HomeBrand Move !!ยิ่งได้ ม. 44 ช่อง 8 ​ยิ่งแข็งแร็ง ​​เพิ่มสปีดอาร์เอสสู่ ‘บริษัทหมื่นล้าน’ พร้อมถอดรหัส MPC โมเดลลับที่สร้าง New High ได้ทุกเดือน

ยิ่งได้ ม. 44 ช่อง 8 ​ยิ่งแข็งแร็ง ​​เพิ่มสปีดอาร์เอสสู่ ‘บริษัทหมื่นล้าน’ พร้อมถอดรหัส MPC โมเดลลับที่สร้าง New High ได้ทุกเดือน

แชร์ :

หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศคำสั่งใชัมาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และในอุตสาหกรรมทีวี ด้วยการยกเว้นค่าใบประมูล 2 งวดสุดท้าย (งวดที่ 5 และ 6 มูลค่ากว่า​ 1.3 หมื่นล้านบาท) รวมทั้งไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่าย (Mux) ตลอด 10 ปี (มูลค่าราว 1.8 หมื่นล้านบาท) ทำให้ช่วยลดภาระผู้ประกอบการไปได้ถึงกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ได้เห็นความคึกคักและการขานรับในทิศทางที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มทีวีดิจิทัลที่เริ่มมีกำลังใจในการทำธุรกิจมากขึ้น เพราะช่วยลดภาระต้นทุนการดำเนินงานที่ต้องแบกรับการขาดทุนไปในแต่ละวันลงได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เช่นเดียวกับช่อง 8 ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นความพยายามในการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดมาโดยตลอด ด้วยการหาแนวทางแก้ปัญหาขาดทุน​​​ด้วยการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง เพิ่มเติมจากการแข่งในเรื่องของคอนเทนต์และเรตติ้งเป็นหลักเหมือนกับช่องอื่นๆ

ทำให้ที่ผ่านมา ช่อง 8 ส่งสัญญาณเป็นหนึ่งในผู้รอดในสนามทีวิดิจิทัลที่ค่อนข้างชัดเจน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีมาตราการความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐหรือไม่ ​เพราะช่อง 8 เป็นเพียงช่องเดียวที่มี Occupancy Rate หรือจำนวนของระยะเวลาในการลงโฆษณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ของแต่ละช่องเต็มทั้ง 100% ที่แม้แต่ช่องที่อยู่ในระดับ Tier 1 หรือ 2 ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ โดย Occupancy Rate ของช่องเทียร์ 1 และเทียร์ 2 จะอยู่ที่ราว 50-70% เท่านั้น

ประกาศใช้ ม. 44 ช่อง 8 ยิ่งแข็งแรง

ดังนั้น เมื่อช่องที่แข็งแรงและสามารถทำกำไรด้วยตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งมีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนที่ชัดเจนออกมาก็ยิ่งเป็นผลดีกับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเรื่องนี้ เฮียฮ้อ -คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การที่ คสช. มีคำสั่งใช้ มาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ จะช่วยยืดอายุการทำธุรกิจทีวีดิจิทัลของผู้ประกอบการให้เดินต่อได้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือได้ทั้งอุตสาหกรรมในภาพรวม ซึ่งไม่ใช่เรื่องว่าใครแพ้หรือใครชนะ เพราะสุดท้ายแล้ว ธุรกิจจะขับเคลื่อนต่อไปได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการวางแผนธุรกิจ สร้างกลยุทธ์ใหม่มาต่อสู้ทั้งในแง่ของการสร้างคอนเทนต์เพื่อ​ให้สามารถรักษาฐานผู้ชมไว้ได้ รวมทั้งในแง่ของการวางกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการช่อง เพื่อให้มีผลประกอบการที่ดี

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ภาพรวมของช่อง 8 มีความแข็งแรงขึ้นมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในภาพรวมด้านไลเซนส์ต่างๆ ลง ​เหลือเฉพาะต้นทุนในส่วนของ Operation และการผลิตคอนเทนต์ โดยคาดการณ์ว่าเอฟเฟ็กต์จากการมี ม. 44 มาช่วยเหลือจะทำให้อาร์เอสมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นราว 600-700 ล้านบาท จากต้นทุนโดยรวมที่ลดลง และปัจจุบันช่อง 8 ยังเป็นช่องเดียวที่สามารถขายเวลาโฆษณาได้ทั้ง 100% เนื่องจากมีโฆษณาในส่วนธุรกิจ MPC (Multi Platform Commerce)​​ หรือธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกแบบหลากหลายช่องทาง มาเป็นผู้ซื้อโฆษณาหลักของช่อง และในอนาคตจะเชื่อมโยงธุรกิจสื่อกับ MPC ให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างคอนเทนต์ที่แข็งแรงมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยขยายฐานผู้ชมช่อง 8 ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต”​

