HomeBrand Move !!“บัณฑูร ล่ำซำ” อำลาตำแหน่งนายแบงก์ ฝากคำเตือนไว้ “4 อย่า” ทีมบริหารธนาคารกสิกรไทย

“บัณฑูร ล่ำซำ” อำลาตำแหน่งนายแบงก์ ฝากคำเตือนไว้ “4 อย่า” ทีมบริหารธนาคารกสิกรไทย

แชร์ :

หลังเปิดตัวสองผู้นำหญิงแกร่งแห่ง K Bank ผู้นำทัพธนาคารกสิกรไทย แทนหัวเรือใหญ่ คุณปั้น บัณฑูร ล่ำซำ ที่ได้ก้าวลงจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ยุติทุกบทบาทการบริหาร เหลือเพียง “ฉายา” ประธานกิตติคุณ ที่ได้รับการยกย่องจากการทุ่มเททำงานมา 40 ปี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ประกาศวิสัยทัศน์นำพาเคแบงก์สู้ศึกการแข่งขันในยุคดิสรัปชั่นและก้าวผู้นำธนาคารระดับภูมิภาคกันไปแล้วของ สองผู้บริหารหญิงแกร่ง คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย  และคุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

คราวนี้ถึงคิว คุณปั้น บัณฑูร ล่ำซำ กับฉายาใหม่ ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย ได้มาบอกเล่าสิ่งที่ฝากไว้กับทีมบริหารชุดใหม่และบทบาทการทำงานหลังเกษียณจากชีวิตนายแบงก์ในวัย 68 ปี

ฝากคำเตือนไว้ “4 อย่า”

คุณบัณฑูร เปิดใจว่าการยุติบทบาทบริหารจากเคแบงก์ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตทำงาน 40 ปี แม้ก่อนหน้านั้นจะค่อยๆ วางมือมาเป็นระยะแล้วก็ตาม การเลือกคุณกอบกาญจน์ มานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ เพราะเป็นคนเก่งรอบด้าน มีประสบการณ์ด้านธุรกิจและงานภาครัฐ ทำให้มีมุมมองหลากหลาย  เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ มีจริยธรรมและคุณธรรม จึงมั่นใจว่าจะเป็นประธานกรรมการ คนต่อไปได้

เช่นเดียวกับ คุณขัตติยา เป็นคนเก่งในด้านการบริหารงานธนาคาร ที่ร่วมกันทำงานมาเป็นเวลานาน   มีความเฉียบคมด้านความรู้เทคนิคการเงินและการจัดการ

การแต่งตั้งทีมบริหารใหม่ในจังหวะที่เกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19  พายุเศรษฐกิจครั้งใหม่ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและเป็นบททดสอบที่ดี เพราะต้องผ่านโจทย์ยากนี้ไปให้ได้ เชื่อว่าหากทีมบริหารทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่เรียกว่าเป็นวิกฤติ ก็สามารถรับมือและผ่านได้ในทุกวิกฤติข้างหน้า

“การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในข้ามคืน แต่ได้วางหมากและอยู่ในใจมานานแล้ว เป็นจังหวะที่ประกอบชิ้นส่วนทุกองค์ประกอบครบ จากนั้นจึงส่งไม้ต่อด้วยความสบายใจ และมั่นใจว่าคนที่รับช่วงต่อไป ทั้งคณะกรรมการและทีมผู้บริหารเคแบงก์จะทำงานได้ต่อไป”

การส่งไม้ต่อให้กับทีมผู้บริหารชุดใหม่ ได้ฝากคำเตือนไว้ “4 อย่า”  ในการทำงานร่วมกัน

อย่ามั่ว  เพราะความมั่ว คือความไม่ชัดเจน หากตกลงกันเรื่องหนึ่ง แต่ไปทำอีกเรื่องหนึ่ง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

อย่าไม่คำนวณ  เพราะทุกอย่างมีตัวเลขกำกับ การพูดโดยไม่มีหลักอ้างอิงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

อย่าชุ่ย  เพราะทุกอย่างต้องมีความระมัดระวัง

อย่าเหยียบตีนกัน  เพราะต้องรักษาความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในทีมงานเดียวกัน การทะเลาะกันตลอดเวลาไม่สามารถแก้ปัญหาได้

“วันนี้พูดได้เต็มปากว่าทำเคแบงก์มา 40 ปี ได้ส่งไม้ต่อให้ทีมผู้บริหารเรียบร้อยแล้ว ไม่กังวลอะไรและมั่นใจในคณะกรรมการและทีมผู้บริหารชุดใหม่ 100%”

โรคระบาดพายุเศรษฐกิจลูกใหม่

ปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19  ถือเป็นอีกพายุเศรษฐกิจลูกใหญ่  สะท้อนถึง 20 ปีก่อน ที่ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 ทำให้เกิดการล่มสลายของหลายธุรกิจ

ในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งครั้งนั้น ได้นำพระราชดำรัสหลักเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9  มาเป็นทางออกในการแก้ปัญหาและแนวทางการทำธุรกิจ

