HomeBrand Move !!เล่าเรื่อง HERE เทคโนโลยีแผนที่ของอดีต Nokia ที่จะกลับมาแจ้งเกิดในไทยด้วยสไตล์ Marketplace

เล่าเรื่อง HERE เทคโนโลยีแผนที่ของอดีต Nokia ที่จะกลับมาแจ้งเกิดในไทยด้วยสไตล์ Marketplace

แชร์ :

หากเอ่ยชื่อบริษัทเทคโนโลยีด้านแผนที่อายุ 30 กว่าปีที่ชื่อ HERE กันตอนนี้ อาจทำให้บางคนเกาหัวแกรก ๆ ว่าเขาเป็นใคร อยู่มาได้อย่างไรโดยที่ไม่ค่อยมีตัวตนในตลาดไทย และตลาด APAC มากนัก แต่ถ้าใครยังพอย้อนอดีตไหว คงพอจำได้ว่า ชื่อของ HERE เคยเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีด้านแผนที่ที่ Nokia พัฒนาขึ้นหวังใช้เป็นอาวุธสำคัญของธุรกิจในการบุกตลาดต่อไป

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เสียดายว่าแผนของ Nokia ยุคนั้น ไปไม่ถึงฝั่งฝัน และได้มีการขายธุรกิจ HERE ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Audi, BMW และ Daimler ไปในปี 2015 ด้วยมูลค่าสูงถึง 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยในยุคนั้นเกิน 100,000 ล้านบาท) ซึ่งหลังจากนั้นก็มีอีกหลายบริษัทเข้ามาขอร่วมหุ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น Intel, Bosch, Pioneer และ Continental โดยมีเป้าหมายจะนำเทคโนโลยีแผนที่ดังกล่าวไปต่อยอดในธุรกิจรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็น Connected Devices ชิ้นต่อไปนั่นเอง

จากเป้าหมายดังกล่าว ปัจจุบัน HERE เลยมีการทำแผนที่ประเทศต่าง ๆ ไปแล้ว 200 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่งผลให้ HERE สามารถรายงานข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์ถึง 63 ประเทศทั่วโลก โดยในจำนวนนี้สามารถวางแผนเส้นทางให้กับเมืองต่าง ๆ ได้ 1,300 เมืองใน 50 ประเทศ และมียานพาหนะที่เชื่อมต่อข้อมูลอยู่บนระบบของ HERE มากกว่า 100 ล้านคัน

จากความพร้อมดังกล่าว ประกอบกับตลาดเอเชียแปซิฟิกในตอนนี้กำลังเนื้อหอม เนื่องจากมีผู้บริโภคหลักพันล้านคน และมีกำลังซื้ออยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงนโยบายภาครัฐก็กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็น Smart Cities จึงไม่แปลกหากผู้บริหารของ HERE จะบอกว่า นี่เป็นโอกาสดีที่จะหันมาบุกตลาด “โลเคชัน” ในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกอย่างเป็นทางการ

ทำตลาดให้แตกต่างด้วยการเป็น Marketplace ด้าน Location Data

โดยก่อนหน้านี้ ตลาดของ HERE มักจะอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก (ดูจากรายชื่อบริษัทที่ร่วมลงทุนก็จะเห็นภาพชัดขึ้น) แต่สำหรับโลกในยุคที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมต่อถึงกันได้หมด บริษัทด้านแผนที่รายนี้จึงขอวางโพสิชันตัวเองใหม่เป็น “Marketplace ด้านข้อมูลโลเคชัน” เหตุที่วางโพสิชันแบบนั้นเพราะพบว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายต่าง ๆ มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ไม่มีข้อมูลของตัวเอง และอยากซื้อข้อมูลจากบริษัทอื่น
  • ไม่มีข้อมูลของตัวเอง เลยอยากใช้ข้อมูลแผนที่ของ HERE และข้อมูลจาก Third Party อื่น ๆ เพื่อพัฒนาบริการใหม่ ๆ
  • มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่อยากหาพาร์ทเนอร์ และนำข้อมูลที่มีมารวมกันแล้วต่อยอดเป็นบริการใหม่ ๆ
  • มีข้อมูลอยู่แล้ว และอยากนำข้อมูลเหล่านั้นมารวมกับข้อมูลด้าน Location ของ HERE เพื่อพัฒนาเป็นบริการใหม่ ๆ
  • มีข้อมูลอยู่แล้ว และต้องการใช้ AI และ Machine Learning ของ HERE ในการวิเคราะห์ข้อมูล Location
  • มีข้อมูลอยู่แล้ว และอยากขายให้คนอื่นเอาไปใช้งาน
  • ฯลฯ

ที่ผ่านมา ผู้บริหารของ HERE ยอมรับว่ามีการเจรจากับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปบ้างแล้ว ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีแผนที่ไปปรับปรุงคุณภาพการจัดส่งสินค้าให้ดีขึ้น

ส่วนตลาดหลักอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้บริหารก็ยอมรับว่ามีการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติญี่ปุ่น เพื่อนำเทคโนโลยีของบริษัททั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ลงไปติดตั้งเพื่อช่วยในการนำทาง และทำให้รถจักรยานยนต์เหล่านั้นกลายเป็นอุปกรณ์ IoT สำหรับส่งข้อมูลขึ้นสู่แพลตฟอร์มของ HERE ด้วย

ใช้ข้อมูล Location อย่างไรเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ

คุณ Stanimira Koleva รองประธานอาวุโส และผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ HERE Technologies

ส่วนการนำข้อมูลไปใช้งานนั้น คุณ Stanimira Koleva รองประธานอาวุโส และผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ HERE Technologies เผยว่าสามารถนำใช้งานได้หลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประกันภัย, Supply-chain, หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจประกันภัยสามารถทราบข้อมูลได้ว่า ถนนเส้นไหนมักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อย ดังนั้น รถคันใดที่ต้องวิ่งผ่านถนนเส้นนั้นบ่อย ๆ ก็ถือเป็นรถที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถทั่วไป ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยด้วยนั่นเอง

หรือในส่วนของธุรกิจ Supply-chain ก็สามารถใช้เทคโนโลยีด้าน Location ในการคำนวณว่า รถบรรทุกสินค้าอยู่ ณ จุดใดแล้ว และจะมาถึงโกดังเมื่อไร ซึ่งหากผนวกกับข้อมูลด้านอุณหภูมิในการเดินทาง หรือสภาพของถนน ก็อาจทำให้ธุรกิจคาดการณ์ได้มากขึ้นด้วยว่า สินค้าภายในรถบรรทุกจะอยู่ในสภาพอย่างไรเมื่อมาถึงโกดังนั่นเอง

ในส่วนของธุรกิจ Food Delivery ซึ่งปัจจุบันเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักมีแต่ผู้เล่นจากต่างชาติ ซึ่งอาจไม่เข้าใจสภาพถนนในเมืองไทยได้ดีนัก ก็สามารถใช้เทคโนโลยีด้าน Location มาช่วยในการวางแผนเส้นทางการจัดส่งให้รวดเร็วขึ้นได้

ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าภาพของการเปลี่ยนเมืองไปสู่การเป็น Smart Cities จะเริ่มปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2020 และนอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ว้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ยังทำให้เราเห็นภาพอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากขึ้น นั่นคือ ประเทศไทยเป็นที่สนใจของบริษัทต่างชาติไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ส่วนเราจะพัฒนาได้รวดเร็วเท่าสิงคโปร์หรือไม่นั้น รัฐบาลปัจจุบันอาจต้องเป็นผู้ตอบคำถามนี้


แชร์ :

You may also like