ก่อนหน้านี้ เฮียฮ้อ เคยพูดถึงแนวทางการบริหารช่อง 8 ไว้ว่า “ช่อง 8 สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะความยากลำบากของคนทำทีวี และเม็ดเงินโฆษณาที่หดตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งเราเลือกที่จะมองและให้ความสำคัญกับเรื่องของ Reach มากกว่าเรื่องของเรตติ้งหรือ Ranking รวมทั้งการ Utilize เวลาภายในช่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในช่วง Non Prime Time ของธุรกิจทีวี ที่อาจจะขายโฆษณาไม่ได้ หรือขายได้ในราคาไม่ดี ซึ่งเราเลือกที่จะนำเวลาเหล่านั้นมาทำธุรกิจ MPC ซึ่งช่วงไพรม์ไทม์ของ MPC ก็คือช่วงที่ไม่ใช่ไพร์ไทม์ของธุรกิจทีวี ทำให้ช่อง 8 เป็นช่องเดียวที่สามารถบริหารเวลาโฆษณาได้หมดทั้ง 100% ตั้งแต่ในปีแรกที่ประมูลได้ พร้อมความเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ​ 1-2 ปีแรก ที่ต้องรอให้มีเวลาเหลือค่อยนำมาทำ MPC แต่ปัจจุบันธุรกิจ MPC กลับกลายเป็นคนซื้อโฆษณาหลักของช่อง 8 ไปแล้ว​ และยังเป็นต้นแบบให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลเกือบทุกรายเริ่มหันมาขายเวลาให้กับธุรกิจขายสินค้าอย่างโฮมช้อปปิ้งหรือเทเลเซลล์มากขึ้นด้วย”​ 

วางกลยทุธ์ 3 O’s เพิ่มเรตติ้งช่อง

ซึ่งหลังจากมี ม.44  มาช่วยเหลือในการปลดล็อกแล้ว ​หลังจากนี้ผู้ประกอบการทุกราย ก็ยังคงต้องดำเนินงานด้วยแผนธุรกิจ และกลยุทธ์ที่ชัดเจน ​สำหรับช่อง 8 หนึ่งในเป้าหมายที่ชัดเจนคือการรักษา และขยายฐานผู้ชมโดยมองว่า เรตติ้งของช่อง 8 ในไตรมาส 2 นี้  จะดีขึ้นได้แบบก้าวกระโดด ​จากการวางกลยุทธ์ 3 O’s : On air, Online, On ground promotion เพื่อรักษาเรตติ้งในช่วงไพร์ทไทม์ พร้อมทั้งการปรับผังรายการใหม่ ตอกย้ำสโลแกน “ใครใคร ก็ดู ช่อง8”

กลยุทธ์ 3 O’s ที่ช่อง 8 จะใช้ในช่วงไตรมาส 2 นี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับคอนเทนต์จากทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น On Air, Online หรือ On Ground  จากการสร้างความแข็งแรงผ่านหน้าจอ ดิจิทัลอพลตฟอร์ม และการต่อยอดไปสู่การจัดกิจกรรมอื่นๆ  รวมทั้งการเพิ่ม Exclusive Content เพื่อเป็นแม่เหล็กสำคัญใน 5 กลุ่มคอนเทนต์หลัก คือ  กลุ่มข่าว ละคร ซีรีส์ไทย ซีรีส์อินเดีย และรายการวาไรตี้ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และตลอดเวลา โดยมีการบริหารจัดการคอนเทนต์ตามโอกาส จังหวะ และความเหมาะสมที่สามารถยืดหยุ่นได้หากคอนเทนต์ใดได้รับความนิยมกระแสตอบรับดีมากก็พร้อมขยายเวลาเพิ่มทันที และในทางกลับกันหากคอนเทนต์ใดไม่เป็นที่นิยมก็พร้อมจะเปลี่ยนทันทีเช่นกัน

“ช่อง 8 วางงบที่จะใช้ด้านคอนเทนต์ในไตรมาสสองนี้ไว้กว่า 100 ล้านบาท เช่น การนำซีรีส์ฟอร์มยักษ์อย่าง “อะลาดิน (Aladdin)”  ซึ่งเป็นเรื่องราวที่คนไทยคุ้นเคย ด้วยทุนสร้างมหาศาล มาออกอากาศในเดือน พ.ค.​ พร้อมเตรียมผลิต 4 รายการใหม่ หลากหลายแนว และเจาะกลุ่มคนดูที่แตกต่างกัน รวมทั้งการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ พร้อมทั้งยกทัพพิธีกรมากความสามารถชั้นแนวหน้าของวงการบันเทิงไทยมาอยู่หน้าจอช่อง 8 เพื่อดึงดูดสายตาคนดู และทำให้เรามีรายการที่ครอบคลุมกลุ่มครอบครัว ทุกเพศทุกวัย โดยจะทยอยออกอากาศครบเดือน มิ.ย.นี้”

