่งราคาที่ดินปรับขึ้นทุกปีอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบ

4. ต่อยอดธุรกิจโรงพยาบาลวิมุต หลังจากนี้จะมีคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว บางโครงการ ที่มีผู้อยู่อาศัยหลายเซ็กเมนต์  จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลวิมุต ด้วยการเปิดให้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ในโครงการหรือพื้นที่ใกล้เคียง ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้โครงการจากบริการที่แตกต่าง

5. ลดสต็อกเพื่อทำให้ตัวเบา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 พฤกษามีโครงการที่เปิดขายอยู่จำนวน 166 โครงการ มูลค่ารวม 95,151 ล้านบาท และยังมียอดขายที่รอรับรู้รายได้อีก (Backlog) 25,605 ล้านบาท กลยุทธ์หลังจากนี้จะเน้นการลดสต็อก ซึ่งอาจจะทำให้กำไรลดลง จากการใช้กลยุทธ์ราคาให้ส่วนลด 10-20% แต่โดยรวมปีหน้ายังสามารถทำกำไรได้ในอัตราสองหลัก

หากประเมินภาพรวมอสังหาฯ ปี 2564  น่าจะกลับฟื้นตัวและเติบโตราว 10% จากปีนี้ที่คาดติดลบ 30%  ส่วนพฤกษา ปีนี้น่าจะติดลบ 10%  ปี 2564 วางเป้าหมายเติบโตไว้ 10-15% คาดว่าปี 2565  รายได้พฤกษา น่าจะกลับมาปกติเหมือนปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ที่ตัวเลข 50,000 ล้านบาท หลังจากนี้คงไม่ได้โฟกัสเป้าหมายที่เคยพูดไว้ว่าจะทำให้ได้ 100,000 ล้านบาทอีกแล้ว แต่จะมองที่กำไรเป็นหลัก


แชร์ :

You may also like