HomeBrand Move !!TABBA ชี้กฎหมายขายสุราออนไลน์-ทำผู้ผลิตรายย่อยอ่วม วอนรัฐเร่งแก้ไขก่อนไปต่อไม่ไหว

TABBA ชี้กฎหมายขายสุราออนไลน์-ทำผู้ผลิตรายย่อยอ่วม วอนรัฐเร่งแก้ไขก่อนไปต่อไม่ไหว

แชร์ :

ปี 2563 เป็นอีกปีที่ยากและแสนจะท้าทายมากที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะคราฟท์เบียร์และผู้ผลิตรายเล็กรายน้อย เพราะนอกจากสภาพเศรษฐกิจจะซบเซาแล้ว ยังต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ร้านอาหาร สถานบันเทิงต้องปิดให้บริการ และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แถมล่าสุดยังต้องมาเจอกับประกาศ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ และมาตรา 32 ซึ่งเป็นเสมือนกับการ “ตัดลมหายใจ” เพราะหลายประเด็นยังคลุมเครือว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ทั้งยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) จึงเรียกร้องให้รัฐทบทวนและแก้ไขในประเด็นที่ไม่ชัดเจน ก่อนผู้ประกอบการเบียร์รายย่อยจะไปต่อไม่ไหว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ถ้าไม่มีช่องทางออนไลน์ เท่ากับเอาออกซิเจนที่เหลืออยู่ออก

แม้ว่าสัดส่วนของช่องทางออนไลน์จะมีไม่มากเมื่อเทียบกับช่องทางดั้งเดิมอย่างศูนย์การค้า โมเดิร์นเทรด และดิสเคาน์สโตร์ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่องทางออนไลน์เป็น Channel ที่เติบโตและทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ร้านอาหารต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ขณะที่ผู้บริโภคต้องกักตัวอยู่บ้านมากขึ้น ออนไลน์ก็เป็นช่องทางสำคัญที่เข้ามาตอบโจทย์สถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุณธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) บอกว่า ปัจจุบันช่องทางออนไลน์ยังมีตัวเลขเพียงเล็กน้อยเช่นกัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของช่องทางขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่พึ่งพิงช่องทางนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ทั้งผู้ผลิตคราฟท์เบียร์และสถานบันเทิงที่เห็นโอกาสและปรับมาเป็นการขายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19

“ในช่วงล็อกดาวน์ นักท่องเที่ยวหดหาย ร้านต้องปิดให้บริการ แต่เหล้ายังเหลืออยู่ในสต็อก ทำให้คราฟต์เบียร์และสถานบันเทิงจำนวนมากจำเป็นต้องหาทางระบายออก และหนึ่งในทางออกที่ผู้ประกอบการลุกขึ้นมาทำก็คือ การปรับมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้หลายรายเริ่มพยุงตัวเองได้จากช่องทางนี้”

เพราะฉะนั้น หากไม่มีการแก้ไขและมีการออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านออนไลน์ในช่วงนี้ คุณธนากร บอกว่า ผู้ผลิตเบียร์รายย่อย เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ช่องทางขายจะลดเหลือศูนย์ เพราะแม้ผู้ประกอบการจะกลับมาเปิดให้บริการได้ แต่จำนวนลูกค้าไม่ได้มากเท่าเดิม จึงเหลือเพียงช่องทางออนไลน์เท่านั้นที่จะดึงคนเข้ามา ซึ่งหากไม่มีช่องทางนี้ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์และสถานบันเทิงต้องกลับไปใช้ช่องทางหน้าร้านอย่างเดียว จึงเสมือนเป็นการเอาออกซิเจนที่เหลืออยู่ออกและต้องหายใจเอง ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่คงไม่กระทบ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีช่องทางจำหน่ายหลักของตนเองอยู่แล้ว ทั้งช่องทางโมเดิร์นเทรด เอเยนต์ และร้านค้าต่างๆ

 เปิด 3 กรณีศึกษา กับปัญหามาตรา 32-ห้ามขายสุราออนไลน์

หากย้อนกลับมาดูรายละเอียดของมาตรา 32 ในพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 คุณธนากร วิเคราะห์ว่า กฎหมายฉบับนี้มีความล้าสมัย เนื่องจากถูกบังคับใช้มากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ โดยอาศัยการตีความและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน เปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และยังคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าปรับที่กำหนดไว้สูงอย่างไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่ 50,000 – 500,000 บาท

สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นการชักจูงโดยตรงหรือโดยอ้อม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เห็นได้จากกรณีของ คุณวิเชียร อินทร์ไกรดี เจ้าของร้านอาหาร Kacha Kacha ที่โดนกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 32 ซึ่งถูกปรับรวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500,000 บาท เพียงเพราะมีรูปแก้วเบียร์อยู่ในเมนูของร้าน ทั้งที่ไม่มีตราสินค้าใด ๆ ปรากฏร่วมด้วย

ด้าน คุณโยษิตา บุญเรือง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไวน์โอท็อปจากผลไม้ของเกษตรกรไทย ถูกตั้งข้อกล่าวหาให้ชำระค่าปรับกว่า 1 ล้านบาทและยังเคยถูกควบคุมตัวในห้องขังร่วมกับผู้กระทำความผิดคดีร้ายแรงอื่น ๆ ในระหว่างสู้คดีในชั้นศาล หลังโดนเจ้าหน้าที่ล่อซื้อและขอใบปลิวผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเท่านั้น แม้จะได้รับการลดหย่อนโทษปรับเหลือ 50,000 บาท พร้อมรอลงอาญา 2 ปี ในภายหลัง แต่ความเดือดร้อนในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และต่อชุมชน ตลอดจนเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ

อีกรายที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมจากมาตรา 32 คือ คุณคำนาย มาดำ เจ้าของร้านลาบลุงยาวย่านปากเกร็ด ที่ถูกดำเนินคดีและถูกแนะนำให้ไปเปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท เนื่องจากมีโปสเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดอยู่ในบริเวณร้าน ซึ่งตนไม่รู้กฎหมายจึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหา อีกทั้งหลาย ๆ ร้านในละแวกใกล้เคียงก็มีป้ายลักษณะดังกล่าวติดอยู่เช่นกัน แต่มีเพียงร้านของตนเท่านั้นที่ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา จึงมองว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ

ส่วนกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือประกาศห้ามขายสุราออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้จริงในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ คุณธนากรบอกว่า มาตราดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีช่องทางในการทำธุรกิจและการแข่งขันในตลาด ทำให้เกิดการผูกขาด เปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายสามารถใช้ประโยชน์จากการปิดกิจการของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง อีกทั้งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (digital economy)

ส่วนการอ้างเหตุในการออกประกาศการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการป้องกันเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกินจำเป็น และถือว่าไม่เป็นการควบคุมแต่มุ่งกำจัดเพราะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์นั้นสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อ การทำธุรกรรมซื้อขาย ตลอดจนการจัดส่งสินค้าย้อนหลังได้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นในการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ แต่ควรให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนยังสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากช่องทางอื่นได้ แม้ไม่มีการจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ รัฐบาลควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการขายสินค้าออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย เช่น สินค้าปลอม สินค้าหนีภาษี และการพนันออนไลน์ เป็นต้น

วอนรัฐเร่งทบทวน-กำหนดวิธีขายให้ชัดเจน

จะเห็นได้ว่า กฎหมายทั้งสองข้อยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนจนกระทบกับการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มายาวนาน ทำให้ทางสมาคมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนแก้ไขกฎหมายมาตรา 32 ให้มีความชอบธรรมและชัดเจน และยกเลิกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยยึดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 77 ที่ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

“เราเห็นด้วยกับพ.ร.บ. ไม่ได้ต้องการให้ยกเลิก แต่อยากให้รัฐเข้าไปทบทวนและพิจารณาในรายละเอียดของกฎหมาย หากกฎหมายใดหมดความจำเป็นหรือเหมาะสม ก็ควรปรับให้เข้ากับสถานการณ์ รวมทั้งอยากเห็นการควบคุมไม่ใช่การห้ามขาย โดยการกำหนดวิธีการขาย เช่นกำหนดอายุหรือกำหนดเวลาขาย” คุณธนากร ย้ำท้ายถึงสิ่งที่สมาคมอยากเห็นในกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like