สำหรับการเติบโตในส่วนของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ​ปัจจุบันช่อง 8 มีฐานคนดูที่เข้าถึงคอนเทนต์ผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 200% ​โดยเพจช่อง 8 มีคนติดตามมากกว่า 3 ล้านคน และเพจข่าวช่อง 8 มีคนติดตามมากกว่า 4 ล้านคน​ ขณะที่เรตติ้งช่อง 8 อยู่ในกลุ่มผู้นำของทีวีดิจิตอล ที่เข้าถึงผู้ชมวันละ กว่า 10 ล้านคน  ​โดยคาดว่า สิ้นปีนี้จะมีฐานคนดูเพิ่มเป็นมากกว่า 15 ล้านคน แบ่งเป็นสัดส่วนระหว่างหญิง 55% ชาย 45% และยังให้ความสำคัญกับการขยายฐานเพื่อเข้าถึงคนดูกลุ่มใหม่ โดยต้นปีที่ผ่านมาได้เริ่มนำคอนเทนต์เอ็กคลูซีฟเผยแพร่ใน LINE TV และ YOUTUBE ทำให้ได้ฐานคนดูเป็นคนรุ่นใหม่ในกลุ่ม MASS  อายุ 18-35 ปีมากขึ้น ซึ่งจะมีผลสะท้อนไปยังเรตติ้งบนหน้าจอทีวีได้อีกทางหนึ่งด้วย  

“ด้วยกลยุทธ์ 3O’s จะช่วยเสริมทัพความแข็งแกร่งของช่อง 8 ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้บริษัทวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน” 

ดร.องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 กล่าวถึง ทิศทางในการพัฒนาคอนเทนต์แต่ละกลุ่มภายในช่อง 8 ในไตรมาสนี้ไว้ อาทิ  ​

– คอนเทนต์ละคร ถือเป็นคอนเทนต์แม่เหล็กที่ขาดไม่ได้ ที่ผ่านมาละครช่อง 8 หลายๆ เรื่องก็ประสบความสำเร็จด้านเรตติ้ง​  โดยเฉพาะการโฟกัสละครแนวดราม่า & พีเรียด พร้อมทั้งยังได้ดารานักแสดงนอกค่ายระดับแม่เหล็กมาร่วมงาน เพื่อสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับคอละครของช่องได้เป็นอย่างดี​ รวมไปถึงการมีซีรีส์พันธุ์ไทย เพื่อเพิ่ม Content Entertainment ที่อัดแน่นครบ 7 วัน จะเป็นแรงส่งดันเรทติ้งภาพรวมของช่อง 8 เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยไตรมาสสองนี้ จะส่งละคร 3 เรื่อง 3 รส มาช่วยเรียกเนตติ้ง ได้แก่ เพรงลับแล ละครแนวดราม่า แฟนตาซี ลี้ลับ ที่ได้ สมาร์ท-กฤษฎา พรเวโรจน์ และ น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ นำแสดง ต่อด้วยละครแนวโรแมนติก ดราม่า เทพธิดาขนนก ซึ่งได้นางเอกตัวแม่นุ่งสั้น ใบเตย อาร์สยาม- (สุธีวัน ทวีสิน) ปะทะเดือดกับนางเอกลูกหม้อ จูน-ชลฤดี อมรลักษณ์ โดยมี เอี๊ยง-สิทธา สภานุชาติ รับบทพระเอกของเรื่อง และ มณีนาคา ละครแนวโรแมนติก ดราม่า แฟนตาซี ที่ได้ ตูมตาม-ยุทธนา เปื้องกลางและ ยีน-เกวลิน ศรีวรรณา เป็นพระนาง ซึ่งเรื่องนี้ ใช้ทีม CG มืออาชีพที่เชี่ยวชาญในการสร้างชีวิตให้กับพญานาคแบบสมจริง รวมทั้งจะมีซีรีส์ไทย ลิขิตชีวิต เริ่มออกอากาศปลายเดือนมิถุนายนนี้

