HomeDigitalเปิดบิ๊กเทรนด์ผู้บริโภคยุค 2019 ชีวิต “(เสพ)ติด” ดิจิทัล

เปิดบิ๊กเทรนด์ผู้บริโภคยุค 2019 ชีวิต “(เสพ)ติด” ดิจิทัล

แชร์ :

เป็นผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่ได้รับความสนใจมาโดยตลอดจากทาง GroupM ประเทศไทย กับงาน Focal 2019 ที่ในปีนี้พบความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคไปอีกขั้น นั่นคือ การมองว่าดิจิทัลคือไอเท็มที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการใช้เงินของผู้บริโภคที่พบว่าเริ่มเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็ว รวมถึงเหตุผลดีต่อใจของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจผู้บริโภคจำนวนกว่า 200 คน ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2019 ใน 17 จังหวัดของไทย ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ ลำพูน และเชียงใหม่ ภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ตรัง และพัทลุง ภาคอีสานได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ภาคกลางได้แก่ นครนายก สระบุรี อยุธยา ลพบุรี และกรุงเทพฯ ในด้านต่าง ๆ ของชีวิต 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการใช้ชีวิต, การเสพสื่อ และการใช้จ่ายเงิน

เด็กรุ่นใหม่อยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

ในด้านการใช้ชีวิตนั้น สิ่งที่ GroupM พบจนนิยามออกมาว่าดิจิทัลเริ่มกลายเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต มาจากความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านผ่านแพลตฟอร์มส่งข้อความเช่น LINE อาทิ การพบว่าโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคเหนือตัดสินใจใช้ LINE ในการสื่อสารกับผู้ปกครองของนักเรียน 1,200 คน, ข้าราชการเริ่มได้รับเอกสารคำสั่งจากส่วนกลางผ่านทาง LINE ทั้ง ๆ ที่ในอดีต เอกสารเหล่านี้จะถูกจัดส่งผ่านทางบุรุษไปรษณีย์

สำหรับหน้าที่การงานของผู้บริโภค พบว่า เกษตรกรรมยังเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตคนไทย และพบว่าคนรุ่นเก่ามีการหันกลับมาทำงานหัตถกรรม หรืองานฝีมือกันมากขึ้น (หลังจากที่ปี 2017 กลุ่มคนรุ่นเก่าเคยตัดสินใจย้ายไปอยู่ในแวดวงงานบริการ (Services) มาแล้ว เช่น ร้านกาแฟ โรงแรม ฯลฯ เนื่องจากรายได้ดีกว่า) ส่วนคนรุ่นใหม่นั้น คุณณัฐวีร์พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือเด็ก ๆ อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองให้ดีขึ้น ด้วยการนำความรู้ที่เรียนมามาช่วยปู่ย่าตาทวดขายของ – พืชผลทางการเกษตรบน e-Commerce

คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์

การมองชีวิตของคนรุ่นใหม่ก็ต่างออกไป คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มองว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดก็คือการมีอิสระที่ได้เลือกสิ่งต่าง ๆ ได้เอง ทำให้พบว่าเด็กรุ่นใหม่สนใจทำธุรกิจขนาดเล็ก หรือทำธุรกิจเป็นของตัวเองเป็นหลัก ขณะที่การตัดสินใจเช่นนี้ไม่พบในคนรุ่น 90’s ทำให้รูปแบบการทำงานมักเป็นการสมัครเข้าทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ หรือธนาคารเพื่อความมั่นคงในชีวิต

การมีดิจิทัลยังทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าพวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ใน 4 ด้าน ได้แก่

  • ด้าน Entertainment สามารถเข้าดูละคร ดูหนัง ฯลฯ ทุกอย่างได้
  • ด้าน knowledge สามารถศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา
  • ด้าน Connects สามารถติดต่อเพื่อนได้ ผ่าน LINE, Messenger
  • ด้าน Source of Income เริ่มใช้ดิจิทัลในการหารายได้เสริม เพื่อให้ชีวิตมีรายได้มากขึ้น

Facebook – YouTube ครองพื้นที่สื่อ

สิ่งที่ Focal 2019 พบอีกข้อคือสื่อที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจนั้นคือสื่อดิจิทัลแทบจะเต็มรูปแบบ เช่น การอ่านข่าว ก็อ่านจาก Facebook, Twitter หรือชมผ่าน Facebook Live ส่วนการรับชมทีวีก็พบว่าน้อยลงและเปลี่ยนไปอยู่บน YouTube, LINE TV, Facebook Live แทน ส่วนวิทยุ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากชี้เป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการรับฟังผ่าน YouTube เป็นหลัก ส่วน Joox ก็มีแทรกมาบ้างเช่นกัน

เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนมาสู่ดิจิทัล สิ่งที่จะเข้าถึงผู้บริโภคจึงเป็นแอปพลิเคชัน ซึ่ง Top Apps ในดวงใจผู้บริโภคยุค 2019 ได้ถูกงานวิจัยชิ้นนี้แบ่งออกเป็น 7 ประเภท (ดังภาพ)

โดยแอปพลิเคชันที่ใช้สีแดงนั้น คุณณัฐวีร์ระบุว่า เป็นคำตอบที่ผู้บริโภคตอบมามากกว่า 50% ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลัก ๆ คือแพลตฟอร์มข้ามชาติเช่น Facebook, YouTube, Instagram, Twitter, LINE และ Netflix

จุดที่น่าสังเกตคือส่วนของแอปพลิเคชันด้านการเงิน ที่ปรากฏชื่อของธนาคารกรุงไทยได้รับการใช้งานอย่างสูง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้บริโภคส่วนหนึ่งในต่างจังหวัดทำงานราชการ จึงถูกบังคับให้ผูกบัญชีเข้ากับแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคเหล่านั้นก็มีการเปิดบัญชีของธนาคารกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ฯลฯ ร่วมด้วย

ส่วนที่น่าสนใจคือกลุ่ม Travel เนื่องจากการวิจัยพบว่า เนื้อที่เมมโมรี่เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจติดตั้งใช้งาน เนื่องจากสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคที่ทำการสำรวจบางรายมีหน่วยความจำน้อย แอปพลิเคชันที่พวกเขายังติดตั้งอยู่จึงเป็นแอปพลิเคชันที่ไม่กินพื้นที่มากนัก เช่น Traveloka, Booking.com ดังนั้น หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจในสาขานี้ การพัฒนาแอปพลิเคชันควรพิจารณาจากปัจจัยด้านขนาดของแอปพลิเคชันร่วมด้วย

คนไทยซื้อหวยผ่านไลน์

งานวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่นำเสนอผ่านงาน Focal 2019 มีการเปรียบเทียบเงินไหลเข้าและช่องทางที่เงินไหลออกของผู้ตอบแบบสอบถาม

สุดท้ายกับเรื่องของแหล่งที่มาด้านรายได้ และการใช้จ่ายเงิน สิ่งที่ Focal 2019 พบก็คือ รายได้หลักของคนไทยยังมาจาก 4 กลุ่มอาชีพได้แก่ เกษตรกรรม, งานฝีมือ, งานพาร์ทไทม์ และกลุ่มสินค้าในท้องถิ่น ส่วนช่องทางการได้มาซึ่งรายได้ หลัก ๆ มาจากการเปิดเพจส่วนตัว, การเข้าไปขายในเพจของชุมชนต่าง ๆ และการขายผ่าน Social Enterprises

อย่างไรก็ดี หากเป็นเรื่องของการไหลออกของเงิน ในกลุ่ม Young Generation พบว่า หลัก ๆ เสียเงินไปกับเกม, เครื่องสำอาง, สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ และมอเตอร์ไซค์ รวมถึงมีอินไซต์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่นชาย เริ่มหันหา YouTube เพื่อแนะนำการใช้เครื่องสำอาง เหตุเพราะถูกผู้หญิงหักอก จึงอยากดูดีขึ้นเพื่อให้ฝ่ายหญิงเสียดายที่เลิกกับตนเองไป

ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ หรือกลุ่ม Old Generation ยังเป็นการใช้จ่ายเงินกับเรื่องหลัก ๆ ของชีวิต เช่น ค่าเล่าเรียนลูก ของใช้ในบ้าน แต่ก็มี “ล็อตเตอรี่” แทรกเข้ามาด้วยในรายการสุดท้าย ซึ่งคุณณัฐวีร์ชี้ว่า แม่ค้าล็อตเตอรี่ในปัจจุบันมีการใช้ LINE ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และรับจองล็อตเตอรี่ผ่าน LINE แล้วด้วย

ส่วนของพื้นที่ที่มีการใช้จ่ายเงินนั้น พบว่าไปอยู่บนแพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น Lazada, Shopee มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่แพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชัน ส่วนตลาดในชุมชนนั้น ยังเป็นพื้นที่สำคัญอยู่ แต่เปลี่ยนบทบาทไปสู่การเป็นพื้นที่สำหรับเปิดหูเปิดตา ให้คนในชุมชนมาพบเจอสิ่งใหม่ ๆ หรือสัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างจากการสั่งซื้อของออนไลน์ในบ้าน

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า โอกาสมีอยู่ทั่วไป ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอีกแล้ว แต่สิ่งที่เป็นโจทย์ของแบรนด์ก็คือ แนวคิดคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้านเพื่อพัฒนาบ้านเกิด ซึ่งถ้าแบรนด์สามารถจับจุดนี้ได้อาจหมายถึงการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน และเติบโตไปพร้อมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ได้เลยนั่นเอง

 


แชร์ :

You may also like