“ในช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง พระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ให้หลักคิด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้แน่ใจว่า ถ้าวันหนึ่งพายุมา ก็อย่าถึงกับล่ม หมายความว่า อย่าทำสุดโต่งเกินตัว ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการ เพราะทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ หากไม่ระวังเมื่อพายุมาก็จะเกิดความเสียหายมากมาย เหมือนที่เกิดขึ้นกับวิกฤติต้มยำกุ้ง 20 ปีก่อน เมื่อพายุเศรษฐกิจซัดธุรกิจก็ล่มสลายจำนวนมาก”  

ปีนี้โรคระบาดได้กลายเป็นพายุลูกใหม่ กระทบเศรษฐกิจทั้งโลกเพียงข้ามคืน วันนี้พายุเศรษฐกิจมาได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเศรษฐกิจถดถอย โรคระบาด ความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ  แม้กระทั้งพายุความไม่สงบทางสังคม ความคิดเห็นต่างกัน ล้วนส่งผลกระทบทั้งสิ้น

“คำถามวันนี้เราได้ เตรียมการอย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อพายุต่างๆ โหมกระหน่ำ ไม่ว่าจะวิกฤติเศรษฐกิจ โรคระบาดร้ายแรง ทรัพยากรธรรมชาติสูญเสีย  หรือความเห็นต่างของสังคม  เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นองค์กรจะล่มสลายหรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องเตรียมตัวรับมืออยู่เสมอ”

หลังฟื้นจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้น ผู้คนมั่งคั่งกว่าเดิม ทำให้ส่วนใหญ่ลืมคิดถึงบทเรียนเก่าๆ  และพายุโรคระบาดร้ายแรงก็เกิดขึ้น  เชื่อว่าหลังจากพายุลูกนี้ก็จะเป็นพายุวิกฤติรูปแบบอื่นๆ เข้ามาอีก วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมรับมือกับพายุต่างๆ ได้หรือไม่ และต้องเตรียมการอย่างไรหากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้

มาตราการรัฐรับมือโควิดไหว

สำหรับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้  หวังว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐ นำมาแก้ไขจะช่วยให้ผ่านไปได้  แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ แต่ครั้งนี้ยังโชคดีที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยและความมั่นคงทางสถาบันการเงิน ที่ปัจจุบันมีทุนสำรองพอสมควร  ดังนั้นในวิกฤติโควิด-19 หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่ผู้คนและธุรกิจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  “สถานการณ์นี้ระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับได้ แต่ก็คงมีกำไรลดลง”  แต่หากธนาคารไม่มีทุนสำรอง คงเดือดร้อน

ดังนั้นมาตรการเยียวยา ผู้เดือดร้อน ทั้งคนทำงานและผู้ประกอบการของรัฐบาล ก็สามารถพึงพิงระบบธนาคารได้ระดับหนึ่ง ขณะนี้เรียกว่ายังรับได้ ตราบใดที่ยังไม่พิงถึงขึ้นล้มกันไปทั้งหมด แต่หากสถานการณ์ลากยาวก็จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากขึ้น

“มาตรการรัฐที่ออกมาดูแลเศรษฐกิจและแผนการรับมือโรคระบาดของบุคลากรทางการแพทย์ น่าจะรับมือได้ เพราะรัฐมีเงินทุนสำรองระดับหนึ่ง และไม่ได้กู้เงินมากเกินไปในการเยียวยาเศรษฐกิจ แต่ระบบการเงินหลังจากนี้ก็จะตึงตัวแต่ยังรับได้ แสดงให้เห็นว่าหากไม่เตรียมการก็ยากที่จะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้”

วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้หากเปรียบเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ต้องเรียกว่าเป็นพายุคนละแบบ “วิกฤติต้มยำกุ้งเป็นพายุของความโลภที่เกินพอดี” จึงเกิดความเสียหายและเจ็บปวด  วิกฤติโรคระบาดคงไม่สามารถโทษว่าเป็นความผิดของมนุษย์ได้โดยตรง แต่ก็เกิดความเสียหายกับประชาชน การทำมาหากินและระบบเศรษฐกิจ กระทบกับกำลังซื้อชั่วคราว

โจทย์ใหญ่หลังโควิดต้องเรียนรู้ใหม่

การฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้เป็นเรื่องสำคัญ แต่สถานการณ์หลังจบโควิด-19 ก็สำคัญเช่นกัน  เพราะความรู้เดิมไม่สามารถใช้ได้กับโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง ในแง่ของเงินลงทุนหรือสินเชื่อ เป็นสิ่งที่ทุกคนพอที่จะหามาได้  แต่คำถามต่อไปประชาชนคนไทยจะทำมาหากิน หารายได้ในรูปแบบไหน จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวิกฤติโควิด-19