– คอนเทนต์ข่าว ช่อง 8 เป็นผู้นำทางด้านนี้มาต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงข่าวเช้า ที่มีเรตติ้งเป็นอันดับ 1 ด้วยคอนเซปต์ เล่าง่าย คุยง่าย เข้าใจง่าย จนทำให้สามารถขึ้นครองแชมป์ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีการรายงานข่าวมากที่สุดถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน สูงสุดในทีวีดิจิทัลกลุ่มวาไรตี้ และประสบความสำเร็จคว้าเรทติ้งอันดับ 1 ช่วงไพร์มไทม์ และมีเรทติ้งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเพิ่มกลยุทธ์ทีมข่าว ที่มุ่งทำข่าวเจาะในเชิงลึกเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ อยู่ในความสนใจของประชาชน รวมถึงเพิ่มช่วง “คุยข่าวการเมือง” เวลา 8.00-8.30 น. ของรายการคุยข่าวเช้า และในรายการคุยข่าวเย็น เวลา 15.15-15.30 น. ของทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เพื่อเกาะติดสถานการณ์รายงานเรื่องทางการเมืองที่มีความเข้มข้น เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอยู่ขณะนี้ ​

–  คอนเทนต์รายการวาไรตี้  ได้ทุ่มทุนผลิตรายการใหม่แกะกล่อง 4 รายการ ครอบคลุมความสนุกทุกมิติ  ประเดิมด้วย “รายการเสียงสวรรค์รางวัลชีวิต” ที่ได้พิธีกรแถวหน้า เชียร์ ฑิฆัมพร กับ เจี๊ยบ เชิญยิ้ม มาดำเนินรายการประกวดร้องเพลง ชิงรางวัลกว่า 1 ล้านบาท  รายการ “เกมส์แลกรถ” ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ รายการเดียวในเมืองไทยที่เอารถเก่ามาแลกรถใหม่ รวมถึงรายการ “จุดเกิดเหตุ” ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ชมที่ติดตามคลิปวิดีโอเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกออนไลน์ มาขยายต่อในโลกออนกราวน์ ด้วยรูปแบบสกู๊ปเตือนภัย และรายการ “ช่อง 8 ช่วยด้วย” รายการที่มุ่งสร้างความข่วยเหลือให้กับคนในสังคมไทย โดยช่อง 8 เป็นสื่อกลาง ที่ได้กระแสตอบรับที่ดีมาก สามารถเป็นอีกช่องทาง ช่วยเหลือคนกลุ่มใหญ่ที่มีปัญหาในสังคมได้สำเร็จ ซึ่งรายการทั้งหมดจะทยอยออกอากาศครบภายในเดือน มิ.ย.นี้

เปิดความสำเร็จหลังทรานสฟอร์มธุรกิจ

นอกจากแผนงานด้านธุรกิจสื่อ ซึ่งได้รับอานิสสงส์บวกจากการประกาศใช้ ม. 44 มาเป็นหนึ่งปัจจัยบวกสำคัญแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต ที่ถือเป็น Engine of Growth ที่แท้จริงของอาร์เอส คือ การพัฒนาโมเดล​ที่เรียกว่า MPC (Multi Platform Commerce)​​ หรือธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกแบบหลากหลายช่องทาง​ ที่เน้นสร้างการเติบโตในแนวตั้งหรือแบบเชิงลึก ผ่านการต่อยอดจุดแข็งจากธุรกิจเดิม ทั้งการเป็นเจ้าของสื่อที่มีฐานผู้ชมเป็นของตัวเอง มาสู่โอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่​ที่สามารถ Synergy ระหว่างธุรกิจที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่แข็งแรงและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ความสำเร็จที่สามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังถดถอย ให้พลิกฟื้นกลับมาเติบโตอย่างแข็งแรง และสร้าง New S Curve ให้กับธุรกิจได้อีกครั้ง ด้วยตัวเลขผลประกอบการในปีที่ผ่านทั้งยอดขายและกำไรที่สูงสุดในรอบ 37 ปี เรียกได้ว่า เป็นการกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของอาร์เอสอีกครั้งหนึ่งก็ว่าได้ จนเฮียฮ้อมองว่า ปี 2562​ ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นธุรกิจใหม่อีกครั้งหนึ่งของอาร์เอส​

เพราะนอกจากการขยับมาสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ในแบบค้าปลีกเป็นปีแรกแล้ว (หลัง SET รับรองสถานะใหม่จากธุรกิจในกลุ่ม Media & Publishing​ มาเป็นธุรกิจพาณิชย์ หรือ Commerce) ​ยังเป็นปีที่สามารถกล่าวได้ว่า การทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อให้รอดจากการถูก Disruption ของอาร์เอสนั้นประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงแล้วนั่นเอง

“แม้เราทรานส์ฟอร์มธุรกิจสำเร็จ​ แต่ความจริง​ เราเพิ่งทำได้แค่เฟสแรกเท่านั้น เพราะช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เราเน้นสร้างความแข็งแรงให้โมเดลใหม่สำหรับการเติบโตในอนาคตอย่าง MPC ​แต่หลังจากนี้จะเป็นการผลักดันให้อาร์เอสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและแข็งแรงจริงๆ ทั้งในมิติของการเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และที่สำคัญ นอกจากมียอดขายที่ดีแล้ว หากธุรกิจจะมีสุขภาพที่แข็งแรงจริงๆ ต้องเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้ด้วย ดังนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่อาร์เอสจะเติมเข้ามาในเฟสที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นการแบ่งเฟสการเติบโตตามแผนที่เฮียฮ้อได้มองไว้ในอนาคต”

