HomeCSR‘สร้างป่า สร้างรายได้’ โมเดลใน “ฝัน” ที่เริ่มเป็นความจริง

‘สร้างป่า สร้างรายได้’ โมเดลใน “ฝัน” ที่เริ่มเป็นความจริง

แชร์ :

ผืนป่าน่านที่หดหาย ถูกทำลายมานาน จนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ด้วยการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจากชาวบ้าน เพราะต้องการสร้างพื้นที่ทำกินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน จนกระทั่ง “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ที่ตั้งใจจะไปใช้ชีวิตหลังเกษียณที่น่าน แต่กลับไปพบเห็นและสัมผัสถึงปัญหา จึงได้ริเริ่มงานพัฒนาผืนป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำ ผ่าน “โครงการรักษ์ป่าน่าน“ ตั้งแต่ปี 2557 ด้วยเป้าหมายการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรป่าไม้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในปี 2558 ธนาคารได้ร่วมกับ สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองทัพ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูป่าอย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดสัมมนาและศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พบว่า พื้นที่ป่าของจังหวัดน่าน แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนกว่า 6.4 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดกว่า 7 ล้านไร่ มีการบุกรุกปลูกพืชไร่ในพื้นที่ป่าสงวน 1.39 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 28% ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด โจทย์ที่ตั้งไว้คือ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านไม่บุกรุกพื้นที่ป่า โดยยังมีพื้นที่ทำกินอย่างถูกต้องและสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ พร้อมๆ กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับมาดังเดิม

ตลอดระยเวลาที่เริ่มต้นทำโครงการรักษ์ป่าน่าน ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้าน หัวหน้าชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และยังมีการจัดสัมมนาพูดคุยกันในภาพใหญ่ กระตุ้นให้เกิดความร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม จนใน ปี 2561 จึงมีการทดลองปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่ หรือ น่านแซนด์บ๊อกซ์ (NAN Sandbox) โดยเชิญผู้นำชุมชน 99 ตำบลในจังหวัดน่าน มารับฟังปัญหาการบุกรุกป่า พร้อมหาแนวทางแก้ไขให้ประชาชนมีพื้นที่ทำกิน และมีวิถีการทำมาหากินที่ถูกต้อง โดยจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล ที่มี นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขกฎหมาย ทำให้ประชาชนสามารถมีพื้นที่ทำกินที่ถูกต้อง โดยพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุก 28% จะแบ่งเป็น 18% ที่ต้องฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ส่วนอีก 10% เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่

ล่าสุด ในปีนี้ กับงาน “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 4 งานหลายอย่างมีความคืบหน้า เป็นแนวโน้มที่ดีในการแก้ปัญหาอย่างเห็นได้ชัด โดย  “ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานกรรมการภาครัฐ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล ได้ให้รายละเอียดการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อ คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562  เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีที่ทำกินอย่างถูกต้องว่า มีการสร้างสมดุลระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน ด้วยระบบพื้นที่ป่าไม้ หรือการโซนนิ่ง การปลดล๊อคการตัดไม้หวงห้าม 158 ชนิด และ ไม้หายาก 13 ชนิด ในที่ดินเอกชน ที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์, นส.3ก, สค.1 และสามารถใช้ไม้ยืนต้นหลากชนิดเป็นหลักประกันเงินกู้รูปแบบใหม่ ด้วย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 รวมทั้งการสร้างกฎกติกาในการใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกัน โดยจะมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่กำลังจะตามออกมา เป็นกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล

นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง “สร้างป่า สร้างรายได้” เป็นแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้น่าน เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่า และมีรายได้เสริมโดยไม่ทำลายป่า ด้วยหลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมกับมีการปลูกไม้ป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจ วิธีนี้นอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้แล้ว ยังทำให้มีป่าไม้เพิ่มขึ้นด้วย

การ “สร้างป่า สร้างรายได้” เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2556 ที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และ อ.นาแห้ว จ.เลย ต่อมามีการขยายพื้นที่ไปอีกหลายอำเภอ และยังขยายต่อไปยัง จ.เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ต้นจนถึงปี 2561 จะเห็นว่ามีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 19,890 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ป่าที่กำลังฟื้นฟูและอนุรักษ์รวมทั้งหมด 71,786 ไร่

การดำเนินโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ในพื้นที่ จังหวัดน่านมีกรมป่าไม้ทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเกษตรกร และยังร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ดอยคำ ช่วยรับผลผลิตเกษตรกรไปแปรรูปจำหน่ายต่อ บางอย่างศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริก็รับมาแปรรูป โดยมีภาคเอกชน มหาวิทยาลัยสนับสนุนทางด้านเทคนิกการแปรรูป แล้วส่งขายร้านภูฟ้า บางอย่างส่งไปต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องการสร้างรายได้ ที่ดำเนินโครงการโดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ธนาคารกสิกรไทย ภาครัฐและเอกชนที่ร่วมสนับสนุน คือ โครงการสร้างอาชีพ : นำร่องปลูกพืชสมุนไพร ที่หมู่บ้านห้วยลอย

“ดร.จันทรารักษ์ โตวรานนท์” หัวหน้าโครงการสวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา เล่าว่า ชาวบ้านห้วยลอยได้รวมตัวกันยกพื้นที่ทำกิน 1,750 ไร่ คืนให้กับทหารและรัฐบาล เพื่อไปปลูกป่า ทางทีมงานจึงเลือกพื้นที่นี้เป็นพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมการสร้างอาชีพ ด้วยการเลือกส่งเสริมสิ่งที่ชาวบ้านปลูกอยู่แล้ว คือ พืชสมุนไพร ได้แก่ ไพลและขมิ้น ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ชาวบ้านปลูกอยู่แล้ว ส่วนไม้ยืนต้น มีการส่งเสริมให้ปลูกโกโก้ ที่การสนับสนุนจากภาคเอกชน คือ โกโก้ วัลเล่ย์ ที่มอบทั้งต้นกล้า และพร้อมรับซื้อผลผลิตโกโก้ทั้งหมด โดยขณะนี้มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 53 ครัวเรือน จากทั้งหมด 105 ครัวเรือน และสามารถสร้างรายได้ล็อตแรกแล้วกว่า 1 หมื่นบาท หลังจากเริ่มต้นปลูกเมื่อพฤษภาคม 2561 และเก็บรอบแรกเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่วนภาพรวมจากการสำรวจรายได้เกษตรกรทั้งหมดที่เข้าโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ 1,187 คน พบว่าปี 2561 เกษตรกรมีรายได้จากโครงการ 5.08 แสนบาท โดยกลุ่มสร้างป่าสร้างรายได้ อ.บ่อเกลือ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ สามารถสร้างรายได้ถึง 6.48 แสนบาท

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำและย้ำถึงแนวพระราชดำริ ที่มีตั้งแต่เริ่มโครงการ ว่า องค์ความรู้ต่างๆ ที่นำมาเป็นแนวทางในการแก้ไข ควรมีการส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง และควรเริ่มตั้งแต่เด็กชั้นอนุบาล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจริงๆ และอีกส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือ คือ ความร่วมมือของภาคทหารในจังหวัดน่าน ที่ประกอบด้วย กองพันทหารม้าที่ 15 มณฑลทหารบกที่ 38 ค่ายสุริยพงษ์ โรงพยาบาลสุริยพงษ์ ให้ช่วยดูแล และให้ความร่วมมือกันทุกหน่วยงาน ทั้งการจัดสรรพื้นที่ในค่ายทหารเพื่อทำการเกษตร และการให้ความรู้กับเกษตรกร และประชาชน ทหารเกณฑ์ที่ได้ฝึกฝนผ่านการอบรมที่เชียงรายมาแล้ว ก็สามารถนำความรู้มาปฏิบัติ ถ่ายทอด และส่งต่อสู่ท้องถิ่นของตัวเอง ไปเป็นปราชญ์ชาวบ้านเมื่อกลับไปอยู่บ้าน เป็นการส่งต่อความรู้อย่างยั่งยืนต่อไป

สิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นที่น่าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และการสร้างป่า สร้างรายได้ ถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้น ที่ “เจ้าสัวบัณฑูร” บอกว่า เป็นสิ่งดีๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี และเป็นวิถีการแก้ไขที่กำลังเดินหน้า แต่ในแนวคิดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ต้องมีการคำนวณผลลัพธ์ที่ได้ให้ออกมาเป็นบวกทั้งหมด นั่นจึงจะเกิดความสำเร็จที่แท้จริง ซึ่งยังมีโจทย์อีกหลายอย่างที่ต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป


แชร์ :

You may also like