ถือเป็น “องค์ความรู้” ที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นความเสี่ยงของ “พายุ” ที่ก่อตัวขึ้นมาอีกรูปแบบ คือ  การไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันได้ในยุคนี้  วันนี้จึงต้องสร้างความรู้ใหม่ เพราะความรู้แบบเดิมไม่สามารถแข่งขันได้

ที่ผ่านมางบประมาณด้านวิจัยของรัฐเริ่มถดถอย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ  เพราะประเทศต้องมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ ทั้งภาครัฐและเอกชนเองก็ต้องทำเช่นกัน เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ  ตัวอย่างที่ดี ปตท. สนับสนุน สถาบันวิทยสิริเมธี ในการพัฒนานวัตกรรมและการเรียนรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 นี้

“วิกฤติโควิด-19 ทำให้คนตกงาน ธุรกิจต้องปิดกิจการ  โจทย์หลังโควิด ต้องหาความรู้ใหม่เพราะความรู้เดิมไม่พอ ความรู้จากระบบการศึกษา ระบบการวิจัย หากประเทศไม่มีความรู้ใหม่ก็แข่งขันไม่ได้”

ธนาคารก็เช่นกัน ความรู้ใหม่ อย่างด้านไอที เคแบงก์ ต้องสร้างเพิ่มขึ้น  เพื่อแนะนำเทคโนโลยีที่ช่วยลูกค้าทำมาหากิน หารายได้เพิ่มขึ้น และต้องจัดสรรงบประมาณสร้างความรู้ใหม่ ธนาคารต้องทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างงานที่ดี สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ผู้คน ไม่ปล่อยสินเชื่อที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

สานต่องาน “รักษ์ป่าน่าน-เขียนสารคดี”

หลังยุติบทบาทนายแบงก์ คุณบัณฑูร บอกว่ายังมีภารกิจสำคัญที่ต้องทำต่อเนื่องกับโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” การทำงานฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน ที่เป็นงานส่วนตัวทำมา 4-5 ปีแล้ว  หลังจากนี้จะเป็นการเริ่มต้นอีกฉากใหม่ของชีวิต

ภารกิจ “รักษ์ป่าน่าน” และโครงการ Nan Sandbox  มาถึงวันนี้พื้นที่ป่าที่เสียหายไป 28% ของผืนป่าน่าน  ก็ยังต้องฟื้นฟูกันต่อไป  มาถึงวันนี้ทุกคนเข้าใจโจทย์ใหญ่ที่ต้องให้ความร่วมมือกันมากขึ้น  แต่ต้องหาองค์ความรู้แบบใหม่ เพื่อทำให้ชุมชนใช้ชีวิตอยู่กับป่า มีช่องทางทำมาหากิน มีรายได้เลี้ยงชีพพอเพียงและไม่ทำลายป่า จากปลูกพืชแบบใหม่ที่สร้างรายได้มากขึ้น

“โจทย์ของป่าต้นน้ำน่าน คือ ต้องทำให้คนอยู่กับป่าให้ได้ ต้องมีองค์ความรู้แบบใหม่ๆ ปลูกพืชแบบเดิม ขายของแบบเดิมเมื่อมีรายได้ไม่พอใช้ก็ไปทำลายป่า จึงต้องหาความรู้ใหม่  เมื่อมีปัญหาเดิมแล้วแก้ด้วยโจทย์เดิมนั่นคือแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องแก้โจทย์ใหม่ ด้วยรูปแบบใหม่การทำเกษตร ที่ทำให้ผลผลิต ทางเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้เกษตรกรดีขึ้น”

องค์ความรู้ที่สนใจ คือ ความรู้ด้านการเกษตร ที่เชื่อมโยงกับการรักษาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ  เพื่อช่วยกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำแหล่งใหญ่ของประเทศที่จังหวัดน่าน ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ในการร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อหาทางแก้ปัญหาความสูญเสียของป่าต้นน้ำน่าน

คุณบัณฑูร ย้ำว่าภารกิจหลังเกษียณ คือการฟื้นฟูผืนป่าจังหวัดน่าน ที่ต้องทำงานต่อกับทั้งภาครัฐและชุมชน  “ไม่ได้ไปเล่นการเมือง” แน่นอน  อีกสิ่งที่มีความสนใจจะทำคือการเขียนหนังสือสารคดี เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องป่าน่าน หากทำโครงการนี้สำเร็จจะนำเรื่องราวมาเขียนเป็นหนังสือ แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก ซึ่งจะเป็นงานเขียนต่อจากนิยาย “สิเนหามนตราแห่งลานนา” ที่เขียนไว้ในปี 2556

แต่ความท้าทายบริบทใหม่ในวัย 68 ปี คือการสร้างอาชีพใหม่ให้ประชาชน แบ่งปันผลประโยชน์แบบใหม่และการสร้างองค์ความรู้เกษตรกรให้กับโครงการฟื้นฟูผืนป่าจังหวัดน่าน ที่จะทุ่มเทเวลาให้เต็มที่หลังยุติบทบาทนายแบงก์แล้วอย่างเป็นทางการในวันนี้


แชร์ :

You may also like