ดังนั้น สิ่งที่จะเติมเข้ามาในเฟส 2 คือการสร้างการเติบโตในแนวราบ หรือการขยายโอกาสในการทำธุรกิจให้ออกจากกรอบที่กว้างไปมากกว่าเดิม​ โดยเฉพาะการหาพาร์ทเนอร์ เพื่อเข้ามาเติมในแต่ละมิติของแพลตฟอร์ม MPC ​เช่น การสร้างพาร์ทเนอร์ในแง่ของช่องทางจำหน่าย ซึ่งเห็นการนำร่องไปแล้วกับการเป็นพาร์ทเนอร์กับช่องไทยรัฐทีวี ​รวมทั้ง การหาพาร์ทเนอร์ในแง่ของการผลิตสินค้า จากปัจจุบันที่อาร์เอส ใช้วิธีจ้างผลิตสินค้าจากหลากหลาย​ราย บ่อยครั้งจึงมีปัญหาสินค้าขาดสต๊อกจนสูญเสียโอกาสในการขาย

โดยคาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ น่าจะสามารถเปิดตัวพาร์ทเนอร์ในส่วนของโรงงานที่จะมาดูแลการผลิตสินค้าให้อาร์เอสได้ รวมทั้งยังมีโอกาสจากการเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับเจ้าของสินค้าต่างๆ ที่นำสินค้ามาขายผ่านบนแพลตฟอร์มของอารส์เอส จากปัจจุบันสินค้าต่างๆ ที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มเป็นสินค้าของอาร์เอสเองราว 60% และอีก 40% จะเป็นของพาร์ทเนอร์

“การมีพาร์ทเนอร์เข้ามาเติมใน MPC จะทำให้อาร์เอสสามารสร้างความสมบูรณ์ใน MPC Ecosystem ตลอดทั้ง Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ จากปัจจุบันกลางน้ำเรามีสื่อของตัวเอง และมีฐานผู้ชม รวมทั้งดาต้าเบสของลูกค้าที่อยู่ปลายน้ำ หากสามารถหาพาร์ทเนอร์ที่สามารถเข้ามาดูแลด้านการผลิตได้ก็จะทำให้เติมเต็มในส่วนของต้นน้ำที่ยังขาดอยู่ได้ และจะทำให้อาร์เอสแข็งแรงมากขึ้น ทั้งจากการมีศักยภาพในการควบคุมคุณภาพสินค้า การบริหารจัดการสินค้าให้มีปริมาณการผลิตเพียงพอต่อการขาย ​และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรได้มากขึ้น เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้าที่ปัจจุบันใช้วิธีการจ้างผลิต มาเป็นการผลิตโดยพาร์ทเนอร์ไม่น้อยกว่า 60-70% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพิ่มการ Synergy จากการใช้สื่อภายในเครือที่มีอยู่เป็นช่องทางช่วยการขาย​ ทำให้สามารถบริหารจัดการ 2 ต้นทุนสำคัญของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในภาพรวมให้ดีขึ้นได้นั่นเอง”

ภาพใหญ่ ไม่เกิน 3 ปี ขึ้นแท่นบริษัทหมื่นล้าน

นอกจากการขยายธุรกิจแบบแนวราบในเฟสที่ 2 ด้วยการเพิ่มพันธมิตรให้ครบทุกมิติที่เชื่อมโยงกันอยู่บนแพลตฟอร์ม MPC  เพื่อรักษาการเติบโตของอาร์เอสให้มีความต่อเนื่องแล้ว ​เฮียฮ้อ ยังมองไปถึงเฟสที่ 3 เพื่อสร้างการเติบโตในสเกลที่สามารถขยับไปได้มากกว่าแค่ในประเทศ ด้วยการขยายการเติบโตไปในต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า หมุดหมายแรกๆ ของอาร์เอส ก็คือประเทศเพื่อนบ้านในแถบ AEC รวมทั้งประเทศจีนนั่นเอง

ส่วนแนวทางการเติบโตน่าจะเป็นการหาพันธมิตรในพื้นที่มากกว่าการลุยเดี่ยว ซึ่งอาร์เอสมองว่าเสี่ยงเกินไป ส่วนรูปแบบของการพาร์ทเนอร์ก็อาจเป็นไปได้ทั้งการนำสินค้าไปวางขายในช่องทางต่างๆ ของพันธมิตรในแต่ละประเทศ หรือการขยายไปในรูปแบบของแพลตฟอร์ม MPC เพื่อเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย​ เช่นเดียวกับโมเดลในไทย

“แม้จะมองการเติบโตระยะยาวไว้ถึงเฟสที่ 3 แล้ว แต่การขยับของอาร์เอสคงจะต้องค่อยๆ ก้าวไปทีละสเต็ป เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงที่สุดให้ธุรกิจ โดยมีกลุ่มธุรกิจ MPC เป็นฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันการเติบโต ด้วยสัดส่วนรายได้มากกว่า 60% หรือสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท ​ซึ่งเติบโต 41% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ภาพรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 30% และจากนี้ทุกๆ ปี อาร์เอสจำเป็นต้องรักษาอัตราเติบโตในแต่ละปีให้มากกว่า 30% ขึ้นไป เพื่อให้สามารถทำยอดขายแตะ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 หรืออีก 3 ปีนับจากนี้

แน่นอนว่า Key Success สำคัญที่จะทำให้อาร์เอสขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่บริษัทระดับหมื่นล้านได้นั้น ก็มาจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ MPC นั่นเอง ด้วยสัดส่วนธุรกิจกว่า 60% ขณะที่จะมีอีก 2 กลุ่มธุรกิจ เข้ามาคอยสนับสนุนการเติบโตให้แก่อาร์เอส​ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสื่อ ในสัดส่วน 30% และธุรกิจเพลง สัดส่วน 10% โดยมีความเป็นไปได้สูงว่า ความสำคัญของธุรกิจ MPC จะทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตสัดส่วนธุรกิจในกลุ่มนี้ก็อาจจะขยับสัดส่วนได้มากขึ้นอีก ซึ่งอาจจะมากไปจนถึง 80% ก็เป็นไปได้

ขณะที่แผนการเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ MPC ให้แข็งแรงมากขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย

1. การขยายช่องทางการขายให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด จากปัจจุบันมีช่องทางหลักจากช่อง 8, Call 1781,ช่องไทยรัฐทีวี T Shopping 02-117-3232, ช่อง 2, ช่องสบายดีทีวี เลข 141, ช่องเพลินทีวี และวิทยุคูลฟาเรนไฮต์ ที่จะเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า 20 ล้านคน รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ และธุรกิจขายตรง

2. เพิ่มความหลากหลายให้สินค้า จากที่มีอยู่กว่า 120 SKU เป็นมากกว่า 200 SKU จากความร่วมมือกับสถาบันวิจัยระดับโลกในการผลิตสินค้านวัตกรรมต่างให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ และเพิ่มสินค้ากลุ่มใหม่ๆ มาทำตลาดเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีสินค้าในกลุ่มสุขภาพและความงาม 80% กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและไลฟ์สไตล์ 15% และสินค้ากลุ่มเครื่องประดับและความเชื่อ 5%

3. เพิ่มจำนวนทีมงาน Customer Service หรือทีมเทเลเซลล์ ที่ปัจจุบันมีราวๆ 500 คน ให้สอดคล้องกับจำนวนดาต้าเบสที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต

4. กาขยายทีมงานไลฟ์สตาร์บิส ในกลุ่มธุรกิจขายตรงให้กระจายไปทั่วประเทศ จากปัจจุบันมี 250 คน จะเพิ่มเป็น 1,000 คนในสิ้นปีนี้ ด้วยคอนเซ็ปต์ “รายได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส”

5. ต่อยอดพัฒนาการบริหารข้อมูลดาต้าเบสของลูกค้า จากปัจจุบันมี 1.2 ล้านราย เพิ่มเป็น 1.8 ล้านราย​ โดยจะมีลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 หมื่นคน ขณะที่ระบบสามารถรองรับการเติบโตของข้อมูลไปได้ถึง 20-30 ล้านราย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก นำไปสู่ความสามารถในการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนการเติบโตในมิติอื่นๆ เช่น เพิ่มเม็ดเงินโฆษณา 7% การผลักดันให้ผลประกอบการของช่อง 8 สามารถฟื้นกลับมาทำกำไรได้ รวมทั้งอัตราในการทำกำไรของธุรกิจ หรือ Gross Profit Margin ขยายตัวจาก 42.4% เป็น 49%  ส่วนรายได้จากการร่วมธุรกิจกับไทยรัฐทีวีในปีแรกจะอยู่ที่ 350 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 455 ล้านบาทในปีต่อไป

ถอดรหัสโมเดล MPC  ไม่ใช่โฮมช้อปปิ้ง

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าโมเดลธุรกิจ MPC ที่ทำให้อาร์เอสเติบโตได้แบบพลิกวิกฤตจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในเวลาไม่กี่ปีมานี้คืออะไร ขณะที่หลายคนมองรูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้ว่า มีสินค้า มีรายการหรือโฆษณามาช่วยขายสินค้า มีพนักงานคอลเซ็นเตอร์คอยรับออเดอร์ และมีบริการจัดส่งสินค้าให้ถึงบ้าน โมเดลแบบนี้ไม่ต่างกับกับธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง หรือเทเลเซลล์ แบบที่เราคุ้นเคยกันมานั่นเอง

แต่เฮียฮ้อ ยืนยันว่า ธุรกิจที่อาร์เอสทำอยู่นี้ไม่ใช่โฮมช้อปปิ้ง เพราะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด รวมทั้งทิศทางของธุรกิจโฮมช้อปปิ้งอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเหนื่อย เพราะทำกำไรได้น้อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาร์เอสสวนทางกับที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ​เพราะที่ผ่านมาธุรกิจ MPC สร้างยอดขายให้อาร์เอสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่า สามารถทำยอดขายสร้าง New High ได้ทุกๆ เดือนเลยทีเดียว รวมทั้งโอกาสที่จะยิ่งเปิดกว้างและเติบโตมากขึ้นจากแผนที่วางในปีนี้และปีต่อๆ ไป ในการเพิ่มศักยภาพของกลุ่มธุรกิจ MPC ให้แข่งขันได้มากยิ่งขึ้นตามที่ให้รยละเอียดไป

ธุรกิจ MPC ไม่ใช่โฮมช้อปปิ้งแต่เป็นการทำธุรกิจพาณิชย์แบบหลากหลายช่องทาง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของอาร์เอสที่แตกต่างจากตลาด ทำให้เราสามารถเติบโตได้ เพราะเราทำอยู่บนจุดแข็งของเรา ทำจากความชำนาญในการเป็นผู้บริหารสื่อและผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจและรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่รับสื่อเราเป็นอย่างดี เรามีสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 17-20 ล้านคน จากหลากหลายแพลตฟอร์ม และยังมีการพาร์ทเนอร์กับไทยรัฐทีวีเพิ่มเติมเข้ามา ทำให้เรา​สามารถเปลี่ยนจากฐานผู้ชม หรือฐานแฟนคลับที่เคยชื่นชอบหรือติดตามศิลปินให้กลายมาเป็นลูกค้า สร้างเป็นดาต้าเบสให้ธุรกิจได้​เป็นหลักล้าน และสิ่งสำคัญที่ทำให้เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตในระยะยาวและยั่งยืนได้ เมื่อส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าซ้ำด้วย โดยจากการเก็บตัวเลขจากข้อมูลดาต้าเบสทั้งหมดที่มีย้อนหลัง 6 เดือน พบว่ามีจำนวนถึง 50% ที่มีการซื้อสินค้าจากเรา และในจำนวนนี้มีถึง 20% ที่มีการซื้อสินค้าซ้ำ

ธุรกิจความงามใครก็ทำได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะโตได้

จากความสำเร็จของอาร์เอสในการเข้ามาสู่ธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม ประกอบกับปัจจุบันเราจะเห็นการขยายตัวของผู้ประกอบการที่เข้ามาในธุรกิจกลุ่ม Health & Beauty กันมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นเซเลบริตี้ ดารา ผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย หรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่มองเห็นโอกสต่างก็พยายามเข้ามาช่วงชิงโอกาส​จากตลาด จนทำให้มีการเปรียบเปรยว่า “ใครอยากรวย ก็ให้มาทำธุรกิจขายครีม”

ซึ่งความเห็นในเรื่องนี้ ดร.ชาคริต พิชญางกูร รองประธานฝ่ายบริหาร-ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และการตลาด บมจ. อาร์เอส และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด หนึ่งในธุรกิจเครือข่ายขายตรงชั้นเดียว ภายใต้ กลุ่มธุรกิจ MPC ของอาร์เอส ให้ความเห็นว่า เป็นธรรมดาที่ธุรกิจใดที่กำลังเติบโต ก็มักจะมีผู้ให้ความสนใจเข้าไปในตลาดนั้นๆ จำนวนมาก ประกอบกับคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของความสวยงามและการดูแลตัวเอง ทำให้ธุรกิจบิวตี้ยังคงเติบโต ประกอบกับ การผลิตสินค้าในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพราะมีตัวแทนที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านอำนวยความสะดวกให้เกือบทั้งหมด เช่น มีแล็ปที่มีผลวิจัยจากส่วนผสมหรือสารสกัดต่างๆ ที่หลากหลาย มีโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าตามออเดอร์ รวมทั้งยังมีช่องทางในการทำตลาดด้วยตัวเอง ทั้งการทำแฟนเพจของสินค้า หรือการใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้ปัจจุบันสามารถสร้างหน้าร้านให้สินค้าต่างๆ และทำธุรกิจนี้ได้อย่างไม่ยากนัก

“แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ใครอยากเข้ามาในธุรกิจ ก็ไปจ้างคนมาช่วยผลิตให้ขาย ​​แต่สุดท้ายแล้วต้องดูด้วยว่าคุณภาพสินค้าดี ใช้แล้วได้ผลจริงหรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะได้ลูกค้าแค่ครั้งเดียว แล้วไม่มีคนซื้อซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น​และสำคัญมากหากต้องการให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืน รวมทั้งต้อง​มีความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้า การทำตลาด การขาย การเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย การเลือกใช้สื่อที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับสินค้าเพื่อให้สินค้ามีความแตกต่าง​ไม่ให้เกิดการ Switch Brand ได้ง่าย การหา Price Point ที่เหมาะสมทั้งกับตำแหน่งของสินค้าและศักยภาพในการจ่ายของกลุ่มเป้าหมาย เพราะถ้าสินค้าดีแต่หาซื้อได้ยาก ราคาสูงไป หรือแพกเกจไม่สวย องค์ประกอบเหล่านี้ก็มีผลต่อการที่ทำให้สินค้าขายไม่ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความสามารถในการสร้างให้เกิดการซื้อซ้ำ ซึ่งบางครั้งยากและท้าทายกว่าการจูงใจให้เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ด้วยซ้ำ และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถชี้วัดได้ว่าธุรกิจจะเติบโตได้อย่างแข็งแรงในอนาคตหรือไม่”​

จากนี้อาร์เอสเป็นอะไรก็ได้​

ในส่วนของการก้าวข้ามจากธุรกิจเดิมที่เคยอยู่ในกลุ่มมีเดีย มาสู่การขายสินค้า Health & Beauty นั้น ​ทักษะหรือศักยภาพที่อาร์เอสเคยมีอยู่ในธุรกิจที่สามารถนำมาต่อยอดได้ ในมุมมอง ดร.ชาคริต มองว่า น่าจะเป็นเรื่องของทักษะด้าน Creativity​ และความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ​หรือความสามารถในการทำตลาดเพื่อโปรโมทสินค้า​ ​เพียงแค่เปลี่ยนจากการขายภาพลักษณ์ศิลปิน ขายเพลง ขายซีดี มาเป็นการขายสินค้า แต่หากมีทักษะพื้นฐานด้านการตลาดหรือการเป็นนักขายที่ดีแล้ว ไม่ว่าต้องขายสินค้าอะไรก็เชื่อว่าจะสามารถขายได้เช่นกัน

สอดคล้องกับสิ่งที่เฮียฮ้อ กล่าวไว้ว่า การขับเคลื่อนของอาร์เอสจากนี้ จะทำให้สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพียงแค่มองเห็นโอกาส ก็พร้อมที่จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างเปิดกว้าง โดยคำว่า “โอกาส”​ ที่เฮียฮ้อ หมายถึง จะสามารถชี้วัดหรือจับสัญญาณได้จากมิติต่างๆ เหล่านี้ อาทิ

 

1. เข้าไปแล้วต้องมีจุดแข็ง หรือมีแต้มต่อ ​เช่น สามารถต่อยอดจากการมีสื่อที่แข็งแรง หรือจากฐานดาต้าเบสจำนวนมากที่มีอยู่ รวมทั้งสามารถในการเข้าใจลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถ่องแท้ ทั้งสิ่งที่ลูกค้าโฟกัส​ หรือ Pain Point ต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มให้ความสำคัญ

2. ธุรกิจนั้นๆ อยู่ในเทรนด์ที่กำลังเติบโต เพราะจะนำมาซึ่งโอกาสให้คนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันได้รับอานิสสงส์จากการที่ตลาดในภาพรวมขยายตัว

3. ขนาดของตลาดต้องมีขนาดที่ใหญ่มากพอที่จะรองรับผู้เล่นรายใหม่ๆ รวมทั้งมีความน่าสนใจมากพอจนทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ กระโดดเข้าไปแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น ​

ในอนาคตนอกจากการทำธุรกิจ MPC แล้ว​ เราก็น่าจะมีโอกาสเห็นอาร์เอสขยายธุรกิจเข้าไปในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่การสร้างโมเดลสำหรับการเติบโตในเฟสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้อีกครั้ง รวมทั้งความสามารถในการพิชิตเป้าหมายอันใกล้ในช่วง 3 ปีนี้ ด้วยการเติบโตสู่ “บริษัทหมื่นล้าน” ซึ่งทางอาร์เอสเชื่อมั่นว่าจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ใน 3 ขาที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างธุรกิจเพลง ธุรกิจมีเดียและสื่อ หรือในกลุ่มล่าสุดอย่างสุขภาพและความงาม


แชร์ :

You may also like